ทอท.ดึงกลุ่ม'วันเวิลด์' ฟื้นสนามบินดอนเมือง

กระทู้ข่าว
ทอท.อยู่ระหว่างการเสนอขอปรับค่าพีเอสซีในส่วนของผู้โดยสารในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นคนละ 150 บาทต่อเที่ยว จากปัจจุบัน 100 บาท

ในปีนี้คาดว่าปริมาณผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะสูงถึง 51 ล้านคน ขณะที่ขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารอยู่ที่ 45 ล้านคน

นาวาอากาศตรีศิธา ทิวารี ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือทอท.ให้สัมภาษณ์"กรุงเทพธุรกิจ"ถึงแนวทางการดำเนินงานของทอท. ว่า ภารกิจเร่งด่วนคือการแก้ไขปัญหาความแออัดของ 6 ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของทอท. เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ในปี 2558 ซึ่งคาดว่าปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยปัจจุบันทอท.อยู่ระหว่างเร่งรัดโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 วงเงิน 6.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้แล้วเสร็จในปี 2560 ตามแผนงาน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยทอท.คาดการณ์ว่าปริมาณผู้โดยสารในปี 2560 จะอยู่ในระดับ 60 ล้านคน หรือเท่ากับว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะรองรับผู้โดยสารเต็มขีดความสามารถทันทีที่การพัฒนาโครงการระยะที่ 2 แล้วเสร็จ ทอท.จึงต้องทบทวนแผนบทบาทของท่าอากาศยานดอนเมืองอีกครั้งว่าควรพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเป็น ASEAN Airport หรือจะรองรับทั้งสายการบินต้นทุนต่ำและสายการบิน Full Service เพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC

ทั้งนี้ ทอท.ต้องสำรวจความต้องการของสายการบินในการใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมือง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเบื้องต้นกับกลุ่มพันธมิตรการบิน One World ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรการบินที่มีศักยภาพ โดยในระยะแรกสายการบินอาจมีค่าความเสี่ยงต่างๆ เพราะปริมาณผู้โดยสารอาจลดลงจากความไม่สะดวกในการต่อเที่ยวบินไปยังจุดต่างๆ แต่ทอท.อาจชดเชยค่าความเสี่ยงให้ในระยะเวลาหนึ่งเพื่อจูงใจให้สายการบินมาใช้บริการ และจะเปิดรับฟังข้อเสนอแนะว่าต้องการให้ทอท.ปรับปรุงแก้ไขในจุดใดเพื่อให้สายการบินมีความสะดวกในการใช้บริการท่าอากาศยานดอนเมือง

"ในอดีตดอนเมืองรองรับผู้โดยสารกว่า 30 ล้านคน ในขณะที่การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 3 ต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในช่วง 3-4 ปีนี้จึงมีความจำเป็นต้องใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองซึ่งมีความพร้อมและมีมาตรฐานระดับสากล โดยสายการบินสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ ไม่ต้องบินวนรอลงจอดและตรงเวลามากขึ้น เพราะดอนเมืองไม่แออัดเท่าสุวรรณภูมิ"

ส่วนการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 นั้น ก่อนเริ่มงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน จำเป็นต้องเร่งหาผู้ให้บริการระบบส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานผ่านท่อ เพื่อวางท่อน้ำมันใต้พื้นผิวลานจอดอากาศยาน ซึ่งในส่วนนี้จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี 4 เดือน เพื่อให้งานก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 เริ่มดำเนินการได้ในเดือนส.ค.2557 และแล้วเสร็จในปี 2560 ดังนั้นการจัดหาผู้ให้บริการระบบส่งน้ำมันผ่านท่อต้องได้ข้อสรุปภายในเดือนเม.ย.นี้ โดยเบื้องต้นอาจเจรจากับผู้ให้บริการรายเดิม คือ บริษัท ไทยเชื้อเพลิงการบิน จำกัด(TARCO) เป็นผู้ลงทุน และแบ่งผลประโยชน์ตอบแทนให้ทอท.

ทั้งนี้ เป้าหมายของทอท.คือการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้เป็นท่าอากาศยานระดับ 5 ดาวภายในปี 2558 จากปัจจุบันที่ได้รับการจัดอันดับเป็นท่าอากาศยาน 3 ดาว โดยจัดระดมความคิดเห็นของผู้บริหารเพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตร่วมกับคณะกรรมการทอท. สาเหตุที่ต้องนำความคิดเห็นของผู้บริหารมาประกอบการกำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานของทอท. เพราะเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจการบิน และต้องการให้แนวทางการพัฒนาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

"ปัญหาสำคัญของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปัจจุบันคือความแออัดของผู้โดยสาร ไม่ใช่ความแออัดของเที่ยวบิน โดยขีดความสามารถรองรับเที่ยวบินสูงสุดคือ 76 ลำต่อชั่วโมง แต่ปัจจุบันรองรับสูงสุดประมาณ 50 ลำต่อชั่วโมง แต่ด้วยความที่เครื่องบินมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ละเที่ยวมีผู้โดยสารจำนวนมาก เมื่อลงมาพร้อมกันจึงเกิดความแออัด"

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเบื้องต้นคือการนำระบบคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (Advance Passenger processing System) หรือ APPS มาให้บริการ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการตรวจคนเข้าเมืองมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่ผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกเพราะไม่ต้องใช้เวลารอนาน ในส่วนของสายการบินแม้จะมีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 50 บาทต่อคน แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการส่งตัวผู้โดยสารกลับสถานีต้นทางถือว่ามีความคุ้มค่า และสายการบินสามารถนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวรวมอยู่ในค่าตั๋วโดยสารได้ โดยทอท.จะเปิดให้เอกชนลงทุนและจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทอท. คาดว่าระบบ APPS จะเริ่มให้บริการได้ในปี 2557

นอกจากนั้น จะหารือกับผู้ให้บริการระบบอินเทอร์เน็ตทุกรายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อลงทุนระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยอาจแบ่งพื้นที่ให้ผู้ประกอบการแต่ละรายแลกกับการติดป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์องค์กร เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมั่นใจว่ามีผู้สนใจลงทุน เพราะถือเป็นกิจกรรมซีเอสอาร์ขององค์กร และยังมีผลต่อการจัดอันดับของท่าอากาศยานอีกด้วย

ส่วนการปรับอัตราค่าธรรมเนียมการใช้ท่าอากาศยานที่เรียกเก็บจากผู้โดยสาร(Passenger Service Charge)หรือพีเอสซีนั้น ทอท.อยู่ระหว่างการเสนอขอปรับค่าพีเอสซีในส่วนของผู้โดยสารในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นคนละ 150 บาทต่อเที่ยว จากปัจจุบัน 100 บาท เพราะอัตราที่เรียกเก็บในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงซึ่งอยู่ในระดับ 329 บาทต่อคนต่อเที่ยว ส่วนผู้โดยสารระหว่างประเทศต้นทุนอยู่ในระดับประมาณ 500 บาท ขณะที่ทอท.เรียกเก็บคนละ 700 บาทต่อเที่ยว แต่ในอนาคตทอท.ต้องมีภาระทางการเงินจากโครงการลงทุนต่างๆ จึงขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลว่าจะอนุมัติให้ปรับค่าพีเอสซีในส่วนของผู้โดยสารระหว่างประเทศหรือไม่ โดยก่อนหน้านี้คาดว่าจะเสนอขอปรับเพิ่มเป็น 800 บาท


http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/business/business/20130325/496847/%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%97.%E0%B8%94%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B9%8C-%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่