วัตถุจิ๋วในระบบสุริยะ

EBLM J0555–57Ab



นักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวฤกษ์ดวงใหม่ดวงหนึ่ง เป็นดาวที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดที่เคยพบมา มีชื่อว่า อีบีแอลเอ็ม เจ 0555-57 เอบี (EBLM J0555–57Ab) อยู่ห่างออกไป 600 ปีแสง เป็นสมาชิกของระบบดาวคู่ ๆ หนึ่ง มีขนาดใหญ่กว่าดาวเสาร์เพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

เป็นขนาดที่เรียกได้ว่าเล็กที่สุดเท่าที่ดาวฤกษ์จะเล็กได้ หากมีขนาดเล็กกว่านี้เพียงเล็กน้อย ความดันภายในดาวจะน้อยเกินกว่าจะรักษากระบวนการหลอมไฮโดรเจนซึ่งเป็นกลไกหลักในการเป็นดาวฤกษ์ไว้ได้ กลายเป็นวัตถุอีกชนิดหนึ่งไปเรียกว่า ดาวแคระน้ำตาล นอกจากจะเล็กจิ๋วแล้ว ดาวฤกษ์ดวงนี้ยังส่องแสงริบหรี่มาก ความเข้มแสงที่แผ่ออกมาน้อยกว่าของดวงอาทิตย์ 2,000-3,000 เท่า

หลักการที่ใช้ค้นพบดาวดวงนี้เหมือนกับหลักการค้นหาดาวเคราะห์ต่างระบบด้วยการสังเกตการผ่านหน้า ดาวอีบีแอลเอ็ม เจ 0555-57 เอบีถูกค้นพบขณะโคจรผ่านหน้าดาวสหายที่มีขนาดใหญ่กว่ามาก ชื่อ อีบีแอลเอ็ม เจ 0555-57 เอ (EBLM J0555–57A) การที่ดาวที่ผ่านหน้ามีกำลังอ่อนกว่าดาวที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้แสงรวมของทั้งคู่ลดลงเมื่อมองจากโลก การที่พบว่าแสงลดลงเป็นรายคาบเป็นสิ่งยืนยันว่าเป็นผลจากการโคจร

ในตอนแรกนักดาราศาสตร์ก็ไม่คิดว่าวัตถุที่ผ่านหน้าดวงนี้เป็นดาวฤกษ์ ต่างพากันคิดว่านี่เป็นดาวเคราะห์ต่างระบบ จนเมื่อมีการสำรวจเพิ่มเติมโดยนักวิจัยจากโครงการวอส์ป จึงทราบว่าวัตถุดวงนี้มีมวลใกล้เคียงกับ ดาวแทรปพิสต์-1 ที่โด่งดังไปเมื่อต้นปี แต่มีขนาดเล็กกว่า แทรปพิสต์-1 ถึง 30เปอร์เซ็นต์
นักดาราศาสตร์คาดว่าดาวฤกษ์จิ๋วดวงนี้อาจมีดาวเคราะห์ที่มีสภาพเอื้ออาศัยเป็นบริวารด้วยเช่นกัน

ดาวฤกษ์ที่มีมวลต่ำมากเช่นนี้ (ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของดวงอาทิตย์) เป็นประเภทที่มีจำนวนมากที่สุดในเอกภพ แต่การที่มีแสงริบหรี่มากและมักถูกบดบังโดยแสงจ้าจากดาวที่สว่างกว่ามาก นักดาราศาสตร์จึงยังรู้จักดาวประเภทนี้ดีนัก แต่อย่างน้อยการค้นพบครั้งนี้ก็แสดงให้รู้ว่าดาวฤกษ์เล็กได้มากขนาดไหน
Cr. ภาพ Amanda Smith
ที่มา Astronomers Just Discovered The Smallest Star Ever Known to Science - sciencealert.com
Cr.http://thaiastro.nectec.or.th/news/3114/โดย: วิมุติ วสะหลาย 

Churymoon


องค์การอวกาศยุโรป (ESA) เผยแพร่ภาพถ่ายดาวหาง “67P/C-G” ที่ถ่ายโดยยานอวกาศ Rosetta พบวัตถุขนาดเล็กโคจรรอบดาวหางอยู่
ยานอวกาศ Rosetta ถูกส่งไปสำรวจดาวหาง “67P/C-G” หรือ “Churyumov-Gerasimenko” โดยเฉพาะ และได้บันทึกภาพนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2015
จาซินท์ โรเจอร์ (Jacint Roger) นักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวสเปน นำภาพดังกล่าวมาวิเคราะห์อีกครั้ง เขาพบว่ามีจุดสว่างสีขาวเคลื่อนที่ไปพร้อมกับดาวหางคล้ายกับกำลังโคจรรอบดาวหางอยู่ จึงเผยแพร่ผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว

ภาพถ่ายชุดนี้แสดงให้เห็นนิวเคลียสของดาวหางขนาดประมาณ 4 กิโลเมตร กับวัตถุขนาดเล็กที่มุมขวาล่าง ขนาดประมาณ 4 เมตร ซึ่งต่อมาตั้งชื่อเล่นว่า “ชูรีมูน (Churymoon)” ถ่ายที่ระยะห่างจากดาวหาง 400 กิโลเมตร  ชูรีมูน (Churymoon) เคยเป็นส่วนหนึ่งของดาวหางมาก่อน ถูกทำให้หลุดออกจากดาวหางด้วยกระบวนการบางอย่าง แล้วโคจรรอบดาวหางที่ระยะห่าง 2.4 - 3.9 กิโลเมตร

ยานโรเซตตาถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2004 เข้าสู่วงโคจรของดาวหาง 67P/C-G วันที่ 10 กันยายน 2014  และปฏิบัติภารกิจโคจรรอบดาวหางเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี และจบภารกิจลงในวันที่ 30 กันยายน 2016  ด้วยการพลีชีพพุ่งเข้าชนดาวหาง ทั้งนี้ยังคงมีข้อมูลที่รอการวิเคราะห์ผลอยู่อีกที่อาจจะนำมาซึ่งองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับดาวหางได้
เรียบเรียง : ธนกร อังค์วัฒนะ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.
อ้างอิง  https://www.esa.int/spaceinim…/…/2019/08/Comet_and_Churymoon
Cr.https://www.facebook.com/NARITpage/posts/2602129573183974

J0331-27 


รู้หรือไม่ว่ายังมีดาวดวงเล็กๆ ที่สามารถระเบิดพลังงานได้มากกว่าดวงอาทิตย์  ดาวดวงจิ๋วนี้มีชื่อว่า “J0331-27” เป็นดาวที่ถูกจัดอยู่ในประเภทดาวเคราะห์แคระแอล (L dwarf) โดยมีมวลเพียงแค่ 8 เปอร์เซ็นต์ของดวงอาทิตย์เท่านั้น อันที่จริงมันมีมวลน้อยมากจนแทบจะเรียกว่าเป็นดวงดาวไม่ได้ ซึ่งถ้าหากมีมวลน้อยกว่านี้ มันจะกลายเป็นดาวที่ไม่มีองค์ประกอบมากพอจะสร้างพลังงานด้วยตัวเองได้ นั่นคือ การปะทุของพลังงานหรือ Super Flares ย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น ทำให้เหล่านักดาราศาสตร์ต่างมองข้ามดาวจิ๋วนี้ไป 

ดาวจิ๋วถูกมองข้ามอยู่นาน จนกระทั่งเหล่านักดาราศาสตร์กลับมาดูข้อมูลที่บันทึกจากกล้อง EPIC (European Photon Imaging Camera) ในหอสังเกตการณ์เอ็กซเรย์ เอ็กซ์เอ็มเอ็ม-นิวตัน (XMM-Newton) ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) พบว่าในวันที่ 5 กรกฏาคม ปี 2008 จู่ๆดาวจิ๋วดวงนี้ได้ระเบิดรังสีเอ็กซเรย์ออกมา การระเบิดนี้มีความรุนแรงมากกว่าการระเบิดที่รุนแรงที่สุดของดวงอาทิตย์ถึง 10 เท่า แม้จะกินเวลาเพียงไม่กี่นาที แต่นักดาราศาสตร์ก็ไม่มีใครคาดหวังว่าจะได้เจอปรากฏการณ์อะไรแบบนี้ เพราะดาวจิ๋วมีอุณหภูมิพื้นผิวเพียงแค่ประมาณ 1,826 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับอุณหภูมิพื้นผิวของดวงอาทิตย์ที่สูงถึง 5,726 องศาเซลเซียส 

“นี่เป็นส่วนที่น่าสนใจที่สุดในการค้นพบนี้ เพราะว่าเราไม่ได้คาดหวังว่าดาวเคราะห์แคระแอลจะสามารถสะสมพลังงานภายในสนามแม่เหล็กมากพอที่จะสามารถระเบิดออกมาได้” Beate Stelzer นักดาราศาสตร์จากประเทศเยอรมัน กล่าtว

(หอสังเกตการณ์เอ็กซเรย์ เอ็กซ์เอ็มเอ็ม-นิวตัน Cr.ภาพ ras.ac.uk)


Andrea De Luca ผู้นำในโปรเจกต์เอ็กซ์เอ็มเอ็ม-นิวตัน จากองค์กร INAF เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ได้ทำการศึกษาค่าความแปรปรวนที่เกิดขึ้นในอวกาศจากข้อมูลที่ถ่ายโดยหอสังเกตการณ์เอ็กซ์เอ็มเอ็ม-นิวตัน ตลอด 13 ปีที่ผ่านมานี้ รวมทั้งสิ้นประมาณ 400,000 ชิ้น ซึ่ง Andrea พบว่ามีดาวดวงอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถปล่อยซุปเปอร์แฟลร์ออกมาจากส่วนสเปกตรัมของดาวได้ แต่มีเพียงแค่ดาวจิ๋วดวงนี้เท่านั้นที่พบว่ามีการปล่อยคลื่นรังสีเอ็กซเรย์ออกมาด้วย
ถึงแม้จะมีเหล่านักดาราศาสตร์มากมายที่พยายามตอบคำถามที่ว่า ดาวเคราะห์แคระแอลดวงนี้เกิดระเบิดขึ้นมาได้อย่างไร แต่สุดท้ายแล้วทฤษฎีเหล่านี้ก็ยังมีช่องโหว่งอยู่มากมายหลายจุด จึงทำให้เรื่องของดาวเคราะห์จิ๋วดวงนี้ยังคงเป็นปริศนาสำหรับนักดาราศาสตร์ต่อไป 
Cr.ภาพ newatlas.com
Cr.https://blog.eduhub.tv/j0331-27-ดาวจิ๋วที่ระเบิดพลังได้มากกว่า-ดวงอาทิตย์/ By admin

 2020 CD3


ดวงจันทร์ขนาดจิ๋ว หรือ "มินิมูน" ที่กำลังโคจรรอบโลก ถูกตรวจพบโดยนักดาราศาสตร์ในเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา  เมื่อคืนวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2020 โดยนักดาราศาสตร์จาก โครงการสำรวจอวกาศแคทลินา (Catalina Sky Survey) แคคเปอร์ เวียร์ซโชส (Kacper Wierzchos) และ เธียโดร์ เพรน (Theodore Pruyne)

นักดาราศาสตร์ของ Catalina Sky Survey ได้รับการสนับสนุนจากนาซาในการค้นหาและติดตามวัตถุใกล้โลก โดยเฉพาะวัตถุที่อาจเป็นภัยคุกคามต่อโลก โดยมีที่ตั้งอยู่ที่ห้องทดลองเกี่ยวกับดาวเคราะห์และดวงจันทร์ของมหาวิทยาลัยอริโซน่า ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยพวกเขาระบุว่า วัตถุอวกาศชิ้นนี้เป็นดาวเคราะห์น้อย มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 - 3.5 เมตร ทำหน้าที่เสมือน “ดวงจันทร์จิ๋ว” ที่โคจรรอบโลกของเรา การโคจรของดวงจันทร์จิ๋วแสดงให้เห็นว่าได้เข้าสู่วงโคจรของโลกเมื่อ 3 ปีก่อน

ต่อมาในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ศูนย์ดาวเคราะห์น้อยแห่งสหภาพดาราศาสตร์นานาชาติ The Internation Astronomical Union Minor Planet Center (IAU MPC) ได้ประกาศการค้นพบ ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ โดยตั้งชื่อว่า “2020 CD3” ซึ่งการรวมวงโคจรของดาวเคราะห์นี้ ชี้ให้เห็นว่า ดาวเคราะห์ดวงนี้จะเข้ามาอยู่ในวงโคจรของโลกเพียงแค่ชั่วคราว

การค้นพบครั้งนี้เป็น "เรื่องใหญ่" เพราะนี่คือ “การค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงที่ 2” และเคยมีการค้นพบวัตถุอวกาศชิ้นแรกมาแล้ว โดยเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2006 โดย Catalina Sky Survey เช่นกัน วัตถุนี้มีชื่อว่า “2006 RH120” เป็นหินอวกาศที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ และผ่านเข้ามาใกล้โลกทุก 20-30 ปี ซึ่งถูกดึงดูดไว้โดยแรงโน้มถ่วงของโลก และคงอยู่จนถึงราวเดือนกันยายน 2550 ก่อนที่มันจะพุ่งออกจากโลกเข้าหาระบบสุริยะ
อย่างไรก็ตามตอนนี้นักดาราศาสตร์คิดว่ามินิมูนใหม่นี้ได้ถูกเหวี่ยงออกไปอีกครั้งจากวงโคจรของเราในวันที่ 7 มีนาคม และกลับมาเดินทางเพื่อเข้าสู่วงโคจรรอบดวงอาทิตย์  

2020 CD3 อาจเป็นดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กหรือแม้แต่ก้อนเล็ก ๆ จากดวงจันทร์ของเราที่แตกออกจากผลกระทบกับหินอวกาศอื่นและผลักเข้าสู่วงโคจรของโลก ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตามน่าเสียดายที่ช่วงเวลาสั้น ๆ ของเราที่มีหินเป็นดวงจันทร์ดวงที่สองจะไม่เกิดขึ้นอีกเป็นเวลานาน ในขณะที่ CD3 ปี 2020 จะเข้าใกล้โลกอีกครั้งในเดือนมีนาคมปี 2044
เรียบเรียง รัชนีวรรณ บารมี
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารวิทยาศาสตร์ อพวช.
ที่มา 
https://fox6now.com/2020/02/26/temporary-mini-moon-discovered-orbiting-earth/?fbclid=IwAR1CTiajM9IqWJ0wE6kRq4aJ_GGaO1L4bRoLngbF7J2u-lfQWuhE3tPseSE
Cr.http://www.nsm.or.th/other-service/1982-online-science/knowledge-inventory/science-news/science-news-nsm/4251-mini-moon.html
Cr.https://www.space.com/minimoon-2020-cd3-gone-earth-orbit.html

Tiny black hole


(นักดาราศาสตร์บางคนกล่าวว่า ดาวเคราะห์หมายเลข 9  แท้จริงแล้วไม่ใช่ดาวเคราะห์ หากแต่เป็นหลุมดำขนาดจิ๋ว) (จาก nagualdesign/Tom Ruen/Wikimedia commons)

ในขณะที่นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าดาวเคราะห์หมายเลข 9 มีอยู่จริงและกำลังมองหาอยู่ แต่นักฟิสิกส์สองคนกลับมองถึงความเป็นไปได้อีกทางหนึ่ง
หนึ่งในนั้นคือ จาคับ โชลตซ์ นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเดอรัมในอังกฤษ โชลตซ์กล่าวว่า บางทีวัตถุนั้นอาจไม่ใช่ดาวเคราะห์ก็ได้ แต่อาจเป็นสิ่งที่ลึกลับ
ที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการกำเนิดเอกภพ เรียกว่า "หลุมดำดึกดำบรรพ์"

นักเอกภพวิทยาเชื่อว่ายังมีหลุมดำอีกชนิดหนึ่งที่มีต้นกำเนิดต่างไป เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคที่เอกภพเริ่มกำเนิดขึ้น ขณะนั้นเอกภพยังไม่มีดาวฤกษ์ มีอุณหภูมิและความหนาแน่นมหาศาล ความไม่สม่ำเสมอของเอกภพทำให้สสารในบางบริเวณถูกบีบอัดจนมีความหนาแน่นเกินขีดจำกัด กลายเป็นหลุมดำขึ้นมา การที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของเอกภพ จึงมีชื่อเรียกว่า หลุมดำดึกดำบรรพ์ หลุมดำประเภทนี้มีมวลไม่สูงมาก แบบจำลองบางแบบแสดงว่าหลุมดำดึกดำบรรพ์มีมวลเพียงไม่กี่เท่าของโลกเท่านั้น หลุมดำที่มีมวลระดับนี้มีขนาดของขอบฟ้าเหตุการณ์เล็กมาก จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า " หลุมดำจิ๋ว "

"หลุมดำที่มีมวลมากกว่าโลกห้าเท่าจะมีขนาดของขอบฟ้าเหตุการณ์ใกล้เคียงกับผลองุ่นเท่านั้น หลุมดำที่มีมวลสิบเท่าของโลกก็จะมีขนาดของขอบฟ้าเหตุการณ์ประมาณลูกโบว์ลิ่ง" เจมส์ อันวิน นักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยชิคาโก หนึ่งในผู้ร่วมงานวิจัยอธิบาย 

แต่ขนาดไม่ใช่เรื่องสำคัญ มวลต่างหากที่มีผลต่อวัตถุดวงอื่น หากหลุมดำจิ๋วดวงหนึ่งเข้ามาในระบบสุริยะ หลุมดำนั้นก็อาจโคจรรอบดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง หากมีมวลเท่ากับดาวเคราะห์หมายเลข 9 และโคจรในตำแหน่งเดียวกับดาวเคราะห์หมายเลข 9 ก็จะส่งแรงดึงดูดรบกวนวัตถุดวงอื่นเช่นเดียวกับดาวเคราะห์หมายเลข 9  อีกสิ่งหนึ่งที่ดาวเคราะห์หมายเลขเก้ากับหลุมดำบรรพ์เป็นเหมือนกันก็คือ ทั้งสองยังเป็นวัตถุตามทฤษฎีเท่านั้น ยังไม่มีการพบวัตถุเช่นนี้จริง ๆ 
Cr.http://thaiastro.nectec.or.th/news/3476/โดย วิมุติ วสะหลาย

(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่