เส้นทางชีวิต 4 ปีกว่าๆ สู่ปริญญาเอก " จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ... By พีค พนาสิน (มาแชร์ประสบการณ์ครับ)

วันนี้ผมได้ทำการสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ซึ่งกินเวลาร่วมๆสามถึงสี่ชั่วโมง ซึ่งผลการสอบคือ “ผ่าน” ไปได้ด้วยดี ผมทั้งตื่นเต้น ดีใจ ภูมิใจ และรู้สึกขอบคุณทุกๆคนที่มีส่วนช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ร่วมเรียน ร่วมสอบ ร่วมทำโปรเจค ร่วมอ่านหนังสือ ร่วมทำวิจัย รวมถึงร่วมทุกข์ร่วมสุข กันมาตลอดระยะเวลาสี่ปีกว่าๆนี้ ผมจึงอยากถือโอกาสนี้มาแบ่งปันเส้นทางการเรียนของผมตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับคนที่สนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกครับ
 
หลักสูตรที่ผมเลือกเรียนนั้นมีชื่อเต็มๆว่า หลักสูตรวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต (PhD) สาขาวิชาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม สังกัดคณะบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยตัวหลักสูตรนี้เกิดจากการบูรณาการศาสตร์ ด้วยการนำเอาองค์ความรู้จาก 5 คณะของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี, คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะนิเทศศาสตร์ ตลอดจนคณะอื่น ๆ มาเชื่อมโยงกัน เพื่อมุ่งพัฒนานวัตกร หรือสร้างบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถทางด้านธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม
เนื่องจากการจะทำให้เกิดนวัตกรรมได้จะต้องมีคนเก่งเรื่องของเทคโนโลยี และการจะก้าวไปสู่นวัตกรรม ต้องมีผู้ที่เข้าใจเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อให้เกิดเป็นมูลค่าในเชิงพาณิชย์ หรือออกไปสู่สังคม ผมขอให้คำจำกัดความถึงตัวหลักสูตรนี้สั้นๆว่า “ปลดล็อกงานวิจัย จากหิ้งสู่ห้าง เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ”
 
ก่อนการสมัคร โดยเบื้องต้นเราก็ต้องทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครก่อนโดยที่ทางหลักสูตรกำหนดไว้ดังนี้ 1.สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโทจากสถาบันที่ กพ รับรอง 2.มีประสบการณ์การทำงาน 3.มีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ เช่น ielts ตั้งแต่ 5.5 คะแนนขึ้นไป และต้องมีหลักฐานในการสมัครเพิ่มเติมดังนี้ 1.หนังสือรับรอง 2 ฉบับ โดยส่วนใหญ่จะให้อาจารย์ที่ปรึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทเขียนรับรองให้ 2.หนังสือรับรองประสบการณ์การทำงาน 3.ข้อเสนอโครงการดุษฎีนิพนธ์ในระดับปริญญาเอก การสมัครสามารถสมัครทางออนไลน์หรือสมัครโดยตรงกับทางหลักสูตรได้เลยครับ
 
พอเข้ามาเรียน ปีหนึ่ง กับ ปีสองจะเน้นการเรียนในห้อง หรือ คอร์สเวิร์คเป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีทริปไปดูงานที่ต่างประเทศโดยในรุ่นผมมีการไปดูงานที่ประเทศเดนมาร์ก นอร์เวย์และสวิตเซอร์แลนด์ครับ ในทริปนี้ได้มีโอกาสดูงานในบริษัทที่เป็นผู้นำทางอุตสาหกรรม  ได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ และยังได้มีโอกาสไปนั่งฟังบรรยายในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง University of St.Gallen ที่สวิตเซอร์แลนด์อีกด้วย เป็นประสบการณ์ที่ดีมากๆครับ 
 
ผมแนะนำให้ตั้งใจเรียนให้มากๆในช่วงปี 1-2 นี้ เพราะตอนก่อนจะขึ้นปีสามจะมีการสอบ QE หรือ Qualifying Exam ซึ่งเป็นการนำเอาวิชาที่เรียนมาทั้งหมดมารวมกัน แล้วทำการสอบรวดเดียว 5 วิชา โดยจะต้องสอบให้ผ่านทั้งหมดทุกวิชาในการสอบ 2 ครั้ง ซึ่งตัวผมเองสามารถสอบผ่านทั้งหมด 5 วิชาได้ในรอบเดียวเนื่องจากเตรียมตัวมาค่อนข้างดี พอสอบผ่านในขั้นตอนนี้เราจะได้สถานะเป็น PhD candidate ซึ่งหมายถึง ผู้มีสิทธิ์ทำดุษฎีนิพนธ์ และได้ไปต่อในปี 3 ครับ
 
ในปี 3 และปี 4 ในช่วงแรก เราจะต้องเริ่มเตรียมตัวเพื่อทำการสอบโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ต่อครับ โดยทางหลักสูตรให้ทำโครงร่างโดยประมาณ 40 หน้า เพื่อเข้าไปสอบป้องกันโครงร่างกับทางกรรมการสอบ เพื่อเป็นตัวชี้วัดว่างานวิจัยที่เราสนใจมีความเป็นไปได้แค่ไหน มีความใหม่ยังไง และมีความเป็นไปได้ในการวิจัยครับ โดยผมได้ทำการสอบและสอบผ่านในครั้งเดียวเช่นกัน หลังจากการสอบป้องกันโครงร่าง การเรียนจะเน้นไปที่การนำเสนอผลงานทางวิชาการเป็นหลัก เพื่อใช้ในการยืนยันความใหม่ทางวิชาการของงานวิจัยของเราเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์ต่อไป ซึ่งประกอบไปด้วยการไปร่วมงาน conference และการส่งงานวิจัยไปตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ ซึ่งผมได้ไป conference หรือไปร่วมในงานประชุมในระดับนานาชาติเพื่อเสนอผลงานวิชาการ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผมได้นำเสนอผลงานในที่ประชุม และได้รับรางวัล Best Paper Award และเหรียญรางวัลมาด้วยครับ 
 
ในส่วนของการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ ทุกคนจำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงประเภทและระดับของวารสารที่เราจะทำการส่งงานวิจัยไปตีพิมพ์กันก่อนว่ามีหลายแบบ 
 
1.        แบบแรกวารสารในไทย ซึ่งจะมีฐานที่ได้รับการยอมรับ เช่น TCI ประกอบด้วย TCI 1 และ TCI 2 ซึ่ง TCI 1 จะมีความยากมากกว่าในการตอบรับงานวิจัย
2.        แบบที่สองวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งจะมีความยากมากกว่าวารสารในประเทศ โดยงานวิจัยต้องเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น และมีฐานที่ได้รับการยอมรับทางวิชาการ เช่น SCOPUS ซึ่งมี 4 ระดับ ประกอบด้วย Q1 Q2 Q3 Q4 โดยระดับ Q1 คือระดับที่งานวิจัยคุณภาพสูงสุด และ มีการตอบรับยากที่สุดครับ 
 
ผมได้ทำการส่งงานวิจัยของผมเพื่อไปเข้าสู่กระบวนการ A FULL DOUBLE -BLIND REFEREEING PROCESS ซึ่งหมายถึง การส่งงานวิจัยให้ผู้เชี่ยวชาญ 2-3 คน โดยที่ปิดชื่อผู้เขียนไว้ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จะดูงานเราแล้วทำการให้ความเห็นว่าจะรับงานไว้เพื่อทำการตีพิมพ์ (ACCEPTED) ต้องแก้ไขเล็กน้อยก่อนตีพิมพ์ (ACCEPTED SUBJECT TO CHANGE) ต้องแก้ไขเยอะก่อนตีพิมพ์ (SUBJECT TO RESUBMISSION WITH SIGNIFICANT CHANGES) หรือ ปฎิเสธงานวิจัย (REJECTED) ซึ่งงานวิจัยของผมได้รับผลตอบรับกลับมาว่า ต้องแก้ไขเล็กน้อยก่อนตีพิมพ์ รวมระยะเวลาตั้งแต่วันที่ส่งงานวิจัยไปจนถึงวันที่ได้รับการตอบรับการตีพิมพ์ ใช้ระยะเวลาประมาณ 7 เดือนกว่าๆ โดยงานวิจัยของผมได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในสารสาร INTERNATIONAL JOURNAL OF PROCESS MANAGEMENT AND BENCHMARKING ซึ่งเป็นวารสารจากประเทศอังกฤษ และอยู่ในฐาน SCOPUS ระดับ Q2 ครับ
 
หลังจากนั้นขั้นตอนสุดท้าย คือ การทำเล่มดุษฎีนิพนธ์ให้สมบูรณ์และทำการนัดวันสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์กับทางกรรมการสอบทุกท่าน ซึ่งผมได้ทำการสอบไปเรียบร้อย และยังต้องแก้ไขตัวเล่มเพิ่มเติม เพื่อสำเร็จการศึกษาครับ 
 
ผมหวังว่าโพสนี้จะช่วยเป็นแนวทางและให้แนวคิดสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกไม่มากก็น้อย ผมเชื่อว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” 
 
ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่สนใจเรียนต่อในระดับปริญญาเอกครับ
 
ปล. เพื่อนๆสามารถมาร่วมแชร์สิ่งต่างๆ เพิ่มเติมได้เลยนะครับ...เพื่อจะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเรียน ป.เอก ต่อไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่