สัตว์:..ผู้อริยสาวก-ผู้โสดาบัน..ตอนที่ 18 :เป็นโสดาบันผู้ละสังโยชน์3...ด้วยการเห็น...เพราะการมนสิการที่ถูกต้อง

กระทู้คำถาม


๒. สัพพาสวสังวรสูตร  https://etipitaka.com/read/thai/12/12/
ว่าด้วยการสังวรในอาสวะทั้งปวง
.....
.......
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนอริยสาวกผู้สดับแล้ว ผู้เห็นพระอริยะทั้งหลาย 
ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ได้รับแนะนำด้วยดีในธรรมของพระอริยะ
ผู้เห็นสัปบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ได้รับคำแนะนำด้วยดีในธรรมของสัปบุรุษ 
ย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ 
เมื่ออริยสาวกนั้นรู้ทั่วถึงธรรมที่ควรมนสิการ และไม่ควรมนสิการ 
ย่อมไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควร มนสิการ และมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ. 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกไม่มนสิการ? 
     เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี
     ที่ยังไม่เกิดขึ้นย่อม เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญขึ้น
     ธรรมที่ไม่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกไม่มนสิการ.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมที่ควรมนสิการเหล่าไหน ที่อริยสาวกมนสิการอยู่?
     เมื่ออริยสาวก นั้นมนสิการธรรมเหล่าใดอยู่ กามาสวะก็ดี ภวาสวะก็ดี อวิชชาสวะก็ดี
      ที่ยังไม่เกิดขึ้น ย่อม ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเสื่อมสิ้นไป
      ธรรมที่ควรมนสิการเหล่านี้ ที่อริยสาวกมนสิการอยู่

อาสวะทั้งหลายที่ยังไม่เกิดขึ้น จะไม่เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว จะเสื่อมสิ้นไป
แก่อริยสาวกนั้น เพราะไม่มนสิการธรรมที่ไม่ควรมนสิการ และเพราะมนสิการธรรมที่ควรมนสิการ.
อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า
- นี้ทุกข์
- นี้เหตุให้เกิดทุกข์
- นี้ความดับทุกข์
- นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์

เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้
สังโยชน์ ๓ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป <---คือเป็นพระโสดาบัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้ เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น
{อิเม วุจฺจนฺติ ภิกฺขเว อาสวา(อาสวะ) ทสฺสนา(เห็น) ปหาตพฺพา(ที่ถูกประหาร) ฯ}



สรุป...
1. คำว่า " มนสิการ "...ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า " Attention "., " keep in mind "...ภาษาไทยแปลว่า " กระทำในใจ "
    ....ซึ่งก็คือการ...คิดถึงสิ่งนั้น, จำสิ่งนั้น, จิตนาการในสิ่งนั้น, นึกถึง-ครุ่นคิดในสิ่งนั้น,.ใคร่ครวญ

2. ในพระสูตรนี้..สิ่งที่ไม่ควรมนสิการก็คือ..สักกายะ..  แต่ควรมนสิการในอริยสัจ...
=====ส่วนใน นิสสารณียสูตร...จะเป็นดังนี้======
   สิ่งที่ไม่ควรไม่ควรมนสิการ คือ
     - กาม 
     - พยาบาท
     - วิหิงสา
     - รูป
     - สักกายะ
     สิ่งที่ควรอะไรควรมนสิการ
     - เนกขัมมะ
     - ไม่พยาบาท  (อพฺยาปาท)
     - อวิหิงสา
     - อรูป
     - ความดับแห่งสักกายะ (การสลัดออกจากสักกาย)
======================================

3.ในพระสูตรนี้พระศาสดาท่านกล่าวว่า
ปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้ว่า 

- เราได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ
- เราไม่ได้มีแล้วในอดีตกาลหรือหนอ
- ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรหนอ
- ในอดีตกาลเราได้เป็นอย่างไรหนอ
- ในอดีตกาลเราได้เป็นอะไรแล้วจึงเป็นอะไรหนอ

- ในอนาคตกาลเราจักมีหรือหนอ
- ในอนาคตกาลเราจักไม่มีหรือหนอ
- ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรหนอ
- ในอนาคตกาลเราจักเป็นอย่างไรหนอ
- ในอนาคตกาลเราจักเป็นอะไรแล้วจึงจักเป็นอะไรหนอ

หรือว่า ปรารภกาลปัจจุบันในบัดนี้มีความ สงสัยขึ้นภายในว่า

- เรามีอยู่หรือ
- เราไม่มีอยู่หรือ
- เราเป็นอะไรหนอ
- เราเป็นอย่างไรหนอ
- สัตว์นี้ มาแต่ไหนหนอ
- และมันจักไป ณ ที่ไหน.

เมื่อปุถุชนนั้นมนสิการอยู่โดยไม่แยบคายอย่างนี้
บรรดาทิฏฐิ ๖ ทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้น
ทิฏฐิโดยจริงโดยแท้ย่อมเกิดขึ้นแก่ปุถุชนนั้น

- ว่าตนของเรามีอยู่
- หรือว่าตนของเราไม่มีอยู่
- หรือว่าเราย่อมรู้ชัดตนด้วยตนเอง
- หรือว่าเราย่อมรู้ชัดสภาพมิใช่ตนด้วยตนเอง
- หรือว่าเราย่อมรู้ตนด้วยสภาพมิใช่ตน 

อีกอย่างหนึ่ง ทิฏฐิย่อมเกิดมีแก่ปุถุชนนั้นอย่างนี้ว่า 
ตนของเรานี้เป็นผู้เสวย ย่อมเสวยวิบากแห่งกรรมทั้งดีทั้งชั่วในอารมณ์นั้นๆ
  ก็ตนของเรานี้นั้นเป็นของ แน่นอนยั่งยืนเที่ยงแท้ ไม่แปรปรวนเป็นธรรมดา
   จักตั้งอยู่อย่างนั้นเสมอด้วยสิ่งยั่งยืนแท้
ข้อนี้ เรากล่าวว่าทิฏฐิ ชัฏคือทิฏฐิ กันดารคือทิฏฐิ เสี้ยนหนามคือทิฏฐิ
ความดิ้นรนคือทิฏฐิ สิ่งที่ประกอบ สัตว์ไว้คือทิฏฐิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับผู้ประกอบด้วยทิฏฐิสังโยชน์
ย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส ย่อมไม่พ้นจากทุกข์.

4. สรุปว่าเมื่อมนสิการดีๆ  สังโยชน์3 ก็จะละไปได้เป็นพระโสดาบัน
    และพระศาสดาท่านกล่าวว่า...นี่คือการละ..อาสวะได้ด้วยการเห็น(ทัสสนา)  
    จะเห็นได้ก็ต้องมีการมนสิการในสิ่งที่ควร  และหลีกเลี่ยงในสิ่งที่ไม่ควรมนสิการ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่