หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำคัญต่อการสอบท้องถิ่นอย่างไร

จากการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนหรือ ก.พ. ได้ออกหนังสือเวียน แจ้งเกี่ยวกับหลักสูตรการสอบ ก.พ.ภาค ก. ที่มีการเพิ่ม วิชาความรู้และลักษณะการเป็นข้าราชการที่ดี เข้าไปในการสอบท้องถิ่น โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 นั้น ในปี 2563 เพื่อให้คนที่กำลังวางแผนอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ ก.พ. ท้องถิ่นมี แนวข้อสอบ ก.พ. กฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบบริหารราชการที่ดี  ก.พ. ออนไลน์ มีบทความดี ๆ มาแนะนำ

หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี คืออะไร
หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นในสังคมไทยช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2540 ซึ่งเชื่อว่าสาเหตุสำคัญมาจากความบกพร่อง อ่อนแอ หย่อนประสิทธิภาพของกลไกด้านการบริหารจัดการทั้งภาครัฐและเอกชน จึงต้องวางรากฐานในการบริหารราชการแนวใหม่ สำหรับการสร้างระบบธรรมาบาล ซึ่งหมายถึง “หลักการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี” หรือ Good Governance  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2542 และถือเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกส่วนราชการต้องถือปฏิบัติ

หลักการพื้นฐาน ในการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี
การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี หรือธรรมาภิบาล เป็นวิถีทางของการใช้อำนาจในการใช้ทรัพยากรเพื่อการบริหารองค์กร โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีหลักการพื้นฐานอยู่ 6 ประการ ได้แก่
         1. หลักนิติธรรม หมายถึง การตรากฎหมายที่ถูกต้อง เป็นธรรม การดำเนินการให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย การกำหนดกฎ กติกา และมีการปฏิบัติตามกฎ กติกาที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัดโดยถือว่าเป็นการปกครองภายใต้กฎหมายมิใช่ตามอำเภอใจหรืออำนาจของตัวบุคคล
         2. หลักคุณธรรม หมายถึง การยึดมั่นในความถูกต้องดีงาม โดยรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยึดหลักนี้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม และสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน เพื่อให้คนไทยมีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัย ประกอบอาชีพสุจริตจนเป็นนิสัยประจำชาติ
         3. หลักความโปร่งใส หมายถึง การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในชาติ โดยปรับปรุงกลไกการทำงานขององค์กรทุกองค์กรให้มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวก และมีกระบวนการให้ประชาชนตรวจสอบความถูกต้องได้ชัดเจน
         4. หลักการมีส่วนร่วม หมายถึง การเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมรับรู้และแสดงความคิดเห็น ตัดสินใจปัญหาสำคัญของประเทศ ไม่ว่าด้วยวิธีการแสดงความคิดเห็น การไต่สวนสาธารณะ และการแสดงประชามติอื่น ๆ
         5. หลักความรับผิดชอบ หมายถึง การตระหนักในสิทธิหน้าที่ ความสำนึกในความรับผิดชอบต่อสังคม การใส่ใจปัญหาสาธารณะของบ้านเมืองและการกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา ตลอดจนการเคารพในความคิดเห็นที่แตกต่างและความกล้าที่จะยอมรับผลดีและผลเสียจากการกระทำของตนเอง
         6. หลักความคุ้มค่า หมายถึง การบริหารจัดการและใช่ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ส่วนรวม โดยรณรงค์ให้คนไทยมีความประหยัด ใช้ของอย่างคุ้มค่า สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และรักษาพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติให้มีสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ทำไม ต้องมีการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี
         1. การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี เป็นการบริหารองค์กรโดยมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
         2. หลักการบริหารครอบคลุมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ
         3. การบริหารอย่างมีความรับผิดชอบ (ภาระรับผิดชอบ)
         4. มีกฎหมาย กฎระเบียบในการปฏิบัติงาน
         5. หลักการบริหารมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้
         6. มีข้อมูลข่าวสารที่สาธารณะชนสามารถเข้าถึงได้

องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมายถึง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) คือหน่วยงานของรัฐที่มีการดำเนินงานเป็นอิสระจากส่วนกลาง ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการต่าง ๆ ในท้องถิ่นของตน โดยผู้บริหาร อปท.เป็นบุคคลในท้องถิ่นที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ
การปกครองท้องถิ่น หมายถึง การปกครองตนเองของประชาชนในชุมชนที่มีอำนาจอิสระ จากการกระจายอำนาจการปกครองของรัฐบาลให้ท้องถิ่น โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ซึ่งมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
         1. เป็นองค์กรที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีกฎหมายรับรองฐานะ
         2. มีสภาและผู้บริหารที่มาจากการเลือกตั้ง
         3. มีอิสระในการบริหารจัดการจากรัฐในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด
         4. มีเขตการปกครองที่ชัดเจน
         5. มีงบประมาณรายได้เป็นของตนเอง
         6. มีอำนาจในการจัดเก็บภาษีท้องถิ่นด้วยตัวเอง
         7. มีอำนาจหน้าที่เหมาะสมต่อการให้บริการ
         8. มีอำนาจออกข้อบังคับเป็นกฎหมายท้องถิ่น
         9. มีสภาท้องถิ่น และ/หรือ ผู้บริหารท้องถิ่น มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตพื้นที่
        10. มีความสัมพันธ์กับส่วนกลางในฐานะเป็นหน่วยงานระดับรองของรัฐ

นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังประกอบด้วย กลุ่มบุคคล 3 กลุ่มหลัก ที่ทำหน้าที่ตามภารกิจเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ ดังนี้
         1. ฝ่ายนิติบัญญัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ สภาท้องถิ่น ซึ่งสมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน
         2. ฝ่ายบริหาร คือ บุคคลที่ทำหน้าที่บริหารงาน กำหนดนโยบายจัดทำงบประมาณควบคุมการทำงานของฝ่ายปฏิบัติงาน
         3. ฝ่ายปฏิบัติงาน คือ กลุ่มบุคคลที่ปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามที่ได้รับมอบหมายจากฝ่ายบริหารในฐานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายบริหารท้องถิ่น

ประเภทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ตามหลักของการกระจายอำนาจทางการปกครอง คือ การจัดระเบียบการปกครองซึ่งรัฐหรือส่วนกลางมอบอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะบางอย่าง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปดำเนินการด้วยงบประมาณและเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่น โดยราชการบริหารส่วนกลางเพียงแต่กำกับดูแลเท่านั้น สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย จำแนกออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ

1. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป เป็นรูปแบบการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วประเทศทุกจังหวัด มี 3 ประเภทได้แก่
         - เทศบาล
         - องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
         - และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)
สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบทั่วไป ในแต่ละประเภทจะมีการกำหนดลักษณะหรือองค์ประกอบให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ คือ จะมีกฎหมายกำหนดวิธีการในการจัดตั้ง รูปแบบการบริหารจัดการ อำนาจหน้าที่ วิธีการในการจัดทำบริการสาธารณะ การบริหารงานบุคคล การคลังและงบประมาณเป็นแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศ

2.การปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีลักษณะหรือ
องค์ประกอบบางประการแตกต่างไปจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่จะเป็นเขตเมืองใหญ่ เช่น เมืองหลวงหรือเมืองท่องเที่ยว ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะใช้รูปแบบทั่วไปมาใช้ในการปกครอง เนื่องจากเป็นท้องถิ่นที่มีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก เป็นท้องถิ่นที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น หรือเป็นท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ปัจจุบันการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่
         - กรุงเทพมหานคร
         - และเมืองพัทยา

หลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในฐานะที่เป็นองค์กรที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด และเป็นหน่วยดำเนินการ ซึ่งทำหน้าที่แทนรัฐในการจัดบริการสาธารณะ การบริหารจัดการภารกิจต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบแก่ประชาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชนเป็นหลัก โดยกระทรวงมหาดไทยได้จัดทำหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในความรับผิดชอบ ดังนี้
1. มีเป้าหมาย เป้าหมายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ได้แก่
      1.1  มุ่งให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน
      1.2 มุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
      1.3 มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
      1.4 ลดขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติงานที่เกินความจำเป็น
      1.5 ปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
      1.6 ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองต่อความต้องการ
      1.7 มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ

2. มีแนวทางปฏิบัติ แนวทางปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ได้แก่การบริหารภารกิจ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน ดังนี้
       2.1 เปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนสามารถติดตามตรวจสอบได้ ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร พ.ศ.2540 (แนวข้อสอบ ก.พ. กฎหมาย)
       2.2 จัดวางระบบควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานตามระเบียบคณะกรรมการ ตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการกำหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ.2544 (แนวข้อสอบ ก.พ. กฎหมาย)
       2.3เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี และการจัดซื้อจัดจ้าง ผ่านช่องทางการ สื่อสารที่หลากหลายขององค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้โดยสะดวก
        2.4 ก่อนดำเนินการบริหารจัดการในด้านใด ต้องจัดให้มีการศึกษาวิเคราะห์ผลดีผลเสีย กำหนด ขั้นตอนการดำเนินงานที่โปร่งใส มีกลไกตรวจสอบได้ในแต่ละขั้นตอน
        2.5 ในภารกิจที่มีผลกระทบต่อประชาชน นอกจากต้องดำเนินการตามข้อ 1-4 และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ยังต้องชี้ทำความเข้าใจเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์ที่ส่วนรวมได้รับ

3. บริหารงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ต่อภารกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้
        3.1 จัดทำแผนพัฒนา (แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาและแผนพัฒนาสามปี) ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 (แนวข้อสอบ ก.พ. กฎหมาย)
        3.2 ให้มีการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนพัฒนา และนำผลที่ได้มาทบทวนปรับปรุง
        3.3 นำแผนพัฒนาสามปีมาใช้เป็นกรอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
        3.4 ให้มีการจัดทำข้อตกลงการปฏิบัติราชการระหว่างข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นกับผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยผุ้บริหารจะทำหน้าที่กำกับการปฏิบัติภารกิจให้ประสบความสำเร็จและเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย
        3.5 ในกรณีที่ภารกิจใดมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หรือเป็นภารกิจที่ใกล้เคียงต่อเนื่องกัน ให้พิจารณาบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ
        3.6 ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ในหน่วยงาน โดยจัดให้มีระบบข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างยืน

อ่านเพิ่มเติมได้จาก  https://gorporonline.com/articles/principles-of-good-corporate-governance-important-to-the-local-exam/

สินค้าอื่นๆ ของ สมาชิกหมายเลข 5077072

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  การเมืองท้องถิ่น งานราชการ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่