ปัญหาครูไทยกับหน้าที่การเงิน พัสดุ ++โพสต์นี้ถูกแชร์ไปนับหมื่น++









ที่มา :

https://www.facebook.com/story.php?story_fbid=2713948675470586&id=100005664393175&rdid=Nubt5rHnEY6TS8U2#


หลังจากอ่านโพสต์ในเฟซบุ๊กนี้แล้ว

คุณคิดว่าควรแก้ปัญหาอย่างไรดี  ?

1. รัฐบาลจ้างหรือบรรจุ จนท. การเงิน พัสดุที่เรียนจบมาโดยตรง  ซึ่งเป็นแนวทางที่ครูเรียกร้องกันมากที่สุด

  แต่ปัญหาคือ รัฐจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม  
ปัจจุบัน รร.สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ มีเกือบ ๆ  3 หมื่นโรงเรียน
  
ใน 1 โรงเรียนให้มี จนท.การเงิน 1 คน + จนท.พัสดุ 1 คน
เท่ากับว่า ต้องมี จนท. 2 คน ใน 1 โรงเรียน

คิดเป็นค่าจ้างต่อเดือน  เอาเรตปริญญาตรีเลยนะ ปัจจุบัน  18,000 บาท / เดือน  คูณ 2 คน เข้าไป
ก็ต้องจ่าย 36,000 บาท / เดือน /  1 โรงเรียน

โรงเรียนมี 30,000 โรง  คูณเข้าไปจะได้ประมาณ  1,000 ล้านบาท / เดือน  

ถ้าคิดเป็น 1 ปีก็  12,000 ล้านบาท / ปี      นั่นคือรายจ่ายที่รัฐต้องจ่ายเพิ่ม  
ยังไม่นับค่าสวัสดิการดูแลรักษาพยาบาล + สวัสดิการการศึกษาบุตร และอื่น ๆ ตามที่สิทธิราชการพึงมี  ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐทั้งสิ้น

2. จากข้อ 1 เนื่องจากรายจ่ายของรัฐจะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก (หลักหมื่นล้านบาทต่อปี)

อีก 1 แนวทางแก้ คือ  ยุบ ควบรวมโรงเรียน
เพราะตอนนี้โรงเรียนขนาดเล็กมีเยอะมาก ๆ  (ย้ำว่า มากๆๆๆ) โรงเรียนประถม มีหลายโรงมาก ที่มีเด็กทั้งโรงเรียนไม่ถึง 100 คน  

ถ้าควบรวมโรงเรียนได้สำเร็จ จะเหลือประมาณ 1 หมื่นกว่าโรงเรียน
นำครู + นักเรียนมารวมกัน ณ โรงใดโรงหนึ่ง จะประหยัดค่าใช้จ่ายในการจ้างเจ้าหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น

แต่ ๆ ปัญหาคือ  ส่วนใหญ่ ชุมชน ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาที่จะถูกยุบโรงเรียน  
มักส่งเสียงคัดค้าน ไม่ยอมให้ยุบ หรือไปควบรวมกับโรงเรียนอื่น
อ้างว่าเด็กต้องเดินทางไกลขึ้น ไม่สะดวก ลำบาก  บ้างก็อ้างว่ามีความผูกพัน ความทรงจำที่ดีกับโรงเรียนเก่ามาช้านาน......

3. แก้ปัญหาโดยให้ครูนั่นแหละทำต่อไป แต่เพิ่มค่าตอบแทนพิเศษให้ครูการเงิน ครูพัสดุ  

แต่มุมมองผมนะ ถ้าผมเป็นครูการเงิน พัสดุ แล้วรัฐเสนอค่าตอบแทนให้  ถ้าเลือกได้ ผมก็ไม่รับ  แต่อยากได้เจ้าหน้าที่เฉพาะทางมาทำหน้าที่แทนมากกว่า จะได้ไปโฟกัสกับการสอนเด็กเต็มตัว

4. แนวทางต่อมา  ให้เจ้าหน้าที่ / บุคลากรในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทำหน้าที่นี้แทนครูในโรงเรียน  

แต่ ๆ มันมีปัญหามาแล้ว เมื่อ 2 ปีก่อน รัฐบาลพยายามช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก ลดภาระของครู โดยให้เขตพื้นที่ทำเอกสารจัดซื้อจัดจ้างแทนครูในโรงเรียน  ปรากฏว่า กว่าโรงเรียนจะได้รับของ ได้รับพัสดุ  ใช้เวลาหลายเดือน  เช่น จะสั่งซื้อกระดาษสัก 1 ลัง  ต้องรอเป็นเดือน  ครูที่จะใช้ก็รอนนาน ไม่ทันการ เพราะต้องนำกระดาษมาพรินต์เอกสารให้นักเรียน สุดท้าย โรงเรียนยอมนำเอกสารจัดซื้อจัดจ้างกลับมาทำเอง  

สาเหตุที่เขตพื้นที่ล่าช้า มี จนท. เขตให้ข้อมูลว่า ก็งานมันล้นมือ เพราะที่เขตพื้นที่มันก็มีงานจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานเขตอยู่แล้วด้วย

แล้วยังต้องมาทำให้โรงเรียนอีกหลายสิบโรง  เอาง่าย ๆ  จนท. ทำไม่ไหว ๆ

5. แนวทางต่อมา  เริ่มมีการเสนอให้ ผู้อำนวยการโรงเรียน / รองผู้อำนวยการโรงเรียน ทำหน้าที่นี้แทนครูทุกกระบวนการ

เพราะ ผอ. กับ รอง ผอ. ต้องรู้ทุกงานในโรงเรียน ไม่ว่าจะงานอาคารสถานที่ งานวิชาการ งานการเงิน พัสดุ    อีกอย่าง ผอ. และ รอง ผอ. ไม่ได้มีหน้าที่สอน   จึงมีเวลาในการทำหน้าที่นี้แทนครูได้  

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ผู้บริหารโรงเรียนทำ  ต้องมีการแก้ระบเียบ กฎหมายก่อน  

และแน่นอน เสียงสะท้อนจากผู้บริหารโรงเรียน คงไม่ยอมง่าย ๆ แน่นอน
อีกอย่าง... กระทรวงออกระเบียบให้ ผอ.ทำ  
แต่จะมั่นใจได้อย่างไรว่าสุดท้ายในทางปฏิบัติจริง ผอ.จะทำเอง หรือจะมาสั่งให้ครูทำอีกตามเคย

ขนาดตอนนี้กระทรวงประกาศยกเลิกการอยู่เวรยามของครูแล้ว  ยังมีบางโรงเรียนแอบตีเนียน ให้ครูไปอยู่เวรอยู่เลย    


6. แนวทางสุดท้าย  ครูทำต่อไป ไม่มีค่าตอบแทนอะไรให้ทั้งสิ้น  

แต่อาจเสนอให้มหาวิทยาลัยที่ผลิตบัณฑิตครู   สอนวิชาการเงิน พัสดุ มาตั้งแต่ในรั้วมหาลัยเลย  (แน่นอนก็คือ คณะครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์)  

แต่ ๆ ผมเองก็เรียนจบครุศาสตร์มา  เคยพูดคุยกับอาจารย์มหาลัยของผมแล้ว  

ท่านตอบผมว่า  เรื่องอะไรจะให้ครุศาสตร์สอนบัญชีพัสดุ  มันไม่ใช่หน้าที่ของคณะครุศาสตร์  เป็นภาระเปล่า ๆ   และไม่ใช่หน้าที่ของครูด้วย

ผมก็ได้แต่ท้อแท้ใจ  เพราะเบื้องบนก็จะให้ทำการเงิน พัสดุ   แต่มหาลัยที่ผลิตครูก็จะไม่สอน      


คนรับกรรมสุดท้ายคือ  ครู   ครูผู้เดียว.....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่