ศัพท์ใหม่ในวงการเบสบอล Jiengo (อ่านว่า จิเอนโกะ)

กระทู้สนทนา
ก็ไม่เชิงใหม่ครับ พาดหัวกระทู้ให้หวือหวาไปอย่างนั้นเอง เป็นคำมาจากภาษาญี่ปุ่น

เวลาที่พิทเชอร์ได้รับรัน (คะแนน) จากทีมรุกฝ่ายตัวเองที่ทำรันได้ ทำให้พิทเชอร์มีสิทธิ์ได้รับการบันทึกสถิติว่าเป็น พิทเชอร์ผู้ "ชนะ" (win record) ในเกมนั้น
ในภาษาอังกฤษเรียกว่า gains run support. คือ ได้รับการสนับสนุนรันจากเพื่อนร่วมทีม
ในภาษาญี่ปุ่นจะใช้คำว่า engo = เอนโกะ (หรือเอนโงะก็แล้วแต่ว่าจะออกเสียงพยัญชนะต้น g เป็น ก หรือ ง) เขียนคันจิก็ 援護 (เป็นประโยค ก็ประมาณ 援護をもらった แปลว่า รับได้ run support นั่นแหละ)

ทีนี้
ในเกมระหว่าง ดอดเจอส์ กับ ทวินส์ วันนี้ มีเหตุการณ์นี้ขึ้น
พิทเชอร์ทานิ: อุ้ย โดนเขาตีโฮมรันเสียไปรันนึง (แต้มนึง)
แบทเตอร์ทานิ: แต่ไม่เป็นไร ฉันตีทูรันโฮมรัน ได้คืนมาสองรัน (สองแต้ม)

ก็คือ เหตุการณ์ที่พิทเชอร์โอทานิ เสียรันให้คู่แข่งไปหนึ่งรันในอินนิ่งครึ่งบน แต่ในอินนิ่งครึ่งล่างตอนทีมตัวเองเป็นฝ่ายบุก โอทานิในฐานะคนตีลำดับที่สองของทีม ก็ทำโฮมรันได้ ทำให้ทีมได้มาสองรัน (แต้ม) เพราะขณะนั้น คนตีลำดับแรกอยู่ที่เบสหนึ่ง พอโอทานิตีโฮมรันได้ ก็เลยกลายเป็น ทูรันโฮมรัน คือ ได้ทีเดียวสองรัน

ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นจะเรียกเหตุการณ์นี้ว่า จิเอนโกะ คือ พิทเชอร์เป็นคนตีได้รันที่ทำให้พิทเชอร์ (ก็คือตัวเอง) ได้สิทธิ์เป็นผู้ชนะในเกม (แค่ได้สิทธิ์นะ ยังมีเงื่อนไขอื่น แต่เอาเป็นว่า เงื่อนไขพื้นฐานคือพิทเชอร์อยู่บนสนามโดยยังไม่ถูกเปลี่ยนออกและทีมมีคะแนนนำอยู่ นั้นเป็นจริงแล้ว)

ไฮไลท์ทั้งเกมครับ แต่เหตุการณ์จิเอนโกะอยู่ที่อินนิ่งแรกเลย
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ไฮไลต์เฉพาะโฮมรันที่ 35 ของโอทานิ .... ทำให้เขาขึ้นเป็นผู้นำร่วมในสถิติตีโฮมรันสูงสุดของลีก คือ 35 ลูก อยู่หลายนาที
ก่อนที่ซัวเรสแห่งทีมไดอะมอนด์แบ็กส์ที่กำลังเล่นอยู่ในอีกสนามหนึ่ง จะตีโฮมรันฉีกออกไปเป็น 36 ลูก
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

ที่จริง เรื่องที่พิทเชอร์ตีทำรันให้ทีม (และให้ตัวเอง) นั้น ถ้าเป็นเบสบอลกติกาดั้งเดิม แบบที่ใช้อยู่ในเซ็นทรัลลีกของโปรเบสบอลญี่ปุ่น (NPB) จะไม่ใช่เรื่องแปลก ถึงแม้ว่าจะเกิดไม่บ่อยก็เถอะ เพราะว่า กติกาดั้งเดิมนั้น พิทเชอร์เป็นคนหนึ่งในลำดับการตีด้วย นั่นคือ เมื่อถึงรอบที่ทีมเป็นฝ่ายบุกทำแต้ม พิทเชอร์ก็ต้องมาร่วมตีทำแต้มด้วย เพียงแต่ว่าโดยทั่วไปพิทเชอร์มักจะตีไม่เก่ง จึงมักตีอยู่ลำดับที่ 9 (คนสุดท้าย) และมักจะมาแกว่ง ๆ ไม้ให้จบ ๆ ไป เพราะต้องกลับไปทำสมาธิเตรียมขว้างลูกต่อ หรือไม่ก็ ถ้ามีโอกาส ก็อาจจะได้บันท์ (เคาะลูกเบา ๆ) เพื่อส่งรันเนอร์ให้วิ่งไปเบสต่อไปได้ (พิทเชอร์ในลีกที่ใช้กติกานี้ ก็มักจะฝึกบันท์กันมา)

แต่สำหรับเมเจอร์ลีกซึ่งใช้ระบบ DH (Designated Hitter คือ คนตีแทนพิทเชอร์ ทำให้พิทเชอร์ไม่ต้องร่วมการตีด้วย) ทั้งฝั่งอเมริกันลีกและเนชันแนลลีก (ในปัจจุบัน) การที่พิทเชอร์จะทำรันให้กับทีม (และให้กับตัวเอง) จึงเป็นไปไม่ได้ ยกเว้นกรณีเดียวคือ พิทเชอร์คนนั้น เป็น DH ด้วยพร้อมกัน นั่นคือ ทั้งขว้างทั้งตี จึงมีโอกาสทำได้แบบนี้

และปรากฏการณ์พิทเชอร์ตีทำรันให้ทีมและให้ตัวเอง จึงได้ปรากฏสู่สายตาผู้ชม MLB ในเกมนี้เอง หลังจากที่ไม่ได้มีภาพนี้มานานแล้ว (ขออภัยผมไม่ได้ไปหาสถิติมานะครับ ว่าเคยมีเหตุการณ์นี้ในเมเจอร์ลีกมาก่อน เมื่อไรบ้าง)

แต่สุดท้ายในเกมนี้ โอทานิ ไม่ได้รับสถิติการ "ชนะ" ในเกมนี้แต่อย่างไร เพราะเขาเปลี่ยนตัวในฐานะพิทเชอร์หลังจบอินนิ่งที่สาม ในขณะที่สิทธิ์การได้รับสถิติ "ชนะ" ต้องนับตั้งแต่อินนิ่งที่ห้าเป็นต้นไป (ซึ่งที่จริงก็ประกาศกันไว้ก่อนเกมอยู่แล้ว ว่า โอทานิจะขว้างอย่างมากแค่สามอินนิ่ง)

สุดท้ายของสุดท้ายอีกที เนื่องจากโอทานิเป็นคนญี่ปุ่น และด้วยความที่โลกเราไร้กำแพงภาษาขึ้นทุกที ดังนั้น คำว่า จิเอนโกะ จึงมีสิทธิ์กลายเป็นคำใหม่ในวงการเบสบอล หรือ ในหมู่แฟนเบสบอล ยังไงล่ะครับ เรียกว่าเป็น ปรากฏการณ์ใหม่อีกหนึ่งเรื่องที่ผู้เล่นสองบทบาท (two-way player) หนึ่งเดียว ณ ขณะนี้ ได้ทำให้เกิดขึ้น

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่