‘สีฟ้า’ ร้านอาหาร 90 ปี โตเงียบๆ ทะลุ ‘พันล้าน’ จากร้านขายไอศกรีมของก๋ง สู่ธุรกิจ OEM ส่งโรงแรม-สายการบิน

กระทู้สนทนา

‘สีฟ้า’ ร้านอาหาร 90 ปี โตเงียบๆ ทะลุ ‘พันล้าน’ จากร้านขายไอศกรีมของก๋ง สู่ธุรกิจ OEM ส่งโรงแรม-สายการบิน
.
คุยกับทายาทรุ่นที่ 3 “สีฟ้า กรุ๊ป” จากธุรกิจขายไอศกรีม-ผลไม้ สู่อาณาจักรอาหารที่ไม่ได้มีแค่ร้านสีฟ้า แตกไลน์ทำธุรกิจ Food Service รับจ้างผลิตส่งสายการบิน-เชนโรงแรม ทยอยรีแบรนด์สีฟ้าแบบใหม่ อยากให้ Gen Z เข้ามากินเยอะๆ เป้าหมายปีนี้หวังรักษาระดับพันล้านเท่าเดิม
.
ธุรกิจร้านสีฟ้าก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2479 เริ่มต้นจากปู่หรือ “ก๋ง” และย่า ของ “กร รัชไชยบุญ” ทายาทรุ่นที่ 3 ชวนกันเปิดร้านขายไอศกรีม กาแฟ และผลไม้ มีโลเกชันเป็นห้องเช่าเล็กๆ ริมถนนย่านราชวงศ์ ถึงยุคหนึ่งจึงค่อยๆ พัฒนาตัวเองไปขายอาหาร ร้านอาหารของก๋งและย่าเลือกใช้สีฟ้าทาผนัง เมื่อกระทบกับแสงไฟนีออนก็ยิ่งโดดเด่นกว่าเดิม ทำให้คนที่เดินผ่านไปมาละแวกนั้นเรียกกันติดปากว่า “ร้านสีฟ้า”
.
เมื่อธุรกิจเติบโตก็ถึงคราวต้องตั้งชื่อร้านอย่างจริงจัง แต่ไม่ต้องพลิกแพลงอะไรให้มากความเมื่อคนเรียกแบบนี้มาตลอด ชื่อร้านจึงมาจบที่ “สีฟ้า” ปัจจุบันร้านสีฟ้าส่งต่อมาถึงรุ่นที่ 3 โดยมี “นิษฐา รัชไชยบุญ นันทขว้าง” นั่งประธานกรรมการบริหาร หรือ CEO ส่วน “กร รัชไชยบุญ” น้องชายของนิษฐา ดูแลงานโอเปอเรชัน การตลาด และทำแบรนดิ้งในตำแหน่ง COO
.
“กร” กางโครงสร้างของ “สีฟ้า กรุ๊ป” อธิบายให้ฟังว่า ร้านอาหารสีฟ้าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแบรนดิ้งก็จริง แต่สัดส่วนหลักที่ทำเงินและสร้างการเติบโตมากที่สุด คือธุรกิจ “F&B Service” ทำมานานกว่า 20 ปี เริ่มต้นขึ้นในช่วงการทำงานของทายาทรุ่นที่ 2 โดยมี “จิตติ รัชไชยบุญ” ผู้เป็นพ่อ และ “ทวีรัชฎ์ รัชไชยบุญ” น้องชายของพ่อหรือมีศักดิ์เป็นอาแท้ๆ ของกร แบ่งสัดส่วนธุรกิจเป็นสามแกนอย่างชัดเจน
.
ส่วนแรกอยู่ภายใต้ “สีฟ้า ลุมพินี” ทำธุรกิจ F&B Service ดูแลให้กับเชนโรงแรม ครอบคลุมตั้งแต่อาหารเช้า รูมเซอร์วิส โรงอาหารพนักงาน ไปจนถึงเสิร์ฟเมนูในร้านอาหารสเปเชียลตี้ภายในโรงแรม ปัจจุบันสีฟ้า ลุมพินี ผูกปิ่นโตกับเครือโรงแรมแกรนด์เซนเตอร์พอยต์ ของ “แลนด์แอนด์เฮ้าส์” (L&H) ทั้งหมด ส่วนที่สอง คือกลุ่มรีเทลหรือร้านอาหารเครือสีฟ้า และกลุ่มสุดท้าย คือ “สีฟ้า ฟู้ด” ป้อนอาหารส่งสายการบินใหญ่ๆ อาทิ แอร์เอเชีย (AirAsia) และไทยไลอ้อนแอร์ (Thai Lion Air)
.
“กร” บอกกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า กลุ่ม F&B Service ทำเงินกว่า 50% ของพอร์ตโฟลิโอ ส่วนกลุ่มร้านอาหาร และสีฟ้า ฟู้ด ทำเงินให้อีกอย่างละ 25% เท่าๆ กัน จุดเริ่มต้นที่ทำให้ “สีฟ้า กรุ๊ป” เข้าไปทำงานร่วมกับเชนโรงแรมได้ “กร” บอกว่า เริ่มจากมีผู้ใหญ่มองเห็นว่า สีฟ้ามีศักยภาพทำงานแบบนี้ได้ เมื่อทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มมีโอกาสอื่นๆ ตามมา ตนและที่บ้านไม่เคยปฏิเสธและนำมาพัฒนาตัวเองเสมอ เก็บเกี่ยวเวลากว่าสองทศวรรษจนทำให้ภาพรวมธุรกิจยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายคนไม่ค่อยรู้ว่า สีฟ้าอยู่เบื้องหลังให้กับเครือใหญ่หลายแห่งมานานมากแล้ว
.
เป้าหมายของทายาทรุ่นที่ 3 ไม่อยากทำให้ร้านหวือหวา ติดกระแสชั่วครั้งชั่วคราว แต่จะทำอย่างไรให้ “สีฟ้า” เป็นความปกติธรรมดาในทุกๆ วันของลูกค้า ให้คนเจนใหม่นึกถึงเวลาอยากกินของอร่อยเหมือนกับที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่นึกถึงสีฟ้า เข้ามาใช้ชีวิตร่วมกันที่ร้าน แวะเวียนมากินบ้างสัปดาห์ละครั้ง
.
ทั้งนี้ แผนรีแบรนด์ให้กับร้านสีฟ้าถูกพูดถึงมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เนื่องจากความเข้มข้นของธุรกิจโรงแรมในปีที่ผ่านมา จึงต้องหันไปโฟกัสที่ธุรกิจขา F&B Service มากหน่อย “กร” บอกว่า ตอนนี้การเปิดร้านใหม่ สาขาใหม่ๆ อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของสีฟ้า แฟนๆ ของร้านอายุมากขึ้น เจเนอเรชันใหม่ไม่ค่อยรู้จัก สำคัญที่สุดคือจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่เชื่อว่า อาหารที่ร้านอร่อย ต้องพูดภาษาให้ใกล้เคียงกับลูกค้า และปรับบรรยากาศให้เข้าถึงง่ายขึ้น
.
.
อ่านต่อ: https://www.bangkokbiznews.com/business/business/1188173?anm=


เห็นเงียบๆแอบไปทำ oem ไม่ธรรมดา ช่วงหลังก็ไม่ค่อยได้ไปกิน ตอนแรกนึกว่าจะไม่รอดแล้ว

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่