เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ดารานักแสดงต่างชาติหลายคนออกมาติดแฮชแท็ก #StopAsianHate หลังมีรายงานว่าเกิดเหตุกราดยิงที่ร้านสปา 3 แห่งในเมืองแอตแลนตา ประเทศสหรัฐฯ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 8 คน และผู้เสียชีวิตมากกว่าครึ่งเป็นคนเชื้อสายเอเชีย นำมาสู่การสันนิษฐานว่า เหตุร้ายดังกล่าว อาจมีแรงจูงใจจากการเหยียดเชื้อชาติ
แม้ที่ผ่านมาจะได้ยินข่าวมีเหตุการณ์ทำร้ายร่ายกาย รวมถึงด่าทอชาวเอเชียในประเทศสหรัฐฯ หลายต่อหลายครั้ง แต่เรื่องเหล่านี้ก็ไม่ควรจะเป็นเรื่องชินชา และปล่อยให้กลายเป็นสิ่งปกติในสังคม องค์กร Stop AAPI Hate เปิดเผยว่าในช่วงปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา มีรายงานว่าชาวเอเชียถูกคุกคามจากแนวคิดการเหยียดเชื้อชาติราวๆ 3,800 ครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปีอื่นๆ
ในข้อมูลดังกล่าวลงรายละเอียดว่า ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.2020 - 28 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2021 มีรายงานชาวเอเชียถูกคุกคามในสหรัฐฯ 3,795 เคส ซึ่ง Stop AAPI Hate ระบุว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงกว่านั้น เนื่องจากยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่ถูกรายงานเข้ามา สำหรับลักษณะการคุกคามที่พบเห็นบ่อย ก็มีตั้งแต่การด่าทอเหยียดชาติพันธ์ุ ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย และมีบางรายที่รุนแรงถึงขนาดเสียชีวิต อย่างเช่น กรณีของ วิชา รัตนภักดี ชายไทยวัย 84 ปี ที่เสียชีวิตจากการถูกผลักอย่างแรง
Stop AAPI Hate เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในบรรดาเหตุการณ์คุกคามที่เกิดขึ้นกับชาวเอเชีย มีพฤติกรรมการคุกคามทางคำพูด ประมาณ 68% และทำร้ายร่างกาย 11% และอีก 20% ที่เหลือเป็นการแสดงพฤติกรรมรังเกียจ นอกจากนี้ จากสถิติระบุว่า ชาวจีนเป็นเชื้อชาติใหญ่สุดในเอเชีย ที่ต้องรับมือกับการคุกคาม ซึ่งสูงถึงประมาณ 42.2% ถัดมาคือชาวเกาหลี 14.8%, เวียดนาม 8.5% และฟิลิปปินส์ 7.9%
อัตราการทำร้ายร่างกายชาวเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น มีผลมาจากการแพร่กระจายของโคโรนาไวรัส ซึ่งเชื่อว่ามีต้นต่อมาจากเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ก่อนจะกลายมาเป็นโรคระบาด COVID-19 ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 2.6 ล้านคนทั่วโลก ทำให้เกิดกระแสเกลียดชังชาวเอเชีย และนำมาสู่การเกิดโศกนาฎกรรมหลายต่อหลายครั้ง
สำหรับเหตุการณ์การกราดยิงล่าสุดที่เกิดขึ้น คามาลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหญิงผิวสี และมีเชื้อชาติเอเชีย กล่าวว่า “เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาความรุนแรงในประเทศสหรัฐฯ และเราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก และต้องคอยต่อต้านมันอยู่เสมอ” แฮร์ริส กล่าวเพิ่มเติมว่า เธอต้องการบอกกับชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ว่าเธอจะยืนหยัดกับพวกเขา และเข้าใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความโกรธแค้น และหวาดกลัวให้กับผู้คนมากแค่ไหน
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งดูแลคดีดังกล่าวระบุว่า แรงจูงใจในการก่อเหตุอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเหยียดเชื้อชาติ แต่อาจเกิดจากอาการเสพติดเซ็ก (Sexual Addiction) ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจ และพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ อย่างไรก็ตาม จะต้องมีการสอบสวนอย่างละเอียดเพิ่มเติมต่อไป
ขอขอบพระคุณเพจ The MATER
ทั่วโลกติด #StopAsianHate หลังเกิดเหตุกราดยิงที่แอตแลนตา สถิติเผย มีคนเอเชียถูกคุกคามกว่า 4 พันครั้งในปีที่ผ่านมา