ค่ายญี่ปุ่นวัดกลาง ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม


คำบรรยายภาพ: ซ้ายคือบางส่วนของโรงครัว ขวาคือหอผู้ป่วย
เครดิตภาพ: อนุสรณ์สถานสงครามแห่งชาติของออสเตรเลีย

ค่ายญี่ปุ่น แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณที่ชาวนครปฐมเรียกว่า วัดกลาง* ใน ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม

ค่ายขนาดใหญ่แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2** เป็นค่ายโรงพยาบาลเชลยศึก (PRISONER OF WAR CAMPS เรียกว่า  NAKHON PATHOM, HOSPITAL POW CAMP THAILAND) โรงพยาบาลค่ายแห่งนี้กองกำลังญี่ปุ่นเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง เพื่อดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ป่วยหนัก เช่น ผู้ที่ถูกตัดแขนขา โดยภายหลังจากเมื่อสร้างทางรถไฟเสร็จ ราวปลายธันวาคม พ.ศ. 2486 เชลยศึกส่วนใหญ่ที่ทำทางรถไฟได้ถูกส่งมายังค่ายต่าง ๆ ในประเทศไทยรวมทั้งที่ค่ายแห่งนี้ และเริ่มสร้างโรงพยาบาลโดยใช้แรงงานเชลยศึกกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย และดัตช์ รวมทั้งแรงงานรับจ้างชาวไทย และในปีถัดมาเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2487 ได้มีการขุดคูลึก 2 เมตร กว้าง 4 เมตร รอบบริเวณค่ายทั้งหมด


คำบรรยายภาพ: ภาพถ่ายทางอากาศบริเวณค่ายซึ่งมีมีพื้นที่ราว 500 ไร่
เครดิตภาพ: อนุสรณ์สถานสงครามแห่งชาติของออสเตรเลีย

ค่ายแห่งนี้มีพื้นที่ประมาณ 200 เอเคอร์ (ราว 500 ไร่) สร้างขึ้นเพื่อรองรับเชลยศึกจำนวน 10,000 คน หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลค่ายแห่งนี้ คือ ดร. อัลเบิร์ต โคทส์ (Albert Coates) แห่งกองทัพแพทย์ออสเตรเลีย (AAMC) มีแพทย์ทหาร 25 คน เป็นแพทย์เชลยศึกของชาวอังกฤษ ออสเตรเลีย ดัตช์ และมีแพทย์ชาวญี่ปุ่นเป็นผู้ตรวจสุขภาพเป็นระยะ ๆ เพื่อพิจารณาว่านักโทษควรกลับไปทำงานยังค่ายแรงงานหรือไม่ ในเวลาเพียง 3 เดือน ค่ายแห่งนี้มีตัวเลขผู้ป่วยสูงสุดถึง 8,000-10,000 คน เป็นผู้ป่วยหนักที่เหลือจากทางรถไฟพม่า-ไทยทั้งหมด

สภาพทั่วไปภายในค่าย
>> มีโรงเรือน 50 หลัง บางหลังทำจากไม้ บางหลังทำจากไม้ไผ่ ผนังส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่สาน หลังคามุงจาก ยาว 100 เมตร กว้างราว 6 เมตร มีทางเดินกลางเป็นดิน
>> มีพื้นที่นอนกว้าง 7 ฟุต (ราว 2.13 เมตร) ทั้งสองด้าน โดยนอนหันเท้าเข้าหากันตรงทางเดินกลาง
>> มีการเจาะบ่อบาดาล 3 บ่อ
>> มีพื้นที่อาบน้ำทำเป็นแพไม้ไผ่ให้ยืนอาบ
>> มีห้องส้วม 1 หลัง ระหว่างโรงเรือน 2 หลัง
>> มีโรงอาหาร 1 โรง สำหรับโรงเรือน 5 หลัง สำหรับปรุงอาหาร เมื่อปรุงเสร็จจะนำไปเสิร์ฟให้กับเชลยศึกที่โรงเรือน


คำบรรยายภาพ: ทิวทัศน์ภายในค่ายญี่ปุ่นวัดกลาง ภาพร่างดินสอบนกระดาษ โดย Jack Chalker เมื่อ พ.ศ. 2488 เขาอาศัยในกระท่อมหมายเลข 5 เห็นพระปฐมเจดีย์ซึ่งเขาเรียกว่า "วัดพุทธ" ในระยะไกล เขากล่าวถึงว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งความหวัง Chalker อยู่ที่ค่ายนี้ตั้งแต่ปลาย พ.ศ. 2487 ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2488
เครดิตภาพ: อนุสรณ์สถานสงครามแห่งชาติของออสเตรเลีย

ค่ายแห่งนี้ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2488 เพราะทางการญี่ปุ่นกลัวการรุกรานผ่านพม่า จึงตัดสินใจแยกนายทหารและทหารทุกคน โดยกองกำลังนายทหารได้นั่งรถไฟขบวนเปิดโล่งจากนครปฐมไปกาญจนบุรีตลอดคืน และสุดท้ายเมื่อญี่ปุ่นยอมจำนน เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นครปฐมจึงกลายเป็นศูนย์รวมของกองกำลังพันธมิตรสำหรับเชลยศึกที่ถูกย้ายไปกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อไปยังสิงคโปร์โดยตรง หรือจากทางย่างกุ้งไปยังสิงคโปร์ และเมื่อสงครามยุติแล้ว ดร.โคทส์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของโรงพยาบาลค่ายนี้ ได้กลับไปเมลเบิร์นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2488 และเกษียณอายุราชการเป็นทหารกองหนุนเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมในปีนั้น พ.ศ. 2489 ได้รับการแต่งตั้งเป็น OBE (Officer of the Order of the British Empire) และได้รับการแต่งตั้งเป็นอัศวินโดยพระราชินี พ.ศ. 2498

หมายเหตุ
* วัดกลาง ปัจจุบันยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าตั้งอยู่ตำแหน่งใด โดยบริเวณที่เรียกว่าวัดกลางนี้อยู่ใน ต.บ่อพลับ อ.เมือง จ.นครปฐม ณ ปัจจุบัน (พ.ศ.2568) เมื่อลงพื้นที่สอบถามชาวบ้านในละแวกนั้น มีข้อมูลสถานที่ที่สันนิษฐานสองแห่ง คือ บริเวณที่เดิมมีการพบพระเครื่องจำนวนมาก เรียกว่า กรุวัดกลาง กับอีกแห่ง คือ ศาลเจ้าวัดกลาง ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณโรงเรียนบ่อพลับ โดยแต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า โรงเรียนวัดกลาง จึงยังต้องสืบหาข้อมูลหลักฐานต่อไป

** สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1939 - 1945 หรือ พ.ศ. 2482 - 2488 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขณะทรงครองราชย์ได้เพียง 4 ปี (ครองราชย์ พ.ศ. 2478 – 2489) ซึ่งเดิมเมื่อเกิดสงครามประเทศไทยเรานั้นวางตัวเป็นกลาง จนกระทั่งถูกกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางภาคใต้และภาคตะวันออกของประเทศไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลาประมาณ 02.00 น. เราจึงจำเข้าร่วมสงครามเพราะถูกกองทัพญี่ปุ่นบุกเข้ารุกรานและยึดครองประเทศ
ในช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งทรงราชย์แล้วแต่พระชนมายุ 9 พรรษา ขณะประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้เสด็จนิวัตพระนครเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 โดยทรงอยู่ในประเทศไทยราว 2 เดือน ก็เสด็จฯ กลับไปศึกษาต่อ ก่อนหน้าที่เหตุการณ์สงครามโลกจะเกิดขึ้น ต่อมาเมื่อสงครามยุติลงพระองค์จึงเสด็จนิวัตพระนครอันนับเป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 และเป็นการเสด็จนิวัตอย่างถาวร แต่ยังมิทันที่จะทรงรับการบรมราชาภิเษกก็ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน ทังนี้ คณะแพทย์ผู้ชันสูตรกว่าสามในสี่ ลงความเห็นว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์ และเป็นสมมุติฐานที่ได้รับการยอมรับในคำพิพากษาศาลฎีกา ดังปรากฎใน "คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1544/2497 ลงวันที่ 12 ตุลาคม 2497" จากหนังสือ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา พร้อมด้วยคำแถลงของพนักงานอัยยการ โจทก์ ความอาญา คดีประทุษฐร้ายต่อพระองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8  (น. 622–672) โดย พระพินิจชนคดี (พินิจ อินทรทูต), ผู้รวบรวม พิมพ์เนื่องในงานทำบุญอายุครบ 5 รอบ มรว.บุญรับ พินิจชนคดี เมื่อ 10 มกราคม 2498
.
.
.
รวบรวมและเรียบเรียงโดย นฤมล บุญญานิตย์ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568
.
#ค่ายญี่ปุ่นวัดกลาง #วัดกลาง #กรุวัดกลาง #ค่ายโรงพยาบาลเชลยศึกนครปฐม
#NakhonPathomHospitalPOWcamp #Prisoner of War Camps
.
ข้อมูลอ้างอิงและเพิ่มเติม
>> https://www.facebook.com/libsncwest
>> http://www.snc.lib.su.ac.th/westweb/?p=4145
>> https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร
>> https://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่สอง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่