มาทำความรู้จักกับ "Bluetooth Codec aptX และ aptX-HD" เพื่อรีดประสิทธิภาพในการฟังเพลงผ่านมือถือกันครับ

ในยุคที่บรรดา Smartphone ต่างทยอยเอาแจ๊คหูฟัง 3.5mm ออกไปด้วยเหตุผลบลาๆ ทำให้สายจริงจังฟังเพลงหลายคนถึงกับหงุดหงิด เพราะไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพของเสียงเพลงเหมือนที่เคยได้รับผ่านหูฟังแบบสายได้ แต่กระนั้น ขณะเดียวกันผู้ที่ร่วมกันพัฒนาระบบ Android ก็ได้เล็งเห็นจุดนี้ และพัฒนาคุณภาพการฟังเพลงผ่านหูฟัง Bluetooth มาโดยตลอด ผมเชื่อว่าหลายคนคงได้ยินเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง aptX และ aptX-HD กันมาบ้างแล้ว แต่เหมือนที่ผ่านมาเทคโนโลยีดังกล่าวยังคงเป็นความฝันเนื่องจากข้อจำกัดของอุปกรณ์ที่รองรับ ตัวไฟล์เพลงที่ซัพพอร์ต รวมไปถึงราคาเพื่อให้ได้เทคโนโลยีดังกล่าวมาครอบครองอาจจะเกินเอื้อมไปหน่อย แต่...ตอนนี้ ข้อจำกัดต่างๆดูเหมือนจะพังทลายลงไปแล้วครับ

เกริ่นกันมาตั้งนาน สรุปว่าในกระทู้นี้ผมจะมาเล่าข้อมูลของเทคโนโลยีดังกล่าว ใครบ้างที่ควรจะเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ และวิธีการตรวจสอบปัจจัยต่างๆทั้งในด้าน Hardware และ Software ว่ารองรับหรือไม่


1. ก่อนอื่นเลย Bluetooth Codec คืออะไร
       ในการฟังเพลงแบบไร้สายนั้น Codec หมายถึงขั้นตอนทางซอฟต์แวร์ในการส่งสัญญาณเสียงไปยังหูฟังผ่านทางช่องทางไร้สาย การใช้ Codec ที่ต่างกันก็จะมีวิธีการส่งที่ต่างกัน มีวิธีการจับคู่ระหว่างอุปกรณ์ที่รองรับต่างกัน บาง Codec มีวิธีการบีบอัดข้อมูลของตัวเองที่ทำให้สามารถส่งเสียงที่มีความละเอียดสูงได้
       สรุปกันแบบง่ายๆ คือ Bluetooth Codec ที่ต่างกันนอกจากจะรองรับอุปกรณ์ที่ต่างกันแล้ว คุณภาพเสียง คุณภาพการเชื่อมต่อ และการหน่วงของสัญญาณ (Latancy) ก็ต่างกันด้วย โดยอุปกรณ์ Bluetooth ทุกตัวจะรองรับ Low Complexity Subband Coding (SBC) ส่วน Codec อื่นๆ ที่เป็นที่นิยม เช่น AAC, LDAC ของ Sony และ aptX ของ Qualcomm, HWA ของ HUAWEI เป็นต้น

2. คุณภาพเสียงของ Codec ต่างๆ
       ถ้าดูกันแบบง่ายๆ เราสามารถดูได้จาก bit-rates ซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณข้อมูลที่สามารถส่งได้ต่อวินาที ยิ่ง bit-rates เยอะ หมายความว่าใน 1 วินาทียิ่งส่งเสียงที่มีคุณภาพสูงขึ้นได้

โดยสามารถเรียงลำดับ คุณภาพเสียงของ Codec จากน้อยไปมากได้ดังนี้ครับ
- SBC (Low Complexity Subband Coding) เป็น Codec ที่พื้นฐานมาก ใช้ได้เกือบทุกอุปกรณ์ มี bit-rates ประมาณ 192-320 kbps ซึ่งให้เสียงระดับธรรมดา
- AAC(Advance Audio Coding) เป็นมาตรฐานแบบฟรีไลเซนส์ที่ถูกใช้โดย YouTube, PlayStation และเป็นมาตรฐานที่ใช้ในอุปกรณ์ iOS ด้วย มี bit-rates 250 kbps หรือประมาณไฟล์ MP3
- aptX ถูกพัฒนาโดย Qualcomm รองรับเสียง 48 kHz / 16 bit LCPM (352 kbps) หรือก็คือประมาณแผ่น CD
- aptX HD เป็น Codec ที่ถูกพัฒนาต่อยอดให้เล่นไฟล์ Hi-res 48 kHz / 24 bit LCPM(576 kbps)ได้ 
- LDAC เป็นมาตรฐานที่สร้างโดย Sony สามารถส่งสัญญาณเสียงระดับ Hi-res 96 kHz / 24 bit (สูงสุดที่ 990 kbps) เลยทีเดียว ซึ่งถือว่าสูงสุดเมื่อเทียบกับ Codec อื่นๆ (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ LDAC)

    โดยในกระทู้นี้ผมจะไม่กล่าวถึง Codec LDAC นะครับ เพราะราคาของเทคโนโลยีดังกล่าวยังค่อนข้างเข้าถึงยากอยู่
Credit: bacidea.com/2018/05/bluetooth-codec 

       อ้ะๆ มาถึงตรงนี้ ผมรู้นะว่ามีหลายท่านคิดอะไรอยู่สำหรับคนพอผ่านประสบการณ์ด้านนี้ไม่มากก็น้อย ว่าการเรียงลำดับคุณภาพ Codec แบบนี้มันถูกต้องจริงๆหรอ แท่นแท๊นนคุณสอบผ่านครับ ในทางปฎิบัติไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะการที่จะเรียงลำดับคุณภาพของ Codec ในความจริงนั้น มันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งมี 3 ปัจจัย ดังนี้ครับ

3. สามปัจจัยที่ทำให้เข้าถึงเทคโนโลยี Codec aptx และ aptx-HD ได้
    3.1 ด่านแรกที่สำคัญที่สุดเลยคือ "อุปกรณ์ที่ส่งสัญญาณออกมา" ซึ่งหลักๆก็คือเจ้า Smartphone ของเรานั่นเอง

       โดยที่....มือถือ iOS จะรองรับ Codec สูงสุดเพียง AAC เท่านั้น ส่วนด้าน Android จะเปิดกว้างกว่า โดยใน Android Oreo หรือ Android 8.0 ขึ้นไปนั้นรองรับทั้ง SBC, aptX, aptX HD และ LDAC ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับสเปคมือถือของคุณด้วยว่ารองรับ Codec ไหนบ้าง โดยเฉพาะเครื่องราคาถูกที่มักจะตัดการรองรับ Codec ที่สามารถส่งสัญญาณเสียงความละเอียดสูงออกไปเพื่อประหยัดต้นทุน
       นั่นไงมาถึงตรงนี้แน่นอนครับ iPhone ไม่ได้ไปต่อ เพราะคุณไม่ใช่ The Face เอ้ยไม่ใช่ละ แต่ๆๆๆๆ......อย่างน้อยคุณก็สบายใจอย่างนึงว่า Codec ACC เป็นที่นิยมใช้ในตลาดมากที่สุดตอนนี้ ดังนั้นถ้าคุณไม่ได้ไปเสียเงินจ่ายค่า VIP แอพ Music Streaming ต่างๆ (ยกเว้น Apple Music เพราะรองรับ Codec แค่ ACC เท่านั้นอยู่แล้ว แหม่ก็แหง๋ล่ะ) ก็สบายใจได้ครับว่าแหล่งไฟล์เสียง 80% ในโลกออนไลน์ตอนนี้ก็คือ Codec ACC นี่แหละ (ปลอบใจสาวกค่ายผลไม้กันไปนะฮะ)

       3.1.1 วิธีตรวจสอบมือถือที่รองรับ Codec aptx และ aptx-HD
       อ่ะ Android ครับเดินทางกันต่อ ตอนนี้คำถามคือ แล้วจะรู้ได้ยังไงว่ามือถือของ Me เนี่ยรองรับ Codec aptx หรือ aptx-HD มั้ย แน่นอนครับอย่างที่บอกไปอย่างแรก รุ่น Android ของคุณต้องเป็นเวอร์ชั่น 8.0 ขึ้นไปก่อน จากนั้น มีวิธีตรวจสอบดังนี้ครับ
         1) เข้าไปที่ตั้งค่าโทรศัพท์มือถือ แล้วเลื่อนหา "About Phone" หรือ "เกี่ยวกับโทรศัพท์"


         2) เลื่อนหา Build Number หรือ หมายเลขบิวด์ (บางเครื่องเรียก "หมายเลขการสร้าง" อันนี้แล้วแต่ยี่ห้อ/รุ่นของอุปกรณ์ จะเรียกว่าอะไร แต่ก็จะแนวๆนี้) เมื่อเจอแล้วให้แตะตรงนี้ 7 ครั้ง จะเป็นการเปิดโหมด "ตัวเลือกนักพัฒนา" หรือ "Developer Option" (จะมี pop-up ขึ้นมาครับว่าคุณได้เป็นนักพัฒนาแล้ว)

         
         3) กดถอยออกมา 1 ที เลื่อนลงไปด้านล่างๆ จะเจอคำว่า "Developer Option" หรือ "ตัวเลือกนักพัฒนา" กดเข้าไปเลยครับ บางเครื่องอาจจะอยู่ที่ "การตั้งค่าเพิ่มเติม" หรือ "Additional Setting" หรือบางเครื่องจริงๆส่วนน้อยมากเช่น Oneplus เครื่องผม -..- จะต้องไปที่ตั้งค่า แล้วเลือก system จากนั้นจึงจะเจอโหมดนี้ครับ


         4) เมื่อเข้าไปแล้ว เลื่อนลงไปกลางๆ จะเจอเมนูเกี่ยวกับการตั้งค่าบลูทูธเยอะแยะไปหมด เราก็มาดูค่า Audio Codec กันโดยเข้าไปที่เมนู "Bluetooth audio codec" หรือ "ตัวแปลงรหัสเสียงบลูทูธ"


         5) แท่นแท๊นนน Finally เราก็จะเจอกับรายการ Codec ที่มือถือของเรานั้นรองรับครับ เช่นเครื่องผม Oneplus 7T Pro ก็รองรับ Codec ตามรูปเลย โดยแน่นอนที่เราเน้นคือ aptX และ aptX-HD 

ถ้าขึ้นตามนี้แสดงว่าเราได้ผ่านด่าน 1 จากทั้งหมด 3 ไปเรียบร้อยแล้วครับ
Credit : www.facebook.com/HuuFang

    3.2 ด่านที่สอง "คุณภาพของไฟล์เพลง" หรือว่ากันง่ายๆคือไฟล์ที่เราไปหาโหลดมา หรือแอพ Music Streaming นั่นเองครับ ในที่นี้ผมจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Music Streaming เท่านั้นนะครับเพราะแพร่หลายมากในปัจจุบันและสะดวกต่อการใช้งาน วิธีตรวจสอบง่ายๆตามตารางด้านล่างเล้ย

Credit : www.mercular.com/review-article/music-streaming-app-2020

         จะเห็นได้ว่ามีแค่ 2 แอพที่รองรับ Codec ที่เราต้องการ คือแอพ JOOX และ TIDAL ครับ และเนื่องจาก aptX นั้นรองรับบิทเรทที่ 352 kbps ถ้าเทียบในแอพ JOOX คือคุณต้องเลือกฟังไฟล์ระดับสูง (HQ) และสำหรับ aptX-HD นั้นรองรับบิทเรทที่ 576kpbs คุณต้องเลือกฟังไฟล์ระดับสูงสุด (Hi Fi) ถึงจะรีดประสิทธิภาพเทคโนโลยีออกมาได้มากที่สุดครับ ซึ่งหมายความว่าคุณต้องสมัครบริการ VIP เพื่อเข้าถึงคุณภาพไฟล์ระดับดังกล่าวด้วยครับผม

    3.3 ด่านที่ 3 ท้ายสุดคือ "อุปกรณ์ปล่อยสัญญาณเสียง" หรือหูฟังของเรานั่นเอง ซึ่งในปี 2020 นี้ เริ่มมีหูฟังหลายแบรนด์ที่รองรับ Codec ที่เราต้องการและราคาไม่แพง ยกตัวอย่างเช่น Tronsmart Spunky Beat ที่รองรับ Codec aptX เป็นต้น ซึ่งโดยปกติหูฟังที่รองรับ aptX หรือ aptX-HD ก็จะรองรับ Codec ACC และ SBC อยู่แล้วในตัว ซึ่งทุกท่านสามารถเลือกสรรได้ตามงบประมาณที่มีอยู่ได้เลยครับผม และแน่นอนสำหรับใครที่มีงบมากพอที่จะไปเล่นหูฟัง LDAC ได้ก็สามารถใช้เกณฑ์ที่ผมกล่าวมาทั้งหมดก่อนหน้านี้เทียบได้เลยครับผม 

เอ่าล่ะ อ่านกันมาแบบมาราธอนขนาดนี้ เป็นยังไงกันบ้างครับ จะเห็นว่าการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ให้คุณภาพเสียงผ่าน Bluetooth ยุคใหม่นั้น "เป็นภาพจริงมากกว่าเมื่อหลายปีก่อนแล้วนะครับ ดังนั้นขอให้ทุกท่านมีความสุขกับโลกแห่งการฟังเพลง เดี๋ยวๆๆ ผมลืมบอกไปนิดนึง

หลายท่านอาจจะสงสัยว่า แล้วถ้าไอ้ 3 ปัจจัยนี้มันขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมันจะเป็นยังไง
- กรณีที่ 1 มือถือไม่รองรับ : แน่นอนครับ ไฟล์เพลงหรือหูฟังคุณไม่ว่าจะเทพขนาดไหนก็จะกลับมารองรับแค่ Codec ACC หรือ SBC
- กรณีที่ 2 ไฟล์เพลงไม่รองรับ : ก็แน่นอนครับ ถึงมือถือคุณจะพร้อม หูฟังคุณพร้อม แต่คุณฟังเพลงไฟล์คุณภาพ 250 kbps ทุกอย่างก็จะมาขอขวดตรงนี้ ไม่ต่างอะไรกับ Codec ACC แล้วก็มีอีกอย่างที่คุณควรรู้คือ สมมติคุณมีมือถือและหูฟังที่รองรับแล้ว แต่คุณเป็น VIP ของแอพ Spotify คุณก็จะเข้าถึงคุณภาพของไฟล์ Codec ACC หรือ SBC เท่านั้นเพราะ Source ไฟล์ของแอพนั้นรองรับแค่ 2 Codec ดังกล่าว
- กรณีที่ 3 หูฟังไม่รองรับ : ทุกอย่างก็จะไปคอขวดที่ Codec ACC หรือ SBC อยู่ดีครับผม

เพิ่มเติมให้นิดนึงสำหรับคนที่เห็นว่าบิทเรทของ SBC นั้นสูงกว่า ACC ก็จะมีคำถามว่า อย่างงี้ชั้นก็ไปเปลี่ยนค่า Codec Selection ใน Developer Option เป็น SBC ได้น่ะสิ ถูกต้องแล้วครับคุณทำได้เลยแต่คุณต้องแน่ใจนะว่าไฟล์ที่คุณฟังนั้น เป็นบิทเรท 320kbps เช่นคุณเป็น VIP ของ Spotify นี่คุณไปปรับได้เลย เพราะหูฟัง 99.99% บนโลกนี้รองรับอยู่แล้วครับ แต่ๆๆๆ ถ้าคุณไม่ได้เป็น VIP ของแอพ Music Streaming ของแอพใดเลยผมขอแนะนำให้คุณปรับ Codec เป็น ACC เท่านั้น เพราะการที่คุณปรับเป็น SBC มันจะเหมือนเอารถ Super Car ไปวิ่งในซอยข้างบ้านน่ะครับ ทำให้ทั้งตัวมือถือต้องรับภาระถอดรหัส Codec มากขึ้น รวมถึงตัวหูฟังเองก็เช่นกัน สุดท้ายทำให้เกิดการสูญเสียคุณภาพของไฟล์ระหว่างทางจากการถอดรหัสกลับไปกลับมา ก่อนที่เสียงนั้นจะเข้ามาในหูคุณ ส่งผลให้คุณภาพโดยรวมของเสียงนั้นยิ่งลดลงไปอีก และเพิ่มการกินแบตเตอรี่ของมือถือและหูฟังโดยเปล่าประโยชน์

อีกครั้ง สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านมีความสุขในโลกของการฟังเพลง ในงบประมาณ ในไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์ สวัสดีครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่