สุดยอดการค้นพบทางบรรพชีวินวิทยา ปี 2019

พบมนุษย์โบราณสายพันธ์ใหม่ในฟิลิปปินส์
ฟันที่คล้ายกับมนุษย์ปัจจุบันอย่าง Homo luzonensis


 11 เมษายน ค.ศ. 2019  ทีมนักโบราณคดีที่นำโดยนักบรรพมานุษยวิทยาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งปารีส ได้ออกมาประกาศการค้นพบฟอสซิลมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ผู้มีชีวิตอยู่เมื่อราวๆ 50,000 ปีก่อนที่ถ้ำคาลเลา ที่เกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์

ย้อนไปในปีค.ศ. 2007  ทีมนักบรรพชีวินวิทยาออสเตรเลียได้ค้นพบกระดูกฝ่าเท้าของมนุษย์ที่มีอายุมากกว่า 67,000 ปี (จากการหาอายุด้วยวิธี U-series) ภายในถ้ำแคลลอว์ (Callao) ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งถือเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของการอาศัยอยู่ของมนุษย์ในหมู่เกาะฟิลิปปินส์
ล่าสุดนี้ทีมนักบรรพชีวินวิทยาฝรั่งเศสและออสเตรเลียได้เปิดเผยการค้นพบชิ้นส่วนเพิ่มเติมของฟันจากชั้นตะกอนเดียวกันกับที่ค้นพบกระดูกฝ่าเท้า ภายในถ้ำแคลลอว์ พวกเขาพบว่าลักษณะของฟันนั้นแตกต่างจากมนุษย์สกุลโฮโม ("Homo") สายพันธุ์อื่นๆ อาทิ "โฮโม เซเปียนส์" ("Homo sapiens") และ "โฮโม ฟลอเรสิเอนซิล" ("Homo floresiensis")

ฟันดังกล่าวมีลักษณะกึ่งกลางระหว่างมนุษย์โบราณและมนุษย์ปัจจุบัน พวกเขาจึงได้ตั้งชื่อให้กับมนุษย์โบราณสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า "โฮโม ลูซอนเอนซิส" ("Homo luzonensis") นอกจากนั้นทีมวิจัยเชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่มนุษย์สายพันธุ์นี้ได้มาถึงหมู่เกาะฟิลิปปินส์เมื่อประมาณ 700,000 ปีที่ผ่านมา จากการค้นพบเครื่องมือหินในชั้นตะกอนที่มีอายุเก่าแก่กว่า 

เอกสารอ้างอิง: A new species of Homo from the Late Pleistocene of the Philippines, Nature (2019). DOI: 10.1038/s41586-019-1067-9 , https://www.nature.com/articles/s41586-019-1067-9
Cr. https://www.catdumb.com/homo-luzonensis-378/ By เหมียวศรัทธา
 
 
 
 
กะโหลกที่สมบูรณ์ของบรรพบุษรุษป้าลูซี่ 


ป้าลูซี่หรือ ออสตราโลพิเทคัส อะฟาเรนซิส (𝐴𝑢𝑠𝑡𝑟𝑎𝑙𝑜𝑝𝑖𝑡ℎ𝑒𝑐𝑢𝑠 𝑎𝑓𝑎𝑟𝑒𝑛𝑠𝑖𝑠) ไม่ได้อาศัยอยูในเอธิโอเปียเพียงลําพัง หลักฐานจากฟอสซิลที่พบในรัฐอะฟา ประเทศเอธิโอเปีย เผยโฉมหน้า บรรพบุรุษสายตรงของป้าลูซี่

ข้อมูลจากฟอสซิลถูกวิเคราะห์อย่างละเอียด และเผยแพร่ในวารสารเนเจอร์ กะโหลกดังกล่าวเป็นของโฮมินิดชนิด ออสตราโลพิเทคัส อะนาเมนซิส (𝐴𝑢𝑠𝑡𝑟𝑎𝑙𝑜𝑝𝑖𝑡ℎ𝑒𝑐𝑢𝑠 𝑎𝑛𝑎𝑚𝑒𝑛𝑠𝑖𝑠) คาดว่ามีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 3.8 ล้านปี โดยหาอายุจากการเทียบสัมพันธ์ของชั้นแม่เหล็กบรรพกาล

กะโหลกที่พบชี้ชัดว่ายังมีลักษณะร่วมกับลิงไร้หาง สมองมีขนาดเล็กเพียงหนึ่งในสี่ของมนุษย์ ใบหน้ายื่น โหนกแก้มใหญ่ เขี้ยวมี ขนาดเล็ก มีขากรรไกรที่แข็งแรง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเคี้ยวอาหารที่เหนียวและแข็งในช่วงหน้าแล้งที่พืชพรรณค่อนข้างขาดแคลน ลักษณะที่กล่าวมานั้นถือเป็นลักษณะเก่าแก่ของสกุล ออสตราโลพิเทคัส อย่างไรก็ตาม อะนาเมนซิส ได้ย้ายตัวเองลงมาจากต้นไม้ ก้าวเดินด้วยขาทั้งสองข้าง พาตัวเองออกสู่ที่โล่งเช่นเดียวกันกับป้าลูซี

ข้อมูลอ้างอิง 
Yohannes Haile-Selssie et al. A 3.8-million-year-old hominin cranium from Woranso-Mille, Ethiopia. 𝗡𝗮𝘁𝘂𝗿𝗲, 28 August 2019, DOI: 10.1038/s41586-019-1513-8
Cr.https://ar-ar.facebook.com/Rama9MuseumThailand/posts/2378845632371957/  RAMA9 MUSEUM


 "ไจแกนโตพิเธคัส" แท้ที่จริงแล้วเป็นญาติกับอุรังอุตัง
ไพรเมตยักษ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยปรากฏมาบนโลก (สูงประมาณ 3 เมตร หนักกว่า 600 กิโลกรัม) ที่รู้จักกันในชื่อ "ไจแกนโตพิเธคัส (แบล็คกิ)(Gigantopithecus blacki) เจ้าของฉายา "ไอ้ตีนโต" เคยอาศัยอยู่ในบริเวณป่าลึกแถบประเทศจีนตอนใต้และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อในสมัยยุคน้ำแข็ง หรือตั้งแต่ราวๆ 2 ล้านปีที่ผ่านมา

คาดว่าพวกมันได้สูญพันธุ์ไปเมื่อราวๆ 300,000 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการระหว่างไอ้ตีนโตนี้กับไพรเมตขนาดใหญ่ต่างๆ อาทิ อุรังอุตัง กอริลลา รวมไปถึงลิงสายพันธุ์อื่นๆ ยังคงคลุมเครือ เนื่องจากลักษณะของฟอสซิลที่ค้นพบนั้นยากที่จะปะติดปะต่อเรื่องราวดังกล่าว รวมไปถึงดีเอ็นเอจากฟอสซิลของพวกมันนั้นได้ถูกทำลายไปหมดสิ้นแล้วด้วยสภาพอากาศที่ร้อนชื้นในแถบบริเวณบ้านเราและจีนตอนใต้

ล่าสุดนี้ทีมนักโบราณคดีและนักพันธุศาสตร์ได้ทำการสกัดชุดโปรตีน (proteomics) จากเคลือบฟันของฟอสซิลไจแกนโตพิเธคัสที่ค้นพบจากถ้ำฉุยเฟิง (Chuifeng) จากทางตอนใต้ของประเทศจีน ซึ่งฟอสซิลนี้มีอายุราวๆ 1.9 ล้านปี โดยลำดับโปรตีนของเคลือบฟันนี้เก่าแก่กว่าที่เคยมีการสกัดมาจากฟอสซิลสัตว์อื่นๆ ก่อนหน้านี้ถึง 5 เท่า

 และเมื่อนำชุดลำดับโปรตีนนี้มาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการร่วมกับลำดับโปรตีนของไพรเมตสายพันธุ์อื่นๆ ทีมวิจัยพบว่าไจแกนโตพิเธคัสนั้นเป็นกลุ่มพี่น้อง (sister group) กับกลุ่มของอุรังอุตัง และสัตว์ทั้ง 2 กลุ่มสืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกันเมื่อประมาณ 12-10 ล้านปีที่แล้ว

การค้นพบนี้นอกจากจะเผยให้เห็นว่าเชื้อสายของไจแกนโธพิเธคัสและอุรังอุตังได้แยกออกจากกันมาตั้งแต่สมัยไมโอซีนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นอีกว่าเทคนิคการศึกษาทางด้านโมเลกุลของโปรตีนนั้นสามารถประยุกต์ใช้ย้อนกลับไปทำกับตัวอย่างที่เก่าแก่กว่าที่เคยคาดการณ์ไว้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถประยุกต์ใช้กับตัวอย่างฟอสซิลที่พบในบริเวณเขตกึ่งร้อนชื้นอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง  Enamel proteome shows that Gigantopithecus was an early diverging pongine, Nature (2019). DOI: 10.1038/s41586-019-1728-8 , https://www.nature.com/articles/s41586-019-1728-8


พบฟอสซิลมนุษย์นอกทวีปแอฟริกาที่เก่าแก่ที่สุด
หัวกะโหลกทั้งสอง "Apidima 1" และ "Apidima 2" 
สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติด้านมรดกและโบราณคดีของโมร็อกโกแถลง 7 มิ.ย.ว่า คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติได้ค้นพบซากฟอสซิลของมนุษย์สายพันธุ์โฮโม เซเปียนส์ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก บริเวณหมู่บ้าน Jbel Irhoud ใกล้กับเมือง Youssoufia ทางตอนใต้ของประเทศ

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ซากฟอสซิลที่ค้นพบล่าสุดมีอายุกว่า 300,000 ปี ซึ่งมากกว่าซากฟอสซิลที่เคยค้นพบก่อนหน้านี้ถึงหนึ่งแสนปี ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ไม่ได้มีวิวัฒนาการเฉพาะในแอฟริกาตะวันออกเท่านั้น
ด้านเนเจอร์ (Nature) วารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์สำทับว่า การค้นพบดังกล่าวไม่ได้หมายถึงมนุษย์โฮโม เซเปียนส์ มีต้นกำเนิดในแอฟริกาเหนือ แต่ได้วิวัฒนาการไปทั่วทั้งทวีปแอฟริกาอยู่ก่อนแล้ว   ทั้งนี้ มีการค้นพบซากฟอสซิลมนุษย์ยุคหินกลาง (Middle Stone Age) ในช่วงทศวรรษ 1960

ทีมนักวิจัยนำตัวอย่างกะโหลกทั้งสองไปทำการหาอายุของธาตุยูเรเนียม (U-series) ทั้งในชั้นตะกอนและจากส่วนของกะโหลกศีรษะ พบว่าหัวกะโหลก "Apidima 1" ที่คาดว่าเป็นของมนุษย์สายพันธุ์ปัจจุบัน มีอายุเก่าแก่กว่า 210,000 ปี ในขณะที่หัวกะโหลก "Apidima 2" ที่คาดว่าเป็นของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัลมีอายุน้อยกว่า คือ ประมาณ 170,000 ปี

การค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของมนุษย์สายพันธุ์ปัจจุบันที่ค้นพบนอกทวีปแอฟริกา ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องกลับมาทบทวนถึงช่วงเวลาที่มนุษย์ปัจจุบันได้อพยพออกมาจากทวีปแอฟริกา (ทฤษฎี "Out of Africa") อีกครั้ง และนอกจากนั้นทีมผู้วิจัยยังได้เสนอความเป็นไปได้ที่มนุษย์สายพันธุ์ปัจจุบันจะมีการอพยพออกมาหลายครั้ง และแน่นอนว่ามนุษย์ในปัจจุบันได้มาใช้ถ้ำเพื่อตั้งถิ่นฐานก่อนที่มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลจะมาใช้ถ้ำนี้ต่อในภายหลัง
ขอบคุณที่มา https://www.facebook.com/XinhuaNewsAgency.th/photos/a.1660406490842033.1073741828.1660335044182511/1927447617471251/?type=3&theater        
Cr.https://board.postjung.com/1030616 / โดย ิทาสแมว

พบฟอสซิลสัตว์ 4 ขา ที่เก่าแก่ที่สุด


ฟอสซิลของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มี 4 รยางค์ (ขา) หรือเตตระพอด (tetrapod) ที่เก่าแก่ที่สุดถูกค้นพบในช่วงยุคดีโวเนียนตอนปลายหรือเมื่อประมาณ 370 ล้านปี ในขณะที่ฟอสซิลรอยตีนของเตตระพอดที่เก่าแก่ที่สุดถูกค้นพบเมื่อประมาณ 390 ล้านปีที่แล้ว

 ต่อมาฟอสซิลของเตตระพอดหลากหลายสายพันธุ์ถูกค้นพบมาเมื่อประมาณ 365-359 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งมีฟอสซิลเพียงไม่กี่สายพันธุ์อย่างอิคธิโอสเตกา "Ichthyostega" และอะแคนโธสเตกา "Acanthostega" ที่ถูกเก็บรักษาสภาพไว้เกือบจะสมบูรณ์ นอกจากนั้นส่วนใหญ่แล้วฟอสซิลของสายพันธุ์อื่นๆ มักถูกค้นพบในสภาพที่ไม่สมบูรณ์มากนัก

ล่าสุดนี้นักบรรพชีวินวิทยาได้ค้นพบฟอสซิลของเตตระพอดที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์จากชั้นหินปูนในรัสเซีย ที่มีอายุประมาณ 372 ล้านปี และจากศึกษาพบว่ามันเป็นเตตระพอดสกุลและชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า "Parmastega aelidae" โดยการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคซีทีสแกนสามมิติของลักษณะหัวกะโหลกพบว่ามันมีตาที่อยู่ตั้งอยู่บริเวณด้านบนของหัว มีเส้นข้างลำตัว และมีกระดูกที่ยังเชื่อมประสานไม่ดีนัก และด้วยลักษณะดังกล่าวนี้ที่คล้ายกับที่พบในปลา และจระเข้ ทำให้คาดว่ามันเป็นสัตว์ที่อาศัยในน้ำเป็นหลัก   ฟอสซิลที่ค้นพบใหม่นี้เป็นหลักฐานของเตตระพอดที่เก่าแก่ที่สุด และมีความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา
เอกสารอ้างอิง: Pavel A. Beznosov et al. 2019. Morphology of the earliest reconstructable tetrapod Parmastega aelidae. Nature 574: 527-531; doi: 10.1038/s41586-019-1636-y
Cr.https://www.facebook.com/Dinosaursdiary/photos/บันทึกสัตว์ดึกดำบรรพ์-ฉบับที่-33-ปาร์มาสเตกา-หนึ่งในสัตว์สี่ขายุคแรกที่เก่าแก่ที/2009229285846537/

พบปรสิตกินขนไดโนเสาว์ในอำพันพม่า


11 ธันวาคม 2019 สำนักข่าว The Independent รายงานว่า นักชีววิทยาชาวจีนและอเมริกัน ค้นพบแมลงสายพันธุ์ใหม่ที่กินเลือดของไดโนเสาร์เป็นอาหาร ในอำพันอายุ 100 ล้านปี ที่รัฐกะฉิ่น ทางตอนเหนือของประเทศพม่า

แมลงไร้ปีกทั้ง 10 ตัวนี้ถูกพบใกล้กับขนของไดโนเสาร์ ภายในซากดึกดำบรรพ์ของยางไม้ (อำพัน) 2 ชิ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์ได้ข้อมูลใหม่ ๆ เกี่ยวกับต้นกำเนิดของแมลงปรสิตเล็ก ๆ ที่หากินกับนกในยุคปัจจุบัน

แมลงชนิดนี้มีชื่อว่า Mesophthirus engeli มีรูปร่างคล้ายเหา และมีกรามที่แข็งแรงมากพอ ๆ กับปรสิตที่ดูดเลือดนกในปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตที่คอยกินเลือดจากยุคจูราสสิค 201-154 ล้านปีก่อน และยุคมหายุคมีโซโซอิก 145-66 ล้านปีก่อนมาก่อนแล้ว และถึงแม้ปัจจุบันจะมีการค้นพบไดโนเสาร์มีขนอย่างแพร่หลาย แต่แมลงที่เกาะอยู่กับขนของไดโนเสาร์กลับไม่มีการค้นพบเลย จนกระทั่งมีการค้นพบครั้งนี้

นักวิจัยจาก Capital Normal University ในปักกิ่ง และ Smithsonian National Museum of Natural History ในวอชิงตันดีซี กล่าวว่า การค้นพบชี้ให้เห็นว่า ปรสิตที่เกาะติดกับขนของไดโนเสาร์ชนิดนี้ มีวิวัฒนาการในช่วงเวลาเดียวกับที่นกและไดโนเสาร์มีขนมีความหลากหลายทางสายพันธุ์

“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือแมลงเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้ร่วมกับขนของไดโนเสาร์ที่เสียหายไปบางส่วน  การค้นพบแสดงให้เห็นว่า พฤติกรรมการกินเลือดของแมลงชนิดนี้เกิดขึ้นอย่างน้อยก็ในช่วงกลางของยุคครีเทเซียส” – งานวิจัยระบุ
Cr.https://www.flagfrog.com/bloodsucking-insect-dinosaur-blood/ โดย FlyingPin

ขอบคุณที่มา Cr.https://www.facebook.com/218228675013635/photos/a.1440662592770231/1440664866103337/?type=3&theater
ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลทั้งหมดและขออนุญาตนำมา
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
พบฟอสซิลหัวกะโหลกของงูที่มีขาหลังยุคไดโนเสาร์



วิวัฒนาการของงูถือเป็นคำถามหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเหล่านักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากงูถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงความสามารถของร่างกายในการปรับตัวได้อย่างชัดเจน แต่ด้วยฟอสซิลที่มีการค้นพบมาจนถึงปัจจุบันนั้นค่อนข้างมีอยู่อย่างจำกัด ทำให้ยากที่จะเข้าใจต้นกำเนิดและวิวัฒนาการของพวกงูได้อย่างชัดเจน

ล่าสุดนี้นักบรรพชีวินวิทยาได้เปิดเผยการค้นพบฟอสซิลหัวกะโหลกที่ค่อนข้างสมบูรณ์ของงูที่มีขาหลัง หรือที่เรียกว่า "Najash" (สกุล) อายุ 70 ล้านปี ที้ค้นพบในประเทศอาร์เจนตินาเป็นครั้งแรก แต่ฟอสซิลกระดูกสันหลัง ขา และชิ้นส่วนที่แตกหักของกะโหลกของ "Najash" เคยถูกค้นพบและบรรยายมาก่อนเมื่อหลายปีที่แล้ว (ในวารสาร Nature) ว่าเป็นงูที่แสดงลักษณะกึ่งกลางระหว่างกิ้งก่าและงูในปัจจุบัน

หลังจากการค้นพบกะโหลกที่สมบูรณ์นี้ทีมวิจัยจึงได้ศึกษาและวิเคราะห์ฟอสซิลกะโหลกที่สมบูรณ์นี้ด้วยเทคนิคซีทีสแกน และพวกเขาพบว่ากะโหลกศีรษะของมันไม่ได้มีความยืดหยุ่นของข้อต่อเหมือนกับงูในปัจจุบัน และยังคงมีกระดูกขากรรไกรที่เหมือนกับกิ้งก่า





การค้นพบนี้เผยให้เห็นการพัฒนาของหัวกะโหลกจากกิ้งก่าไปเป็นงูแบบเป็นขั้นตอน (นอกจากขาที่ได้เริ่มหดหายไปแล้ว) และชี้ให้เห็นว่าแนวโน้มทางวิวัฒนาการของงู คือ การพัฒนาการกัดให้มีประสิทธิภาพ และขาได้หดหายไป นอกจากนั้นงานวิจัยนี้ยังยืนยันว่าลักษณะกึ่งกลางของสัตว์ระหว่างงูกับกิ้งก่า ก็คือ งูที่มีขาหลังสองข้างอย่าง "Najash" นั่นเอง

เอกสารอ้างอิง: F.F. Garberoglio el al., "New skulls and skeletons of the Cretaceous legged snake Najash, and the evolution of the modern snake body plan," Science Advances (2019). DOI: 10.1126/sciadv.aax5833 , https://advances.sciencemag.org/content/5/11/eaax5833
Cr.https://www.facebook.com/218228675013635/photos/a.1440662592770231/1440665036103320/?type=3&theater



จระเข้ดึกดำบรรพ์บางกลุ่มกินพืชเป็นอาหาร


นักวิจัยศึกษาฟันของจระเข้ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยใช้ลักษณะฟันที่มีความซับซ้อนมากหรือน้อย เป็นตัวบ่งบอกถึงลักษณะการกินอาหารของพวกมัน และพบว่า จระเข้ดึกดำบรรพ์ไม่ได้เป็นสัตว์กินเนื้อทั้งหมดแบบในจระเข้ปัจจุบัน แต่มีทั้งชนิดที่กินเนื้อ กินพืช และกินทั้งเนื้อและพืชหรือ omnivore ด้วย โดยนักวิจัยพบว่า ในบรรดาจระเข้ดึกดำบรรพ์นี้ มีอย่างน้อยสามกลุ่มหรืออาจจะมากถึงหกกลุ่มที่ได้วิวัฒน์ฟันที่เหมาะกับการกินพืชขึ้นมา

จระเข้ในปัจจุบันมีลักษณะทางกายวิภาคและพฤติกรรมทั่วๆไปที่เหมือนๆกัน เช่น เป็นนักล่าซุ่มโจมตีในแหล่งน้ำ และมีฟันเป็นรูปกรวย ขณะที่ในจระเข้ดึกดำบรรพ์ มีหลายชนิดที่มีลักษณะแตกต่างไปจากกจระเข้ปัจจุบัน ลักษณะหนึ่งก็คือฟันที่มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของขนาดและความซับซ้อนของฟัน ซึ่งฟันที่มีลักษณะซับซ้อนนี้ก็บ่งบอกถึงการเป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารหลัก

งานวิจัยนี้บอกว่า สัตว์ในกลุ่มจระเข้ดึกดำบรรพ์ มีลักษณะการกินอาหารที่หลากหลาย ทั้งเป็นนักล่าแบบจระเข้ในปัจจุบัน เป็นสัตว์กินทั้งพืชและเนื้อ รวมถึงเป็นสัตว์กินพืช จระเข้ที่กินพืชนั้นพบได้ในหลายทวีป ในช่วงสมัยแตกต่างกัน บางชนิดพบร่วมกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เหล่านี้บ่งบอกว่า จระเข้ที่กินพืชนี้เคยประสบความสำเร็จในสิ่งแวดล้อมต่างๆ แต่ทำไมในช่วงเวลาหนึ่ง (สิ้นยุคไตรแอสสิก) จระเข้มีความหลากหลายในเรื่องของลักษณะการกินอาหาร ขณะที่อีกช่วงหนึ่ง (สิ้นยุคครีเตเชียส) พวกมันกลับลดความหลากหลายลงเหลือเพียงแต่จระเข้ที่กินเนื้อ

(รูปประกอบแถวล่างคือฟันจระเข้ดึกดำบรรพ์)
อ้างอิง: Melstrom and Irmis. 2019. Repeated evolution of herbivorous crocodyliforms during the age of dinosaurs. Current Biology. doi: 10.1016/j.cub.2019.05.076.
https://phys.org/ne…/2019-06-extinct-crocs-vegetarians.html…
Life reconstructions: Jorge Gonzalez
Cr.https://www.facebook.com/chickenisdinosaur/posts/2411684352222244/



"สก็อตตี้" ที-เร็กซ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกตัวใหม่



เป็นที่ทราบกันดีว่าที-เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) เป็นไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยครอบครองทวีปอเมริกาเหนือในช่วงปลายยุคครีเทเชียส หรือประมาณ 66 ล้านปีที่ผ่าน ในช่วงก่อนที่ไดโนเสาร์จะสูญพันธุ์ไปจากโลก โดยที-เร็กซ์โตเต็มวัยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยมีการค้นพบมามีชื่อเล่นว่า "ซู" ("Sue") จากรัฐเซาท์ดาโคตา สหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่า"ซู" มีความยาวประมาณ 12 เมตร และหนักกว่า 8 ตัน

ล่าสุดนี้ทีมนักบรรพชีวินวิทยาแคนาดาได้บรรยายตัวอย่างฟอสซิลของที-เร็กซ์ที่มีชื่อเล่นว่า "สก็อตตี้" ซึ่งถูกค้นพบจากรัฐซัสแคตเชวัน ประเทศแคนาดา ตั้งแต่เมื่อปีค.ศ. 1991 พวกเขาพบว่าชิ้นส่วนของหัวกะโหลก กระดูกสะโพก และขานี้ มีขนาดใหญ่มากกว่าที-เร็กซ์ ทั่วไป ซึ่งเมื่อคำนวณตามหลักวิทยาศาสตร์แล้วพบว่ามันน่าจะมีความยาวจากหัวถึงหางกว่า 13 เมตร และมีน้ำหนักประมาณ 8.8 ตัน (8,800 กิโลกรัม) นอกจากนั้นการศึกษาทางเนื้อเยื่อวิทยาของกระดูกน่อง บ่งบอกว่ามันเป็นกระดูกของไดโนเสาร์ที่โตเต็มวัยโดยสมบูรณ์

การค้นพบนี้ทำลายสถิติของที-เร็กซ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดก่อนหน้าอย่าง "ซู" ซึ่งคาดว่าสก็อตตี้มีน้ำหนักมากกว่าซูถึง 400 กิโลกรัม และมีความยาวจากหัวถึงหางมากกว่าประมาณ 1 เมตร การค้นพบนี้ยังแสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์หลากหลายสายพันธุ์อาจจะมีขนาดใหญ่มากกว่าที่คิดหรือเห็นจากหลักฐานฟอสซิล และเป็นไปได้ที่กระดูกไดโนเสาร์สายพันธุ์อื่นๆ อีกจำนวนมากที่มีขนาดใหญ่กว่าที่นักบรรพชีวินวิทยาคาดการณ์ยังไม่ได้ถูกค้นพบ
ฟอสซิลของ "สก็อตตี้" จะถูกนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์รอยัลซัสแคตเชวัน (Royal Saskatchewan Museum) ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้

เครดิตรูปภาพ: Amanda Kelley/University of Alberta
เอกสารอ้างอิง: W. Scott Persons, Philip J. Currie, Gregory M. Erickson. An Older and Exceptionally Large Adult Specimen of Tyrannosaurus rex. The Anatomical Record, 2019; DOI: 10.1002/ar.24118
Cr.https://www.facebook.com/218228675013635/photos/a.1440662592770231/1440665169436640/?type=3&theater



พบหลักฐานของ "ป่า" ที่เก่าแก่ที่สุดบนโลก



จากหลักฐานฟอสซิลที่มีการค้นพบมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าต้นกำเนิดของต้นไม้และป่าเกิดขึ้นในช่วงราวๆ ยุคดีโวเนียนตอนกลาง หรือประมาณ 393 ถึง 383 ล้านปีที่ผ่านมา ซึ่งการปรากฏขึ้นของป่าบนพื้นโลกขึ้นมาครั้งแรกนั้นทำเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามมา ทั้งในเรื่องระบบนิเวศบนบก วัฏจักรทางธรณีเคมี ระดับของคาร์บอนไดออกไซต์ และสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

ล่าสุดนี้ทีมนักบรรพชีวินวิทยาได้พบชั้นดินบรรพกาล (palaeosol) ที่มีอายุกว่า 386 ล้านปีในบริเวณเหมืองหินทราย ณ เมืองไคโร ซึ่งเป็นเมืองในมณฑลกรีน รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยหลังจากหน้าดินได้เริ่มถูกเปิดขึ้น พวกเขาได้ค้นพบฟอสซิลของพืชโบราณในชั้นดินบรรพกาลนี้ ฟอสซิลพืชที่พวกเขาค้นพบ คือ ส่วนของระบบรากพืชคล้ายเฟิร์นโบราณสกุล "Eospermatopteris" และมีขนาดใหญ่มากกว่า 10 เมตร

นอกจากนั้นยังมีฟอสซิลของพืชสกุล "Archaeopteris" และพืชพวก "Lycopsida" ในบริเวณดังกล่าวอีกด้วย ทีมนักบรรพชีวินวิทยาสันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นป่าเปิดมาก่อน และต่อมาภายหลังป่าโบราณนี้ได้หายไปจากการโดนน้ำท่วมเข้ามา เนื่องจากชั้นหินที่ปิดทับชั้นดินโบราณนี้มีการค้นพบฟอสซิลปลาเป็นจำนวนมาก  การค้นพบนี้ถือเป็นหลักฐานของ "ป่า" ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่เคยเกิดขึ้นมาบนผืนบกของโลก

เครดิตรูปภาพ: Stein et al. (2019) & Charles Ver Straeten
เอกสารอ้างอิง: William E. Stein et al. Mid-Devonian Archaeopteris Roots Signal Revolutionary Change in Earliest Fossil Forests. Current Biology, published online December 19, 2019; doi: 10.1016/j.cub.2019.11.067
Cr.https://www.facebook.com/218228675013635/photos/a.1440662592770231/1440665229436634/?type=3&theater


(ขอขอบคุณที่มาของข้อมูลและขออนุญาตนำมา)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่