สรุปดราม่า “ฟุตบอลโลก 2022” เกิดอะไรขึ้นที่กาตาร์

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันแรกที่มีการแข่งขัน “ฟุตบอลโลก 2022” ที่ประเทศกาตาร์ แต่กว่าจะมีวันนี้ได้ ก็มีดราม่าเกิดขึ้นมากมายที่กาตาร์ มีเรื่องอะไรบ้าง เรารวมมาให้ดังนี้
1. คอร์รัปชันครั้งใหญ่
เบื้องหลังของการจัด “ฟุตบอลโลก 2022” ที่ประเทศกาตาร์ มีจุดเริ่มต้นเรื่องความไม่โปร่งใสมาตั้งแต่การโหวตเลือกประเทศเจ้าภาพตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งในเวลานั้นมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประเทศเจ้าภาพด้วย แม้ว่าศักยภาพของสหรัฐฯ จะมีความพร้อมมากกว่ากาตาร์ อีกทั้งยังเคยมีประสบการณ์ในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมาแล้วในปี 1994 แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้คะแนนโหวตให้กับกาตาร์ด้วยคะแนนเสียงโหวต 14 ต่อ 8 ที่เรียกได้ว่าคะแนนห่างกันมากพอสมควร ซึ่งเชื่อกันว่ามีการคอร์รัปชัน ด้วยการจ่ายเงินใต้โต๊ะถึงหลักร้อยล้านดอลลาร์ให้กับฟีฟ่า แต่ทางกาตาร์ได้ปฏิเสธเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่าที่กาตาร์มีกฎหมายเรื่องการทุจริตและติดสินบนที่เข้มงวดมาก จึงไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองมาเสี่ยงเรื่องนี้
2. คร่าชีวิตแรงงานข้ามชาติ
รายงานจาก เดอะ การ์เดียน สื่อรายใหญ่จากอังกฤษเผยว่า นับตั้งแต่กาตาร์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าภาพการจัด “ฟุตบอลโลก 2022” ได้มีแรงงานต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพครั้งนี้เสียชีวิตไปแล้วกว่า 6,500 คน ในช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ได้มีการก่อสร้างสนามบอลรวมถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ โดยแบ่งเป็นแรงงานจากประเทศอินเดีย เนปาล บังกลาเทศ ปากีสถาน ศรีลังกา และประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย โดยสาเหตุการเสียชีวิตมาจากการถูกของแข็งกระแทก การขาดอากาศหายใจ ไปจนถึงการแขวนคอ แต่สาเหตุที่ระบุในเอกสารทางการกลับบอกว่าเป็นการเสียชีวิตโดยธรรมชาติ เช่น หัวใจล้มเหลว หรือเสียชีวิตเพราะอากาศที่ร้อนอบอ้าวของกาตาร์
3. ทั่วโลกคว่ำบาตร
จากปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เกี่ยวเนื่องกับการจัด ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ ทำให้เกิดกระแสคว่ำบาตรจากแฟนบอลทั่วโลก โดยเฉพาะแฟนบอลชาวเยอรมัน ที่มีการต่อต้านคว่ำบาตรกาตาร์อย่างชัดเจนด้วยการชูป้ายแสดงออก โดยมีข้อความที่แสดงถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกาตาร์จากการที่มีแรงงานต่างด้าวเสียชีวิตหลายพันคนภายในระยะเวลากว่า 10 ปีที่มีการเตรียมจัดงานฟุตบอลโลก 2022 นอกจากนี้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ยังได้ทำการสำรวจพบว่าแฟนฟุตบอลถึง 75% จาก 15 ประเทศทั่วโลก สนับสนุนให้ฟีฟ่าชดเชยเหล่าแรงงานข้ามชาติในกาตาร์อีกด้วย
4. ต่อต้าน LGBTQ+
แม้ว่าปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการยอมรับบุคคลหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ มากขึ้น แต่ไม่ใช่ที่กาตาร์ซึ่งเป็นรัฐอิสลาม ดังนั้นการรักเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายของกาตาร์ สำหรับเรื่องนี้ นัสเซอร์ อัล-เคเตอร์ ผู้อำนวยการศึกฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ ได้ให้คำตอบว่า กาตาร์ต้อนรับแฟนบอลทุกคนโดยไม่จำกัดเพศ ศาสนา และเชื้อชาติ แต่ขอความร่วมมือเรื่องการเคารพวัฒนธรรมของกาตาร์ ด้วยการงดแสดงความรักในที่สาธารณะรวมถึงการห้ามชูธงสีรุ้ง เพื่อความปลอดภัยของแฟนบอล เนื่องจากอาจมีคนไม่พอใจแล้วโดนทำร้ายร่างกายได้
5. ห้ามขายเหล้าเบียร์ในสนามแข่งขัน
การดื่มเหล้าเบียร์ขณะชมการแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นเรื่องปกติในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่ไม่ใช่กับการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 ที่กาตาร์ เนื่องจากเป็นรัฐอิสลาม ซึ่งมีกฎหมายบังคับเรื่องการดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะมีโทษจำคุกสูงสุดเป็นเวลาหกเดือน หรือปรับเป็นเงิน 3,000 ริยัลกาตาร์ หรือเกือบ 30,000 บาทไทย แต่ก็ได้มีการผ่อนปรนกฎหมายนี้ในช่วงการแข่งขัน ฟุตบอลโลก 2022 โดยอนุญาตให้มีการขายแอลกอฮอล์ในสนามได้ก่อนเริ่มการแข่งขัน แต่ห้ามขายระหว่างการแข่งขัน นอกจากนี้หากมีแฟนบอลทะเลาะวิวาทในสนามแข่ง จะถือเป็นความผิดร้ายแรงและอาจถูกไล่ออกนอกประเทศทันที
จากดราม่าที่เกิดขึ้นนี้จึงทำให้แฟนบอลจำนวนมากเกิดข้อกังขาและวิพากษ์วิจารณ์กาตาร์อย่างหนักว่า ถ้าหากไม่สามารถปฏิบัติตามสากลเหมือนประเทศอื่นๆ ได้ ก็ไม่ควรเป็นเจ้าภาพ ฟุตบอลโลก 2022

Credit: https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2557918
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ฟุตบอลโลก 2022 ประเทศกาตาร์ ฟุตบอล ฟุตบอลต่างประเทศ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่