20แนวคิด กัปตัน เฌอปราง สู่ ชิไฮนิน


:: 20 แนวคิด การเป็นผู้นำรุ่นใหม่แบบ 'เฌอปราง'" จากกัปตันวง สู่บทบาทชิไฮนิน ::

✅ บทเรียนที่ 1 : เข้าใจและการบริหารจัดการความคาดหวัง

1. ยอมรับความเป็นจริงและขอบเขต
เฌอบอกว่า "เราตามใจ 200% ไม่ได้" และเข้าใจว่าทุกสิ่งมีขอบเขต ต้องมองหา "จุดที่เวิร์คที่สุด" แม้จะไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนพอใจ 100% แต่เป็นจุดที่ทุกคนรับได้และงานดำเนินต่อไปได้

2. การเป็น "กันชนชั้นดี"
ผู้นำต้องพร้อมเป็นคนกลางในการรับแรงกดดันจากทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง โดยเฌอเรียกตัวเองว่าเป็น "กันชนชั้นดี" ที่คอยประสานความเข้าใจและแก้ไขปัญหาให้กับทุกฝ่าย

3. จัดการความเครียดด้วยการยอมรับ และตั้งสติ เฌอบอกว่า ตัวเองยอมรับความเครียดที่เกิดขึ้นจากการเป็นกันชนได้ ด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ และใช้สติในการรับมือกับสถานการณ์กดดันจากทั้งเมมเบอร์ และผู้ใหญ่ที่ต้องคุยด้วย

4. ตั้งคำถามเพื่อค้นหา "เป้าหมายร่วม"
สิ่งสำคัญที่เฌอใช้เสมอคือการ "พูดคุย" เพื่อหาเป้าหมายที่แท้จริงของแต่ละฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือน้องๆ เมมเบอร์ เฌอจะพยายามปรับให้เป้าหมายนั้น "พอดีที่สุด"

5. ยืดหยุ่นและประนีประนอม
เฌอบอกว่า ตัวเองไม่ยึดติดกับกรอบเดิมๆ แต่พร้อมที่จะประนีประนอมและปรับเปลี่ยนแผนการเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด เช่น การปรับลดจำนวนเพลง หรือขอเลื่อนระยะเวลาเพื่อให้งานสมบูรณ์ขึ้น

✅ บทเรียนที่ 2 : สื่อสารและสร้างความเชื่อใจ

6. กล้าที่จะนำเสนอแนวทางที่ดีกว่า
เมื่อเฌอเห็นว่ามีแนวทางที่ดีกว่า เฌอจะไม่ลังเลในการเสนอความคิดเห็นกับผู้ใหญ่ โดยให้เหตุผลว่า "หนูว่าแบบนี้มันดีกว่า" พร้อมทั้งขอให้ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงศักยภาพ

7. สร้างความเข้าใจกับน้องๆ ทำให้เขาไว้ใจ
เฌอแชร์ทริคของตัวเองว่า การลงไปคลุกคลีกับเมมเบอร์ ทั้งการอยู่หอด้วยกัน ลงไปซ้อมเต้น และนั่งเฝ้า ทำให้เกิดความสนิทใจและความไว้ใจ น้องๆ จึงพร้อมที่จะเชื่อและทำตามคำแนะนำของเฌอ

8. พิสูจน์ตัวเองด้วยผลงาน
การที่น้องๆ เชื่อใจเฌอเป็นเพราะตัวของเฌอเอง พิสูจน์ตัวเองมาแล้วว่า "พี่พยายามที่สุดแล้วจริงๆ มันได้แบบนี้" ทำให้ทุกคนเห็นถึงความทุ่มเท ในการแก้ไขปัญหาในฐานะชิไฮนิน

9. ชัดเจนในสิ่งที่ต้องการ
เฌอย้ำว่า ความชัดเจนในการสื่อสาร ทั้งการตั้งคำถามที่ตรงประเด็นเพื่อหาข้อมูลที่จำเป็น เช่น งบประมาณ ระยะเวลา หรือความต้องการของแต่ละฝ่าย สำคัญมากต้องหาให้เจอว่าแต่ละคนต้องการอะไร

10. ใช้คำถามแบบ "ใช่ไหม?" เพื่อสรุปความเข้าใจ เฌอบอกว่าตัวเองใช้เทคนิคการถามแบบ "ใช่ไหม?" (Yes/No Question) เพื่อยืนยันความเข้าใจและสรุปประเด็นสำคัญ ทำให้การสนทนามีประสิทธิภาพและประหยัดเวลา

✅ บทเรียนที่ 3 : การบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ

11. เข้าใจกระบวนการทำงาน
จากประสบการณ์ที่ผ่านการทำงานทุกตำแหน่ง ทำให้เฌอเข้าใจกระบวนการทำงานเบื้องหลังอย่างละเอียด และสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เพราะเฌอเข้าใจความเหนื่อยของคนที่อยู่บนเวที

12. ความน่าเชื่อถือ
การที่เฌอเคยอยู่ในทุกตำแหน่ง ตั้งแต่คนซ้อม คนเต้น หรือแม้กระทั่งสไตล์ลิสต์ที่คอยดูแลเสื้อผ้า ทำให้ทุกคำพูดของเฌอมีน้ำหนัก และน่าเชื่อถือ เพราะเธอรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงหน้างาน

13. เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง
เฌอบอกว่า ตอนที่ตัวเองรู้ว่าต้องรับตำแหน่ง เฌออ่านหนังสือเกี่ยวกับการบริหารจัดการคน ฟังพอดแคสต์ และหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทำให้ได้เทคนิคใหม่ๆ มาปรับใช้ในการทำงาน

14. สร้างขอบเขตและให้โจทย์ที่ชัดเจน
บางครั้งผู้นำจำเป็นต้องสร้าง "ตุ๊กตา" หรือกรอบขึ้นมาให้คนในทีมได้ยึดเหนี่ยวและต่อยอดความคิด ซึ่งช่วยให้การทำงานมีทิศทางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยตุ๊กตานี้ ต้องสร้างให้ทั้งผู้ใหญ่ และเมมเบอร์เห็น

15. ปฏิเสธให้เป็น
ผู้นำต้องกล้าที่จะปฏิเสธในสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ โดยอธิบายเหตุผลและข้อจำกัดอย่างตรงไปตรงมา และยอมรับกับเมมเบอร์อย่างจริงใจเมื่อไม่สามารถทำได้

✅ บทเรียนที่ 4 : ผู้นำที่สร้างแรงบันดาลใจ

16. จงเป็น “กาวใจ” และ “นักฟังที่ดี”
เชื่อมโยงทุกคนเข้าด้วยกัน รับฟังทุกเสียง และเข้าใจความต้องการของทุกฝ่าย

17. ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วม
ทำให้ทุกคนในทีมรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วมในการตัดสินใจและให้ความเห็น ให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของผลงาน มีความรับผิดชอบ และภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำ

18. วางให้เป็นและปล่อยวาง
เมื่อทำดีที่สุดแล้ว ต้อง "วางให้เป็น" เพื่อไม่ให้ความกดดันต่างๆ มาบั่นทอนกำลังใจตัวเอง

19. มั่นใจในตัวเองและเข้าใจศักยภาพ
เราต้องรู้ศักยภาพของตัวเองว่าทำอะไรได้บ้าง หากได้รับโอกาสก็จงทำอย่างเต็มที่

20. พูดคำไหนคำนั้นและรับผิดชอบคำพูด
สิ่งสำคัญที่สุดในการสร้างความไว้ใจ คือ "พูดคำไหนคำนั้น" ถ้าทำไม่ได้ ต้องยอมรับผิดและ "ขอโทษให้เป็น" เราถึงได้รับการยอมรับและความเคารพ

#CherprangAreekul
#CTC2025 #BNK48
เครดิต เพจ OTA Story
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่