*** สรุปการปฏิวัติวัฒนธรรมจีน 1.0 และ 2.0 แบบกระชับ ***

ช่วงเวลาไม่นานมานี้ จีนได้ดำเนินการจัดระเบียบหลายสิ่งหลายอย่างในประเทศ ออกข้อบังคับมากมายทั้งในระดับสังคม เช่น ห้ามธุรกิจผูกขาด, ห้ามสร้างโรงเรียนกวดวิชา ไปจนถึงระดับส่วนตัว เช่น ห้ามเด็กเล่นเกมเกิน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตรงจุดนี้เองทำให้มีผู้นำมาเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ “ปฏิวัติวัฒนธรรม” ของจีนในปี 1966 - 1976 ที่การแสดงออกต่างๆ เคยถูกรัฐควบคุมและคุกคามอย่างหนัก

เราจะมาย้อนดูไปด้วยกันตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่า ปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งแรกเกิดขึ้นได้อย่างไร, เหตุการณ์เลวร้ายแค่ไหน, ส่งผลอะไรบ้างมาถึงยุคปัจจุบัน ก่อนนำไปสู่เรื่องการปฏิวัติวัฒนธรรม 2.0 โดยสรุปว่าแนวทางของสีจิ้นผิงเป็นอย่างไรและ จีนน่าจะมุ่งไปทางไหน อนึ่งผมเคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ไปหลายบทความ แยกย่อยเป็นรายละเอียดเรื่องต่างๆ แต่รอบนี้จะเป็นสรุปแบบย่อกระชับครับ …


*** เหมาและพรรคคอมมิวนิสต์ ***

เหมาเจ๋อตงเป็นผู้นำที่มีชื่อเสียงจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนในรอบแรก เขาเกิดในปี 1893 ในครอบครัวชาวนาที่มีอันจะกิน เริ่มสนใจแนวคิดฝั่งซ้ายตั้งแต่สมัยเรียนและทำกิจกรรมเคลื่อนไหวหลายประการ กระทั่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์และโดดเด่นขึ้นตามลำดับ

เหมาประกอบวีรกรรมจากการเป็นผู้นำ “การเดินทัพทางไกล” (The Long March) ปี 1934 ซึ่งมีผลยิ่งต่อชัยชนะของพรรคในเวลาต่อมา


หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมาสามารถโค่นล้มรัฐบาลเก่า ประกาศสถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในปี 1949 นับแต่นั้นจีนแผ่นดินใหญ่ก็ถูกปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์

พรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาพยายามส่งเสริมความเท่าเทียมในทุกด้าน ภายใต้หลักการ “ประชาธิปไตยใหม่” (New Democracy) เช่น ปฏิรูปที่ดินโดยใช้กำลังยึดที่จากเจ้าของเดิมไปแจกให้ชาวนา รวมทั้งมีการปราบปรามพวกนายทุนอย่างหนัก


ต่อมาเหมาเริ่มนโยบาย “ก้าวกระโดดไปข้างหน้า” (Great Leap Forward) ซึ่งเร่งการเปลี่ยนแปลงประเทศจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมในปี 1958

แต่จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนอดอยากเสียชีวิตหลายสิบล้านคน


แม้จะสั่งหยุดนโยบายไปในปี 1962 แต่อำนาจเหมากลับไม่มั่นคงเหมือนเก่า เนื่องจากเสียความนับถือในหมู่ผู้นำพรรคและถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง

เหมาเลยแก้เกมโดยสนับสนุนให้กลุ่มเยาวชนที่ถูกล้างสมองให้รักตน ออกมาปราบศัตรูทางการเมืองภายใต้แคมเปญ "การปฏิวัติวัฒนธรรม" ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 1966 โดยอ้างว่าเป็นการจัดการศัตรูของชนชั้นกรรมาชีพ...


ภาพแนบ: การทำลายของเก่า

*** ปฏิวัติวัฒนธรรม 1.0 ***

ในการปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น อะไรที่เกี่ยวกับการปฏิวัติ มาจากชนชั้นกรรมาชีพก็ถือเป็นของดี อะไรที่เก่าแก่โบราณ มาจากชนชั้นนายทุนก็ถือเป็นของเลว


ภาพแนบ: คนโดนประจาน

หากคนยุคนั้นแสดงความนับถือสิ่งเก่าแม้เพียงเล็กน้อยจะโดนกลุ่มเยาวชนที่เรียกว่าพวก “เรดการ์ด” (Red Guard) กดขี่อย่างโหดร้าย ทั้งประณาม, เข่นฆ่า, คุมขัง และทรมาน

เหมาได้สั่งให้หน่วยงานรักษากฎหมายทั้งตำรวจทหารไม่ต้องไปยุ่งกับเรดการ์ด จึงไม่มีใครห้ามความบ้าคลั่งนี้


ภาพแนบ: เจียงชิงกับเหมา

...ในทางปฏิบัติไม่ว่าใครก็สามารถถูกกล่าวหาว่า “เป็นพวกล้าหลัง” ได้ แค่ใช้ของที่ดูฟุ่มเฟือย, อ่านหนังสือขงจื้อ, หรือไหว้เจ้าก็ถูกจับกระทืบได้หมด

ขณะเดียวกัน อำนาจรัฐตกอยู่ในมือของกลุ่มคนใกล้ชิดเหมาที่เรียกว่า “แก๊งสี่คน” (Gang of Four) หัวหน้าแก๊งมีนามว่า “เจียงชิง” เป็นภรรยาเหมา


ภาพแนบ: เหมากับเจียงชิงตอนยังเป็นหนุ่มสาว

เจียงชิงเคยเป็นดาราหนังที่แย่งเหมามาจากภรรยาเก่า ตอนแรกพวกผู้บริหารพรรคคอมมิวนิสต์จึงไม่ชอบเธอนัก และบังคับให้เจียงชิงต้องทำตัวโลว์โปรไฟล์อยู่หลายปี สร้างความเจ็บแค้นแก่เธอยิ่ง

พอเหมาให้อำนาจเจียงชิงในการจัดการศัตรูทางการเมืองของเขา เธอก็นำกลุ่มเรดการ์ดจัดการเหล่าผู้บริหารเหล่านั้นอย่างเฉียบขาดเพื่อชำระแค้น


ภาพแนบ: เหมากับเติ้ง

พวกระดับสูงพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีเกณฑ์จะมาแย่งอำนาจกับเหมาได้มักถูกกวาดล้าง มีการข่มเหงแม้กระทั่งมิตรสหายที่เคยร่วมลำบากเดินทัพทางไกลมาด้วยกัน

หนึ่งในนั้นคือ "เติ้งเสี่ยวผิง" ซึ่งถูดถอดยศไปทำงานระดับล่าง และลูกชายถูกทำร้ายจนพิการ


เจียงชิงยังเข้ามามีบทบาทเป็นคนเซนเซอร์งานศิลปะทั้งหมด และเธอก็ทำไปแบบสุดโต่ง ทำให้เกิดศิลปะแนวใหม่ที่มองโลกเป็นขาว/ดำ คือชาวนาและชนชั้นแรงงานทั้งหมดเป็นคนดี ส่วนชนชั้นนายทุนทั้งหมดเป็นคนเลว

...ซึ่งเอาจริงก็เป็นเรื่องย้อนแย้ง เพราะเจียงชิงเคยเป็นดาราหนัง ใช้ชีวิตอย่างหรูหรามาก่อน...


การปฏิวัติวัฒนธรรมนอกจากทำให้จีนสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมไปมาก ยังทำให้เศรษฐกิจจีนตกต่ำ เพราะขาดบุคลากรที่จะมาสร้างสังคม

ครั้นต่อมาเหมาแก่ตัวลงมาก เริ่มคุมความรุนแรงเรดการ์ดไม่อยู่จนเกรงว่าจะย้อนมาทำร้ายตนเอง จึงส่งพวกนักศึกษาเหล่านี้ไปใช้แรงงานในต่างจังหวัดร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพ แล้วสั่งให้กองทัพปลดปล่อยประชาชนเข้ามามีบทบาทแทน ทำให้จีนอยู่ภายในอิทธิพลทางการทหารอยู่พักใหญ่


ภาพแนบ: เจียงชิงขึ้นศาล

ในที่สุดเมื่อเหมาเสียชีวิตในปี 1976 พวกสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ที่อดทนมานานก็ร่วมกันปฏิวัติจับแก๊ง 4 คนและผู้เกี่ยวข้องมาขึ้นศาล แล้วยก เติ้งเสี่ยวผิง สมาชิกพรรคสายปฏิรูป ขึ้นเป็นผู้นำแทน

คาดว่ามีผู้เสียชีวิต 500,000 - 2,000,000 คนจากการปฏิวัติวัฒนธรรม (ตัวเลขผู้เสียชีวิตตอนญี่ปุ่นบุกนานกิงคือราว 300,000 คน) อีกทั้งยังมีผู้ถูกจองจำหรือส่งไปใช้แรงงานอีกนับล้าน

*** ประเทศจีนหลังปฏิวัติ ***

เติ้งดำเนินการปฏิรูปประเทศจีนให้เป็นทุนนิยม ตามคำกล่าวอันโด่งดังว่า “แมวขาวหรือดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็เป็นแมวที่ดี”

รายละเอียดของการปฏิรูปเศรษฐกิจประกอบด้วย:

1) การยกเลิกระบบนารวม
2) การเปิดรับการลงทุนต่างประเทศ (รวมทั้งการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ)
3) การอนุญาตให้ผู้ประกอบการตั้งธุรกิจเองได้
4) การโอนกิจการของรัฐและมอบสัมปทานให้แก่เอกชนบางส่วน
5) การยกเลิกการควบคุมราคา
6) การยกเลิกนโยบายและกฎระเบียบที่กีดกันการค้า (ยกเว้นภาคธนาคารและปิโตรเลียมที่รัฐจีนยังผูกขาด)


ภาพแนบ: จีนเซ็นสัญญา WTO 

ผลของการปฏิรูปทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องเป็นเวลา 20 ปี และต่อมาช่วงทศวรรษ 1990s จีนยังมีการโละพนักงานรัฐวิสาหกิจถึง 40 ล้านคนและมีการโอนทรัพย์สินจากของรัฐให้แก่เอกชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

ในปี 2001 จีนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) เป็นการเปิดช่องทางการค้ากับต่างชาติมากขึ้นอีก และในปี 2003 จีนได้ประกาศหลักการ “สามตัวแทน” (Three Represents) ซึ่งมีการยอมรับนายทุนเข้าสู่พรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเป็นทางการ


...การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสามารถอยู่รอดมาจนยิ่งใหญ่ได้เพราะนายทุนและระบบทุนนิยมนั้น นับเป็นเรื่องที่ทั้งย้อนแย้ง ทั้งแสดงให้เห็นความสามารถในการปรับตัวของพวกเขา...

 *** ผลกระทบทางวัฒนธรรม ***

แม้ประเทศจีนจะฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ แต่การทำลายล้างทางวัฒนธรรมนั้นส่งผลอย่างหนักมาจนปัจจุบัน

กล่าวคือ จริงๆ ชาวจีนเป็นชนชาติที่มีมารยาทมาก จะทำอะไรก็มีพิธีรีตอง ทุกคำพูดถ่อมตนยิ่ง ให้เกียรติคนอื่นยิ่ง (เช่นที่มักเห็นในหนังจีน) 

แต่ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรม มารยาทเหล่านั้นถูกมองเป็นความ “กระแดะ” ของพวกทุนนิยมศักดินา ที่ประดิษฐ์ขึ้นมาทำให้ผู้คนไม่เท่าเทียมกัน มีการจับพวกที่เชื่อในระเบียบเก่าๆ จำนวนมากมากระทืบประจาน ทำให้คนไม่กล้าทำตัวแบบเดิมอีก
 

ตอนนั้นถึงกับเชื่อว่าพฤติกรรมที่ดีคือพฤติกรรมแบบชนชั้นกรรมาชีพที่พูดเสียงดังโผงผาง ขากยิ้มน้ำลายแบบแมนๆ ไม่กระแดะเหมือนพวกคนรวย

ปัจจุบันคนจีนหลายคนยังทำอะไรมหัศจรรย์หลายอย่างเช่นอึบนรถไฟฟ้า หรือปีนไปถ่ายรูปบนต้นซากุระ

...มีคนบอกว่าถ้าอยากดูว่าคนจีนมีมารยาทเป็นอย่างไรนั้นให้ไปดูที่ไต้หวัน สำหรับจีนแผ่นดินใหญ่นั้นต้องใช้เวลาฟื้นฟู หลังเกิดการทำลายรากเหง้าครั้งใหญ่ 


ภาพแนบ: สีจิ้นผิงในวัยเด็กกับพ่อ

*** สีจิ้นผิงเรืองอำนาจ ***

คนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปฏิวัติวัฒนธรรมคือ “สีจิ้นผิง”

สีจิ้นผิงเป็นลูกของสีจงซวินซึ่งเคยเป็นดาวเด่นของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ตอนสีจิ้นผิงอายุเพียง 10 ขวบเศษนั้น พ่อของเขาได้กลายเป็นผู้หนึ่งที่ถูกโค่นอำนาจในเหตุการณ์ปฏิวัติวัฒนธรรม


ภาพแนบ: สีช่วงวัยรุ่น

ตอนนั้นมีกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงมาบุกบ้านเขา ตำหนิว่าพ่อของเขาซึ่งเคยมีตำแหน่งในพรรคคอมมิวนิสต์นั้นไม่จงรักภักดีพอ แม่เขาถูกบังคับให้ต่อว่าพ่อต่อหน้าสาธารณะชน

หลังพ่อถูกจับไปใช้แรงงานและต่อมาถูกขังคุก พี่สาวของสีเครียดจนฆ่าตัวตาย ส่วนตัวสีจิ้นผิงเองนั้นก็ถูกส่งไปใช้แรงงานในมณฑลที่ห่างไกล


ชีวิตลำบากได้หล่อหลอมให้สีมีความแข็งแกร่ง เขาใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือหาความรู้ด้วยตนเอง และช่วยพวกเกษตรกรทำการสร้างเขื่อน, เพาะปลูก, ดูแลปศุสัตว์ ฯลฯ จนสามารถซื้อใจเหล่าชาวบ้าน รวมถึงตัวแทนท้องถิ่นของพรรค

สีฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มากมายกระทั่งในปี 1997 เขาก็ได้กลายเป็นกรรมการสำรองของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 15 เมื่อวัย 44 ปี 


ภาพแนบ: หูจิ่นเทากับสีจิ้นผิง

ปี 2012 สีจิ้นผิงถูกเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็น “เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน” จากทั้งกลุ่มอำนาจของอดีตประธานาธิบดี “หูจิ่นเทา” และกลุ่มอำนาจของอดีตประธานาธิบดี “เจียงเจ๋อหมิน” เนื่องจากกลุ่มอำนาจทั้งสองมองว่าเขาเป็นสมาชิกที่ไร้พิษสง และไม่มีขั้วอำนาจสนับสนุน จึงน่าจะเป็นตัวประสานผลประโยชน์ได้


แน่นอนว่าการตัดสินใจดังกล่าวถือเป็นความผิดครั้งใหญ่ที่จะนำความพินาศมาสู่กลุ่มอำนาจทั้งสอง

หลังจากสีจิ้นผิงรับตำแหน่งไม่นาน เขาก็ดำเนินนโยบายปฏิรูปประเทศตามแนวทางที่ตนเองวางไว้ เริ่มจากการ “กวาดล้างคอร์รัปชัน” โดยประกาศล้างบางนักการเมืองทุจริตแบบเด็ดขาดด้วยการใช้กฎต่อต้านการโกงของพรรค แบบไม่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายปกติ

** อ่านต่อใน comment นะครับ **
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่