12 คำถาม โครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า “ภูกระดึง”

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการฯ ประกาศคิกออฟเดินหน้าโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงไปเรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ภาครัฐพยายามผลักดันกันมากว่า 20 ปี

โดยมองว่าโครงการนี้เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ภายใต้แนวทาง “การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล” ที่เน้นการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 27

พร้อมระบุว่า หลักการออกแบบกระเช้าไฟฟ้าไม่ได้คำนึงเพียงแค่การ “อำนวยความสะดวก” ให้นักท่องเที่ยวเท่านั้น หากแต่เป็น “เครื่องมือของการอนุรักษ์” ที่จะลดการเดินเท้าในเขตเปราะบาง ลดการพักแรมบนภู ลดขยะ ลดภาระของเจ้าหน้าที่ และลดความเสี่ยงต่อระบบนิเวศ เป็นการเข้าถึงโดยไม่สัมผัสโดยตรง อนุรักษ์ภูกระดึงด้วยเทคโนโลยีที่เคารพธรรมชาติ

และมองว่ากระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง จะช่วยกระจายรายได้จากยอดภูลงสู่ชุมชน เพราะนักท่องเที่ยวจะสามารถขึ้นไปชื่นชมธรรมชาติบนยอดภู และลงมาได้ในวันเดียวกัน จึงกลายเป็นโอกาสของชุมชนโดยรอบในการประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคำถามที่หลายฝ่ายอยากรู้ และนายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ให้คำตอบ ดังนี้

1.สร้างกระเช้าแล้วเส้นทางเดินจะหายไป
คำตอบ : ไม่หายไปแน่นอน เส้นทางเดินเท้าขึ้นภูกระดึงจะยังคงอยู่เหมือนเดิม กระเช้าไฟฟ้าไม่ได้มาแทนที่การเดินเท้า แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับผู้ที่ไม่สามารถเดินขึ้นได้ เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก หรือผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย เส้นทางเดินจะยังคงเป็นเสน่ห์หลักของภูกระดึง และจะได้รับการดูแล ฟื้นฟู และปรับปรุงให้ปลอดภัยและสวยงามยิ่งขึ้นจากการบริหารจัดการโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ

เส้นทางของกระเช้าไฟฟ้าจะถูกวางในแนวที่ไม่รบกวนสายตาหรือทัศนียภาพหลักของเส้นทางเดินเท้า นักท่องเที่ยวที่เลือกเดินขึ้นยังคงสามารถสัมผัสบรรยากาศของธรรมชาติบนภูกระดึงได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกรบกวนจากโครงสร้างของกระเช้าไฟฟ้าแต่อย่างใด

2.ถ้ามีกระเช้าเสน่ห์ของภูกระดึงจะหายไปหรือไม่
คำตอบ : เสน่ห์ของภูกระดึงจะไม่เพียงยังคงอยู่ แต่จะดีขึ้นด้วยซ้ำ ทั้งเส้นทางเดินเท้าที่จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ทำให้การเดินขึ้นมีความสงบ ปลอดภัย และมีคุณภาพมากขึ้น วิถีลูกหาบยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ภูกระดึงเช่นเดิม

ขณะเดียวกัน บนยอดภูจะสะอาดขึ้นด้วยการบริหารจัดการที่เป็นระบบ ปริมาณขยะจะลดลง ระบบนิเวศจะฟื้นตัวดีขึ้นจากการลดการพักแรม และลดการใช้ทรัพยากร ทั้งหมดนี้จะช่วยรักษาความสงบงดงามและความเป็นธรรมชาติของภูกระดึงไว้ได้ดียิ่งขึ้นในระยะยาว

3.ภูกระดึงไม่ได้เปิดทั้งปี การสร้างกระเช้าแล้วจะคุ้มค่าหรือไม่
คำตอบ : การสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง คือการลงทุนและการบริการสาธารณะของภาครัฐ เพื่อสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงแหล่งธรรมชาติให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว ไม่ใช่เพียงเพื่อผลตอบแทนเชิงพาณิชย์ระยะสั้น อีกทั้งยังช่วยให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะชาวบ้านรอบสถานีด้านล่างที่จะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจการท่องเที่ยวจากโครงการนี้

ขณะเดียวกันที่มีการปิดภูกระดึง การท่องเที่ยวก็ยังเกิดขึ้นในรูปแบบการท่องเที่ยวเชื่อมโยงทั้งในระดับอำเภอ ระหว่างจังหวัด และเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจและเกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชนอย่างทั่วถึงและยั่งยืนได้จริง

4.การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าต้องหยุดก่อสร้างพร้อมช่วงปิดอุทยานฯ 4 เดือน หรือไม่
คำตอบ : อพท. ตระหนักดีว่าช่วงฤดูฝนเป็นช่วงสำคัญของการฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศ อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อสภาพพื้นที่และการดำเนินงานก่อสร้างในเชิงเทคนิค

ดังนั้น ในขั้นตอนการก่อสร้าง อพท. จะหารืออย่างใกล้ชิดกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางและช่วงเวลาการดำเนินการก่อสร้างให้เหมาะสม สอดคล้องกับการอนุรักษ์ และไม่กระทบต่อการฟื้นตัวของธรรมชาติบนภูกระดึง

5.สร้างกระเช้าแล้วธรรมชาติจะเสียหายหรือไม่
คำตอบ : โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างรอบด้าน ซึ่งครอบคลุมทุกมิติ และต้องผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนของกฎหมาย

การออกแบบจะใช้หลัก Minimum Intervention เพื่อลดการรบกวนพื้นที่ธรรมชาติให้น้อยที่สุด พร้อมมาตรการป้องกันและฟื้นฟู เช่น ปลูกป่าทดแทน ควบคุมหน้าดิน และจัดการน้ำเสีย-ขยะอย่างมีระบบ

ที่สำคัญ โครงการจะไม่เพิ่มจำนวน Carrying Capacity ของนักท่องเที่ยวบนยอดภู แต่จะใช้ CC เดิมตามแผนบริหารจัดการของกรมอุทยานฯ โดยกระเช้าจะเป็นเครื่องมือในการควบคุมการเข้าถึงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านระบบจองล่วงหน้า (Advance Booking) และการจัดโซนนิ่งกิจกรรมอย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะยาว



6.คนขึ้นไปเยอะจะกระทบกับสัตว์ป่าหรือไม่
คำตอบ : เมื่อมีกระเช้าไฟฟ้า แนวโน้มที่นักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางแบบไป-กลับในวันเดียวจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การพักแรมบนยอดภูลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์จากการให้บริการอาหาร และลดการฝังกลบที่อาจดึงดูดสัตว์ป่า เช่น กวาง เก้ง หรือหมูป่า ให้ออกมาหาอาหารใกล้แหล่งท่องเที่ยว

ในด้านการจัดการพื้นที่ อุทยานฯ ยังคงจำกัดการเข้าถึงเฉพาะโซนที่กำหนด ไม่รุกล้ำถิ่นอาศัยสัตว์ป่า พร้อมมาตรการควบคุม เช่น ห้ามให้อาหารสัตว์ ห้ามสร้างเสียงดัง การเฝ้าระวังพฤติกรรมสัตว์ และการประเมินผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญ อพท. จะร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในฐานะเจ้าของพื้นที่ จัดทำ “แผนบริหารจัดการพื้นที่บนยอดภู” โดยใช้หลัก Carrying Capacity เป็นกรอบในการควบคุม เพื่อให้การท่องเที่ยวไม่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าในระยะยาว ทั้งนี้ การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยกระจายปริมาณนักท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับช่วงเวลาและพื้นที่ ลดโอกาสเกิดจุดแออัดหรือรบกวนธรรมชาติในบางโซน

7.มีกระเช้าแล้วลูกหาบจะตกงาน ขาดรายได้หรือไม่
คำตอบ : เส้นทางเดินเท้ายังคงอยู่ ลูกหาบยังคงมีบทบาทต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวสายเดินเท้าเช่นเดิม นอกจากนี้ อพท. มีแผนปรับเปลี่ยนบทบาทลูกหาบบางส่วน เช่น การให้สิทธิเข้าใช้พื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีกระเช้า การสนับสนุนการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน และการดูแลเรื่องสวัสดิการหรือกองทุนสำหรับลูกหาบ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม

ปัจจุบันลูกหาบมีจำนวนที่ลดลงและไม่สามารถรองรับและให้บริการนักท่องเที่ยวได้เท่าในอดีต ดังนั้นการเกิดโครงการจะทำให้เป็นทางเลือกให้กับนักท่องเที่ยวหลายกลุ่มมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดความลำบากในการขนสัมภาระในแนวดิ่งของลูกหาบเป็นการบริการในแนวราบแทน

8.กระเช้าจะปลอดภัยแค่ไหน
คำตอบ : กระเช้าจะออกแบบและติดตั้งตามมาตรฐานสากล แบบเดียวกับที่ติดตั้งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของโลก โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับภูมิประเทศของภูกระดึง และต้องผ่านการพิจารณาด้านความปลอดภัยในขั้นตอนต่างๆ ซึ่งทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย มีระบบตรวจสอบด้านวิศวกรรมและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น

นอกจากนั้น อพท.ยังต้องนำเสนอรายงาน EIA ซึ่งต้องมีประเด็นด้านความปลอดภัยบรรจุในรายงาน เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) รวมถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) นอกจากนั้น ยังต้องผ่านการพิจารณาในขั้นตอนการก่อสร้างโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์ุพืช ในฐานะเจ้าของพื้นที่ด้วย

9.จะบริหารจัดการอย่างเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงผู้มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว
คำตอบ : โครงการจะใช้ระบบจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวผ่านการจองตั๋วล่วงหน้า โดยอิงตาม ขีดความสามารถในการรองรับของพื้นที่ (Carrying Capacity) อย่างเคร่งครัด และเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของอุทยานแห่งชาติภูกระดึง เพื่อติดตามการเข้าใช้อย่างใกล้ชิด

อพท. จะมีการจัดทำ “แผนบริหารจัดการพื้นที่บนยอดภู” ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เพื่อวางแผนผังการใช้พื้นที่ แผนกิจกรรม และระบบรองรับการท่องเที่ยวให้สมดุลกับธรรมชาติ ซึ่งจะต้องรวมถึงการพิจารณาเกี่ยวกับพาหนะทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ซึ่งต้องเป็นพาหนะที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษหรือทำลายสิ่งแวดล้อม (Low Impact Mobility) รวมถึงพยายามนำอารยสถาปัตย์ (Universal Design) มาใช้ในการออกแบบทั้งระบบ เพื่อให้ภูกระดึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้อย่างยั่งยืน

10.รายได้ที่เกิดจากโครงการนี้กระจายอย่างไร
คำตอบ : รายได้จากโครงการกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 รายได้จากค่าบริการกระเช้า นำส่งกลับไปเพื่อ ดูแล ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของอุทยานฯ รวมถึงใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น การจ้างเจ้าหน้าที่ การดูแลความสะอาด การบำรุงเส้นทาง และการควบคุม Carrying Capacity

ส่วนที่ 2 รายได้จากกิจกรรมในพื้นที่เชิงพาณิชย์ ในบริเวณสถานีกระเช้าฯ หรือบริเวณศูนย์เปลี่ยนถ่ายจราจร จะมีบริการเชิงพาณิชย์ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร ของที่ระลึก ซึ่งจะจัดสรรให้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ และชุมชนในพื้นที่เป็นลำดับแรก เพื่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนสู่ท้องถิ่น

ส่วนที่ 3 รายได้ทางอ้อมในระดับชุมชน เกิดการจ้างงานจากการลงทุนในบริเวณพื้นที่รอบสถานีด้านล่าง การให้บริการนำเที่ยวโดยคนในพื้นที่ การพักค้างบริเวณตีนภู และการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวแต่ละอำเภอในจังหวัดเลย

11.ชาวบ้านใกล้สถานีกระเช้าจะได้รับผลกระทบจากจำนวนนักท่องเที่ยวหรือไม่
คำตอบ : เพื่อลดผลกระทบจากการจราจรหนาแน่นและการรวมตัวของนักท่องเที่ยวจำนวนมากในพื้นที่ใกล้สถานีกระเช้า อพท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการจัดตั้ง “ศูนย์เปลี่ยนถ่ายจราจร” (Transit Center) ไว้ที่บริเวณชั้นนอกของพื้นที่โครงการ โดยจะมีการบริหารจัดการรถยนต์ส่วนบุคคล รถบัส และระบบรับ – ส่งที่ควบคุมได้ในพื้นที่จำกัด เพื่อให้ประชาชนในชุมชนรอบสถานีได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อีกทั้งจะมีการออกแบบระบบสัญจรให้เหมาะสมกับลักษณะชุมชนเดิม และสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

12.โครงการจะสร้างเสร็จเมื่อใด
คำตอบ : หากโครงการผ่านการพิจารณาในขั้นตอนต่าง ๆ ตามแผน คาดว่าจะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ใน เดือนพฤศจิกายน 2569 จะแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2570...

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.prachachat.net/tourism/news-1815282


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่