ประสบการณ์การบรรยายครั้งแรกในชีวิต

วันที่ 14 กรกฎาคม 2556 ผมได้รับเกียรติ โอกาส และความเมตตาจากอาจารย์ท่านหนึ่งให้บรรยายในหัวข้อหนึ่ง ซึ่ง การบรรยายดังกล่าวเป็นการบรรยายสามชั่วโมงต่อนักศึกษาชาวต่างชาติ ณ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่รถติดทุกวันจันทร์-อาทิตย์

สืบเนื่องมาจาการที่ผมได้เสาะแสวงหาคำแนะนำต่างๆในการบรรยายจากกระทู้ (http://www.fringer.org/stuff/blog/2013/06/28/430) และ (http://topicstock.pantip.com/silom/topicstock/2010/11/B9955624/B9955624.html) ทำให้ผมตัดสินใจที่จะเขียนประสบการณ์ในบันทึกกึ่งสาธารณะเพื่อแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้ผ่านพ้นมาเพื่อเป็นประโยชน์ (ไม่มากก็น้อย) สำหรับผู้ที่จะเตรียมตัวในการฝึกหัดบรรยาย

หากจะกล่าวถึงปัญหาต่างๆตลอดเวลาทั้งในช่วงการเตรียมเนื้อหาจวบจนถึงวินาทีหลังจากการบรรยายเสร็จสิ้นนั้น ผมขอแบ่งปัญหาออกเป็นสามส่วน ซึ่งประกอบไปด้วย ปัญหาการเตรียมเนื้อหา ปัญหาของลักษณะและท่าทางในการพูด และปัญหาที่พบในช่วงลงสนามบรรยาย

1. ปัญหาของการเตรียมเนื้อหาบรรยาย

เนื่องด้วยเหตุที่นักศึกษาชาวต่างชาติบางคนมีภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่บรรยาย กอปรกับการที่การบรรยายครั้งนี้เป็นการบรรยายครั้งแรกในชีวิต ผมจึงทุ่มเวลาเต็มที่ห้าวันเต็มสำหรับการเตรียมการบรรยาย เรียกได้ว่าขนหนังสืออ่านเล่นยันงานวิจัยออกมาเพื่อทบทวนวรรณกรรมขนานใหญ่โดยมีจุดประสงค์ที่จะสร้างความแม่นยำเชิงข้อมูลและเชิงทฤษฎีก่อนการลงสนามบรรยาย กล่าวคือตลอดระยะเวลาห้าวันที่ผ่านมานั้น ผมดำเนินชีวิตอยู่หน้าเอกสารและเครื่องคอมพิวเตอร์จนแฟนรำคาญหนีไปดูการ์ตูน

อย่างไรก็ดี ในการเตรียมเนื้อหานั้น ปัญหาด้านการเตรียมเนื้อหาที่พบมีดังต่อไปนี้

1. การไม่ทราบภูมิหลังด้านความรู้ของผู้ศึกษาว่ามีมากน้อยเพียงใด คือ เมื่อไม่ทราบตื้นลึกหนาบางนั้น การจัดสรรเนื้อหาเพื่อความเหมาะสมของการบรรยายจึงดำเนินไปได้ยาก

2. การคาดคะเนปริมาณเนื้อหาที่เตรียมให้พอดีกับระยะเวลาการบรรยายสามชั่วโมง

3. การคิดค้นหนทางย่อยเนื้อหาที่ดูจะยุ่งยากซับซ้อนให้ฟังเข้าใจได้ง่ายและทำให้ผู้ฟังมีความรู้สึกว่าเนื้อหาดังกล่าวยังมีความล้ำลึกน่าค้นหา

จากปัญหาทั้งสามข้อนั้น ผมคาดว่าคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งหลายคงร้องเป็นเสียงเดียวกันว่าปัญหาข้อสามนั้นจัดการได้ยากที่สุด ซึ่งในกรณีของผมเองนั้น การพยายามจัดการกับปัญหาข้อสามนั้นใช้เวลาพอสมควรในการคิดประโยค คำพูด หรือวลีต่างๆที่จับสิ่งที่เราอยากจะสื่อได้อยากชัดเจนและสร้างแรงกระเพื่อม

2. ปัญหาของลักษณะและท่าทางในการพูด

ไม่เพียงแค่การเตรียมเนื้อหาการบรรยายเท่านั้นที่เป็นส่วนสำคัญ ท่าทางและลักษณะการพูดก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันเพื่อดึงดูดผู้ฟัง อย่างไรก็ดีด้วยเหตุที่ผมเป็นคนที่พูดต่อหน้าสาธารณชนไม่ช่ำชองนัก ผมจึงได้ลองปรึกษามิตรสหายเพื่อขอคำแนะนำอย่างเร่งด่วน

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเตรียมเตรียมตัวก่อนการลงสนามบรรยายครั้งแรกในชีวิตด้วยการพยายามทดลองพูดกับตัวเองต่อหน้ากระจกราวกับคนบ้าในห้องเล็กสี่เหลี่ยมพร้อมทั้งอัดเสียงพูดตัวเองเพื่อฟังดูควาามชัดถ้อยชัดคำในการออกเสียงของประโยคและแต่ละคำ

การฝึกดังกล่าวช่วยไม่มากก็น้อยในการพัฒนาบุคลิคในการพูด น้ำเสียง และท่าทีต่างๆ กล่าวคือ อย่างน้อยที่สุดผมได้เรียนรู้ว่าจังหวะใดควรหยุดพูดเพื่อถามผู้ฟังถึงความเข้าใจที่มีต่อเนื้อหาหรือจังหวะใดควรเน้นเสียงเพื่อให้ได้อารมณ์

3. ปัญหาที่พบในช่วงลงสนามบรรยาย

แม้ว่าจะเตรียมพร้อมรบบนหลังม้ามาอย่างโชกโชนเพียงใดก็ตาม แต่ถ้าหากการลงสนามม้าครั้งแรกตกลงจากม้าทันทีนั้น ทุกอย่างคงหมุนเคว้งราวกับถูกซัดด้วยหมัดของไมค์ ไทสันเข้าไปจังๆที่ใบหน้า อย่างไรก็ตามการเริ่มต้นเป็นไปได้ด้วยดี ผมสามารถสร้างความปั่นป่วนให้เกิดคำถามจากผู้ฟังได้บ้าง เกิดเสียงหัวเราะเล็กน้อยไม่ทราบเป็นเพราะเสียงของผู้บรรยายฟังดูเด๋อด๋าหรือเพราะรู้สึกจั๊กจี้กับเนื้อหาที่ได้บรรยาย อย่างไรก็ดีในครึ่งหลังนั้นผู้ฟังเริ่มออกอาการเนือยแต่ก็ยังมีนักศึกษาชาวรัสเซียและฟิลิปปินส์แสดงทัศนะและคำถามบ้าง แม้ว่าการบรรยายจะจบลงอย่างทุลักทุเลจากอาการคออักเสบของผู้บรรยาย แต่ตลอดช่วงระยะเวลาที่ได้บรรยายนั้น ผมพยายามมองปัญหาและข้อคิดที่ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาการบรรยายดังกล่าว

ปัญหาและข้อคิดที่ได้จากการลงสนามรบมีดังต่อไปนี้

1. การพูดไปนานๆจะทำให้เกิดอาการเจ็บคอซึ่งการกินน้ำรวดเดียวนั้นไม่บำบัดความกระหายแต่อย่างใด (อาจารย์ได้แนะนำไว้ว่าให้จิบน้ำดีกว่า)

2. สืบเนื่องจากข้อแรก การกินน้ำรวดเดียวนั้น ไม่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอและกระหายน้ำแต่ยังไปกระทบกระเพาะปัสสวะอีกต่างหาก กล่าวคือ ในช่วงระหว่างการบรรยายนั้นปวดปัสสวะขั้นรุนแรงถึงขนาดที่ว่าขยับมือยังสะเทือนถึงท้องน้อย

3. เมื่อเริ่มบรรยายจนถึงจุดๆหนึ่ง ผู้ฟังจะเกิดอาการเนือย ด้วยเหตุที่ผู้บรรยายยังเป็นมือใหม่จึงไม่ได้คาดคิดถึงจุดๆนี้ว่าจะรับมืออย่างไร แต่ท่านอาจารย์ท่านนั้นได้แนะนำโดยใช้วิธีสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดการสนทนาในหมู่ผู้ฟังเพื่อที่ผู้บรรยายจะได้พักและได้ดึงผู้ฟังทั้งหลายกลับเข้าร่องเข้ารอย สำหรับบางคนที่หลุดลอยไปและแอยสนทนากับคนใกล้ชิดวิธีที่ดีที่สุดในสถานการณ์ดังกล่าวคือการบรรยายพร้อมมองหน้าเขาหรืออาจตั้งคำถามเพื่อเรียกให้กลับเข้าสู่เนื้อหา

4. หากเตรียมสคริปต์การบรรยายนั้น ควรใช้การพิมพ์เป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ลายมือไก่เขี่ยดังเช่นกระผม ผมพบว่าผมต้องเพ่งลายมือตัวเองราวกับใช้กล้องกล้องจุลทรรศน์เข้าไปในกระดาษเพื่อเพิ่มเติมประเด็นต่าง

สรุป

เมื่อการเสร็จสิ้นลง สิ่งแรกที่ผุดขึ้นในหัวก็คือ ผมเกิดความรู้สึก "เคารพนับถืออย่างสุดหัวใจ" ต่อคณาจารย์ทั้งหลายทุกท่านที่เคยกรุณาสอนสั่งผมมาในอดีตเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือ การเตรียมการบรรยายและการบรรยายนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแม้แต่น้อย ไม่เพียงเท่านั้น การบรรยายยัง "ดูดพลัง" ผู้บรรยายอย่างมหาศาลเช่นกันจากประสบการณ์ที่ได้รับรู้มาด้วยตัวเอง

สิ่งที่ผมรู้สึกว่าโชคดีมากคือการที่ผู้ฟังของผมนั้นได้ฟังอย่างตั้งอกตั้งใจและคุยกันเองน้อยมาก เมื่อตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น ความรู้สึกนับถือปนเห็นใจคณาจารย์ทั้งหลายได้แผ่ซ่านไปทั่ว กล่าวคือการเตรียมตัวและการบรรยายก็ "ดูดพลัง" เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากระหว่างการบรรยายนั้นมีปรากฏการณ์ส่งเสียงอื้ออึงไปด้วยคงไม่น่าเป็นเรื่องที่น่าภิรมย์สำหรับผู้บรรยายแม้แต่นิดเดียว

หากจะกล่าวถึงสิ่งที่ได้รับจากการบรรยายครั้งนี้คือการที่ผมได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกับผู้ฟัง กล่าวคือตลอดเวลาการบรรยายมักจะมีคำถามแปลกๆเสมอ ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง ได้อาจารย์อีกท่านช่วยตอบบ้าง สิ่งเหล่านี้กระมังที่เป็นสเน่ห์ของงานวิชาการด้านการบรรยาย

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่