JJNY : 'ทวี'จี้คลอดกม.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย/ศก.ไทยชนะแค่หมู่เกาะโซโลมอน/เอกชนโอดรัฐลืม/ซูเปอร์โพลชี้ยุบสภาดีที่สุด

'ทวี' จี้คลอดกม.ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย คุ้มครองความปลอดภัยปชช. 
https://www.khaosod.co.th/politics/news_4308413
 

 
'ทวี' ตามหาหลักประกันความปลอดภัยของประชาชนจากการ ถูกซ้อมทรมาน และ บังคับสูญหาย เผยกฎหมายร่างเสร็จตั้งแต่ปี 57 ก่อนครม. มีมติถอนร่าง
 
วันที่ 13 มิ.ย. พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) กล่าวในเวทีเสวนา "ตามหาวันเฉลิม" บางตอนถึงร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย หรือเรียกสั้น ๆ ว่า กฎหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ว่า ตนกับนายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นด้วยว่าต้องผลักดันในเกิดเป็นพระราชบัญญัติขึ้น ในหลักการทั่วไปของกฎหมายที่มีโทษทางอาญา
 
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า คือ กฎหมายต้องทำให้คนทุกคนได้รับความยุติธรรม, กฎหมายต้องสร้างความเสมอภาคให้กับคนทุกคน, กฎหมายต้องคุ้มครองคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน และการประทุษร้ายต่อเสียชีวิตและร่างกายของบุคคลด้วยวิธีการนอกกฎหมายจะทำไม่ได้เด็ดขาด
 
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ในเรื่องกฎหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย ส่วนตัวได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องเมื่อปี พ.ศ. 2552 ถึงต้นปี 2554 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นรองปลัดกระทรวงยุติธรรมที่กำกับกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ที่ภายหลังประเทศไทยรับอนุสัญญาเรื่องการต่อต้านการทรมาน เมื่อปี 2550  กระทรวงยุติธรรมโดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ เป็นหน่วยดำเนินการศึกษาที่ตนเป็นประธานการประชุมรับฟังรายงานคืบหน้าเป็นประจำ
 
โดยให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นผู้วิจัย ได้เชิญหลายฝ่ายเข้ามาประชุมระดมสมองความคิดเห็นจากทุกฝ่าย มีแนวคิดเป็น 2 ทาง คือการพยายามเอาเรื่องนี้ไปใส่ในกฎหมายอาญาและวิอาญาที่ขาดหายไป คือ อัตราโทษมันจะต่ำไป และไม่มีเรื่องการเยียวยา กับอีกแนวคิด คือร่างพระราชบัญญัติเฉพาะ ต่อมาปี 2554 ตนได้ย้ายไปเป็นเลขา ศอ.บต. เรื่องยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา
 
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า อยากจะเรียนคำพูดที่เป็นอมตะว่า "ชนชั้นใด เป็นผู้เขียนกฎหมาย กฎหมายก็มุ่งจะรับใช้ชนชั้นนั้น" แม้กฎหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหาย จะเป็นเรื่องบังคับให้ต้องมีเพราะประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ
 
    "จากข้อมูลพบว่า กฎหมายร่างเสร็จ ตั้งแต่ปี 2557 เสนอ ครม. ส่งไปกฤษฎีกา และส่งกลับมา ครม. จากนั้นได้ส่งให้สภานิติบัญญัติ หรือ สนช. กฎหมายฉบับนี้ได้ตีไปตีมาวิ่งไปกลับ เพื่อให้ยืนยันถ้อยคำอยู่ตลอดเพื่อประวิงเวลา ประมาณ 7 ครั้ง ในขณะที่ในช่วง สนช. นั้น มีกฎหมาย หรือ พระราชบัญญัติถูกตราขึ้นใหม่ ประมาณ 412 ฉบับ ยังไม่นับรวมคำสั่งประกาศ คสช. และหัวหน้า คสช. อีกประมาณ 500 ฉบับ ซึ่งกฎหมายมาส่งพิจารณาให้รัฐบาลและสนช.ภายหลัง ร่างพ.ร.บ.ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายฯ" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
 
เลขาธิการ ปช. กล่าวต่อว่า ท้ายสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีมติ ครม. ให้ถอนร่าง ป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2562 เอามาเริ่มต้นใหม่ แสดงถึงการขาดความจริงใจและไม่ต้องการให้กฎหมายฉบับนี้เกิด เห็นว่ากฎหมายสามารถรับใช้อำนาจ [เผล่ะจัง] ได้นั้นเอง เพราะ [เผล่ะจัง] มีมุมมองเรื่องความมั่นคงของรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐอยู่เหนือความมั่นคงของประชาชน พรรคฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกันว่า จะเสนอกฎหมายและสนับสนุนภาคประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ นักสิทธิมนุษยชนที่ผลักดันให้เกิดกฎหมายป้องกันซ้อมทรมานและอุ้มหายด้วย
 
พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า มีประเด็นที่อยากจะแลกเปลี่ยนในเรื่องกฎหมาย รัฐบาลไทยหรือคนในกระบวนการยุติธรรมส่วนใหญ่มีวิธีคิดอยู่ในกรอบที่เรียกว่า Crime control model คือ เจ้าหน้าที่จะมองว่ามุ่งที่จะควบคุม ปราบปราม อาชญากรรมเป็นสำคัญ แต่ถ้าเป็นหลักการประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และภาคประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย จะมีแนวคิดที่เรียกว่า due process model ก็คือว่า ต้องเน้นหนักถึงความเป็นธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การให้ความสำคัญของกระบวนการและขั้นตอนที่ชอบโปร่งใสไม่ไปละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
    "ความจริงทั้ง 2 รูปแบบต้องการค้นหาความจริงเป็นเป้าประสงค์สุดท้ายเหมือนกัน ที่ต่างกันคือ วิธีแรกถ้าอย่างไรเอาความจริงให้เกิด แม้จะทรมานก็ได้เพื่อความจริง สมัยก่อนจึงเห็นว่าใครจับผู้ต้องหาได้ จะเป็นฮีโร่ ในเบื้องหลังของฮีโร่ก็ไม่สนใจ" เลขาธิการ ปช. กล่าว
  
พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า จะเห็นว่าทั้ง 2 รูปแบบ นี้เราจะมีจุดยึดเหมือนกัน ก็คือ "กฎหมาย" ทีนี้เรื่องกฎหมายตนถือว่าเป็นรากเหง้าที่สำคัญของความยุติธรรม อย่างที่บอกว่ากฎหมายลักษณะที่กล่าวมาแล้วข้าต้น กฎหมายต้องมุ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชนมากที่สุด ก็คือประชาธิปไตย แล้วในมุมของประชาธิปไตยเขาบอกว่า "อาชญากรรมจะต้องเป็นภยันตรายต่อสังคม" ไม่ใช่ "ภยันตรายต่อชื่อเสียงของคนใดคนหนึ่ง หรืออารมณ์ของคนใดคนหนึ่ง" อันนี้อยากให้เข้าใจ
 
ทีนี่พอเราจึงเห็นว่า ถ้ากฎหมายออกโดยผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มหรือผู้มีอำนาจไม่ใช่กฎหมายที่ดี อย่างรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 4 เขียนไว้ดีมาก 'ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับการคุ้มครอง' แต่ข้อความในวรรค 2 'ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอ'
 
    "ทุกท่านทราบหรือไม่ว่า มาตรา 279 สุดท้ายของรัฐธรรมนูญ บรรดาประกาศคำสั่งหรือการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คำสั่งของหัวหน้า คสช. ที่ตนบอก 500 เนี่ยยังมีอยู่ และยังให้เป็นอยู่ ในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เริ่มต้นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ขัดหลักการประชาธิปไตยแล้ว เพราะคำสั่ง คสช. หรือหัวหน้า คสช ล้วนละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และสิทธิมนุษย์ชน ที่ค้างอยู่ มันยังใช้ได้" พ.ต.อ.ทวี กล่าว
 
เลขาธิการ ปช. กล่าวด้วยว่า ขอเสนอมุมมองในมิติของการบังคับใช้กฎหมาย ที่ตนชอบนิยามหนึ่งในทางอาชญาวิทยา คำว่า "อาชญากร" ไม่หมายความรวมถึงผู้ที่กระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดเท่านั้น แต่ให้รวมถึง ผู้ร่างกฎหมาย ผู้บงการให้ร่างกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย
 
พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า วันนี้เราน่าจะถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องมาปฏิรูป ยกเลิกกฎหมาย หรือทำกฎหมายใหม่เริ่มต้นที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลย ตนคิดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดวันนี้ ทำอย่างไรจะให้ประชาชนหวงแหนเป็นเจ้าของกฎหมายให้ได้ ทำอย่างไร จะให้กฎหมายเป็นประชาธิปไตยให้ได้ เป็นกฎหมายให้เกิดความยุติธรรมตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความยุติธรรมตามกฎหมาย ผู้กระทำผิดเอาตัวมาลงโทษ ไม่ปล่อยให้ผู้กระทำผิดลอยนวล
 

   
เปิดรายงานธนาคารโลก เศรษฐกิจไทย ชนะแค่หมู่เกาะโซโลมอน
https://voicetv.co.th/read/FxByILOda
 
เวิลด์แบงก์คาดจีดีพีโลกปีนี้ติดลบร้อยละ 5.2 ไทยติดลบร้อยละ 5.0 รองบ๊วยภูมิภาค ฟากเวียดนาม-เมียนมา-ลาว จีดีพียังเป็นบวก ประเมินปี 2564 เศรษฐกิจทุกประเทศมีลุ้นพลิกกลับมาเป็นบวก
 
รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ประจำปี 2563 จากธนาคารโลก ชี้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปีนี้จะหดตัวติดลบร้อยละ 5.2 ซึ่งเป็นภาวะถดถอยที่รุนแรงที่สุดนับตั้งสงครามโลกครั้งที่สอง นอกจากนี้ ตัวเลขรายได้ประชาชาติหรือรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรยังต่ำที่สุดในรอบ 150 ปี
 
กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้จะลดลงราวร้อยละ 7 เนื่องจากฝั่งอุปสงค์ อุปทาน สายพานการผลิต การค้า และระบบการเงินถูกแทรกแซงจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 เป็นหลัก กลุ่มตลาดเกิดใหม่และประเทศที่กำลังพัฒนา (EMDEs) อาจต้องเผชิญหน้ากับการหดตัวของจีดีพีถึงร้อยละ 2.5 ในปีนี้ หลังประเทศในกลุ่มนี้เติบโตต่อเนื่องตลอด 6 ปีที่ผ่านมา
 
ส่วนตัวเลขคาดการณ์รายได้ประชาชาติของกลุ่มประเทศ EMDEs จะตกลงราวร้อยละ 3.6 ซึ่งจะส่งผลร้ายซ้ำเติมให้ประชาชนหลายล้านคนในประเทศเหล่านี้ตกอยู่ภายใต้ภาวะ ‘ความยากจนแร้นแค้น’ (extreme poverty) 
 
ธนาคารโลกชี้ว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตครั้งนี้คือประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจพึ่งพาอุปสงค์ภายนอก อาทิ การค้าโลก การท่องเที่ยว การส่งออก และเงินทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่ง EMDEs เป็นกลุ่มประเทศที่อ่อนไหวกับภาวะนี้มากที่สุด
 
อีกทั้งมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้เกิดการหยุดเรียนและปัญหาการเข้าถึงระบบสาธารณสุขพื้นฐานจะสร้างผลกระทบระยะยาวต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาวเช่นเดียวกัน 
 
เซย์ลา พาซาร์บาซิโอกลู รองประธานฝ่ายการพัฒนาอย่างเป็นธรรม ระบบการเงินและสถาบัน ธนาคารโลก ชี้ว่า 
 
"นี่เป็นการประเมินที่ทำให้พวกเราตาสว่างอย่างสุดซึ้ง กับมิติว่าวิกฤตจะทิ้งแผลเป็นระยะยาวและสร้างให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ กับโลกของเรา
 
ถ้าไม่นับประเทศหมู่เกาะ...ไทยเลวร้ายสุด 
 
ธนาคารโลกประเมินว่าจีดีพีทั้งปีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2510 สะท้อนให้เห็นผลกระทบอย่างชัดเจนจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้ต่อสู้กับโรคระบาด ประกอบกับตลาดการเงินที่ฝืดเคืองและอัตราการส่งออกที่ลดลง
 
ทั้งนี้ แม้จะมีความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้า แต่ธนาคารโลกประเมินว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจะกลับมาในระดับร้อยละ 6.6 ในปี 2564 เมื่อภาวะโรคระบาดหมดไป อุปสงค์จะฟื้นตัวและระบบการเงินกลับเข้าสู่สภาพปกติอีกครั้ง 
 
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดที่อาจอยู่ยาวนานกว่าที่คาดไว้ยังคงเป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลเสียโดยตรงต่อระบบการเงินที่ตึงตัวต่อเนื่อง รวมไปถึงการค้าโลกที่จะได้รับผลกระทบต่อเนื่องทั้งจากโควิด-19 และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน 
  
เมื่อเทียบจีดีพีรายประเทศในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก พบว่า หมู่เกาะโซโลมอนมีตัวเลขคาดการณ์จีดีพีติดลบมากที่สุดที่ร้อยละ 6.7 ตามมาด้วยไทยที่ติดลบร้อยละ 5 ซึ่งธนาคารโลกชี้ว่า มาจากมาตรการล็อกดาวน์และการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ขณะที่ติมอร์-เลสเต และหมู่เกาะฟิจิ ตามมาในอันดับ 3 และ 4 ที่ตัวเลขติดลบร้อยละ 4.8 และ 4.3 ตามลำดับ 
 
สำหรับประเทศที่ยังมีจีดีพีในแดนบวก ได้แก่ เวียดนามที่ร้อยละ 2.8 เมียนมาที่ร้อยละ 1.5 ลาวกับจีนที่ร้อยละ 1 และอินโดนีเซียที่ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0 โดยรายงานชี้ว่าทุกประเทศในภูมิภาคนี้จะมีจีดีพีกลับขึ้นมาเป็นบวกในปี 2564 ยกเว้นแค่หมู่เกาะโซโลมอนเท่านั้นที่จะยังติดลบในสัดส่วนร้อยละ 0.3
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่