JJNY : ทำไม'ซิโนแวค'ต้องรอถึงมิ.ย.│“หมอศิริราช”เจอเช็กปล่อยข่าวปลอม│“เช่าซื้อ”ตั้งรับลูกหนี้“คืนรถ”│ศิริกัญญาโชว์จุดยืน

ทำไม วัคซีน'ซิโนแวค' ต้องรอถึง มิ.ย.ถึงจะได้รับอนุมัติจาก WHO
https://www.isranews.org/article/isranews-scoop/98984-Sinovactrr.html

 
"...ขณะนี้  WHO กำลังมีการเรียกร้องขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech Ltd) เกี่ยวกับวัคซีนโคโรน่าแวค (ชื่อวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการซึ่งผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค) เพื่อที่จะชั่งน้ำหนักว่าจะอนุมัติวัคซีนจากประเทศจีนชนิดที่ 2 ดังกล่าวนี้หรือไม่ อย่างไร  ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติว่าจะต้องมีการแจกจ่ายวัคซีนมากขึ้นไปยังประเทศยากจนหลายประเทศ  ที่ผ่านมา  WHO ได้มีการเรียกร้องขอรายละเอียดเกี่ยวกับความปลอดภัย รวมไปถึงข้อมูลกระบวนการผลิตวัคซีนของบริษัทซิโนแวคมาโดยตลอด เพื่อจะนำเอาข้อมูลมาประเมินว่ากระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO หรือไม่..." 
 
...................
  
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วัคซีนโควิดซิโนแวค ปรากฎข่าวที่สร้างความสับสนต่อสาธารณชนเป็นอย่างมาก เพราะหลังจากที่มีรายงานข่าวองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ให้การรับรองวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว ในช่วงวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา  แต่วันเดียวกันนั้นเองทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ออกมาแถลงข่าวว่าแท้จริงแล้ว WHO ยังไม่ได้รับการรับรองวัคซีนซิโนแวคแต่อย่างใด และยังไม่มีความชัดเจนว่า  WHO จะอนุมัติรับรองให้ใช้วัคซีนซิโนแวคเป็นกรณีฉุกเฉิน  โดยเอกสารสถานะการขอขึ้นทะเบียนดังกล่าวของวัคซีนซิโนแวค แจ้งว่า  “อยู่ระหว่างกระบวนการ” มีกำหนดพิจารณาตัดสินใจอนุมัติภายในเดือนพฤษภาคมนี้
 
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์พบว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าววอลสตรีทเจอร์นัลของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่รายงานข่าวความคืบหน้าการอนุมัติรับรองวัคซีนซิโนแวคของ WHO มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้ 
 
ขณะนี้  WHO กำลังมีการเรียกร้องขอข้อมูลเพิ่มเติมจากทางบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech Ltd) เกี่ยวกับวัคซีนโคโรน่าแวค (ชื่อวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นทางการซึ่งผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค) เพื่อที่จะชั่งน้ำหนักว่าจะอนุมัติวัคซีนจากประเทศจีนชนิดที่ 2 ดังกล่าวนี้หรือไม่ อย่างไร  ท่ามกลางแรงกดดันจากนานาชาติว่าจะต้องมีการแจกจ่ายวัคซีนมากขึ้นไปยังประเทศยากจนหลายประเทศ  
 
ที่ผ่านมา  WHO ได้มีการเรียกร้องขอรายละเอียดเกี่ยวกับความปลอดภัย รวมไปถึงข้อมูลกระบวนการผลิตวัคซีนของบริษัทซิโนแวคมาโดยตลอด เพื่อจะนำเอาข้อมูลมาประเมินว่ากระบวนการผลิตเป็นไปตามมาตรฐานของ WHO หรือไม่ 
 
ซึ่งจากการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ WHO ระดับอาวุโสรายหนึ่ง ได้รับการยืนยันว่า คาดว่าการตัดสินใจเพื่อรับรองวัคซีนซิโนแวค จะถูกเลื่อนไปจนถึงเดือน มิ.ย.นี้   

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
รายงานข่าวผู้บริหารของซิโนแวคแสดงความมั่นใจว่าวัคซีนนั้นจะผ่านการประเมินของ WHO (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวซีซีทีวี)
 
ทั้งนี้ ในการอนุมัติฉุกเฉินของทาง WHO นั้น ถือว่าเป็นใบเบิกทางสำคัญที่จะนำไปสู่การแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก  และวัคซีนที่ได้รับการอนุมัตินั้นจะสามารถเข้าไปสู่โครงการโคแวกซ์ซึ่งเป็นโครงการของ WHO และองค์กรนานาชาติอื่นๆในการแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลกอย่างเท่าเทียมกัน
 
โดย ณ เวลานี้มีรายงานว่าทางโคแวกซ์มีการติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายแห่งในการจัดซื้อวัคซีนสำหรับประเทศยากจนต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการวัคซีนที่ยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
 
อย่างไรก็ตาม ทางซิโนแวคไม่ได้ระบุว่ามีวัคซีนจำนวนเท่าไรที่จะบริจาคให้กับทางโคแวกซ์ ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้นมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่งทาง WHO ที่รับผิดชอบโครงการโคแวกซ์เองก็พยายามทำงานเพื่อที่จะบรรลุข้อตกลงในการจัดซื้อวัคซีนโคโรน่าแวค ทั้งในเรื่องของการหารายละเอียดราคา ข้อมูลตารางการส่งมอบ และจำนวนวัคซีนที่จะมีการส่งมอบ แต่อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าทางโครงการโคแวกซ์ต้องพบกับความยากลำบากในการหาคำตอบที่พึงพอใจสำหรับกรณีเรื่องวัคซีนดังกล่าว
 
ย้อนกลับไปในช่วงเวลาการอนุมัติวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าบริษัทยาจากตะวันตก อาทิ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และบริษัทไฟเซอร์นั้นมีความคุ้นเคยกับขั้นตอนและกระบวนการอันเกี่ยวข้องกับคุณภาพของทาง WHO มากกว่า และวัคซีนของบริษัทเหล่านี้ก็ได้รับการอนุมัติให้มีการใช้งานในโครงการโคแวกซ์เช่นกัน 
 
ส่วนในกรณีวัคซีนจากบริษัทซิโนแวคนั้น มีรายงานข่าวจากเจ้าหน้าที่ WHO รายหนึ่งระบุว่าการที่บริษัทซิโนแวคไม่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมากนัก ส่งผลทำให้เกิดความล่าช้าในการอนุมัติฉุกเฉินวัคซีน โดย WHO
 
อนึ่ง ในช่วงปี 2560 ที่ผ่านมานั้น WHO ได้เคยอนุมัติวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบของบริษัทซิโนแวคมาแล้ว อย่างไรก็ตาม บริษัทซิโนแวคค่อนข้างที่จะมีขนาดเล็กมากในช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่พอมาถึงช่วงปี 2563 ยอดขายของบริษัทซิโนแวคก็เพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จากในช่วงปี 2562 ที่บริษัทซิโนแวคมียอดขายน้อยกว่า 246 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  (7,699,800,000 บาท)
 
แต่ทางด้านของบริษัทซิโนแวคเองก็ยังไม่มีการตอบข้อซักถามในเรื่องประเด็นเหล่านี้แต่อย่างใด   
 
ซึ่ง ณ เวลานี้ก็ยังไม่อาจจะทราบได้ว่าทำไมข้อมูลของวัคซีนนั้นถึงยังไม่มาในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยข้อมูลการทดลองทางคลินิกของวัคซีนและข้อมูลจากผลการศึกษาจากการใช้งานจริง (Real-World Study) ก็ยังคงดำเนินต่อไป และหนึ่งในข้อมูลผลการศึกษาการใช้งานจริงนั้นพบว่าทางนักวิจัยจากประเทศชิลีได้ให้ข้อมูลกับทางคณะกรรมการที่ปรึกษาของ WHO ว่า พวกเขากำลังศึกษาและวิเคราะห์ถึงข้อมูลความปลอดภัยของวัคซีนโคโรน่าแวคกันอยู่  
 

  คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
รายงานข่าวประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคในประเทศชิลี (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวรอยเตอร์)
 
ขณะที่ในช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ทาง WHO ก็ได้มีการอนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์ม ที่เป็นวัคซีนอีกชนิดหนึ่งจากรัฐวิสาหกิจของประเทศจีนเช่นกัน
แม้ว่าวัคซีนซิโนฟาร์มดังกล่าวนั้นจะมีอัตราประสิทธิภาพที่ค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับวัคซีนที่มาจากประเทศยุโรป    
 
อย่างไรก็ดี ในช่วงสัปดาห์เดียวกันกับที่มีการอนุมัติวัคซีนซิโนฟาร์ม คณะกรรมการที่ปรึกษาของ WHO ได้มีการหารือกันเพื่อที่จะประเมินประสิทธิภาพขอวัคซีนซิโนแวคเช่นกัน แต่ก็ได้ข้อสรุปในตอนนั้นว่าไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะมีความเห็นใดๆได้  
 
และเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา โฆษก WHO ได้ออกมากล่าวว่ายังคงไม่มีวันที่แน่นอนในการตัดสินใจเกี่ยวข้องกับวัคซีนซิโนแวค แม้ว่าจะตัวโฆษกจะพยายามยืนยันว่าตารางการตัดสินใจอนุมัติน่าจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ค.ก็ตาม 
 
ทั้งนี้ ในกระบวนการตัดสินใจว่าจะมีการให้ความเห็นชอบกับวัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉินนั้น ทาง WHO และกลุ่มที่ปรึกษาที่มีส่วนในการอนุมัติจะต้องมีการเห็นพ้องต้องกันเมื่อทีมงานรู้สึกพึงพอใจกับข้อมูลที่ได้รับมาแล้ว  
 
ซึ่งทางด้านของผู้เชี่ยวชาญสุขภาพและนักไวรัสวิทยาในระดับโลกหลายคนนั้นล้วนคาดหวังว่าทาง WHO จะต้องมีการอนุมัติการใช้งานวัคซีนซิโนแวคในที่สุด แม้ว่า ณ เวลานี้จะมีข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคที่ค่อนข้างจะหลากหลายาก ในกระบวนการทดลองทางคลินิก  อาทิ ที่บราซิล ซึ่งมีการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 13,000 ราย พบว่ามีประสิทธิภาพอยู่ที่ 50.38 เปอร์เซ็นต์เมื่อใช้ป้องกันการติดเชื้อซึ่งมีอาการ โดยถือว่าเพียงพอสำหรับมาตรฐานขั้นต่ำของ WHO ที่ระบุขั้นต่ำไว้ 50 เปอร์เซ็นต์
 
ขณะที่ WHO เองก็กำลังถูกกดดันอย่างหนักเช่นกันว่าจะต้องอนุมัติฉุกเฉินวัคซีนหลายยี่ห้อมากกว่านี้ เพื่อที่จะรองรับในโครงการโคแวกซ์ ทำให้มีจำนวนวัคซีนเพียงพอต่อจำนวนประชากร อย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มประเทศที่ยากจน
 
สำหรับความคืบหน้าของโครงการโคแวกซ์นั้น มีการจัดส่งวัคซีนได้เพียงแค่ 70 ล้านโดส จากจำนวนทั้งหมด 2 พันล้านโดสที่โครงการรับปากเอาไว้ว่าจะจัดหาให้ได้ภายในปีนี้   ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งก็มาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดต่างๆที่ส่งผลไปถึงตัวผู้ส่งออกวัคซีนด้วย
อาทิ กรณีที่สถาบันเซรุ่มของประเทศอินเดียซึ่งเป็นเสาหลักของความพยายามของโคแวกซ์ ณ เวลานี้นั้นก็ถูกบังคับให้ส่งกำลังการผลิตทั้งหมดเพื่อไปรับมือกับการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย
 
ซึ่งทางด้านของ นพ.คิม มัลฮอลแลนด์ กุมารแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเมลเบิร์นและยังเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน (SAGE) ของ WHO ได้กล่าวว่าตัวเขาอยากที่จะเห็นข้อมูลด้านความปลอดภัยสำหรับการฉีดวัคซีนจากทาง Real-World Study ให้มากกว่านี้อีก 
 
รวมไปถึงข้อมูลการใช้วัคซีนจากประเทศชิลีด้วยเช่นกัน 

 แต่ถึงกระนั้น ตัวเขาเองโดยรวมแล้วก็มีความประทับใจและเชื่อว่าวัคซีนนั้นมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ    
 
แต่สำหรับข้อมูลที่ทางบริษัทซิโนแวคได้ส่งมานั้น ทาง นพ.มัลฮอลแลนด์ก็ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการตอบสนองของสารภูมิคุ้มกันหรือว่าแอนติบอดีที่ค่อนข้างจะต่ำหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว  
 
เขา ย้ำว่า  ณ เวลานี้ ยังคงมีคำถามที่ไม่ได้รับคำตอบว่าวัคซีนซิโนแวคนั้นจะมีประสิทธิภาพเป็นระยะเวลายาวนานเท่าไรกันแน่ และวัคซีนนี้จะช่วยชุมชนให้สามารถเข้าถึงการมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งคณะกรรมการ SAGE ทั้ง 15 คนก็คงจะต้องมีการประเมินกันในขั้นตอนสุดท้ายต่อไป   
 
อนึ่ง ข้อมูลจาก Real-World-Data ที่ได้มีการปล่อยออกมาโดยหน่วยงานของประเทศชิลีเมื่อตอนเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานั้น มีการระบุไว้ว่าวัคซีนโคโรน่าแวคนั้นมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 67 เปอร์เซ็นต์ในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ มีประสิทธิภาพอยู่ที่ 85 เปอร์เซ็นต์ในการป้องกันไม่ให้ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล และมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 89 เปอร์เซ็นต์ในการป้องกันอาการป่วยที่รุนแรง 

ซึ่งทางด้านของแพทย์ที่กระทรวงสาธารณสุขประเทศชิลีที่ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ ได้กล่าวว่า ในรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการศึกษานั้นจะมีการเปิดเผยโดยเร็วๆ นี้ เมื่อผลการศึกษาได้ถูกนำไปตีพิมพ์ลงวารสารแล้ว 
 
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลวัคซีนตลอดในช่วงเดือน เม.ย.ที่ทางกระทรวงได้รับเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นแสดงให้เห็นว่าวัคซีนซิโนแวคมีอัตราประสิทธิภาพโดยรวมคงที่อยู่ที่ 65.3 เปอร์เซ็นต์  
 
ขณะที่ข้อมูลการประเมินสาธารณะซึ่งกระทำโดย WHO ก็มีรายงานว่านักวิจัยจากประเทศชิลีได้กล่าวว่าวัคซีนโคโรน่าแวคนั้นมีประสิทธิภาพถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในการป้องกันอาการป่วยที่รุนแรง  เมื่อมีการแจกวัคซีนจำนวนกว่า 3.7 ล้านโดสที่ประเทศชิลี  
 
ส่วน นพ.มัลฮอลแลนด์ ได้กล่าวทิ้งท้ายเอาไว้ว่า จำนวนผู้ป่วยที่ต่ำดังกล่าวนั้นดูเหมือนจะมาจากการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น และยังคงต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึก เพื่อที่จะเปิดเผยข้อมูลอันเป็นประโยชน์เกี่ยวกับผลข้างเคียงของวัคซีนในกลุ่มประชากรที่เจาะจง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุกันต่อไป
“การมีข้อมูลความปลอดภัยที่มากกว่านี้ มักจะเป็นเรื่องที่ดีกว่าเสมอ” นพ.มัลฮอลแลนด์กล่าวทิ้งท้าย 
 
เรียบเรียงจาก : https://www.wsj.com/articles/who-seeks-more-data-on-second-chinese-covid-19-vaccine-up-for-approval-11622019526
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่