หลายคนอาจคุ้นหน้านิลใน Tiktok จากคลิปตามรอยตำนานต่างๆ ทางช่อง @myghoststory รีวิวนี้เป็นตำนานแรกๆ เลยค่ะ ที่นิลกับแฟนไปถ่ายทำคลิป ตั้งแต่ช่วงที่พึ่งเปิดช่องได้ไม่นาน ยังมีคนติดตามไม่ถึงร้อยคน (จนตอนนี้แสนกว่าแล้ว) เหตุผลในการทำคลิปที่นี่เป็นสถานที่แรก ก็คือ เราอยู่อุดรธานี และตอนนั้นเป็นช่วงหน้าหนาว บัวแดงกำลังบานสวยพอดีค่ะ
คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าตำนานพญานาคล่มเมืองเกิดขึ้นแค่ที่สกลนคร แต่จริงๆ แล้วที่อุดรธานีก็มีตำนานนี้นะคะ โดยตัวละครในตำนานอาจจะชื่อผาแดงนางไอ่ (ไอ่คำ) เหมือนกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อย รวมทั้งตอนจบไม่เหมือนกันค่ะ ตำนานนึงคือทั้งม้า ผาแดง และนางไอ่ตกลงไปในพื้นดินที่แยกออก แต่อีกตำนาน นางไอ่จะตกลงไปคนเดียว
สำหรับทะเลสาบที่ชาวอุดรธานีเชื่อกันว่า เกิดขึ้นจากการถล่มเมืองของพญานาค ก็คือ ทะเลสาบหนองหาน (ใช้ น หนู สะกด) ที่ อ.กุมภวาปี หรือที่ทุกคนรู้จักกันในอีกชื่อ คือ "ทะเลบัวแดง" นั่นเอง โดยที่นี่มีพื้นที่ประมาณ 22,500 - 23,000 ไร่ แถมยังเป็นทะเลสาบที่เคยได้รับการคัดเลือกจากสำนักข่าว CNN ในสหรัฐอเมริกา ให้เป็นทะเลสาบสุดแปลกอันดับ 2 ของโลกด้วย
ท่าเรือที่ให้บริการเรือนำเที่ยวจะมีทั้งหมด 6 ท่าเรือค่ะ คือ
1.ท่าเรือบ้านเดียม ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี
2.ท่าเรือเชียงแหว ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี
3.ท่าเรือโนนน้ำย้อย ต.แชแล อ.กุมภวาปี
4.ท่าเรือแชแล ต.แชแล อ.กุมภวาปี
5.ท่าเรือคอนสาย ต.คอนสาย อ.กู่แก้ว และ 6.ท่าเรือดอนคง ต.อุ่มจาน อ.ประจักษ์ศิลปาคม
ท่าเรือที่นิลกับแฟนไปขึ้นเรือ คือ ท่าเรือบ้านเดียม เพราะใกล้บ้านเรากว่าท่าเรืออื่นๆ โดยเราสองคนออกจากบ้านตั้งแต่เช้าๆ เพื่อไม่ให้แดดร้อนเวลาล่องเรือ สำหรับการเดินทางก็ไม่ยากค่ะ เพราะมี GPS ช่วยนำทางและปักหมุดไว้ถูกที่ ส่วนที่จอดรถก็มีรองรับนักท่องเที่ยวพอสมควร มีร้านอาหาร แล้วก็มีมุมให้ถ่ายรูป แต่ช่วงที่นิลไป มีนักท่องเที่ยวน้อย อาจจะเพราะเป็นวันหยุดยาวหลังปีใหม่ที่คนเริ่มทยอยกลับบ้าน แล้วก็เพราะสถานการณ์โควิดในหลายๆ จังหวัดด้วยค่ะ
ค่าโดยสารเรือก็ไม่แพง คนละ 200 บาท เป็นเรือขนาดนั่งได้ 2-3 คน ถ้าต้องการเรือลำใหญ่กว่านี้ เค้าก็มีบริการแต่อีกราคานึงค่ะ
แน่นอนว่ามีชูชีพสภาพใหม่เอี่ยมให้สวมเพื่อความปลอดภัยด้วย เรือที่นั่งก็ใหม่ ส่วนพี่คนขับเรือก็บริการดีมากๆ ถ่ายรูปให้ ขับเรือพาไปเทียบตามจุดที่ดอกบัวบานเยอะๆ นั่งรอเราเก็บภาพแบบใจเย็นมากๆ
โชคดีที่ช่วงที่เราไป (4 มกราคม 2564) อากาศค่อนข้างหนาว ทำให้ดอกบัวพร้อมใจกันบานสวย พี่คนขับเรือบอกว่าเป็นปีที่ดอกบัวบานเยอะในรอบ 10 ปีเลยค่ะ ปกติเราจะสวมแมสก์ตลอดเวลา แต่ตอนแชะรูปคู่ ขอถอดแมสก์นิดนึงน้าาาาา
เราลงเรือกันประมาณ 9 โมง ขึ้นฝั่งประมาณ 10 โมงกว่าค่ะ รวมๆ เวลานั่งเรือก็ประมาณ 1 ชั่วโมงเศษๆ ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนจะอยากเก็บภาพเยอะขนาดไหน บางคนเล่นท่ายาก ตกน้ำตกท่าไปก็มีค่ะ วันที่นิลกับแฟนไป ก็มีคนตกน้ำนะคะ
ขึ้นจากเรือแล้ว ตรงที่จอดรถจะเป็นสถานที่ตั้งของวัดมหาธาตุเทพจินดา บ้านเดียม ซึ่งมีพระธาตุศักดิ์สิทธิ์อายุกว่า 1,000 ปี ให้เราได้สักการะด้วยค่ะ เนื่องจากความเก่าแก่ เลยมีบางช่วงที่พระธาตุหักพังเสียหายจนต้องทำการบูรณะ แต่ทุกครั้งที่พระธาตุชำรุด ก็ไม่มีสักครั้งที่พระพุทธรูปภายในจะได้รับความเสียหาย
เล่าสืบต่อกันมาว่าช่วงวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ จะมีชาวบ้านเห็นวัตถุดวงกลมๆ เรืองแสง ลักษณะคล้ายดวงดาว ลอยจากองค์พระธาตุ แล้วหายไปในทะเลสาบหนองหาน พอรุ่งเช้า ผู้ที่ไปจุดธูปบูชาพระธาตุ ก็จะเห็นจอกแหนพาดบนบ่าพระพุทธรูป ชาวบ้านเลยเชื่อกันว่าพระพุทธรูปท่านเสด็จไปสรงน้ำค่ะ
ที่วัดจะมีป้ายบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับองค์พระธาตุเทพจินดาบ้านเดียม และตำนานหนองหาน กุมภวาปีด้วย ลองไปอ่านกันดูนะคะ
สำหรับสถานที่ตามตำนานพญานาคล่มเมืองหนองหาน กุมภวาปี จะมีทั้งหมด 12 สถานที่ ดังนี้ค่ะ
1) ดอนแม่หม้าย สถานที่ที่เหล่าแม่ม่ายซึ่งไม่ได้รับแจกจ่ายเนื้อกระรอกอาศัยอยู่ กลายมาเป็น บ้านดอนแก้ว
2) คุ้มหลวง ที่พักเจ้านายฝ่ายใน กลายมาเป็น ดอนหลวง เกาะกลางทะเลสาบหนองหานอุดร
3) สถานที่ที่นายพรานคอนธนู และขึ้นสายธนูเตรียมยิงกระรอกเผือก กลายมาเป็นบ้านคอนสาย กิ่ง อ.กู่แก้ว
4) สถานที่ที่ชาวบ้านกำก้อนดิน ก้อนหิน ขว้างปากระรอก กลายเป็นบ้านเมืองพรึก
5) สถานที่ที่กระรอกเดินผิดทาง กลายมาเป็นบ้านแชแล
6) แนวป่าที่พรานไล่ยิงกระรอกจนสิ้นใจ กลายเป็นบ้านพันดอน
7) จุดที่กลุ่มพรานหยุดพักงีบหลับหลังไล่ล่ากระรอก กลายเป็นบ้านเซียบ
8) สถานที่ชำแหละเนื้อกระรอก กลายเป็นบ้านเชียงแหว
9) สถานที่ที่นางไอ่โยนกลองทิ้ง กลายเป็นบ้านห้วยกองสี
10) สถานที่ที่นางไอ่ทิ้งฆ้อง กลายเป็นห้วยน้ำฆ้อง
11) สถานที่ที่ม้าบักสามของผาแดงล้มลง กลายเป็นบ้านห้วยสามพาด
12) สถานที่ที่ผาแดงถอดแหวนโยนทิ้งลงไป กลายเป็นหนองแหวน
โดยสถานที่ที่ยังหลงเหลือหลักฐานให้เราได้ไปตามรอยกัน นั่นก็คือ พระธาตุดอนแก้ว ซึ่งอยู่บริเวณดอนแม่หม้าย สถานที่ที่เหล่าแม่ม่ายที่ไม่ได้รับแจกจ่ายเนื้อกระรอกอาศัยอยู่ และกลายมาเป็น "บ้านดอนแก้ว" ในปัจจุบันค่ะ
การเดินทางไปยังพระธาตุดอนแก้ว สามารถใช้ GPS พาไปได้เลย ปักหมุดไว้ถูกต้องแน่นอน เพราะเราสองคนก็ใช้วิธีนี้ในการเดินทาง แต่ช่วงที่นิลไป ค่อนข้างจะลำบาก เพราะมีการทำถนน ตอนนี้น่าจะสะดวกขึ้นเยอะแล้วค่ะ ผ่านมาปีกว่าแล้ว
สำหรับพระธาตุดอนแก้ว หรือพระมหาธาตุเจดีย์ ตามประวัติที่มีการบันทึกลงบนแผ่นป้ายภายในวัด คาดว่าน่าจะสร้างขึ้นในยุคทวารวดีตอนปลายไปจนถึงลพบุรีตอนต้น ช่วง พ.ศ.1100 - 1300 โดยลักษณะของพระมหาธาตุจะคล้ายๆ กับพระธาตุพนม ที่ จ.นครพนม เลยค่ะ ส่วนสาเหตุในการสร้าง เล่ากันว่า 1 ในพระอรหันต์ที่เดินทางไปนมัสการพระธาตุพนมเกิดอาพาธ และดับขันธุ์ จึงมีการประชุมเพลิงและสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของท่าน ซึ่งก็คือพระมหาธาตุองค์นี้ค่ะ โดยที่ผ่านมาก็มีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด
แต่ที่น่าแปลกอย่างนึง ตามความเห็นของนักโบราณคดีก็คือ พระมหาธาตุสร้างขึ้นด้วยหินทราย แต่ภูมิประเทศของบ้านดอนแก้ว ไม่มีจุดไหนที่เป็นหินทรายเลย ปริศนาข้อนี้ยังคงมีความพยายามในการค้นหาคำตอบมาจนถึงทุกวันนี้ค่ะ ถ้าเพื่อนๆ คนไหนสนใจไปไขปริศนา หรือไปตามรอยพญานาคล่มเมืองที่อุดรธานี ก็สามารถเดินทางไปเที่ยวกันได้นะคะ แนะนำเป็นช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ดอกบัวกำลังบานสวยค่ะ แล้วพบกันใหม่กับรีวิวตามรอยตำนานบทหน้านะคะ
[CR] รีวิว ตามรอยตำนานพญานาคล่มเมือง @อุดรธานี เที่ยวไทยไปแพ็คคู่
1.ท่าเรือบ้านเดียม ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี
2.ท่าเรือเชียงแหว ต.เชียงแหว อ.กุมภวาปี
3.ท่าเรือโนนน้ำย้อย ต.แชแล อ.กุมภวาปี
4.ท่าเรือแชแล ต.แชแล อ.กุมภวาปี
5.ท่าเรือคอนสาย ต.คอนสาย อ.กู่แก้ว และ 6.ท่าเรือดอนคง ต.อุ่มจาน อ.ประจักษ์ศิลปาคม
แน่นอนว่ามีชูชีพสภาพใหม่เอี่ยมให้สวมเพื่อความปลอดภัยด้วย เรือที่นั่งก็ใหม่ ส่วนพี่คนขับเรือก็บริการดีมากๆ ถ่ายรูปให้ ขับเรือพาไปเทียบตามจุดที่ดอกบัวบานเยอะๆ นั่งรอเราเก็บภาพแบบใจเย็นมากๆ
ที่วัดจะมีป้ายบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับองค์พระธาตุเทพจินดาบ้านเดียม และตำนานหนองหาน กุมภวาปีด้วย ลองไปอ่านกันดูนะคะ
1) ดอนแม่หม้าย สถานที่ที่เหล่าแม่ม่ายซึ่งไม่ได้รับแจกจ่ายเนื้อกระรอกอาศัยอยู่ กลายมาเป็น บ้านดอนแก้ว
2) คุ้มหลวง ที่พักเจ้านายฝ่ายใน กลายมาเป็น ดอนหลวง เกาะกลางทะเลสาบหนองหานอุดร
3) สถานที่ที่นายพรานคอนธนู และขึ้นสายธนูเตรียมยิงกระรอกเผือก กลายมาเป็นบ้านคอนสาย กิ่ง อ.กู่แก้ว
4) สถานที่ที่ชาวบ้านกำก้อนดิน ก้อนหิน ขว้างปากระรอก กลายเป็นบ้านเมืองพรึก
5) สถานที่ที่กระรอกเดินผิดทาง กลายมาเป็นบ้านแชแล
6) แนวป่าที่พรานไล่ยิงกระรอกจนสิ้นใจ กลายเป็นบ้านพันดอน
7) จุดที่กลุ่มพรานหยุดพักงีบหลับหลังไล่ล่ากระรอก กลายเป็นบ้านเซียบ
8) สถานที่ชำแหละเนื้อกระรอก กลายเป็นบ้านเชียงแหว
9) สถานที่ที่นางไอ่โยนกลองทิ้ง กลายเป็นบ้านห้วยกองสี
10) สถานที่ที่นางไอ่ทิ้งฆ้อง กลายเป็นห้วยน้ำฆ้อง
11) สถานที่ที่ม้าบักสามของผาแดงล้มลง กลายเป็นบ้านห้วยสามพาด
12) สถานที่ที่ผาแดงถอดแหวนโยนทิ้งลงไป กลายเป็นหนองแหวน
CR - Consumer Review : กระทู้รีวิวนี้เป็นกระทู้ CR โดยที่เจ้าของกระทู้