*** พาเที่ยว “อดีต” สถานทูตอเมริกาในอิหร่าน ***

เมื่อเอ่ยคำว่าฐานปฏิบัติการลับ… ทุกท่านนึกถึงอะไร? มันควรเป็นสถานที่ซึ่งลอบเร้นอยู่ในจุดที่ไม่มีใครสังเกต หรือห้องที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทันสมัยจำนวนมาก ตามที่ปรากฏตามภาพยนตร์สายลับมากมาย?

แน่นอนว่าคำตอบเหล่านี้ล้วนมีส่วนถูกทั้งสิ้น ทว่ามันจะเป็นอย่างไรหากฐานลับที่ผมกำลังจะเล่าให้ฟังตั้งอยู่ภายในอาคารใจกลางเมืองหลวง อย่างสถานทูตอเมริกาใจกลางกรุงเตหะรานอันเป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอิหร่าน โดยเมื่อ 40 ปีก่อน ม๊อบนักเรียนอิหร่านได้บุกจับคนในสถานที่นี้เป็นตัวประกัน กลายเป็นจุดแตกหักด้านความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและอิหร่านมาจนกระทั่งทุกวันนี้

เรื่องราวที่ท่านจะได้ชมจากนี้คือเรื่องราวของ “ฐานลับ” ใจกลางกรุงเตหะรานอันเต็มไปด้วยอดีตอันน่าค้นหากันได้เลยครับ

*** เบื้องหลังเหตุการณ์ ***

ปี 1979 อิหร่านเกิด “การปฏิวัติอิสลาม” เปลี่ยนการปกครองจากระบบพระเจ้าชาห์ เป็นรัฐเคร่งศาสนา พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี อดีตกษัตริย์ต้องหลับไปรักษาตัวที่อเมริกา



รุ่งเช้าของวันที่ 4 พฤศจิกายน 1979 นักศึกษาหลายร้อยคนได้รวมตัวกันหน้าอาคารสถานทูตสหรัฐประจำกรุงเตหะราน เพื่อกดดันให้ทางการสหรัฐส่งตัวพระเจ้าชาห์มา

จากนั้นการประท้วงกลับทวีความรุนแรงขึ้น กลุ่มนักศึกษาบุกเข้าไปยังตัวอาคารจนสามารถจับกุมคนในสถานทูตเป็นตัวประกัน 66 ชีวิต


ภาพแนบ: นักศึกษาประกาศชัยชนะหน้าสถานทูตสหรัฐ

สาเหตุของการต่อต้านอเมริกาในอิหร่านนั้นมิได้เพิ่งจะเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าชาห์ แต่เป็นสามารถย้อนกลับไปถึงการที่อเมริกาแอบสนับสนุนการรัฐประหารอิหร่านในปี 1953

โดยพวกเขาโค่นล้มนายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด โมซัดเดกห์ ผู้พยายามยุติการให้สัมปทานน้ำมันกับต่างชาติ ทำให้ชาติตะวันตกเสียประโยชน์ จึงต้องโค่นเขาจากอำนาจ


ภาพแนบ: นายกรัฐมนตรี โมฮัมหมัด โมซัดเดกห์

 จากนั้นอเมริกาได้สนับสนุนให้พระเจ้าชาห์มีอำนาจมากขึ้น เพราะพระเจ้าชาห์สวามิภักดิ์ตน และยอมให้ชาติตะวันตกเข้าไปควบคุมกิจการน้ำมันในอิหร่าน…

…เรื่องนี้เป็นบาดแผลลึกที่อยู่ในใจคนอิหร่านเรื่อยมา…


ภาพแนบ: พระเจ้าชาห์ เรซา ปาห์ลาวี และครอบครัว

หลังการปฏิวัติอิสลาม อิหร่านได้เปลี่ยนตนเองจากบริวารผู้ภักดีต่ออเมริกามาเป็นอภิมหาหนามยอกอกในตะวันออกกลาง

อดีตสถานทูตอเมริกาในอิหร่านจึงเปรียบเสมือนหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นชัยชนะของชาวอิหร่านต่อสหรัฐที่เข้ามาแย่งชิงผลประโยชน์ของตนจึงเป็นพิพิธภัณฑ์ภายใต้การดูแลของรัฐบาล แต่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมเพื่อเรียนรู้ถึง “โฉมหน้าแท้จริงของประชาธิปไตยของสหรัฐ” ที่จัดการกับคู่ขัดแย้งของพวกเขา


ภาพแนบ: ด้านหน้าของสถานทูตสหรัฐประจำกรุงเตหะรานในปัจจุบัน

เมื่อเดินเข้าไปบริเวณทางเข้าสถานทูตจะพบกับธงชาติอเมริกาถูกแขวนกลับหัวในสภาพยับเยิน
เสมือนตัวแทนความคับแค้นใจของชาวอิหร่านต่อสหรัฐ


รูปแนบ: ธงสหรัฐบริเวณหน้าอาคารสถานทูต

ทางเข้าประตูด้านหนึ่งถูกสลักเป็นรูปตีนเหยียบธงชาติสหรัฐเป็นการประกาศชัยชนะของประชาชนเหนือชาติผู้อยู่เบื้องหลังการชักใยรัฐบาลของพระเจ้าชาร์ได้สำเร็จ เรียกว่าเป็นการหยามศักดาแบบโต้งๆ ก็คงไม่ผิดนัก!


รูปแนบ: รูปสลักเท้าเหยียบธงชาติสหรัฐ

ทางเข้าประตูอีกด้านถูกสลักเป็นเรื่องราวของการทำสงครามต่อต้านสหรัฐ ด้านหนึ่งเป็นรูปของทหารแห่งกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน (Revolutionary Guard) ซึ่งถูกตั้งขึ้นหลังการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 เพื่อปกป้องรัฐบาลของสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านจากศัตรูภายในและมีบทบาทสำคัญต่อการทำสงครามนอกประเทศอีกด้วย


รูปแนบ: รูปสลักทหารกองกำลังปฏิวัติอิหร่าน

เมื่อเดินเข้าไปบริเวณลอบบี้ท่านจะพบกับพื้นที่จัดแสดงทั้งหนังสือพิมพ์จำนวนมาก, เอกสารต่างๆ รวมทั้งงานศิลปะที่น่าสนใจโดยเฉพาะรูปชัยชนะของกองทัพอิหร่านจากเหตุการณ์จับกุมเรือสังกัดกองเรือลาดตระเวณแม่น้ำของสหรัฐจำนวน 2 ลำ พร้อมกับลูกเรืออีก 10 นาย เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2016


ภาพแนบ: รูปเหตุการณ์วันที่ 12 มกราคม 2016

 กลายเป็นความอับอายครั้งใหญ่ของอเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นกองทัพที่เข้มแข็งเป็นอันดับหนึ่งของโลก แม้ว่าทางการอิหร่านจะทำการปล่อยเชลยทั้งหมดในเวลาต่อมาก็ตาม


ภาพแนบ: นายทหารอิหร่าน (ซ้าย) เข้าเยี่ยมเชลยสหรัฐ (ขวา)

จากนั้นท่านจะพบกับไฮไลท์แรกของสถานที่แห่งนี้คือ “ห้องประชุมลับสุด” ซึ่งถูกสร้างไว้สำหรับการประชุมระดับลับสุดยอดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้วยวัสดุอาทิกระจกและฟอยล์อลูมิเนียมเพื่อดูดเสียงของกระประชุมเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลใดๆสามารถเล็ดรอดออกจากห้องดังกล่าว

น่าเสียดายว่า… วัสดุชั้นดีเหล่านี้ไม่สามารถช่วยให้มันหลบเร้นจากกลุ่มนักศึกษาได้ เพราะมันกลายเป็นห้องแรกๆ ซึ่งถูกค้นพบโดยกลุ่มนักศึกษาที่บุกเข้าไปถึง!


ห้องประชุมลับ (ที่ตั้งในที่ไม่ลับ) ในสถานทูต

นอกจากห้องประชุมลับแล้ว ทางอิหร่านยังคงรักษาสภาพห้องทำงานของเอกอัคราชทูตสหรัฐไว้ในสภาพเดิมตั้งแต่ปี 1979 โดยมีการเพิ่มกิมมิคการจิกกัดเล็กๆคือ ธงไอซิสที่ตั้งคู่กับธงสหรัฐ เสมือนการสื่อเป็นนัยว่า “สหรัฐนั้นคือผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มไอซิส” จึงเป็นหน้าที่ของอิหร่านที่จะต้องเข้าแทรกแซงประเทศต่างๆ ในตะวันออกกลางอาทิ อิรัก, เยเมน และซีเรีย เพื่อขจัดอิทธิพลของกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว แม้จะต้องถูกโดดเดี่ยวจากมาตรการคว่ำบาตารของตะวันตก
 
ตรงกันข้ามกับชาติตะวันออกกลางอื่นๆ ที่ผู้นำยอมส… See more



เมื่อออกมาด้านหน้าห้องทำงานของท่านทูตจะพบกับโต๊ะเล็กๆของเลขาที่ไกด์ชาวอิหร่านเล่าว่าเป็นชาวแอฟริกันอเมริกันซึ่งถูกหน่วยงานใช้งานเยี่ยงทาส!

ดังนั้นการบุกสถานทูตในครั้งนั้นจึงมิใช่เป็นเพียงการขับไล่ศัตรู แต่ยังช่วยปลดปล่อยผู้ที่ถูกกดขี่ในระบบการทำงานอันไม่เป็นธรรมอีกด้วย (ชวนเชื่อสุดๆ)


รูปแนบ: โต๊ะทำงานเจ้าหน้าที่สถานทูต

เมื่อชมน้ำจิ้มกันไปแบบหอมปากหอมคอแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะไปชมไคลแม็กซ์ที่แท้จริงของสถานทูตแห่งนี้! ตามที่ผมเคยกล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่าความโหดของสถานทูตแห่งนี้มันไม่ใช่เป็นเพียงอาคารสำนักงาน แต่ยังทำหน้าเสมือนฐานทัพลับของหน่วยข่าวกรองอย่างซีไอเอที่จับตาดูความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอิหร่านอย่างเงียบๆ

พื้นที่เหล่านี้ถือเป็นชั้นความลับที่มีเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คนสามารถเข้าถึงได้ แม้แต่เอกอัครราชทูต ผู้ควรจะมีอำนาจสูงสุดในสถานทูตก็ยังไม่สามารถเข้าได้หากไม่ได้รับอนุญาต!



หากท่านเคยเห็นฐานลับของหน่วยจารชนตามภาพยนตร์น่าจะนึกถึงอุปกรณ์ไฮเทคจำนวนมากทั้งเครื่องดักฟัง, เครื่องรับส่งข้อมูล, คอมพิวเตอร์ล้ำสมัย ฯลฯ แน่นอนว่าในห้องทำงานภายในนั้นมีอุปกรณ์เหล่านี้แทบทั้งสิ้น แม้ว่าอายุของเครื่องมือเหล่านี้จะล่วงเลยมามากกว่า 40 ปี ทว่าในช่วงเวลาที่มันยังใช้งานฐานลับแห่งนี้คงจะทันสมัยเป็นอย่างมาก


ภาพแนบ: ทางเข้าประตู

บริเวณทางเข้าท่านจะพบกับประตูเหล็กความหนาเป็นพิเศษ ซึ่งถูกสร้างจากโลหะผสมที่มีคุณสมบัติในการกันเสียง, ความร้อน รวมทั้งคลื่นรบกวนต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการทำงาน โดยตัวประตูนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งคือ “ด้านเหนือและใต้ของตึก”ซึ่งมีการทำงานแยกจากกัน



ภาพแนบ: คำอธิบายตัวประตู

ผมทำการซูมแบบสั้นๆ เพื่อยืนยันว่ามันลับจริงๆ ครับ!



อุปกรณ์แรกที่เราจะได้เห็นคือเครื่องดักคลื่นสัญญาณทั้งความถี่ FM, AM รวมถึงวิทยุทางการทหาร เรียกได้ว่าเป็นการดักฟังการติดต่อสื่อสารจากใจกลางเมืองเลยก็ว่าได้ อุปกรณ์ดังกล่าวตั้งอยู่ภายในห้องที่ได้รับการป้องกันจากคลื่นต่างๆอย่างแน่นหนา

อิหร่านจึงเชื่อมั่นอย่างสนิทใจว่าสหรัฐนั้นพยายามแทรกแซงและชักใยอยู่เบื้องหลังรัฐบาลของพระเจ้าชาห์ อย่างแน่นอน !


ภาพแนบ: เครื่องดักฟังสัญญาณ

นอกจากเครื่องดักฟังสัญญาณแล้ว บริเวณใกล้กันยังมีเครื่องที่เรียกว่าเป็นคุณปู่ของซุปเปอร์คอมพิวเตอร์ซึ่งใช้สำหรับการถอดรหัสเพื่อจารกรรมข้อมูลต่างๆ ซึ่งสำคัญต่อการดำเนินยุทธศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลาง จึงถือได้ว่าฐานลับแห่งนี้เป็นศูนย์รวมของอุปกรณ์สาย ลับไฮเทค ณ ช่วงเวลานั้นก็ว่าได้


ภาพแนบ: ซุปเปอร์คอมพิวเตอร์

เครื่องมืออีกชิ้นที่สำคัญต่อการติดต่อสื่อสารโดยตรงกับวอชิงตันคือ เครื่องโทรพิมพ์ KSR28 ซึ่งใช้เพื่อรับและส่งข้อความต่างๆ ในรูปแบบรหัสมอสคล้ายกับโทรเลข แต่ตัวแป้นพิมพ์จะเป็นตัวอักษรปกติคล้ายกับพิมพ์ดีด โดยกลไกภายในจะมีเดือยเหล็กขนาดเล็กซึ่งจะสัมผัสกับแผ่นเหล็กเบื้องล่างเพื่อส่งกระแสไฟดังกล่าวเข้าในสายโทรเลข

เมื่อกระแสไฟที่ถูกส่งออกไปยังปลายสายจะเข้าสู่เครื่องโทรพิมพ์ ปลายทางซึ่งจะแสดงผลออกมาเป็นตัวอักษรตามที่ต้นทางได้ส่งออกมา



ในยุคหนึ่งการใช้เครื่องโทรพิมพ์ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน แทนการส่งโทรเลขด้วยการเคาะรหัสมอสที่ต้องอาศัยผู้ชำนาญในการเขียนและแปลรหัสดังกล่าวเป็นตัวอักษร

ระหว่างเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ของสหรัฐได้นำอุปกรณ์ภายในบางส่วนออกมา ก่อนทำลายมันด้วยฆ้อนและเลื่อย เพื่อให้เครื่องมือไม่สามารถใช้การได้


ภาพแนบ: ตัวอย่างการทำงานของเครื่องโทรพิมพ์

นอกจากอุปกรณ์การดักฟังและถอดรหัสอันทันสมัย ฐานลับแห่งนี้ยังมีเครื่องสร้างเอกสารยืนยันตัวตนปลอมทั้ง หนังสือเดินทาง, บัตรประชน รวมทั้งใบขับขี่แสดงจุดประสงค์ในการจารกรรมสุดๆ!


ภาพแนบ: เครื่องมือปลอมแปลงเอกสาร (ตามคำกล่าวอ้างของอิหร่าน)

นอกเหนือจากเครื่องมือดักฟังและติดต่อสื่อสารที่ใช้สำหรับภายนอกแล้ว ตัวอาคารยังมีการติดตั้งเครื่องส่งเอกสารภายในที่จะลำเลียงเอกสารสำคัญต่างๆผ่านท่อไปยังจุดหมาย

เนื่องจากอาคารแห่งนี้มีการแบ่งโซนการทำงานเป็นฝั่งเหนือและใต้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานเฉพาะส่วนงานของตนเองแต่ไม่สามารถก้าวล่วงส่วนงานอื่นๆ หรือรับรู้การทำงานแบบครบวงจรเพื่อรักษาความลับอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


ภาพแนบ: เครื่องลำเลียงเอกสาร
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่