Ananda ชานนท์ เรืองกฤตยา : ANAN หุ้นที่ใครๆก็ไม่รัก

กระทู้ข่าว
ณ ราคาปิดวันนี้ 4.72 ขึ้นมาจาก IPO แล้ว 12.38%

วันนี้นั่งไล่อ่านข้อมูลเก่าๆที่เก็บไว้ เจอข้อมูลของ ANAN หุ้นที่ใครๆก็ไม่รัก
ถึงแม้ข้อมูลจะเก่าแต่ก็ยังคงน่าสนใจสำหรับใครที่ลังเลใจอยู่ว่า ANAN ดีจริงรึ
อาจจะยาวไปสักนิดแต่ผมคิดว่านี่เป็นแผนผังขุมทรัพย์สำหรับใครบางคน
ปล.ถ้าตัวหนังสือเล็กไปคลิกไปอ่านที่ต้นฉบับเลยครับ สบายตากว่าเยอะ
::::::::::::::::::::

ที่มา: http://www.marketeer.co.th/inside_detail.php?inside_id=6307

บทความการตลาด ตัวอย่างแผนการตลาด กลยุทธ์การตลาด ข่าวการตลาด         

Cover Story: Ananda ชานนท์ เรืองกฤตยา : ยังรออีก 70% เพื่อการพิสูจน์ (Marketeer/05/51)

เรื่อง : อรวรรณ บัณฑิตกุล



The Young Marketeer

Ananda

ชานนท์ เรืองกฤตยา

ยังรออีก 70% เพื่อการพิสูจน์



     ชานนท์  เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริหารบริษัทอนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด เป็น Young Marketeer คนหนึ่งในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กล้าเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้วมาจนถึงวันนี้จำนวน 7 โครงการ  3,500 ยูนิต  โดยโครงการแรกมีกำหนดแล้วเสร็จในกลางปี 2552


ในขณะที่ลูกค้าเองก็กล้าที่จะซื้อ “คอนโดในแผ่นกระดาษ” ทำให้ 3 โครงการแรกของเขาขายหมดในเวลาอันรวดเร็ว


“อนันดา” แบรนด์นี้เริ่มต้นด้วยคำถาม

ชานนท์เป็นลูกชายคนโตของชนัฎ  เรืองกฤตยา  อดีตนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังในยุคก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540   สนามกอล์ฟกรีนวัลเลย์ และหมู่บ้านวิลมิลด์ย่านถนนบางนา-ตราด คือผลงานหนึ่งที่สร้างชื่อเสียง ก่อนที่จะถูกมรสุมเศรษฐกิจกระหน่ำซัดทำให้โครงการพัฒนาที่ดินของตระกูลนี้ต้องหยุดไป

ในช่วงเวลานั้นเองที่ชานนท์หอบเอาปริญญาโทด้านการเงินและการบัญชีระหว่างประเทศ จาก London School of Economics ประเทศอังกฤษ มาช่วยบริหารจัดการและปรับโครงสร้างหนี้ให้บริษัทของผู้เป็นพ่อจนเสร็จเรียบร้อย  และเกิดอาการอยากลองวิชา ต้องการทำโครงการเองบ้างทั้งๆที่รู้ดีว่า แบรนด์ หรือชื่อเสียงที่ตัวเองมีอยู่ในวันนั้นมีค่าเป็นทั้งบวกและลบ แต่เขามั่นใจว่าธุรกิจอสังหาฯ เป็น  The same old product แต่วิธีนำเสนอต้องแปลกใหม่ และทำให้ตัวเองมีเอกลักษณ์

“แน่นอนคราวนี้ผมต้องเหนื่อย ต้องทำงานหนัก ไม่ได้เริ่มต้นแบบลูกคนรวย โครงการที่ทำก็ต่างกันคุณพ่อ ผมเริ่มด้วยโครงการ Luxury เป็นสนามกอล์ฟ  เป็นบ้านหรูติดสนามกอล์ฟ ถ้าพ่อขายรถโรลซ์ลอย รถเบ๊นซ์ ผมก็ขายรถโตโยต้า  เป็นสินค้าที่คนทั่วไปจับต้องได้ เป็นสินค้าที่กว้างกว่า

ชานนท์เลือกที่จะสร้างบริษัทใหม่ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์  เมื่อปี 2542ซึ่งใครๆ ก็รู้ว่าอนันดามีดีเอ็นเอมาจากกรีนวัลเล่ย์  เป็นแบรนด์ที่มีคำถาม มีทั้งข้อดีและเสีย คือชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคุ้นเคย ข้อเสียคือเป็นแบรนด์หนึ่งที่มีปัญหาในช่วงวิกฤติ

อย่างไรก็ตามโครงการอนันดาบีชไลฟ์ 127 หลัง มูลค่าโครงการ 800 ล้านบาทในถิ่นเดิมที่ตระกูลของเขาคุ้นเคยคือบนถนนบางนา-ตราด ประสบความสำเร็จอย่างดี

“ ผมเริ่มด้วยลูกน้องไม่กี่คน ทำตัวเลขกันเองทำการตลาดเองโดนมั่งไม่โดนบ้าง ถามว่ามั่นใจหรือเปล่าไม่เลยครับ เพราะเงินลงสื่อก็ไม่มีนะใช้ทำบิลบอร์ดเอาให้คุณแฮงจี้  เฮสตี้งใส่ชุดเซ็กซี่หน่อยเพื่อให้รู้ว่าเราขายบรรยากาศของรีสอร์ท ไม่มีรูปบ้านเลยในขณะที่โครงการ คนอื่นเขาจะโชว์แบบบ้านกัน แต่ผมเอาบรรยากาศมาเป็นจุดขาย”

ความสำเร็จครั้งนั้น ชานนท์ ยกประโยชน์ให้กับภาวะตลาดที่เป็นใจและกำลังซื้อของคนที่อั้นมานาน เพราะโครงการใหม่ๆหยุดไปนาน ประกอบกับการคาดเดาความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ถูกในคอนเซ็ปต์ของบ้าน อารมณ์ รีสอร์ท

บ้านจัดสรรระดับราคาปานกลางถึงสูงโครงการอื่นๆของเขาก็ทยอยเกิดขึ้นตามมาอีกหลายโครงการ เช่นแบรนด์ คือ พิมานดา ราคา 10 ล้านขึ้นไป แบรนด์อนันดา ราคา 5-10 ล้านบาท และแบรนด์สิรินดา ราคา 3-5 ล้านบาท

แต่จุดที่ทำให้บริษัทอนันดาแข็งแรงขึ้นคือการที่ ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทีเอ็มดับบลิว เอเชีย พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์1 ภายใต้การบริหารงานของ ไพร์มเมอริกา เรียลเอสเตท อินเวสเตอร์ จากสหรัฐอเมริกา และเป็นส่วนหนึ่งใน พรูเด็นเชียล ไฟแนลเชียล อิงค์ ซึ่งถือเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่ ของสหรัฐอเมริกา

เมื่อเงินทุนพร้อมเป้าหมายในการทำธุรกิจชัดเจน ความคิดในการสร้างแบรนด์ก็ตามมา



แจ้งเกิด IDEO โฟกัส เจเนอเรชั่น "ซี"

  ชานนท์เริ่มวางเกมด้วยกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ โดยดึงดลชัย บุญรัตเวช  ประธานกรรมการบริษัทแบรนด์สเคป จำกัด  เข้ามาเป็นที่ปรึกษาในการสร้างแบรนด์

“ผมบอก ว่าผมอยากได้แบรนด์ที่มีดีเอ็นเอของค่ายแอปเปิ้ล ของห้างมูจิ และไอเกียเพราะ3 บริษัทนี้คือแบรนด์ที่ผมชอบในเรื่องไลฟ์สไตล์ที่มีดีไซน์ มีความเป็นธรรมชาติ และสามารถทำให้คนทั่วไปจับต้องได้

คุณดลชัย เลยวางแบรนด์ของเราเป็นแบรนด์ของเจน ซี(เจเนอเรชั่น ซี) ดังนั้นดีไซน์เนอร์ อินทีเรีย เวลาคุณคิดอะไรไม่ออกผมจะบอกย้อนว่าคุณจำเจนซีได้หรือเปล่า ว่าเจนซีคือใคร ถ้าคุณตอบได้ก็เหมือนคุณตอบผมแล้ว   คือเราศึกษาจิตวิยาของกลุ่มเจนซีออกมาก่อนวางให้เป็นกรอบ ของดีเอ็นเอแม่ที่ทุกคนต้องเข้าใจ ความชัดเจนทางความคิดต้องตามมมา

C ที่สำคัญสำหรับผมก็คือ cash กับ control คือคนที่เรียนจบมาใหม่ๆต้อง ดูแลและควบคุมค่าใช้จ่ายตัวเองได้  เป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีไลฟ์สไตล์ เราคือเครื่องมือที่ทำให้เขามีไลฟ์สไตล์นั้น โดยที่สามารถควบคุมเงินสดในกระเป๋าเขาได้อย่างวันนี้ถ้าอยากมีบ้านเขาก็สามารถเลือกโปรดักส์ ของเรา ก็พยามบอกว่าแทนที่จะซื้อรถยนต์ให้ซื้ออสังหาเพราะราคาขึ้น ต้องสมาร์ทไฟแนนซิ่ง ต้องคิดและควบคุมบริหารเงินเป็น ต้องสมาร์ทแคช เพื่อคอนโทรลชีวิตตัวเองให้ได้ดีที่สุด”

โปรดักส์แรกที่ดีไซน์ภายใต้คอนเซ็ปต์ของเจเนอเรชั่นซีคือ IDEO ลาดพร้าวซอย 17 ซึ่งเปิดขายไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ที่ผ่านมาถือได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย สามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว โครงการตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 3.5 ไร่ ประกอบด้วยอาคารสูง 8 ชั้น จำนวน 2 อาคาร จำนวนรวม 339 ยูนิต ขนาดห้องตั้งแต่ 34-74 ตารางเมตร ราคาขายเริ่มต้นที่ 1.7 ล้านบาท มูลค่าการขายรวม 800 ล้านบาท มีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2552

ถัดมาอีก 2 เดือนก็เปิด IDEO อีก 2 โครงการใหม่ที่ลาดพร้าวซอย 5 และบนถนนพหลโยธินก่อนที่จะทยอยเปิดตัวโครงการIDEOต่ออีก3ทำเลบนถนนรัชดาห้วยขวาง  สาทร ตากสิน  พญาไท และล่าสุดบนสุขุมวิท 103

“แบรนด์ไอดีโอสำคัญมากที่สุดคือโลเกชั่น ถ้าไม่ใช้รถไฟฟ้าก็ไม่ใช่นะ ใครถามว่าอยู่ไหน อยู่ไอดีโอ อ๋อ สเตชั่นไหนล่ะ ต้องให้ความรู้สึกกันอย่างนี้เลยล่ะ”


สำหรับโครงการบ้านจัดสรร อนันดา  แบรนด์แม่ยังเป็นอนันดา แต่จะแยกย่อยลงมาอีกหลายคอลเล็กชั่น เพื่อจับกลุ่มลูกค้าในหลาย เซ็กเม้นท์ เช่น บาหลีบีช สำหรับกลุ่มลูกค้าที่หลงเสน่ห์ของวัฒนธรรมบนเกาะบาหลี  ไวกิกิชอร์ สไตล์ฮาวาย  สิมิรันลีฟ  มัลดีฟล์ปาล์ม


“คอลเล็กชั่นไหนขายดีมันก็อาจจะเป็นแบรนด์ใหม่ไปเลย  แบรนด์ไหนไม่ดี แบรนด์แม่ก็ยังอยู่ ผมคาดว่าจะมีจะมีโฆษณาของตัวบ้านออกมาให้เห็นประมาณ ปลายไตรมาส 2”


บริษัทอนันดา จะเน้นสร้างบ้านเดี่ยว ราคา 5-8 ล้านบาท ต่อหน่วย ซึ่งคาดว่าจะเป็นแนวโน้ม หลักบ้านจัดสรรในไทยปีหน้าเป็นหลัก แต่อาจสร้างผลิตบ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮาส์ ราคาต่ำกว่าหน่วย 5 ล้านบาท และสูงกว่า 8 ล้านบาทขึ้นไปจนถึง 60 ล้านบาทบ้าง


การจับกลุ่มลูกค้าในหลายระดับราคาเป็นการประกันความเสี่ยงหากลูกค้ากลุ่มไหนปัญหาขึ้นมา ซึ่งเป็นประสบการณ์เต็มๆที่เขาได้มาจากการทำโครงการวิลมิลด์ของผู้เป็นพ่อในอดีตที่เน้นไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้สูงอย่างเดียว


“ผมขายเก่ง แต่ไม่ได้หมายความว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว”


ชานนท์บอกว่าอนันดา และ IDEO เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่ได้รับการตอบรับดี  แต่เป็นแบรนด์ที่อายุยังน้อย  ต้องพัฒนาโปรดักส์ต่อไป บทพิสูจน์ในเรื่องคุณภาพของโปรดักส์ จะทำให้ระยะยาวแบรนด์เข้มแข็งขึ้น

“ หลายคนอาจจะมองว่าเราเป็นแบรนด์ที่โม้เก่งนี่หว่า ผมต้องรอวันพิสูจน์เหมือนกัน ผมต้องทำโปรดักส์ให้คนใช้พอใจ และสามารถสร้างให้ทรัพย์สินของเขาให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น   ตอนนี้ทุกโครงการยังสร้างไม่เสร็จ และไม่ใช่แค่เสร็จอย่างเดียว การบริหารจัดการหลังการขายต้องดีมีคุณภาพ และทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้ด้วย  ตอนนี้ผมเพิ่งทำไปแค่30 เปอร์เซ็นต์เอง เหลืออีก ตั้ง70 เปอร์เซ็นต์  ถึงวันนั้นผมจะบอกได้ว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว”

“วันนี้ผมยังเก่งแค่ขายกระดาษอยู่”   เป็นคำพูดสุดท้ายที่ชานนท์ที่สะท้อนให้เห็นว่า เขาเป็นนักธุรกิจวัยละอ่อนคนหนึ่งที่รู้ตัวเองตลอดเวลาและ ยังไม่หลงระเริงไปกับความสำเร็จกับยอดขายในแผ่นกระดาษ



  ล้อมกรอบ

ชานนท์ เรืองกฤตยา

ประธานและ CEO บริษัท Ananda Development
Age :                      36 ปี
Education :         ปริญญาโทด้านการเงินและการบัญชีระหว่างประเทศ จาก London School of Economics   ประเทศอังกฤษ  ปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ จาก University of California at Berkeley,   ประเทศอเมริกา
Lifestyle :             กีฬา Adventure ทุกประเภท รวมทั้งการแข่งรถโกคาร์ทที่สนามพัทยาเซอร์กิตที่พัทยาด้วย

Crazy in Brand :                             ชอบงานดีไซน์ของ Nokia ชอบธรรมชาติที่มีในเนื้องานของ Muji และ ฟังก์ชั่นที่หลากหลายของเฟอร์นิเจอร์ แบรนด์ Ikea




ล้อมกรอบ
ต้องเข้าใจ “C”  จึงจะสำเร็จ

เจเนอเรชั่น "ซี"  ตัว C นั้นมาจากคำว่า Content หรือเนื้อหา ซึ่งมักจะใช้กับเนื้อหาข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์จำพวกอินเทอร์เน็ต  

ผู้บริโภคในยุคเจเนอเรอชั่นซีก็คือผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่ทำให้แนวคิด ทัศนคติ และพฤติกรรมบริโภคเปลี่ยนแปลงไป เริ่มตั้งแต่การที่มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจทางด้านข้อมูลมากขึ้น สามารถรับรู้และค้นหาข่าวสารข้อมูลได้ทันท่วงที และไร้ขอบเขตจำกัดซึ่งทำให้ลูกค้ามีความรู้ ฉลาดขึ้น และสามารถเปรียบเทียบข้อมูลของสินค้าและบริการระหว่างคู่แข่ง ส่งผลให้ลูกค้ามีความต้องการที่ซับซ้อนหลากหลาย และยากที่จะตอบสนองมากขึ้น อีกทั้งลูกค้ายังสามารถเข้าถึงช่องทางจำหน่าย จึงมีทางเลือกหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องง้อผู้ขายรายใดรายหนึ่ง

            ธุรกิจที่กำลังมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้บริโภคกลุ่มใหม่มีอำนาจซื้อสูง ก็ต้องทำความเข้าใจกับความต้องการและพฤติกรรมของชาว "ซี" นี้อย่างถ่องแท้ จึงจะสามารถจับตลาดกลุ่มนี้ได้ รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากพลังความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ของเขาด้วย
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่