JJNY : 4in1 ทวีเผยร่างรธน.พรรคร่วมเสนอ‘แก้โคตรยาก’/เสนอตั้งสสร.เลือกตั้ง100%/นิพิฏฐ์ยังงงส.ว.สับแทมมี่/แห่แบนรายการดัง

‘ทวี สอดส่อง’ เผย รธน.60 แก้ไขยากมากแล้ว แต่ร่าง รธน.ที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ ‘แก้โคตรยาก’
https://www.matichon.co.th/politics/news_2477417

 
‘ทวี สอดส่อง’ เผย รธน.60 แก้ไขยากมากแล้ว แต่ร่าง รธน.ที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอ ‘แก้โคตรยาก’
 
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และเลขาธิการพรรคประชาชาติ เปิดเผยว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 นับว่าเป็นฉบับที่แก้ยากที่สุดอยู่แล้ว เพราะมี ส.ว.250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมแก้ไขด้วย โดยมีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม กล่าวคือ ตาม รธน.มาตรา 256 ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน การลงมติ วาระที่ 1 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา (84 คน), วาระที่ 2 เสียงข้างมากเป็นประมาณ, วาระที่ 3 มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา โดยในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกันและมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา
 
แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลกลับวางเงื่อนไขให้แก้ได้ยากกว่า คือกำหนดคะแนนเสียงเห็นชอบในวาระที่ 1 และวาระที่ 3 ต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบจำนวนไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา
 
โดยปัจจุบันมีสมาชิกรัฐสภาที่เหลือสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จำนวน 732 คน (จากจำนวนเต็ม 750 คน) แบ่งออกเป็น ส.ว. 245 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และ ส.ส.จำนวน 487 คน แยกออกเป็น
 
• พรรคร่วมรัฐบาล 277 คน (ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 120 คน, พรรคภูมิใจไทย 61 คน, พรรคประชาธิปัตย์ 52 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา 12 คน, พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 คน, พลังท้องถิ่นไท 5 คน, พรรคชาติพัฒนา 4 คน, พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 คน, พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 คน และนายอนุมัติ ซูสารอ พรรคประชาชาติ 1 คน)
• ฝ่ายค้าน จำนวน 212 คน (ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 134 คน, พรรคก้าวไกล 54 คน, พรรคเสรีรวมไทย 10 คน, พรรคประชาชาติ 6 คน, พรรคเพื่อชาติ 5 คน, พรรคพลังปวงชนไทย 1 คน และนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 คน)
 
โดยร่างของรัฐบาล คะแนนเสียงเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมต้องใช้คะแนนเสียง 3 ใน 5 คือเห็นชอบจำนวนไม่น้อยกว่า 440 คน
 
ดังนั้น เสียงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล + ส.ว.รวมแล้วมีมากถึง 522 คน เกินไปจำนวน 82 คน ขณะที่คะแนนเสียงของพรรคฝ่ายค้านมีเพียง 212 คนเท่านั้น ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้เลย
 
ส่วนร่างแก้รัฐธรรมนูญของพรรคฝ่ายค้านเสนอในวาระที่ 1 เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา วาระที่ 2 เสียงข้างมากเป็นประมาณ และวาระที่ 3 คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา ซึ่งข้อเสนอของพรรคฝ่ายค้านจะเหมือนกับรัฐธรรมนูญในอดีตจำนวน 7 ฉบับคือ รัฐธรรมนูญปี 2517, ปี 2519, ปี 2521, ปี 2534, ปี 2540, ปี 2550 และฉบับชั่วคราว ปี 2557 กำหนดคะแนนเสียงเห็นชอบ วาระที่ 1 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา วาระที่ 2 เสียงข้างมากเป็นประมาณ และวาระที่ 3 มากกว่ากึ่งหนึ่ง (รัฐธรรมนูญปี 2517, ปี 2519 และปี 2557 ใช้คำว่า ’ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง’) ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภา
 
คะแนนเสียงกึ่งหนึ่งของรัฐสภาปัจจุบัน จำนวน 366 คน ที่พรรคฝ่ายค้านประสงค์จะแก้รัฐธรรมนูญแม้เสียงไม่พอจำเป็นต้องรวมกับ ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาล และหากตัดพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี จำนวน 120 คนออกแล้ว ส.ส.ที่เหลือจะมีจำนวน 369 คน ที่เกินไปเพียง 3 คนเท่านั้น
 
แม้ว่าการคาดหวังมีรัฐธรรมนูญใหม่จากการร่างของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็ตาม แต่ก็มีความจำเป็นที่จะได้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี’60 ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปใช้รัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณเกือบ 2 ปี มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ แก้ไขเรื่องการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นได้บริหารและปกครอง แก้ไขเพิ่มเรื่องสวัสดิการ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ด้อยค่ากว่าฉบับที่ผ่านมา แก้ไขที่มาและอำนาจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระให้ยึดโยงกับประชาชน การแก้ไขอำนาจ ส.ว.แต่งตั้งที่มีมากกว่า ส.ส. การเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งเสียใหม่ให้กลับไปใช้ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) แบบเดิม คือเลือกบัตรสองใบ หรือหากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็จะไม่ให้ ส.ว.มีอำนาจร่วมเลือกด้วย เป็นต้น ข้อเสนอแก้ไขของฝ่ายค้านแม้ได้รับความร่วมมือจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็แทบจะไม่สามารถกระทำได้
 
ตามข้อเสนอของพรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าวข้างต้นแสดงว่าอำนาจเบ็ดเสร็จยิ่งอยู่ในการครอบงำของ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้แต่งตั้ง ส.ว.มากขึ้น สังคมจึงไม่อาจคาดหวังอะไรจาก ส.ว.และพรรครัฐบาลได้ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ การแก้ไขแทบทำไม่ได้เลย เป็นเรื่องที่ “โคตรยาก” และเป็นการปิดประตูตายไม่ให้ฝ่ายค้านเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าเป็นฝ่ายรัฐบาลกับ ส.ว.จะแก้ไขให้เป็นไปตามที่รัฐบาลเป็นเรื่องง่ายดายไม่ว่าในเรื่องใดที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่ต้องมีการลงประชามติ ย่อมสามารถกระทำได้ทุกเรื่อง เพราะคุมคะแนนเสียงรัฐสภาไว้เกินกว่า 3 ใน 5 อยู่แล้ว
 

 
เครือข่ายปชช.เสนอตั้งสสร.จากการเลือกตั้ง100%
https://www.innnews.co.th/politics/news_838758/
 
เครือข่ายประชาชน เสนอตั้งสสร.จากการเลือกตั้ง 100% ย้ำรางรธน.ต้องเป็นพื้นที่เสรีภาพ พร้อมประกาศภารกิจสำคัญ 3 ประการ
 
เครือข่ายประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม จากทุกภูมิภาค 121 องค์กร นำโดยนายฉัตรชัย พุ่มพวง จากสหภาพแรงงานสร้างสรรค์และวัฒนธรรม และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกันแถลงข่าว ว่า รัฐธรรมนูญ ต้องสร้างสมดุลอำนาจใหม่อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เท่านั้นที่จะเป็นทางออกของประเทศ โดยต้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเท่าเทียม ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ต้องสร้างสวัสดิการถ้วนหน้าในการศึกษา สาธารณะสุขทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ทบทวนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ รวมถึงต้องจำกัดบทบาทของกองทัพกับการเมืองเพื่อต้องกันไม่ให้เกิดการทำรัฐประหารอีก ทั้งนี้รัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับยุคสมัย และ ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับ
 
ดังนั้น ทางกลุ่มจึงมีข้อเสนอดังนี้ 
1. สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% 
2. บทบาทของส.ส.ร คือผู้อำนวยการเพื่อให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ 
3. ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ 
4. กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นพื้นที่มีเสรีภาพและเปิดกว้าง 

หากไม่มีการดำเนินการตามหลักการที่เสนอไว้จะเรียกร้องให้มีการลงมติไม่เห็นชอบกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย
 
โดยหลังจากนี้จะมีปฏิบัติการด้วยภารกิจสำคัญ 3 ประการคือ 
1 จะร่วมกันจัดให้มีเวทีระดมความคิดของประชาชนทุกภูมิภาค เพื่อออกแบบเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประชาชนได้จริง 
2 ติดตามกระบวนการดำเนินการของฝ่ายการเมือง และส.ส.ร.และสนับสนุนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 
3 ดำเนินการให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนแบบคู่ขนานไปตลอดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
 
อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนให้องค์กรภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศออกมาสนับสนุนและมีส่วนร่วมสำคัญต่อการขับเคลื่อนกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่ควรให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายการเมืองเท่านั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่