[รีวิว] อีสานซอมบี้ - ผีดิบครองเมือง หมอลำครองใจ เพี้ยนสมองไหล ยำใหญ่อะไรก็ไม่รู้

ความซอมบี้ ความอีสาน ความตลก ส่วนผสมที่มองไม่ออกว่าจะอยู่รวมกันได้อย่างไร คือ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจาก M39 แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีภาพยนตร์ไทยที่เล่าเรื่องราวของซากศพเดินได้อยู่บ้าง ทั้งผีห่าอโยธยา(2558) หรือซอมบี้ไทบ้าน(2565) ของทาง Monomax หรือหากจะย้อนไปถึงภาพยนตร์ซอมบี้ไทยเรื่องแรกสุดอย่าง ขุนกระบีผีระบาด(2547) ก็ตามจะพบว่ามีความพยายามทำให้ตัวเรื่องมีความแปลก เป็นตัวของตัวเองมากกว่าจะเล่าถึงหายนะของมนุษยชาติที่ต้องเอาชีวิตรอดอย่างสิ้นหวังตามขนบฮอลลิวูด

ท่ามกลางส่วนผสมที่ไม่ลงตัวอาจจะไม่แย่เท่าเชฟที่ปรุงนั้นไม่ได้เข้าใจในวัตถุดิบในมือแม้แต่น้อย ทำให้ “อีสานซอมบี้” กลายเป็นภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิงได้น้อย ทั้งๆ ที่มีไอเดียที่น่าสนใจ ก็คือ ซอมบี้กับความเป็นอีสาน แต่เหมือนว่าผู้กำกับ คิม-ธนวัฒน์ เอี่ยมจินดา ที่มีเคยฝากผลงานเรื่องแรกอย่าง โปรเม อัจฉริยะต้องสร้าง(2562) จะยังจับจุดไม่ถูก ไม่รู้ว่าควรให้น้ำหนักสิ่งไหนมากกว่ากัน ระหว่าง ซอมบี้ อีสาน หรือความตลก ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นความ “รวมมิตร” ในแบบที่น่ากุมขมับสุดๆ

จะเป็นภาพยนตร์ตลกร้ายล้อซอมบี้แบบ Shaun of the Dead(2004) ก็ไม่ใช่ ความตลกในอีสานซอมบี้เป็นความตลกแบบเชยๆ ที่ไม่ได้สร้างสรรค์อะไรสักนิด เน้นการใส่ตัวละครโง่ๆ ประหลาดๆ ทั้งตัวละครเซ่อซ่า ตัวละครกะเทย ตัวละครคนบ้า มาสร้างจังหวะที่คิดว่าคงจะตลกเมื่อคนเหล่านี้ต้องมาเจอซอมบี้ แต่เมื่อมันไม่ได้สร้างสรรค์ในตัวละครเหล่านี้แต่แรก ความตลกที่ได้จึงไม่แม้แต่จะเรียกรอยยิ้มมุมปากได้ด้วยซ้ำ (แล้วเป็นอะไรกับมุกกะเทยที่จะต้องมาพร้อมกับท่าทีเหมือนกับ “ติดสัด” ตลอดเวลา อันนี้คือตลกแล้ว?)

และในขณะที่เรื่องราวของตัวละครทั้งหมดตั้งอยู่ในภาคอีสาน ถ้าพูดให้เจาะจงกว่านั้น คือ ตั้งอยู่บนวิถีความเป็นอีสาน ซึ่งตัวผู้กำกับได้หยิบวัฒนธรรมการรื่นเริงแบบ “หมอลำ” มาใช้เป็นเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับซอมบี้โดยตรง (เกี่ยวข้องอย่างไรใครดูแล้วจะรู้) แต่มันก็ยังเป็นการเชื่อมโยงแบบผิวเผินและตื้นเขินเสียจริงๆ จนแทบสัมผัสไม่ได้เลยว่านี่เป็นมิติของความเป็นอีสานแล้ว (ถ้าทำแบบนี้เอาภาคอื่นก็ได้นะ) ซึ่งถ้าหากอยากรู้ว่าวิธีเล่าวิถีของชาวอีสานเป็นแบบไหนลองดู “สัปเหร่อ” เป็นตัวอย่างก็น่าจะดี

อีกหนึ่งสิ่งที่จะขาดไม่ได้สำหรับภาพยนตร์ตระกูลซอมบี้ นั่นคือ การเสียดสีระบอบทุนนิยม แน่นอนว่ากับภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังต้องมี แต่เมื่ออารมณ์หลักของเรื่องมันดันส่อไปในทางตลกเป็นส่วนใหญ่ น้ำหนักที่จะสื่อสารเรื่องซีเรียสจริงจังเลยน้อยตามไปด้วย (ที่จริงก็ทำได้หากการกำกับและการเล่าเรื่องทำได้แม่นยำ) การนำสถานการณ์น่าสิ่วน่าขวานมาใช้เพื่อทดสอบความเป็นมนุษย์ยิ่งแล้วใหญ่ กลายเป็นว่าทั้งเรื่อง เป็นเหมือนตลกซิทคอมหนีซอมบี้ฉากใหญ่ๆ เท่านั้นเอง

เมื่อทั้งเรื่องกระท่อนกระแท่นขนาดนี้ย่อมส่งผลต่อนักแสดงเต็มๆ ตัวละครนำทั้งสองอย่าง ต้นนุ่น (ออกแบบ-ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) และ อิฐ (พีช-พชร จิราธิวัฒน์) ที่แม้ว่าจะรับบทโดยนักแสดงคุณภาพ แต่เมื่อตัวละครไม่ได้ถูกให้ความสำคัญและคาแรคเตอร์ที่ไม่ค่อยจะสมบทบาทด้วย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับตัวละครต้นนุ่น) ก็ทำให้คนดูแทบจะไม่ผูกพันอะไรกับทั้งคู่เลย เพราะมันดูผิดที่ผิดทางไปหมดจริงๆ อีกทั้งนักแสดงหลายคนก็ไม่ใช่คนอีสานด้วยซ้ำ

อย่างเดียวที่ทำได้ดีเลยเห็นทีจะเป็นการแสดงของเหล่าซอมบี้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะตัวประกอบ ตัวสมทบ ตัวหลัก ก็ล้วนแล้วแต่แสดงได้สมน้ำสมเนื้อ การแต่งหน้าเอฟเฟคมีความจริงจังและลงทุน ไม่ได้แบบมาๆ หลบๆ แต่พุ่งเข้าใส่กล้องชนิดที่ไม่กลัวเจ็บกัน ก็ต้องขอชื่นชมตรงนี้ไว้หน่อย

สรุป อีสานซอมบี้ ยังเต็มไปด้วยบาดแผลเหวอะหวะ ไม่ต่างจากผีดิบในเรื่อง ความไม่แม่นยำในการกำกับ ความไม่รู้ว่าจะเอาอะไรเป็นแก่นเรื่องก็ดี อยากจะใส่อะไรก็ใส่ ทำให้ตัวเรื่องมีแต่ความไม่เข้ากันเต็มไปหมด เหมือนส้มตำใส่กะทิกล่อง ซึ่งถามว่ากินได้มั้ยก็กินได้ แต่ขอไม่กินจะดีกว่า
Story Decoder
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่