เคาะแล้ว!ประมูลโครงการน้ำ 3.5 แสนล.

กระทู้สนทนา
ธงทอง แถลง เปิดซองประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำ ITD คว้า 5 โมดูล เควอเตอร์ 2 โมดูล ล็อกซ์เลย์ และ ซัมมิท อย่างละ 1โมดูล

รัฐบาลถ่ายทอดสดทางช่อง 11 บรรยากาศ การเปิดซองคะแนนทางเทคนิค ในวันนี้ (10 มิ.ย.) เริ่มต้นตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น  ซึ่งเริ่มจาก การเสนอภาพรวมกรอบที่มาของการกำหนดทีโออาร์ทั้ง 9 โมดูล ว่ารัฐบาลจำเป็นจะต้องลงทุน3.5แสนล้านเพื่อการแก้ปัญหา บระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบการแก้ไขปัญหาอุทกภัยประเทศไทยจากบทเรียนน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 จึงต้องมีการลงทุน

จากนั้น นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เปิดเผย ผลการคัดเลือกกลุ่มบริษัทเอกชนที่ได้คะแนนทางด้านเทคนิคตามเกณฑ์และผ่านเข้าไปในรอบของการเปิดซองราคา ประกอบด้วย

1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค-วอเตอร์) ได้โครงการไป 2 โมดูล คือ

Module A3 การปรับปรุงพื้นที่เกษตรชลประทานในพื้นที่โครงการชลประทานเหนือ จ.นครสวรรค์ เพื่อเก็บกักน้ำหลากชั่วคราว โดยใช้ งบประมาณไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี  

Module A5 การจัดทำทางผันน้ำ (Flood diversion channel) ขนาดประมาณ 1500 ลบ.ม./วินาที รวมทั้งการก่อสร้างถนนเพื่อรองรับการคมนาคม โดยใช้ งบประมาณไม่เกิน 1.53 แสนล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

2.ITD POWER CHINA JV ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี กับบริษัท พาวเวอร์ ไชน่า ของประเทศจีน ได้โครงการไป 5 โมดูล คือ

Module A1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำปิง, ยม, น่าน, สะแกกรัง และป่าสัก ให้ได้ความจุเก็บกัก 1.3 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้ งบประมาณไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

Module A2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน / การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลัก สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา งบประมาณไม่เกิน 2.6 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

Module A4 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่แม่น้ำยม, น่าน และเจ้าพระยา โดยใช้ งบประมาณไม่เกิน 1.7 หมื่นล้านบาท ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

Module B1 การสร้างอ่างเก็บน้ำอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 1.2 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

Module B3 การปรับปรุงสภาพลำน้ำสายหลักและการป้องกันการกัดเซาะตลิ่งริมแม่น้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ งบประมาณไม่เกิน 5 พันล้านบาท ดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

3.กิจการร่วมค้า ซัมมิท เอสยูที ได้โครงการไป 1 โมดูล คือ

Module B2 การจัดทำผังการใช้ที่ดิน/การใช้ประโยชน์ที่ดิน ในพื้นที่ลุ่มน้ำ รวมทั้งการจัดทำพื้นที่ปิดล้อมพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ลุ่มน้ำ 17 ลุ่มน้ำ งบประมาณไม่เกิน 1.4 หมื่นล้านบาท ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 ปี

4.กลุ่มบริษัทค้าร่วม ล็อกซเล่ย์  โดยกลุ่มเค-วอเตอร์ และกลุ่มอิตาเลียนไทยฯ ได้โครงการไป 2 โมดูล คือ

Module A6 และ B4 ระบบคลังข้อมูลเพื่อการพยากรณ์และเตือนภัย รวมทั้งการบริหารจัดการน้ำ โดยใช้ งบประมาณไม่เกิน 4 พันล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 5 ปี

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนการดำเนินงาน เมื่อได้ผลการประมูลโครงการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทตามกรอบการให้คะแนน ที่แบ่งออก เป็น 3 กรอบ ได้แก่ การให้คะแนน เรื่องแนวคิดในการทำงานร้อยละ 20, รายละเอียดทางเทคนิคร้อยละ 60 และประสบการณ์ร้อยละ 20 ซึ่งการให้คะแนนจะให้ที่ละโมดูล โดยมีคณะกรรมการในการให้คะแนนทั้งหมด 40 คน พิจารณาคัดเลือกกลุ่มบริษัทเอกชนที่ชนะหรือได้คะแนนทางด้านเทคนิคตามเกณฑ์คือ 80 คะแนน เพื่อผ่านเข้าไปในรอบของการเปิดซองราคา เพื่อให้มีการต่อรองราคา ในช่วงบ่ายวันนี้ (10 มิ.ย.) หากบริษัทที่ได้คะแนนสูงในโมดูลที่ได้รับเลือกไม่สามารถตกลงราคากับคณะกรรมการได้จนเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายอาจมีการเปลี่ยนแปลงบริษัทที่จะได้โครงการได้ แต่ถ้าหากการต่อรองราคาเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่ายก็จะส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังรับทราบวันที่ 12 มิ.ย. เพื่อไปจัดทำเอกสารและเตรียมเอกสารเพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ให้พิจารณารับทราบในวันที่ 18 มิ.ย.นี้

ที่มา http://www.dailynews.co.th/politics/210745

และ
http://www.posttoday.com/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่