น้ำลดตอผุดในวงการสงฆ์

รายงานข่าวจากสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า นายเพชรวรรต  วัฒนพงศศิริกุล ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อชาติได้ยื่นกระทู้ถามพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีถึงเรื่องนโยบายการให้เงินอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ทำให้เกิดข้อกังขาจากมติมหาเถรสมาคมครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ มติที่ ๓๑๙/๒๕๖๔ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เข้าใจไปได้ว่า ภิกขุภาวะความเป็นภิกษุย่อมสิ้นสุดลงในขณะที่เซ็น จ่าย ย้าย โอน ทรัพย์ เพราะมีไถยจิตคิดยักยอก หรือที่ฝ่ายบ้านเมืองเรียกว่า ฟอกเงินเสร็จสมบูรณ์แล้วจึงเป็นปัญหาในทางปฏิบัติกับทุกวัดที่ได้รับเงินอุดหนุน  
            รายละเอียดของกระทู้ถามดังกล่าวระบุว่า ตามที่มหาเถรสมาคมได้มีมติครั้งที่   ๑๒/๒๕๖๔ มติที่ ๓๑๙/๒๕๖๔ เมื่อคราวประชุมวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ได้ปรากฏถ้อยคำตามมติดังกล่าวนี้ ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง และยังมีลักษณะใส่ความกล่าวหา ปรากฏในหน้าที่ ๔ ย่อหน้าที่ ๒ ความว่า “...โดยที่พระภิกษุเหล่านี้ ได้ร่วมกันฟอกเงินยักยอกทรัพย์ที่ผู้อื่นให้มาดำเนินงานตามโครงการฯ ซึ่งถือว่า  เป็นเงินของสงฆ์ไม่ใช่ของบุคคล เอาไปใช้ในกิจการอื่น โดยสร้างหลักฐานเท็จ...” ซึ่งข้อเท็จจริงจากทางนำสืบพยานและคำพิพากษาของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ก็ไม่ปรากฏว่า พระเถระวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ทั้ง ๕ รูป ได้นำหลักฐานเท็จ  เข้าสู่สำนวนการต่อสู้คดีในศาลแต่อย่างใด อีกทั้ง ยังปรากฏถ้อยคำที่มีลักษณะกล่าวหาอันเป็นเท็จในหลายส่วน กล่าวคือ พระเถระทั้ง ๕ รูป มิได้กระทำการทุจริตใด ๆ จากเงินอุดหนุนของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แม้กระทั่งคดี อท.๒๐๕/๒๕๖๑ คดีหมายเลขดำที่  อท.๕๒๐/๒๕๖๓ คดีหมายเลขแดงที่ ๖๙๕๖/๒๕๖๔ ศาลอุทธรณ์ ก็มีคำพิพากษายกฟ้อง  ดังนั้น มติมหาเถรสมาคมที่เกี่ยวข้องกับพระเถระทั้ง ๕ รูป จึงเป็นมติที่อาจเข้าองค์ประกอบว่า มีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ ที่ได้บัญญัติว่า “ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นหรือประชาชนเสียหาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งในที่นี้กรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์  พ.ศ.๒๕๐๕ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๔๕      ที่บัญญัติว่า “ให้ถือว่า พระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ และไวยาวัจกร เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญา” และเรื่องนี้  เลขาธิการมหาเถรสมาคม (ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ) เป็นผู้นำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ซึ่งครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นการส่อเจตนาที่ไม่ชอบและเป็นการหมิ่นประมาทพระเถระทั้ง ๕ รูป อีกด้วย  
                 มติมหาเถรสมาคมดังกล่าวนี้ ได้ปรากฏความในตอนท้ายของมติว่า “สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณาว่า พระภิกษุทั้ง ๕ รูป เข้าข่ายอาบัติปาราชิก ข้อที่ ๒ ถือเอาทรัพย์ที่เจ้าของไม่ได้ให้มาเป็นของตน (ลักทรัพย์)  หรือไม่” ข้อความในส่วนนี้ เป็นการใส่ความให้ได้รับความเสียหาย ทั้ง ๆ ที่ ความในก่อนหน้านี้  เป็นการใส่ความที่ค่อนข้างชัดเจน จึงอาจแปลความได้ว่า เป็นการส่อเจตนาพิเศษที่มุ่งร้าย ให้เกิดความผิดต่อพระเถระทั้ง ๕ รูป บนพื้นฐานแห่งความมีอคติ 
                 มติมหาเถรสมาคมดังกล่าวนี้ ได้ปรากฏความในตอนท้ายสุดของมตินี้ว่า  “ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติมอบให้เจ้าคณะผู้ปกครองที่เกี่ยวข้องดำเนินการวินิจฉัยอธิกรณ์ ตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม และให้ดำเนินการ ได้ทันที โดยไม่ต้องรอรับรองรายงานการประชุม” ถือว่า เป็นการออกมติที่มิได้คำนึงถึงบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ได้บัญญัติไว้ อย่างชัดเจนในมาตรา ๒๙ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหา หรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิดจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้” มติมหาเถรสมาคมที่กล่าวถึงนี้ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ และจะไม่มีสภาพบังคับ ตามบทบัญญัติ ในมาตรา ๕ วรรคแรก ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น เป็นอันใช้บังคับมิได้” ดังนั้นมติมหาเถรสมาคมในส่วนที่กล่าวถึงนี้ จึงเป็นมติที่ไม่สามารถจะดำเนินการใด ๆ อีกต่อไปได้  ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา ๕ อีกทั้ง กรรมการมหาเถรสมาคมและเลขาธิการมหาเถรสมาคมรวมทั้งเจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ในระดับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ล้วนมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายและเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่สามารถจะกระทำการใด ๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เพราะหากจะกระทำเช่นนั้น ก็จะเป็นการกระทำที่เข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหลายบท หากผู้ที่ได้รับผลกระทบประสงค์ที่จะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ 
                 จากการที่มติมหาเถรสมาคมที่กล่าวถึงนี้ และเสนอโดยเลขาธิการมหาเถรสมาคม ระบุไว้ในความตอนหนึ่งว่า “...ภิกขุภาวะความเป็นภิกษุย่อมสิ้นสุดลง ในขณะที่เซ็น จ่าย ย้าย โอน ทรัพย์ เพราะมีไถยจิตคิดยักยอก หรือที่ฝ่ายบ้านเมืองเรียกว่า ฟอกเงินเสร็จสมบูรณ์แล้ว...และว่า...กล่าวโดยสรุป บุคคลเหล่านี้ขาดจากความเป็นภิกษุก่อนที่ทางฝ่ายบ้านเมืองจะดำเนินการฟ้องและออกหมายจับดำเนินคดี” การเขียนมติมหาเถรสมาคมดังกล่าวข้างต้นนี้ มีลักษณะเป็นการกล่าวหาพระเถระทั้ง ๕ รูป ว่า  เป็นผู้กระทำความผิด มีจิตใจคิดโกงทรัพย์สินมาเป็นของตน ทั้ง ๆ ที่ศาลอุทธรณ์ก็มีคำพิพากษา แล้วว่า มิได้มีการกระทำทุจริตแต่อย่างใด อีกทั้ง ข้อเท็จจริงยังปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจน  ในเอกสารบันทึกการอนุมัติงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติว่า ได้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตามโครงการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นเอกสารยืนยันข้อเท็จจริงจากคำให้การของนายณรงค์ ทรงอารมณ์ ที่ให้การต่อพนักงานสอบสวน บก.ปปป. เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๑ และต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๑ นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ก็ได้ไปให้การต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ตามบันทึกคำให้การของ บก.ป.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า มีวัดต่าง ๆ อีกจำนวนหลายวัดที่มีการจัดสรรงบประมาณเช่นเดียวกันกับวัดสามพระยา วรวิหาร, วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร และวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ปรากฏเป็นเอกสารหลักฐานแนบอยู่ในสำนวนของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ตามหมาย จ.๖ ในคดีหมายเลขดำที่ อท.๒๐๕/๒๕๖๑ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๑ แต่จนถึงปัจจุบัน ก็มิได้มีการดำเนินคดีกับวัดต่าง ๆ เหล่านั้นแต่อย่างใด ซึ่งได้ปรากฏตามบันทึกคำให้การของนายณรงค์ ทรงอารมณ์ อยู่ในสำนวนของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กล่าวหาวัดต่าง ๆ ว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยระเบียบและกฎหมาย โดยอธิบายความว่า “ข้าพเจ้าได้ตรวจสอบจากทะเบียนรายชื่อโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แล้วพบว่า  วัดสามพระยา, วัดสัมพันธวงศาราม และวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร รวมทั้งวัดอื่นตามเอกสารผนวก ๑-๔ ที่กล่าวถึงข้างต้น (ยกเว้นวัดตากฟ้าพระอารามหลวง) เป็นวัดที่ไม่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สังกัดอยู่ การที่มีการเบิกจ่ายงบเงินอุดหนุนการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้แก่วัดที่กล่าวข้างต้น จึงเป็นการเบิกจ่ายเงินงบประมาณไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ไม่ชอบด้วยวิธีการงบประมาณ ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณฯ”  
                 หากจะถือตามมติมหาเถรสมาคมที่ปรากฏความตามมติที่อ้างถึงนี้ว่า “ภิกขุภาวะ ความเป็นภิกษุย่อมสิ้นสุดลงในขณะทีเซ็น จ่าย ย้าย โอน ทรัพย์ เพราะมีไถยจิตคิดยักยอก หรือที่ฝ่ายบ้านเมืองเรียกว่า ฟอกเงินเสร็จสมบูรณ์แล้ว...และว่า...กล่าวโดยสรุป บุคคลเหล่านี้ขาดจากความเป็นภิกษุก่อนที่ทางฝ่ายบ้านเมืองจะดำเนินการฟ้องและออกหมายจับดำเนินคดี” พระภิกษุในวัดต่าง ๆ ที่รับเงินอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเหล่านั้น ก็ต้องขาดจากความเป็นพระภิกษุหมดทั้งสิ้นโดยไม่มีข้อยกเว้นใด ๆ และกรรมการมหาเถรสมาคมหลายรูป ก็เข้าข่ายตามมตินี้ด้วย หากเป็นดังนี้จริง ๆ แล้วเหตุไฉนจึงมิได้มีการดำเนินการเอาผิดกับพระภิกษุในวัดเหล่านั้นทั้งหมดรวมทั้งกรรมการมหาเถรสมาคมบางรูป ดังนั้น จึงอาจเป็นไปได้ว่า มีการเลือกปฏิบัติเอากับพระภิกษุบางวัดเท่านั้นที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏเป็นอย่างนี้ เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่เกี่ยวข้องก็อาจจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย 
                 เมื่อได้พิจารณาประเด็นข้อเท็จจริงโดยนำประเด็นข้อกฎหมายมาพิจารณาประกอบพร้อมกัน จะพบความผิดปกติแฝงเร้นอยู่ในมติมหาเถรสมาคมอย่างเห็นได้ชัด   
                 ในตอนท้ายของกระทู้ถามนายเพชรวรรตระบุว่า จึงขอเรียนถามนายกรัฐมนตรีว่า 
                 ๑) การที่วัดต่าง ๆ ทั่วประเทศได้รับเงินอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ติดต่อกันมากว่า ๒๐ ปี เหตุใด จึงได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษกับพระเถระในพระอารามหลวงเพียง ๓ วัดนี้เท่านั้น คือ วัดสามพระยา วรวิหาร,วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร และวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ขอทราบเหตุผล และคำชี้แจงโดยละเอียด 
                 ๒) เงินอุดหนุนวัดทั่วประเทศตามคำถามข้อที่ ๑) ได้มีการดำเนินการติดต่อกันเรื่อยมา และเป็นงบอุดหนุนลักษณะเดียวกันในแต่ละปี เหตุใด จึงพึ่งจะมีการร้องทุกข์กล่าวโทษกัน ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ เพราะหากจะร้องทุกข์กล่าวโทษการรับเงินอุดหนุนในลักษณะเดียวกันนี้ ก็สมควรจะดำเนินการในทุกปีงบประมาณได้อยู่แล้ว ขอทราบเหตุผลและขอทราบว่า  มีเบื้องหน้าเบื้องหลังแอบแฝงในการร้องทุกข์กล่าวโทษตามคำถามข้อที่ ๑) อย่างไรหรือไม่  ขอคำอธิบายโดยละเอียด 
                 ๓) การร้องทุกข์กล่าวโทษของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติตามคำถาม   ข้อที่ ๑) มีลักษณะการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าองค์ประกอบความผิดในการเลือกปฏิบัติอย่างแจ้งชัด นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ หากไม่ทราบ เพราะเหตุใดจึงไม่ทราบ หากทราบแล้ว เหตุใด จึงมิได้ดำเนินการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ขอทราบเหตุผลและคำอธิบายโดยละเอียด 
                 ๔) การกล่าวหาพระเถระทั้ง ๓ วัดตามคำถามข้อที่ ๑) นายกรัฐมนตรีทราบ   หรือไม่ว่า จากข้อมูลในสำนวนการดำเนินคดีที่ปรากฏในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยังปรากฏรายชื่อวัดต่าง ๆ ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติแจ้งเอาไว้  กับกองบังคับการปราบปราม ถึง ๓๓ วัด และปรากฏว่า มีพระเถระในวัดต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคมอยู่ในเวลานี้อีกด้วย ขอทราบว่า เพราะเหตุใด จึงมิได้ดำเนินการเอาผิดกับพระเถระในวัดต่าง ๆ รวม ๓๓ วัด ไปพร้อมกันกับอีก ๓ วัดที่ได้กล่าวหา ดำเนินคดีไปแล้วตามคำถามข้อที่ ๑) 
                 ๕) นายกรัฐมนตรีทราบหรือไม่ว่า หากมติมหาเถรสมาคมในคราวประชุม  ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๔ ที่กล่าวถึงนี้ ประสงค์จะปรับอธิกรณ์ด้วยอาบัติปาราชิกกับพระเถระทั้ง ๓ วัดที่กล่าวมาแล้ว เหตุใด จึงไม่ปรับอธิกรณ์ด้วยอาบัติปาราชิกกับพระเถระอีก ๓๓ วัดที่เหลือ  เพราะมีการกระทำแบบเดียวกันในการรับเงินอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ   ขอทราบเหตุผลและคำชี้แจงรายละเอียด 
                 ขอให้ตอบในราชกิจจานุเบกษาตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  พ.ศ.๒๕๖๒ ข้อ ๑๖๒ ข้อ ๑๖๓ วรรคสอง และ ข้อ ๑๖๕ 
         เรื่องนี้เหมือนภาษิตโบราณที่ว่า เมื่อน้ำเริ่มลด เราก็เลยได้เห็นตอก็ผุดขึ้นมา....
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่