กินยาคุมตอนท้อง จะอันตรายต่อลูกในท้องไหม

กินยาคุมตอนท้อง ท้องแล้วกินยาคุม จะอันตรายต่อลูกในท้องหรือไม่ เพิ่งรู้ว่าท้อง แต่ก่อนหน้านั้นกินยาคุมไปซักระยะหนึ่งแล้ว ลูกในท้องจะเป็นอันตรายหรือไม่ แล้วการ กินยาคุมตอนท้อง จะมีผลกระทบอย่างไรได้บ้าง?

การกินยาคุมช่วงตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่?
ยาเม็ดคุมกำเนิด เป็นยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งจะมีผลป้องกันการตั้งครรภ์ โดยยับยั้งการตกไข่ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูก (เยื่อบุมดลูก) บางตัวมีสภาพไม่พร้อมต่อการฝังตัวของตัวอ่อน และทำให้มูกที่ปากมดลูกเหนียวข้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ในท่อนำไข่ได้


ยาเม็ดคุมกำเนิด แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่
 - ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined pill) ประกอบด้วยตัวยาทั้งฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสติน
 - ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดที่มีโปรเจสตินอย่างเดียว (Minipill)
 - ยาเม็ดคุมกำเนิดฉุกเฉิน (Postcoital pill)
ยาเม็ดคุมกำเนิดนั้น เหมาะในผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดชั่วคราว ระยะเวลาไม่กี่ปี (น้อยกว่า 5 ปี) มีการวางแผนต้องการบุตรเพิ่มอีกในอนาคต และในปัจจุบันยาเม็ดคุมกำเนิดมีหลายชนิด ชนิดที่ได้รับความนิยม และมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดได้ดีคือ ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินอย่างเดียว ควรใช้ในสตรีที่ให้นมบุตร และสตรีที่มีข้อห้ามในการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
 
กินยาคุมตอนท้อง ลูกจะพิการหรือไม่?
การกินยาคุมในช่วงท้องนั้น ยังไม่มีผลวิจัยว่าจะทำให้ลูกพิการ เพราะฉะนั้นแม่ท้องหมดกังวลไปได้เลยค่ะ แต่หากรู้ตัวว่าตัวเองตั้งครรภ์ควรหยุดกินยาคุมทันทีค่ะ
 
กินยาคุมตอนท้องทำให้แท้งลูกจริงหรือไม่?
เมื่อเรากินยาคุม ยาคุมจะไปผลต่อร่างกาย คือมดลูกจะมีเมือกมากขึ้น และผนังมดลูกจะมีความบาง ซึ่งจะขัดขวางการเคลื่อนที่ของอสุจิ ไม่ให้สามารถไปวางไข่ได้ เพราะมดลูกมีพนังจะบาง ดังนั้นเมื่อแม่ท้องกินยาคุมตอนท้องก็จะไม่มีผลกระทบ แต่ควรหยุดกินยาคุมในช่วงท้องจะปลอดภัยที่สุด
 
กินยาคุมทำให้คลอดลูกก่อนกำหนดจริงหรือไม่?
บางงานวิจัยเผยว่า การกินยาคุมตอนท้อง อาจจะเสี่ยงต่อสภาวะคลอดก่อนกำหนด และส่งผลให้น้ำหนักลูกน้อยต่ำกว่าเกณฑ์ได้ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการกินยาคุมเป็นสาเหตุหลัก

กินยาคุมตอนท้องเสี่ยงท้องนอกมดลูกจริงหรือไม่?
การกินยาคุมตอนท้องมีความเสี่ยงที่จะทำให้ท้องนอกมดลูกได้ เพราะเคยมีรายงานว่า การกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว และอายุคุมฉุกเฉินตอนท้อง จะทำให้เพิ่มโอกาสในการท้องนอกมดลูกได้
 
กินยาคุมตอนท้อง
การใช้ยาคุมกำเนิดระหว่างการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกนั้น ไม่มีความเสี่ยงต่อการผิดปกติของทารกในครรภ์ค่ะ
ในขณะที่มีงานวิจัยบางชิ้น พบว่าการใช้ยาคุมกำเนิดนั้น ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่ทารกในครรภ์มีน้ำหนักน้อย คลอดก่อนกำหนด หรือส่งผลให้เด็กทารกมีความผิดปกติทางเดินปัสสาวะตั้งแต่กำเนิด แต่ความเป็นจริงแล้วยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ค่ะ
โดยรวมแล้วการกินยาคุมกำเนิดในการตั้งครรภ์ช่วงแรกนั้นมีความเสี่ยงต่ำ ที่ไข่จะปฏิสนธินอกมดลูก หรือท้องนอกมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นช่วงที่ไข่มีการเดินทางจากรังไข่ไปยังโพรงมดลูก
 
ยาคุมแบบไหนเสี่ยงสุด
หากคุณแม่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestin-only contraception) อาจจะมีความเสี่ยงท้องนอกมดลูกได้มากกว่า เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน หากคุณแม่สงสัยว่าตัวเองตั้งครรภ์ ให้รีบหยุดการกินยาคุมกำเนิด แล้วไปตรวจครรภ์ที่โรงพยาบาล หรือซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์มาตรวจเบื้องต้นก่อนก็ได้ค่ะ

 
อย่างไรก็ตามเว็บไซต์ Drugs.com ระบุว่ามีคุณแม่ตั้งครรภ์ที่กินยาคุมยี่ห้อ yasmin ในช่วงไตรมาสแรก 1 ใน 14 คน ตั้งครรภ์ และเมื่อคลอดออกมาเด็ก ๆ มีความผิดปกติด้านหลอดอาหาร แต่ก็ไม่ใช่งานวิจัยที่จะสามารถบ่งบอกได้แน่นอนว่า คุณแม่ที่กินยาคุมยี่ห้อนี้ จะมีความเสี่ยงอย่างมีนัยยะสำคัญค่ะดังนั้นหากยังกังวลอยู่ว่าจะเกิดผลกระทบอะไร ควรปรึกษากับคุณหมอ และนำยาคุมที่กินไปให้คุณหมอดูด้วยนะคะ


นอกเหนือไปจากป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการแล้ว ยาเม็ดคุมกำเนิดยังมีผลข้างเคียงมากมาย หากใช้ยาในเวลานาน
 
 - ยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้เลือดข้น และจับตัวเป็นก้อนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดอุดตันในปอด เส้นโลหิตอุดตันและโรคหัวใจ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปี และสูบบุหรี่เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

 - ผลข้างเคียงอีกอันหนึ่งของยาเม็ดคุมกำเนิดคือ น้ำหนักขึ้น จากการที่ฮอร์โมนปรวนแปร ยาเม็ดคุมกำเนิดสามารถทำให้ร่างกายของคุณกักเก็บน้ำไว้หรือเพิ่มไขมันในเนื้อเยื่อของคุณ

 - ฝ้า คือสิ่งธรรมดาสำหรับผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ผิวของคุณจะคล้ำลง โดยเฉพาะบริเวณเหนือริมฝีปากบน

 - ผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด อาจมีประสบการณ์ของความรู้สึกทางเพศต่ำ จากการศึกษาที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยอินเดียน่า แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นประจำยากที่จะกลับมามีอารมณ์ทางเพศตามปกติ ยาเม็ดคุมกำเนิดประกอบไปด้วยฮอร์โมนแอสโตรเจน ซึ่งนำไปสู่ความบกพร่องของฮอร์โมนเทสโตโรน ซึ่งจะมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการกระตุ้นเร้าทางเพศนั่นเอง

 - หัวข้อของมะเร็ง และยาเม็ดคุมกำเนิดยังอยู่ภายใต้การโต้แย้ง  การศึกษาเกี่ยวกับยาเม็ดคุมกำเนิดบางหัวข้ออ้างว่า ยาเม็ดคุมกำเนิดจะช่วยลดการเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งของรังไข่ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อเชื่อมโยงระหว่างยาเม็ดคุมกำเนิด เต้านม และมะเร็งปากมดลูกด้วยเช่นกัน ผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV (หูด) คือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ในการที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ในช่วงขณะที่ยังใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด

 - ยาเม็ดคุมกำเนิดมีผลกระทบในอนาคต เมื่อต้องการตั้งครรภ์ นี่คือเรื่องจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดมาเป็นเวลานาน จากการศึกษาพบว่า การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้สูญเสียเยื่อบุโพรงมดลูกอย่างถาวร มีผู้หญิงมากมายที่หยุดใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด รายงานว่ามีความผิดปกติของรอบเดือน หรือรอบเดือนขาดหายไป นี่คือสิ่งปกติที่เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากภาวะที่รังไข่ไม่ปล่อยไข่สุกในแต่ละเดือน ซึ่งเป็นหนึ่งในผลข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิด

การศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาเม็ดคุมกำเนิดยังคงดำเนินต่อไป แต่ถ้าคุณวางแผนที่จะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดต่อไป ขอให้คุณแน่ใจว่า ได้พิจารณาถึงผลข้างเคียงที่เป็นไปได้ของยาเม็ดคุมกำเนิดกับแพทย์ของคุณแล้ว


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่