คารวะสี่พันผู้กล้า ! “อนุทิน” ปลื้ม วัคซีนโควิด 19 สัญชาติไทยคืบหน้า ฉีดให้อาสาสมัครแล้ว เชื่อ เป็นก้าวสำคัญ

คารวะสี่พันผู้กล้า ! “อนุทิน” ปลื้ม วัคซีนโควิด 19 สัญชาติไทยคืบหน้า ฉีดให้อาสาสมัครแล้ว เชื่อ เป็นก้าวสำคัญ สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ

23 ธันวาคม 2565 ที่ศาลากลาง จ.นครพนม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ได้เดินทางมาเป็นประธาน งานแถลงข่าวการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 เพื่อประเมินความปลอดภัยและความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ของวัคซีนโควิด 19 HXP-GPOVac ขนาด 10 ไมโครกรัมในรูปแบบเข็มกระตุ้นเปรียบเทียบกับวัคซีนโควิดชนิดที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ โดยศึกษาในอาสาสมัครที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 4,000 คน ซึ่งได้รับวัคซีนหลักไปแล้ว 2 เข็ม

นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในโครงการวิจัยที่เราได้ดำเนินการมาโดยตลอดและมีความคืบหน้า จนมาถึงจุดที่เราสามารถวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 3 คือการใช้วัคซีนในอาสาสมัคร 4,000 คน พวกท่านคือ บุคคลที่มีส่วนสำคัญ ที่จะทำให้การพัฒนาวิจัยวัคซีน เป็นผลสำเร็จมีคุณูปการต่อคนไทยทั้งประเทศ “ผมขอคารวะผู้กล้าทั้ง 4,000 คน 

ทราบมาว่าส่วนใหญ่เป็นพี่น้อง อสม. ซึ่ง ท่านเหล่านี้ยกระดับ อสม. ขึ้นอีกหลายขั้น ทำให้ตนและคนไทยรู้สึกจุกในอก ตื้นตันใจ ขอให้ท่านและญาติๆ ทั้งหลายไม่ต้องกังวล ตนสอบถามผู้อำนวยการเภสัชกรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เราเดินมาถึงจุดนี้ได้ เพราะเราผ่านการประเมินจุดเสี่ยงมาแล้ว เราไม่ให้ท่านได้รับของที่เป็นอันตราย แม้ 0.001% อย่างแน่นอน” 

นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่เราต้องพัฒนาวัคซีนขึ้นมา ก็เพื่อให้พี่น้องคนไทย มีวัคซีนอยู่ในประเทศไทย ผลิตโดยองค์การเภสัชฯ ซึ่งเป็นของคนไทยทุกคน และเป็นโรงงานผลิตยาที่มีคุณภาพระดับโลก หากสำเร็จก็พร้อมขึ้นทะเบียนและผลิตวัคซีนป้องกันโควิด 19 เป็นรากฐานให้กับคนไทย ประเทศไทย เป็นสิ่งเสริมสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งของระบบสาธารณสุขไทย “ความสำเร็จที่เกิดขึ้น จะช่วยให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัคซีนจากต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงด้านวัคซีนหากเกิดการระบาดขึ้นอีกในอนาคต รวมทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการพึ่งพาตัวเองด้านวัคซีนของประเทศไทยอย่างยั่งยืนได้เป็นอย่างดี”

 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การเภสัชกรรมได้มีการปรับแพลตฟอร์มการผลิตวัคซีนจากไข่ไก่ฟักเพื่อให้พร้อมสำหรับรองรับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในระดับอุตสาหกรรม โดยโครงการวัคซีน NDV-HXP-S เป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน PATH, Icahn School of Medicine at Mount Sinai (Icahn Mount Sinai) นิวยอร์ค, University of Texas at Austin (UT Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา และโรงงานผู้ผลิตวัคซีนใน 3 ประเทศ คือ บราซิล เวียดนาม และไทย โดยวัคซีนต้นแบบมีการพัฒนามาจากนวัตกรรมการตัดต่อไวรัสนิวคาสเซิล (Newcastle disease virus, NDV) ให้มีการแสดงออกของโปรตีนหนามของไวรัสโคโรนาที่ถูกปรับแต่งด้วยเทคโนโลยีเฮกซะโปร (HexaPro) ให้มีความคงตัวมากขึ้น ซึ่งโปรตีนหนามเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด 19 โดยเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิด NDV ถูกพัฒนาขึ้นโดย Icahn Mount Sinai ขณะที่ UT Austin เป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยี HexaPro และองค์การเภสัชกรรมได้ผลิตวัคซีนวิจัยโควิด 19 ชนิด HXP-GPOVac จาก seed virus ที่ได้รับจากโรงเรียนแพทย์ที่เมาท์ไซนาย (Icahn Mount Sinai) โดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก เช่นเดียวกับที่ใช้ในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่โรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ ขององค์การเภสัชกรรม ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี จากข้อมูลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ในปี พ.ศ. 2564 และระยะที่ 2 ในปี พ.ศ. 2564-2565 



แสดงให้เห็นว่าวัคซีนที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมนี้มีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี และข้อมูลดังกล่าวได้นำมาใช้ในการคัดเลือกสูตรตำรับที่เหมาะสมสำหรับการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ซึ่งหากผลการศึกษาในระยะที่ 3 เป็นที่น่าพอใจ จะสามารถยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ในปี พ.ศ. 2566 และกระจายวัคซีนสู่ผู้ใช้ได้หลังจากนั้น โดยองค์การเภสัชกรรมมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนดังกล่าวประมาณ 5-10 ล้านโดสต่อปี และสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต งานวิจัยได้รับการสนับสนุนจาก คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ผ่านทาง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกองทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม องค์การเภสัชกรรม

Cr. https://bhumjaithai.com/news/82161
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่