"หมอจุฬาฯ" เล่าเรื่องวอร์ดโควิด-19 ใครไม่เป็นไม่รู้ ..ขอเห็นใจคนไข้-ครอบครัว หอบลูก2ขวบหนีถูกตีตราจากสังคม

สังคมควรให้กำลังใจทั้งคุณหมอและคนไข้แบบที่จีน

"หมอจุฬาฯ" เล่าเรื่องในวอร์ดโควิด-19 คนไข้อาการหนักอยู่ไอซียู สามีรับจ้างขับรถ ต้องพาลูก 2 คน ออกจากห้องเช่า เพราะถูกตีตราจากสังคม ขอช่วยกันเข้าใจโรค เห็นใจคนไข้
ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคอุบัติใหม่ด้านคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โพสต์เฟซบุ๊ก Opass Putcharoen เล่าเรื่องจากวอร์ดโควิด โดยระบุว่า เคสหนักที่โรงพยาบาล เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ห้องไอซียูก็ต้องขยายจากที่เตรียมไว้ 4 เตียง ตอนนี้ต้องเตรียมรับผู้ป่วยให้ได้ถึงเกือบ 20 คน

พร้อมเล่าเคสผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนัก ปอดอักเสบรุนแรง เป็นคนขับแท็กซี่ผู้หญิง อายุ 40 ปี น่าจะติดจากการสัมผัสนักท่องเที่ยว พอทราบว่ารับจ้างขับรถ จึงให้เจ้าหน้าที่โทรถามทางครอบครัวว่าเป็นอย่างไรบ้าง ทำให้ทราบว่า ตั้งแต่คนไข้มาอยู่โรงพยาบาล ก็หยุดงาน รายได้ทั้งหมดหายไป สามีขับรถรับจ้างได้เงินรายวัน ตอนนี้ต้องหยุดงาน ซึ่งทั้งคู่มีลูกเล็กๆ สองคน 5 ขวบ และ 2 ขวบ 
อีกทั้งเมื่อทางห้องเช่ารู้ ก็ไม่ให้อยู่ เพราะคนกลัวว่าจะติดโควิด-19 มาจากภรรยา ต้องระเห็จออกมาอยู่บ้านที่เถ้าแก่กำลังสร้าง ใช้เงินเก็บที่มีอยู่ 3,000 บาท ยังไม่รู้ว่าจะทำยังไงต่อ
 
พอรู้เรื่องเสร็จทุกคนช่วยกันทันที ตามพ่อและลูกทั้ง 3 คนมาตรวจหาเชื้อ และให้นอนที่โรงพยาบาลรวมกันไปก่อน โชคดีที่ผลตรวจทั้งหมดไม่เจอเชื้อโรคโควิด สิ่งที่ต้องรีบทำก็เพื่อออกใบยืนยัน ทางครอบครัวจะได้ไม่ถูกตีตราจากสังคม ส่วนภรรยาตอนนี้นอนอยู่ไอซียู ทางทีมช่วยกันดูแลอย่างเต็มที่
ซึ่งคุณหมอบอกด้วยว่า จริงๆ ถ้าสังคมเข้าใจ เราไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดตามครอบครัวของคนไข้มาตรวจหาเชื้อ เพราะถ้าเขากักตัว 14 วัน ไม่ออกไปไหน ก็จะไม่ไปแพร่กระจายเชื้อให้ใคร
อย่างไรก็ตาม คุณหมอบอกว่า เคสนี้เคสเดียวสะท้อนหลายๆ มุมที่เราก็ยังต้องแก้ไข หรือมองข้าม สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ความเข้าใจเรื่องการติดต่อโรค การตีตราคนไข้ และญาติของคนไข้ สิ่งที่ต้องการในตอนนี้คือ ทำให้การระบาดอยู่สั้นที่สุด เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อเนื่องและวงกว้าง ช่วยกันทำ social distancing ให้มากที่สุด เมื่อโรคหยุดระบาดทุกสิ่งทุกอย่างจะค่อยๆ ฟื้นกลับมาใหม่ สร้างความเห็นอกเห็นใจกันในสังคม ทั้งให้กับคนไข้ และบุคลากร ที่กำลังช่วยดูแลคนไข้
และว่า กำลังใจมาที่บุคลากรทางการแพทย์มีมากมายพอแล้ว ตอนนี้สิ่งที่ต้องการคือ ช่วยกันเข้าใจโรค และเห็นใจคนไข้ด้วยครับ.

https://www.thairath.co.th/news/society/1808649
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่