[รีวิว] สัปเหร่อ - ความตายและความตลกแบบไทบ้านส่วนผสมที่ลงตัวของภาพยนตร์เปี่ยมคุณภาพ

คงไม่ใช่เรื่องน่าตื่นเต้นอะไร ถ้าจะมีภาพยนตร์จากจักรวาลไทบ้านถูกสร้างออกมาให้ได้ชมกันสักปีละเรื่องหรือสองปีเรื่องนึง โดยหากนับตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง “ไทบ้านเดอะซีรีส์” ในปี 2017 จนถึงตอนนี้เรื่องราวของ “บักเซียง” และผองเพื่อนก็ขยายกันไปกว้างขวางในระดับน้องๆ จักรวาล MCU แล้ว และกับ “สัปเหร่อ” เหมือนมีพลังอะไรบางอย่างเรียกให้เข้าไปชมตั้งแต่ได้เห็นตัวอย่างหนังโดยที่มีความรู้สึกลึกๆ ว่าต้องดีแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก

แน่นอนว่าสำหรับแฟนๆ จักรวาลไทบ้านคงไม่ต้องสาธยายอะไรมาก นี่คือภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมอย่างไม่ต้องสงสัย แล้วสำหรับคนนอกหรือคนที่ไม่ได้ติดตามไทบ้านเลย “สัปเหร่อ” ยังจะทำงานกับพวกเขาด้วยหรือไม่ คำตอบคือ ใช่ และทำได้ในระดับดีเยี่ยม ซึ่งนี่ถือเป็นจุดแข็งของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่สามารถตอบโจทย์ได้กับผู้ชมทุกกลุ่ม ในการสามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่อยากเล่าได้อย่างเป็นธรรมชาติไม่รู้สึกว่ายัดเยียดและปรุงรสอย่างกลมกล่อมลงตัว

มี 2 ประเด็นหลักๆ ที่ภาพยนตร์เรื่องนี้นำเสนอออกมาพร้อมๆ กันได้อย่างลงตัว อย่างแรก คือ เรื่องราวของ เจิด (นฤพล ใยอิ้ม) นักศึกษานิติศาสตร์จากเมืองกรุงที่ต้องกลับบ้านหลังจากเรียนจบ และต้องมาเรียนรู้งานสัปเหร่อจาก ศักดิ์ (อัจฉริยะ ศรีทา) ผู้เป็นพ่อที่กำลังป่วย ไปพลางๆ ระหว่างรอสอบเป็นทนาย อย่างที่สอง คือ เส้นเรื่องที่ต่อมาจากจักรวาลหลักที่มีตัวเอกอย่าง เซียง (เลขานุภาพ ศรัณย์ภัทร) ที่ใช้ชีวิตหลังจากสึกออกมาในภาค 2.2 แต่ก็ยังอาลัยอาวรณ์กับแฟนเก่าอย่าง ใบข้าว (กัญญาวีร์ กลิ่นหอม) ที่เสียชีวิตไปตั้งแต่ภาคก่อนหน้า เมื่อเจิดต้องการผู้ช่วยและเซียงก็ต้องการจะติดต่อกับวิญญาณใบข้าวทั้งคู่จึงร่วมมือกัน

ผู้กำกับ ต้องเต-ธิติ ศรีนวล เข้าใจในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่อย่างถ่องแท้ ทำให้นอกจากจะเล่าสองเส้นเรื่องหลักๆ แล้ว เขายังใส่ส่วนผสมของความตลกมาเพิ่มอรรถรสให้ตัวหนังไม่จืดชืดแห้งแล้ง และเป็นความตลกเฉพาะตัวที่เราจะได้เห็นจากจักรวาลไทบ้านนี้เท่านั้นด้วย มันเป็นความตลกที่ธรรมชาติแบบไม่ต้องสร้างจังหวะปู ชง ตบ แต่อย่างใด ทุกอย่างถ่ายทอดออกมาผ่านบทพูดที่เป็นธรรมชาติ แต่ก็ไม่ใช่พูดไปเรื่อย ทุกอย่างผ่านการคิดมาเรียบร้อยแล้ว ถึงอย่างนั้นผู้กำกับต้องเตก็ใส่จังหวะด้นสดมาบางในบางฉาก เพื่อบอกกับผู้ชมว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกกำหนดไว้ไปซะหมด ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มความใกล้ชิดระหว่างตัวหนังกับผู้ชมยิ่งขึ้นไปอีก (การไม่ใช้นักแสดงแม่เหล็กก็ยิ่งทำให้เราเชื่อได้จริงๆ ว่าทุกคนในเรื่องเป็นชาวบ้านตามท้องที่จริงๆ)

ความเป็นธรรมชาตินั้นยังส่งมาถึงการเล่าเรื่องด้วย โดยเฉพาะในส่วนของเจิดกับพ่อของเขา ผู้กำกับต้องเตพาผู้ชมไปเรียนรู้และสัมผัสเรื่องราวของสัปเหร่อผ่านความสงสัยของเจิด ซึ่งเป็นตัวแทนของคนนอก (เรียนจบจากเมืองหลวง) ที่ต้องมาเริ่มเรียนรู้ทุกอย่างตั้งแต่แรก และแม้จะสงสัยไปเกือบทุกสิ่งที่พ่อเขาสอน (ตามประสาคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามต่อความเชื่อและพิธีกรรม) แต่พ่อของเขาก็ไม่เคยขี้เกียจที่จะตอบ หรืออารมณ์เสียใส่แม้แต่น้อย มันจึงกลายเป็นการให้ข้อมูลผู้ชมแบบโต้งๆ แต่ไม่ยัดเยียด เหมือนเราได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเจิดนั่นแหละ

และไม่ใช่แค่เพียงผิวเผิน การสำรวจโลกของสัปเหร่อนั้นลึกซึ้งและเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งในแง่ของขั้นตอนพิธีกรรมและวัฒนธรรมความตาย มีการตั้งคำถามในพิธีกรรมอันหนึ่งที่สะท้อนแนวทางของเรื่องได้ชัดเจนมากอันหนึ่งอยู่ในตัวอย่างหนัง เป็นพิธีการเสี่ยงทายโยนไข่เพื่อหาที่เผาศพ หลังจากโยนแล้วไข่ไม่แตกสักที เซียงจึงขอลองโยนบ้าง ปรากฏว่าไข่แตก แต่ภายหลังจ่าลอดก็บอกว่า ที่แตกเป็นเพราะเซียงโยนแรงต่างหากไม่เกี่ยวกับว่าเขายังไม่อยากให้เผาหรืออะไรหรอก

เหมือนจะดูเป็นการหักล้างก็จริง แต่ก็ต้องชื่นชมผู้กำกับต้องเตอีกนั่นแหละ เขาไม่ได้เอาพิธีกรรมต่างๆ มาตีแผ่แล้วก็เอาความคิดในเชิงวิทยาศาสตร์มาอธิบายว่าทั้งหมดเป็นเรื่องงมงาย กลับกันสิ่งเหล่านั้นมันเป็นการทำเพื่อความสบายใจของ “คนเป็น” มากกว่า และสอนให้เรียนรู้จาก “คนตาย” มองพวกเขาเป็นครูทั้งหมดถูกถ่ายทอดผ่านความสัมพันธ์ของสองพ่อลูกที่ดูอบอุ่น ละมุนละม่อม และดูจะเข้าใจชีวิต เข้าใจหลักความเป็นไปของสังขาร ทุกอย่างจึงออกมาลงตัวและแข็งแรงมาก

เท่านั้นไม่พอเรื่องวัฒนธรรมความตายยังถูกตั้งคำถามต่อยอดไปอีกว่า ถ้าสัปเหร่อเป็นพุทธแต่ผู้ตายเป็นคริสต์จะประกอบพิธีแบบไหน(ฝังหรือเผา) หรือถ้าผู้ตายเป็นสัตว์(?)จะต้องผูกข้อมือด้วยไหม แม้สิ่งเหล่านี้ดูจะใส่มาแบบโต้งๆ ไปหน่อย (หมู่บ้านนี้คนตายบ่อยมาก) แต่ก็ด้วยความที่มีกรอบของความตลกทีเล่นทีจริงครอบอยู่บ้าง การใส่บริบทที่ดูแปลกๆ เหล่านี้เข้ามามันก็กลับช่วยเสริมประเด็นเรื่องให้ดูแน่นขึ้นว่า เรื่องความตายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนต้องเจอไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ วัย เพศ ศาสนา มนุษย์ หรือสัตว์

ถึงอย่างนั้น ถ้าสัปเหร่อจะมีแต่ประเด็นดราม่าสอนใจอย่างเดียว ก็คงไม่ต่างอะไรกับการเข้าวัดฟังธรรมในวัดพระใหญ่แน่ๆ ผู้กำกับต้องเตจึงใส่ความแฟนตาซีเข้ามาเพื่อตัดเลี่ยนตรงนี้ เพิ่มเติมจากรสชาติของความตลกที่เป็นของคู่จักรวาลนี้อยู่แล้ว การถอดจิตและโลกหลังความตายที่ดูจะเป็นคนละเรื่องและเสี่ยงจะทำให้ตัวหนังเสียความน่าเชื่อถือเอาง่ายๆ แต่ในท้ายที่สุดสิ่งนี้ก็กลับมาย้อนสอนใจตัวละคร ทำให้กลายเป็นส่วนผสมที่ลงตัวแบบสุดๆ

อีกอย่างที่น่าชื่นชมและสมควรได้รับการยกย่องก็หนีไม่พ้นเรื่องของงานสร้าง ภายใต้งบประมาณ 10 ล้านบาท ที่ไม่ใช่ตัวเลขที่เยอะแต่อย่างใด กลับได้งานสร้างที่ดูเป็นสากล รายละเอียดต่างๆ แฝงไปด้วยจิตวิญญาณและวิถีชีวิตของผู้คน การได้เห็นบ้านไม้ เห็นรั้วสังกะสี เห็นถนนและท้องทุ่งในแบบที่ไม่ต้องปรุงแต่งอะไรมาก จึงขับเน้นความเป็น “ไทบ้าน” ออกมาได้สมบูรณ์แบบ ยังไม่นับความสร้างสรรค์ในการออกแบบโลกหลังความตายที่ดูแล้วก็รู้ได้เลยว่าไม่ได้มีการใช้ CGI อะไรมากมาย แต่อาศัยความชาญฉลาดในการถ่ายภาพ การสร้างฉากบิดเบียว และการตัดต่อให้ก็ทำให้ดูมีความเหนือจริงขึ้นมาได้

และที่โดดเด่นเหนือกว่าใครเพื่อนเห็นจะเป็นการถ่ายภาพ ด้วยฝีมือของผู้กำกับภาพ กฤตเดช กระชังศรี ที่ยกระดับความเป็นภาพยนตร์ให้กับสัปเหร่อชนิดที่ว่า หากเป็นกองถ่ายระดับฮอลิวูดก็น่าจะได้งานภาพในรูปแบบใกล้เคียงกันในแบบที่ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น ทั้งการวางองค์ประกอบภาพ การใช้ขนาดภาพ การเคลื่อนกล้อง รวมถึงการย้อมสีภาพ ทุกอย่างอยู่ในระดับสากลแบบไม่ต้องอายใครเลย

สรุป สัปเหร่อ เป็นภาพยนตร์ที่ต้องยอมรับว่ายอดเยี่ยมเหนือความคาดหมายจริงๆ มีองค์ประกอบในแบบที่ภาพยนตร์ที่จะประสบความสำเร็จควรมี คือ สามารถทำให้ผู้ชมทุกกลุ่มสนุกไปด้วยได้ ไม่ว่าจะดูเอาตลกก็ดี ดูเอาสาระปรัชญาคำสอนก็ทำได้ จึงไม่ต้องแปลกใจถ้าภาพยนตร์เรื่องนี้จะประสบความสำเร็จและเป็นเครื่องตอกย้ำว่าวงการหนังไทยยังมีคนเก่งอีกเยอะ

Story Decoder
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่