JJNY : หมอเหวง ชี้กว่า 17 ปี│“กัณวีร์” เล็งตั้งพรรคใหม่│TDRI-อีอาร์ไอ ห่วงมาตรการยืดหนี้│ทำไมรัสเซียยังอยู่ในยูเอ็น

หมอเหวง ชี้กว่า 17 ปี ผลสัมฤทธิ์รัฐประหาร’49 ยังแนบแน่น คนต้องสู้ต่อให้ ปชต.แท้จริงเกิดขึ้น
https://www.matichon.co.th/politics/news_4187117

หมอเหวง ชี้ผ่านมา 17 ปี ผลสัมฤทธิ์รัฐประหาร 2549 ยังแนบแน่น ไม่ว่านานเท่าใดคนต้องสู้ต่อ สร้างประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของ ปชช.ให้เกิดขึ้น
 
เมื่อวันที่ 19 กันยายน นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแกนนำ นปช. ระบุทางเฟซบุ๊ก นพ.เหวง โตจิราการ กรณีผลพวงจากการรัฐประหาร 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ายึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ นายทักษิณ ชินวัตร ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปที่กำหนดไว้เดือนตุลาคมปีเดียวกันถูกยกเลิก รวมทั้งการรัฐประหาร 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
 
นพ.เหวงระบุว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นการยึดอำนาจต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าครั้งแรกเสียของ มาวันนี้ผลสัมฤทธิ์ของการยึดอำนาจยังคงดำรงอยู่ต่อไปด้วยกลไกของพวกขวาจัดยังคงแฝงฝังในกลไกรัฐข้าราชการพลเรือนอย่างแนบแน่น ประชาชนคงต้องเดินหน้าต่อไปในการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยที่อำนาจเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะอีกยาวนานเพียงใด

https://www.facebook.com/drwengtojirakarn/posts/852971982855501
 


“กัณวีร์” เล็งตั้งพรรคการเมืองใหม่ เฟ้นหาตัว Local Hero
https://www.innnews.co.th/news/politics/news_614904/

“กัณวีร์” เล็งตั้งพรรคการเมืองใหม่ เฟ้นหาตัว Local Hero สร้างการเมืองที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางที่แท้จริง หลังมีคนสนใจร่วมงานมากขึ้น
 
นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงการเปิดตัวโครงการ local Hero เฟ้นหาฮีโร่ทางการเมือง ที่เป็นคนธรรมดา ในทุกท้องถิ่น ทุกจังหวัด ทุกภูมิภาคที่มีอุดมการณ์ทำงานเพื่อประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นอุดมการณ์การทำงานการเมืองเดียวกับนายกัณวีร์ มาร่วมงานการเมือง  สร้างสรรค์การเมืองใหม่ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยเตรียมเปิดตัวโครงการนี้เร็วๆนี้
 
ทั้งนี้ แนวคิดตั้งพรรคการเมืองใหม่ ของนายกัณวีร์ เพื่อรองรับการทำงานในแนวทางของตนเองด้วย เนื่องจากการขับเคลื่อนแนวนโยบายหลายอย่างของตนเองที่ริเริ่มไว้ทั้งสันติภาพกินได้ จังหวัดจัดการตนเอง และมนุษยธรรมนำการเมืองนั้น การขับเคลื่อนภายในพรรคเป็นเรื่องสำคัญ แม้ปัจจุบันจะเป็นเลขาธิการพรรค แต่ไม่ได้มีอำนาจเต็มในการบริหารจัดการพรรคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า เป็นแนวคิดที่จะรองรับการทำงานการเมือง โดยเฉพาะแนวนโยบายต่างๆ ที่ตนเองริเริ่มไว้ และอยากให้เกิดขึ้นจริง ในกรณีที่การขับเคลื่อนภายในพรรคเป็นธรรมไม่สามารถผลักดันได้ และอยากเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ บุคคลที่สนใจแนวทางการเมืองเดียวกันได้มาร่วมงาน เพราะขณะนี้มีหลายคน หลายกลุ่ม สนใจเข้ามาทำงานด้วยกันมากขึ้นจึงอยากสร้างฐานการเมืองที่มั่นคง ผลักดันแนวนโยบายและความตั้งใจในการทำงานการเมืองที่มีประชาชนเป็นศูย์กลางที่แท้จริง โดยเริ่มต้นจากโครงการ Local Heroที่จะเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมงานการเมืองกัน และจะเปิดตัวในเร็วๆ นี้



TDRI-อีอาร์ไอ ห่วงมาตรการยืดหนี้ กฟผ. ลดค่าไฟ ชี้เป็นการพักหนี้ระยะสั้นเท่านั้น
https://www.prachachat.net/economy/news-1396111

TDRI-อีอาร์ไอ ห่วงใช้มาตรการยืดเวลาชำระหนี้ กฟผ. ลดค่าไฟ ชี้เป็นการพักหนี้ระยะสั้นเท่านั้น หวั่นเป็นระเบิดเวลา ทำผู้บริโภคอ่วมในอนาคต ส่อแบกค่าไฟพุ่ง 6 บาท/หน่วย แนะรัฐช่วยเฉพาะครัวเรือนที่จำเป็น-รายได้น้อย ขณะที่การแก้ไขปัญหาค่าไฟระยะยาว หนุนเดินหน้าพลังงานหมุนเวียน ลดความเสี่ยงราคาเชื้อเพลิงโลกผันผวน 
 
วันที่ 19 กันยายน 2566 นายชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงมาตรการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยในรอบบิลเดือนกันยายนตามมติ ครม.นัดแรกที่ให้ปรับลดค่าพลังงาน ว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการใช้กลไกใดในการลดค่าไฟ ซึ่งมีแนวทางหลายรูปแบบด้วยกัน

แต่ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คาดว่าจะใช้รูปแบบยืดหนี้หรือภาระต้นทุนจากการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือ กฟผ. ออกไปก่อน ซึ่งหนี้ดังกล่าวเกิดจากการแบกรับค่า Ft ที่ประกอบด้วยต้นทุนของค่าความพร้อมเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า (AP) และต้นทุนของเชื้อเพลิงที่มีการเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท

นายชาครระบุว่า แนวทางดังกล่าวย่อมสร้างต้นทุนในกับ กฟผ. อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องของ กฟผ. และยังกระทบต่อความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ขององค์กร ซึ่งเป็นผลให้อัตราดอกเบี้ย (ต้นทุนทางการเงิน) เพิ่มสูงขึ้น โดยภาระดังกล่าวจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนต่อไปในอนาคต
 
นอกจากนั้นเพื่อเป็นการรักษาสภาพคล่องของ กฟผ. ภาครัฐยังคงมีความจำเป็นในการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลอย่างเช่นที่เกิดในปีงบประมาณปัจจุบัน และยังส่งผลต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะของประเทศในระยะยาว อีกทั้งการขาดสภาพคล่องของ กฟผ. อาจทำให้ไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ที่จะช่วยรองรับการใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้
 
มาตรการลดค่าไฟฟ้าจากการปรับโครงสร้างหนี้ โดยปราศจากการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม เป็นเพียงการพักหนี้ระยะสั้นเท่านั้น โดยหากพ้นระยะของการพักชำระหนี้ ถ้าเกิดมีการเรียกเก็บคืนทันที อาจจะทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูงขึ้นมากกว่า 6 บาทกว่าต่อหน่วยเลยทีเดียว และผู้บริโภคจะต้องเจอกับราคาค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเพื่อชดเชยภาระหนี้ในอดีตอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการพักชำระหนี้ผ่านการตรึงค่า Ft จึงเป็นเหมือนระเบิดเวลาที่รอเวลาเกิดผลกระทบในวงกว้างจากภาระหนี้สินและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอระบุ

สอดรับกับ ดร.สิริภา จุลกาญจน์ สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรืออีอาร์ไอ ที่เห็นว่า หากรัฐจะใช้แนวทางการยืดหนี้ ควรใช้ให้ถูกกลุ่มและมีระยะเวลาการช่วยเหลือที่ชัดเจน เช่น ลดค่าไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่มีความจำเป็น หรือครัวเรือนที่มีรายได้น้อยเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดเป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสจากภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ
 
ขณะที่การจัดการกับปัญหาค่าไฟฟ้าราคาแพงในระยะยาว จะต้องให้ความสำคัญกับการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรภายในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานหมุนเวียน เพื่อลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกที่มีหลายปัจจัยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้

ประเทศไทยนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นราคาสูงที่กว่าการผลิตจากในอ่าวไทยมากกว่า 2 เท่า ส่งผลให้การควบคุมราคาค่าไฟฟ้ามีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สำคัญ เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานดังกล่าวมีแนวโน้มต่ำลง
 
รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในระยะยาวควรมีการวางแผนและจัดระบบไฟฟ้าควรคำนึงถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของสังคมที่เพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม โดยหันไปใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การติดโซลาร์เซลล์ หรือเทคโนโลยีในอนาคตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปอีกด้วย” ดร.สิราภาระบุ
 
ดร.สิริภาระบุด้วยว่า สำหรับการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน โดยเพิ่มการใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประทธิภาพในการผลิตไฟฟ้านั้นยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการอาศัยเงินลงทุน (Climate Finance) เพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ภาครัฐจึงต้องมองหากลไกและมาตราการทางการเงินที่เหมาะสมกับช่วงระดับการพัฒนาของเทคโนโลยี (Level of Technology Development) เพื่อส่งเสริมการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีโดยยังรักษาเสถียรภาพของราคาไฟฟ้าในอนาคตผ่านมาตรการที่หลากหลาย
 
เช่น การสนับสนุนแหล่งเงินทุนสีเขียว (green finance) การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและการันตรีความเสี่ยงสำหรับโครงการสีเขียว รวมถึงการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่