ดาวเคียงเดือน

กระทู้สนทนา
Credit: พลังวัชร์

#มายาโหราศาสตร์ ตอนที่ ๒ Conjunction
เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา หลายท่านคงสังเกตเห็นปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือนเมื่อมองไปที่ขอบฟ้าตะวันตกในช่วงเวลาหลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเห็นดวงจันทร์เสี้ยวข้างขึ้นอ่อน ๆ อยู่ทางซ้ายมือ ทางด้านขวามือจะเห็นดาวสว่างดวงหนึ่งคือดาวศุกร์ และดาวเคราะห์ดวงน้อยเฉียงลงมาทาง 5 นาฬิกาจากดาวศุกร์นั่นคือดาวเสาร์
มองในแง่โหราศาสตร์ตามที่คุ้นเคย ในระดับราศีเรียกว่า กุมกัน หมายถึงอยู่ร่วมราศีเดียวกัน แต่ถ้ามองในระดับองศา ก็เรียกว่า กุม (Conjunction) เช่นกัน 
แต่...
สังเกตไหมว่า ดาวเคราะห์ 3 ดวงนี้ อยู่คนละตำแหน่ง ไม่ได้ "กุมกันสนิท" หรือ "ทับกัน" อย่างที่นักโหราศาสตร์หลาย ๆ ท่านเข้าใจ
อันว่าตำแหน่งดาวทางโหราศาสตร์ไม่ว่าระบบไทย สากล ฮินดู มุสลิม จีน ต่างอ้างอิงตำแหน่งเพื่อใช้ในการ "พยากรณ์" เพียง "ระนาบเดียว" ทั้งสิ้น กล่าวคือ ไม่ว่าตำแหน่งดาวจะอยู่ตำแหน่งใด ๆ บนท้องฟ้า ให้ทำการ "วัดระยะ" หรือ "Projection" เข้าสู่เส้น "Ecliptic" (รวิมรรค/สุริยวิถี) ทั้งสิ้น
ดังนั้นขอให้สังเกตในแผนที่ดาวที่แนบมาด้วย เมื่อเวลา 17.17 น.เป็นเวลาที่ดวงจันทร์ "กุม" ดาวศุกร์สนิทองศา "บนเส้นระวิมรรค" คือ ตำแหน่งศูนย์กลางดวงจันทร์เมื่อลากเส้นตรงมาตั้งฉากกับเส้นประสีแดง(สุริยวิถี) จะเท่ากับตำแหน่งศูนย์กลางดาวศุกร์บนเส้นสุริยวิถีเช่นกัน
โหราศาสตร์ทุกระบบใช้จุดนี้อ้างอิงและพยากรณ์ว่า เมื่อดาวศุกร์และดวงจันทร์โคจร "กุม" กันบนท้องฟ้า พยากรณ์ว่า...
แต่...
ตำแหน่งดวงจันทร์"จริง"ห่างจากเส้นสุริยวิถีไปมากกว่าดาวศุกร์ ทำให้ไม่ "กุมกันสนิท" จริง ๆ 
เพราะถ้าเกิดเป็นการ "กุมกันสนิท" จริงๆ บนท้องฟ้าแล้ว จะเกิดปรากฏการณ์พิเศษ คือ 
1) สุริยุปราคา (Solar eclipse)
2) จันทรุปราคา (Lunar eclipse)
3) ดาวเคราะห์บังกัน(Occutation) เช่นดวงจันทร์บังดาวศุกร์ หรือ ดวงจันทร์บังดาวฤกษ์
4) ดาวบริวารบังดาวเคราะห์ หรือ ดาวเคราะห์บังดาวบริวารของตนเอง เช่นกรณีของดาวพฤหัสบดี
เรื่องนี้ ผมยกตัวอย่างมาสอน/บรรยายในเชิงดารา-โหราศาสตร์ในหลายครั้ง หลายวาระ เพื่อมองให้เห็นความเป็นจริงของท้องฟ้า กับ สิ่งที่นำมาใช้ทางโหราศาสตร์
ซึ่งในทางดาราศาสตร์นิยมอ้างอิง ณ ตำแหน่งเส้นศูนย์สูตรฟ้า (เส้นประสีขาวในแผนที่ดาว)ทำให้เวลาอาจแตกต่างกันออกไปบ้าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เวลาจันทร์เพ็ญจันทร์ดับในแต่ละเดือน อาจแตกต่างไปบ้าง 1 - 2 นาที ซึ่งพบในปฏิทินที่จัดทำโดยสมาคม/สถาบันทางดาราศาสตร์ทั่วโลก
สรุปประเด็นที่ต้องการสื่อว่า โหราศาสตร์มีความเป็นวิทยาศาสตร์ตรงที่มีการอ้างอิงจากการคำนวณตำแหน่งดาวไม่ว่าระบบใด (สุริยยาตร์/ดาราศาสตร์) แต่ท้ายที่สุดก็เข้าสู่ความเป็นปรัชญา เพราะตำแหน่งที่ใช้นั้นเป็นตำแหน่ง "สังเคราะห์" หรือพิกัดบน "ระนาบสุริยวิถี" เพราะไม่ว่าดาวจะทำมุมกันอย่างมีนัยยะสำคัญมากมายเท่าใด ก็ยังคงอ้างอิงอยู่ในระนาบเดียว คือ บนเส้นสุริยวิถีเท่านั้น
ดังนั้น การศึกษาดารา-โหราศาสตร์ หรือดาราศาสตร์สำหรับโหรนั้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกลไกของวัตถุต่าง ๆ บนท้องฟ้าตามความเป็นจริง มิใช่คาดเดาหรือมโนภาพไปเอง ส่วนการพยากรณ์ได้หรือไม่เป็นเรื่องของตัวบุคคล
ด้วยความเคารพในศาสตร์แห่งการพยากรณ์
Admin พ.

ภาพจาก FB : Suwit Dasiri โพสในกลุ่มดาราศาสตร์อิสลามฉบับชาวบ้าน และจาก Myhora.com
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่