สมาคมประกันภัยจ่อรื้อเบี้ยรถยนต์ใหม่ทั้งระบบ

สมาคมประกันวินาศภัยไทย  จ่อรื้อโครงสร้างเบี้ยประกันรถยนต์ทั้งระบบ   หลังในตลาดมีรถยนต์รุ่นใหม่เกิดขึ้น  คาดผลศึกษาแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี  โต้ปรับเพิ่มเบี้ยรถคันแรก

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า  สมาคมฯได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากต่างประเทศ คือ บริษัท ทัทชาม(ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาศึกษาถึงการปรับโครงสร้างการคิดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ใหม่เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน  เนื่องจากปัจจุบันมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ประเภท อีโคคาร์ และ ซิตี้คาร์ เกิดขึ้นจำนวนมาก จากเดิมโครงสร้างเบี้ยประกันจะไปผูกติดกับทุนประกันเป็นส่วนใหญ่

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าสมาคมประกันวินาศภัย จะยื่นเรื่องขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)พิจารณาขึ้นอัตราค่าเบี้ยประกันรถยนต์คันแรก อีก 10% เนื่องจากพบว่าอัตราความเสียหายที่เกิดขึ้นสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปว่า  ขณะนี้สมาคมยังไม่มีนโยบายขึ้นเบี้ยประกันรถยนต์คันแรกอีก 10% ดังนั้นจึงยังไม่มีการยื่นเอกสารข้อมูลไปให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.)

“สมาคมประกันวินาศภัยไทย ยืนยันว่า ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันรถยนต์คันแรก10% เพราะโครงการรถยนต์คันแรกยังไม่มีสถิติที่มากพอ และที่สำคัญรถยนต์คันแรกยังต้องรอส่งมอบอีกในครึ่งปีแรก แต่สิ่งที่สมาคมได้ชี้แจงคือ การปรับโครงสร้างเบี้ยประกันภัยใหม่ทั้งระบบ ซึ่งอาจจะทำให้รถบางรุ่น บางประเภท อาจจะต้องปรับค่าเบี้ยขึ้น หรือ ลดลงประมาณ 5-10% ซึ่งโครงสร้างเบี้ยดังกล่าวนั้นกำลังศึกษาอยู่คาดว่าจะแล้วเสร็จไม่เกิน 2 ปี”

ด้านนายพุทธิพงษ์ ด่านบุญสุต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทประกันวินาศภัยที่ให้น้ำหนักกับประกันรถยนต์ ก็จะได้รับอานิสงค์จากรถยนต์คันแรก โดยดีลเลอร์ จะเป็นผู้ที่ส่งงานให้กับบริษัทประกันวินาศภัยเป็นหลัก ทำให้ประกันรถยนต์คันแรก จึงตกอยู่ใน 15 บริษัทประกันวินาศภัย เป็นส่วนใหญ่

สำหรับอัตราเบี้ยประกันของรถยนต์คันแรก เฉลี่ยอยู่ที่ 12,000-15,000 บาท ต่อคัน เพราะขนาดเครื่องยนต์ระหว่าง 1,200-1,500 ซีซี และที่สำคัญประกันรถยนต์คันแรก กว่า 60% ดีลเลอร์จะเป็นคนแถมให้กับคนซื้อรถยนต์ ที่เหลือจะเป็นการขาย ซึ่งในครึ่งปีแรกของปีนี้ บริษัทประกันก็ยังได้รับอานิสงค์จากรถยนต์คันแรกอย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีการส่งมอบรถยนต์ในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7 แสนคันครบ1.5 ล้านคัน จากที่ได้ส่งมอบไปแล้วประมาณ 8 แสนคัน

ขณะที่นายพันธ์เทพ ชัยปริญญา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายสินไหมทดแทน บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด  กล่าวว่า บริษัทมีส่วนแบ่งการครองตลาดจากรถยนต์คันแรก 30% ซึ่งอัตราเบี้ยประกันสำหรับรถยนต์คันแรกก็จะมีความแตกต่างกันไป โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 15,000-19,000 บาท ขึ้นอยู่กับราคารถ และทุนประกัน เป็นหลัก แต่โดยส่วนใหญ่รถคันแรกดีลเลอร์ก็มักจะแถมให้กับลูกค้าอยู่แล้ว

บริษัทวิริยะประกันภัย ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับขึ้นอัตราเบี้ยประกัน เพราะรถยนต์คันแรก มีสินไหมยังต่ำอยู่ และคนที่มีรถคันแรก จะขับขี่รถด้วยความระมัดระวัง และใช้ความเร็วที่ไม่สูง ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะโครงการรถยนต์คันแรกยังไม่สิ้นสุดโครงการ เนื่องจากยังส่งมอบรถไม่หมด คาดว่าจะส่งมอบรถได้หมดภายในครึ่งแรกของปีนี้

อย่างไรก็ตามการคิดอัตราเบี้ยประกันนั้น ต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะปัจจุบันมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกมาจำนวนมาก เรื่องนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ว่าจ้างให้บริษัท ทัทชาม (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาทำการศึกษาโครงสร้างประกันภัยของไทย โดยได้จัดกลุ่มรถยนต์จาก 5 กลุ่ม เป็น 20 กลุ่ม โดยแบ่งตามอัตราความเสี่ยงภัย ความปลอดภัย ค่าสินไหม อะไหล่รถยนต์ ขนาดรถ ฯลฯ ซึ่งในเบื้องต้นผลของการจัดโครงสร้างเบี้ยประกันรถยนต์ใหม่นั้นจะทำให้มีการปรับขึ้น หรือ ปรับลงของเบี้ยประกันระหว่าง 5-10%

รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า จากจำนวนผู้ขอใช้สิทธิ์คืนเงินในโครงการรถยนต์คันแรก 1.256 ล้านราย คิดเป็นเงินที่ต้องคืนจำนวน 9.1 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งเป็นจำนวนรถยนต์ที่ขายได้จากโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย รถยนต์นั่งประมาณ 7.4 แสนคัน รถกระบะประมาณ 2.9 แสนคัน และรถดับเบิลแคปประมาณ 2.6 แสนคัน

            ทั้งนี้ในจำนวนรถยนต์นั่งดังกล่าว ส่วนใหญ่หรือประมาณ 90% เป็นรถยนต์จากค่ายฮอนด้า โตโยต้า นิสสัน และมาสด้า ส่วนกระบะ และดับเบิลแคปนั้น ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นรถยนต์จากค่ายอีซูซุ
            โดยรถล็อตแรกที่จะต้องใช้คืนแก่ผู้ขอใช้สิทธิ์ที่ครบกำหนดการถือครองรถยนต์ 1 ปี จำนวน 4 หมื่นล้านบาทในปี 2556 นี้ ส่งผลให้สรรพสามิต จึงต้องเตรียมเสนอเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาของบกลางประจำปีงบประมาณ 2556 จากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 4 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้คืนเงินผู้ขอใช้สิทธิ์คืน โดยก่อนหน้านี้ สรรพสามิต ได้ทำการตั้งงบไว้แล้ว 7,000 ล้านบาท แต่จำนวนเป็นสำรองงบ เพื่อเตรียมไว้สำหรับกรณีที่มียอดขอคืนที่ครบกำหนดเพิ่มขึ้น    
            ขณะเดียวกันในปี 2557 สรรพสามิต ประเมินว่า จะมียอดคืนเงินอีก 4 หมื่นล้านบาท และส่วนที่เหลือคาดจะคืนได้หมดในปีงบประมาณ 2558 โดยล่าสุดกรมบัญชีกลาง แสดงตัวเลขยอดขอคืนเงินแก่ผู้ขอใช้สิทธิ์ได้คืนไปแล้ว 4 พันล้านบาท

โครงการรถยนต์คันแรก  

                      
  จำนวนผู้ขอใช้สิทธิ์                                            จำนวนเงิน
                          1.256 ล้านราย                                                9.1 หมื่นล้านบาท



                    
ประเภทรถยนต์                      จำนวน (แสนคัน)                  ค่ายรถ(ใช้โลโก้)
        รถยนต์นั่ง                                              7.4                         ฮอนด้า -โตโยต้า- นิสสัน -มาสด้า
       รถกระบะ                                                  2.9                                อีซูซุ
     รถดับเบิลแคป                                            2.6                                  อีซูซุ
            

                                                        
กำหนดคืนเงินผู้ใช้สิทธิถือครองรถยนต์ 1 ปี
                                                ปี                                              จำนวน (ล้านบาท)
                             2556                                                                 40,000
                              2557                                                                  40,000
                              2558                                                                    11,000
  ***สรรพามิต เตรียมเสนอ กท.คลังของบกลางประจำปี 2556 จำนวน 40,000
   ***ล่าสุดกรมบัญชีกลาง เผยยอดขอคืนเงินแก่ผู้ขอใช้สิทธิ์แล้ว 4,000ลบ.

ที่มา:กรุงเทพธุรกิจ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่