ส่อง ‘ยอดค่าใช้จ่ายโฆษณา’ ตัวชี้วัดอุตสาหกรรมสื่อไทย ‘รุ่งหรือร่วง’ ????

ยอดค่าใช้จ่ายโฆษณา หรือการใช้เงินเพื่อซื้อโฆษณาบนสื่อ ถือเป็นตัวบ่งชี้กระแสในอุตสาหกรรมสื่อและการเติบโตของตลาดได้เป็นอย่างดี และนับตั้งแต่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด แนวโน้มการลงทุนในสื่อโฆษณาก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเห็นได้ชัดจากอัตราการเติบโตการลงทุนบนสื่อดิจิทัลที่ช้าลง สวนทางกับตัวเลขการลงทุนกับสื่อออนไลน์ที่พุ่งสูงขึ้น ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้สื่อออนไลน์ครองส่วนแบ่งมากกว่าครึ่งของการลงทุนสื่อโฆษณาทั้งหมด
.
.
.
.
โดยตัวเลขจากสมาคมโฆษณาดิจิทัลแห่งประเทศไทย หรือ DAAT พบว่า ใน ปี 2563 ยอดค่าใช้จ่ายซื้อโฆษณาดิจิทัล 53% หรือมากกว่าครึ่ง เป็นการใช้จ่ายบน Facebook และ YouTube ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 และรวมถึงช่องทาง social และ search ที่โตขึ้นถึง 28% และ 15% ตามลำดับ ยังไม่นับรวม e-Commerce และ Tiktok ซึ่งเป็นสองแพลตฟอร์มที่ถูกรวมเข้ามาใหม่ในการสำรวจ แสดงให้เห็นว่าปัจจุบันช่องทางออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญสำหรับทำการตลาด และเห็นได้ว่าช่องทางเหล่านี้เป็นช่องทางที่มีทางเลือกเป็นกิจการในประเทศค่อนข้างน้อย อีกทั้งยังมีสัดส่วนการจ่ายเงินใช้บริการผู้ให้บริการต่างประเทศมูลค่าสูงกว่าอย่างชัดเจน
.
.
.
.
ในขณะที่กิจการสื่อเจ้าใหญ่และเจ้าดั้งเดิมในไทย กลับไม่ได้รับประโยชน์จากการเข้ามาของรูปแบบธุรกิจใหม่มากนัก ยกตัวอย่าง บริษัท อสมท. จำกัด และบริษัท มติชน จํากัด ถึงแม้ทั้งสองบริษัทจะพยายามปรับตัวไปนำเสนอเนื้อหากับผู้ชมบนช่องทางออนไลน์ แต่ทว่าเม็ดเงินที่ไหลกลับเข้ามายังไม่มากนัก โดยรายงานผลประกอบการประจำปี 2563 ของอสมท. มีรายได้จากช่องทางดิจิทัลบน Facebook และ YouTube คิดเป็นเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด และบริษัท มติชน ที่แม้จะมียอดผู้เข้าชมสื่อบน Facebook สูงที่สุดในกลุ่มรายการเนื้อหาข่าว ด้วยจํานวนการรับชมรวม 4,200 ล้านครั้ง ในจำนวนคลิปเผยแพร่ประมาณ 5,800 คลิปวิดีโอ แต่รายได้หลักยังมาจากสื่อสิ่งพิมพ์และบริการด้านการพิมพ์ ซึ่งจากกรณีศึกษาของทั้งสองบริษัทจะเห็นได้ว่าสื่อเจ้าใหญ่ดั้งเดิม ยังไม่สามารถหารายได้จากการทำสื่อออนไลน์ได้มากจนคุ้มค่าดำเนินการในปัจจุบัน
.
.
.
.
ทั้งหมดนี้นับเป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่ผู้ประกอบการและผู้ที่ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรมสื่อจะต้องตระหนัก พร้อมกับศึกษาความเปลี่ยนแปลงเพื่อรับมือการพลิกโฉมอุตสาหกรรมที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 
.
.
 
ที่มา เพจ Techsauce
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่