สคร.9 เตือนภัย "โรคไข้ดิน" หลังยอดป่วยพุ่ง 147 ราย เสียชีวิต 5 ราย เกษตรกร-ผู้มีโรคประจำตัว คือกลุ่มเสี่ยงสูงสุด แนะเลี่ยงลุยน้ำย่ำโคลน อาจถึงขั้นอันตรายถึงชีวิตได้
วันนี้ (25 พ.ค. 68) นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา ออกโรงเตือนประชาชนให้ระวัง โรคเมลิออยด์ หรือ โรคไข้ดิน หลังพบผู้ป่วยพุ่ง 147 ราย และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง
สถานการณ์โรคเมลิออยด์ในเขตสุขภาพที่ 9 น่าเป็นห่วง
สถานการณ์โรคเมลิออยด์ในเขตสุขภาพที่ 9 พบผู้ป่วย 147 ราย และเสียชีวิต 5 ราย โดยจังหวัดบุรีรัมย์มีผู้ป่วยสูงสุด 61 ราย เสียชีวิต 1 ราย ตามมาด้วยจังหวัดสุรินทร์ 37 ราย (ไม่มีผู้เสียชีวิต) จังหวัดนครราชสีมา 33 ราย เสียชีวิต 1 ราย และจังหวัดชัยภูมิ 16 ราย เสียชีวิต 3 ราย
กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รองลงมาคือ 55-64 ปี และ 45-54 ปี ตามลำดับ ส่วนอาชีพที่ป่วยมากที่สุดคือ ชาวนา และ เกษตรกร
ไข้ดินคืออะไร? และติดเชื้อได้อย่างไร?
นายแพทย์ทวีชัย อธิบายว่า โรคเมลิออยด์เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่เกษตรกรรมอย่างนาข้าว ท้องไร่ หรือสวนยางทั่วทุกภาคของประเทศไทย การติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางหลัก ได้แก่:
1. การสัมผัส: สัมผัสน้ำหรือดินที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล
2. การกิน/ดื่ม: ดื่มน้ำไม่สะอาด หรือรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ รวมถึงการสำลักน้ำที่มีเชื้อโรค
3. การหายใจ: สูดหายใจเอาฝุ่นจากดินที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป
หลังติดเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 1-21 วัน แต่อาจใช้เวลานานเป็นปีในบางราย ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อที่ได้รับและภูมิต้านทานของแต่ละบุคคล
อย่ามองข้าม 'ไข้ดิน' ไม่ใช่แค่ไข้ธรรมดา พบผู้ป่วยแล้ว 147 ราย ดับ 5