กยศ.จับมือศาลจัดไกล่เกลี่ยเงินกู้เพื่อการศึกษา

วันนี้(8พ.ค.)นายโสฬส สุวรรณเนตร์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง เปิดเผยว่า เนื่องจากสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับการค้างชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ปี 2556 ซึ่งมีผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้เกิน 5 งวดขึ้นไป จำนวนกว่า 149,000 ราย จึงได้ร่วมกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาก่อนฟ้องคดีขึ้นที่ศาลจังหวัดและศาลแขวง ระหว่างวันที่ 19 มีนาคม-1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา รวม 10 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ ศาลแขวงเชียงใหม่, ศาลแขวงนครศรีธรรมราช, ศาลแขวงสงขลา, ศาลแขวงสุราษฎร์ธานี, ศาลแขวงพิษณุโลก, ศาลจังหวัดนครราชสีมา, ศาลแขวงชลบุรี, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, ศาลแขวงลำปาง, ศาลแขวงขอนแก่น และจัดที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯเป็นแห่งสุดท้าย ระหว่างวันที่ 7-12 พฤษภาคม จึงอยากให้ผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ในกลุ่มดังกล่าวได้เข้ามาเจรจาไกล่เกลี่ยฯ เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี  ทั้งนี้จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นในการเข้าร่วมโครงการ

ดร. ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. กล่าวว่า ทางกองทุนฯ ได้ออกหนังสือเชิญชวนผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ให้มาแสดงตน และมีโอกาสทำการเจรจาไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้กู้ยืมตามนโยบายรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้เกิดการฟ้องคดีเกี่ยวกับเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยมีทางเลือกเจรจาให้ถึง 3 ทาง ได้แก่ 1. การทำหนังสือรับสภาพหนี้ เพื่อกลับมาชำระหนี้ตามปกติ  2.การทำคำรับรองชำระหนี้เสร็จสิ้น โดยต้องชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมด และกองทุนฯ จะลดค่าเบี้ยปรับให้ร้อยละ 80 และ 3.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยต้องตกลงผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนและจะได้รับส่วนลดเบี้ยปรับในอัตราร้อยละ 50


“จากการจัดโครงการฯ ใน 10 จังหวัด พบว่า มีผู้มาติดต่อเจรจาขอไกล่เกลี่ยฯ แล้ว กว่า 15,000 ราย ดังนั้นผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้หรือได้รับหนังสือเชิญสามารถมาเข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยฯ เพื่อเป็นการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่รุ่นน้องต่อไป โดยเตรียมเอกสารสำคัญมาด้วย ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงและสำเนา สำเนาใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี) สำเนาทะเบียนสมรส (ถ้ามี) และหนังสือมอบอำนาจ (หากมอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินการแทน) ทั้งนี้สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สายใจ กยศ. โทร. 02-610 4888” ผู้จัดการกยศ.กล่าว

http://www.dailynews.co.th/education/203043

มีหรือไม่มีอย่างไรก็เข้าไปเจรจาไกล่เกลี่ยกันครับ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

และหวังว่าหมดเวลาไกล่เกลี่ยนี้ไปจะได้เห็นการลงโทษที่เฉียบขาดสำหรับคนตั้งใจเบี้ยวนะครับ
อาจจะมีบางสถาบันยึดปริญญาคืนเหมือนกับข่าวยึดถอดถอนปริญญาเอก (เหตุใหญ่ๆ เหมือนกันคือไม่ซื่อสัตย์ขาดคุณธรรม)

ส่วนผู้ที่กู้แล้วชำระคืนได้ไว เช่นยังไม่ทันเรียนจบก็ทำงานไปด้วยเรียนด้วยจนหาเงินมาคืนได้ครบ น่าจะนำมาเปิดเผยเป็นแบบอย่าง

สำหรับรุ่น นร. นศ. รุ่นต่อไปที่จะกู้ต้องจัดอบรมและผ่านหลักสูตร "จบไปไม่โกง"ยิ้ม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่