ย้อนดูบทบาทการแสดงของ เอ็ดดี เรดเมย์น เจ้าของออสการ์นำชายผู้ถ่อมตัว


เอ็ดดี เรดเมย์น ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมด้วยวัยเพียง 33 ปีจากบทนักฟิสิกส์/จักรวาลวิทยาคนดัง สตีเฟน ฮอว์กิง ในหนังชีวประวัติความสัมพันธ์ The Theory of Everything (2014, เจมส์ มาร์ช) หลังเปลี่ยนผ่านจากอาชีพนายแบบแบรนด์เสื้อผ้า แล้วก้าวเข้าสู่แวดวงการแสดงภาพยนตร์/ซีรีส์ทางโทรทัศน์อย่างเต็มตัวภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึงสิบปีเท่านั้น! จึงไม่น่าแปลกใจที่นักแสดงหนุ่มวัย 38 คนนี้จะมีทั้งคนที่ ‘รัก’ และ ‘ชัง’ แต่ไม่ว่าจะมีคนรักหรือชังมากน้อยแค่ไหน ชายผิวซีดใบหน้าตกกระที่ชื่อเรดเมย์นก็ยังคง ‘ทำการแสดง’ ที่เขารักเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ และนี่คือเรื่องราวอย่างย่นย่อของเขาตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา

( The Good Shepherd )
( Savage Grace )

เรดเมย์นเป็นนักแสดงที่มี ‘คนชัง’

เรดเมย์นเริ่มเรียนรู้เรื่องการแสดงอย่างจริงจังด้วยตัวเองมาตั้งแต่ช่วงต้นยุค 2000 ผ่านแวดวงละครเวที และถูกรับเลือกให้แสดงภาพยนตร์สองเรื่องแรกในปี 2006 คือ Like Minds หนังธริลเลอร์สัญชาติออสเตรเลียของ เกรกอรี เจ รีด และ The Good Shepherd หนังสายลับของ โรเบิร์ต เดอ นีโร ที่เรดเมย์นเล่นเป็นลูกชายของตัวละครสามีซีไอเอกับภรรยาที่รับบทโดย แม็ตต์ เดมอน กับ แองเจลินา โจลี ในฐานะตัวละครสมทบที่มีความสำคัญต่อเรื่องราว ซึ่งการแสดงของเรดเมย์นก็ได้รับคำชมไปไม่น้อย

หลังจากนั้น เขาก็มีผลงานอื่นๆ ที่น่าสนใจตามมาอีกอย่างต่อเนื่อง เช่น Elizabeth: The Golden Age (2007, เชการ์ คาปูร์) ที่เขาต้องเข้าฉากกับยอดฝีมือฝ่ายหญิงรุ่นพี่อย่าง เคต แบลนเช็ตต์ ในบทของชายผู้มีส่วนร่วมในแผนสังหาร สมเด็จพระราชินีนาถ เอลิซาเบธที่ 1 อันเป็นตัวละครของเธอ และ Savage Grace (2007, ทอม คาลิน) ที่เขาต้องเล่นเป็นลูกชายที่มีอาการจิตเภทและมี ‘สัมพันธ์ต้องห้าม’ กับแม่ที่รับบทโดย จูลีแอนน์ มัวร์ ก่อนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากบทนักทำหนังไฟแรงผู้เดียงข้าง มาริลีน มอนโร ใน My Week with Marilyn (2011, ไซมอน เคอร์ติส) และบทหนุ่มนักปฏิวัติใน Les Misérables (2012, ทอม ฮูเปอร์)

( Les Misérables )
( The Theory of Everything )

อย่างไรก็ดี การอยู่ในวงการบันเทิงนั้นก็ยังคงไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เพราะแม้ใน The Theory of Everything เขาจะได้รับเสียงชื่นชมและได้ออสการ์มาครองจากการเข้าชิงครั้งแรก (รวมไปถึงรางวัลเดียวกันนี้บนเวทีลูกโลกทองคำ, BAFTA และ SAG ด้วย) ผ่านการถ่ายทอดชีวิตของฮอว์กิงตลอดสามสิบปี จากนักศึกษาดาวรุ่งร่างกายแข็งแรงในสาขาจักรวาลวิทยาจากแคมบริดจ์ (อันเป็นที่เดียวกับที่เรดเมย์นเรียนในสาขาประวัติศาสตร์ศิลป์) มาสู่นักฟิสิกส์ชื่อก้องที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ALS (Amyotrophic Lateral Sclerosis) จนต้องนั่งรถเข็นและใช้เครื่องมือสื่อสารที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษ …ทว่าในการเข้าชิงออสการ์นำชายอีกครั้งจากบท ลิลี -หญิงข้ามเพศคนแรกๆ ในยุคสมัยที่การแปลงเพศยังเป็นเรื่องพิลึกพิลั่น- ใน The Danish Girl (2015, ฮูเปอร์) ก็ได้สร้างความวุ่นวายให้แก่เรดเมย์นไม่น้อย เพราะนอกจากหลายคนจะออกมาโจมตีว่า เขาไม่ควรรับบทนี้ เนื่องจากเป็นการตัดโอกาสของนักแสดงข้ามเพศตัวจริงในวงการแล้ว เขาก็ยังถูกวิจารณ์ด้วยว่าแสดงได้ไม่สมบทบาทเอาเสียเลย ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นผลมาจากอคติในเรื่องของการคัดเลือกนักแสดงที่กล่าวไปหรือไม่-อย่างไร

นอกจากนี้ นักวิจารณ์บางส่วนยังมองว่า เรดเมย์นถ่ายทอดบทบาทที่หลากหลายเหล่านั้นด้วยวิธีการแสดงออกใน ‘แบบเดิมๆ’ เสมอมา ยกตัวอย่างเช่น วิธีการแสดงความเขินอายในแทบทุกบทที่เขาเล่น-ซึ่งล้วนปรากฏออกมาผ่านแววตาและภาษากายที่แทบจะไม่แตกต่างกัน ทั้งใน The Theory of Everything, The Danish Girl หรือหนังบล็อคบัสเตอร์ทั้งหลายที่เขาเคยเล่น – ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อถกเถียงที่ทำให้ผู้ชมหลายคนไม่ปลื้มการแสดงของเรดเมย์นนัก

( Jupiter Ascending )

อีกทั้งเป็นนักแสดงที่เคยยอมรับว่า บางครั้งการแสดงของเขาก็ ‘ย่ำแย่’

เรดเมย์นรู้อยู่แก่ใจว่ามีหลายคนที่ไม่ชอบการแสดงในแบบของเขา และตัวเขาเองก็มีบทบาทที่ตนเองไม่ชอบด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะกับ Jupiter Ascending (2015, พี่น้องวาชอว์สกี) หนังบล็อคบัสเตอร์ที่เขาต้องรับบทเป็น บาเลม เอบราแซ็กซ์ -จักรพรรดิตัวร้ายสุดเว่อร์วังที่พยายามยึดครองกาแล็กซี่- ซึ่งเจ้าตัวมองว่า มันก็ออกมาย่ำแย่สมกับที่ใครๆ บอกไว้จริงๆ “ตัวละครของผมมีกล่องเสียงที่ถูกมนุษย์หมาป่ากระซวกไป ผมเลยเลือกวิธีถ่ายทอดตัวละครที่ออกจะบ้าบิ่นอยู่สักหน่อย ซึ่งผมกลับคิดว่ามันถูกต้องแล้วในตอนนั้น” เขาหมายถึงการพูดด้วยเสียงกึ่งกระซิบกระซาบ ซึ่งนั่นก็ทำให้เขาได้รางวัลนักแสดงสมทบชายยอดแย่จากแรซซีไปเป็นครั้งแรก “แต่หากลองมองย้อนกลับไป มันก็คงดู ‘ล้นเกิน’ จริงๆ นั่นแหละครับ”

“คือบทมันก็มีเข้ามาเยอะขึ้นแหละครับ” เขาพูดถึงสถานะการเป็นนักแสดงหลังการชนะรางวัลออสการ์ที่นำพาบท-ทั้งดีและร้าย-มาให้มากมาย “แต่มันก็จะมีการเล่นแร่แปรธาตุของคนทำหนังที่คุณเข้าไปควบคุมอะไรไม่ได้อยู่ด้วย ผมเคยเล่นหนังที่บทดีมากๆ หลายเรื่องเลยนะ แต่สุดท้ายมันก็กลายเป็นหนังแย่ๆ น่ะ มันมักจะมีบางอย่างในกระบวนการสร้างสรรค์ที่คุณไปบังคับมันไม่ได้ แต่โดยทั่วไป ถ้าผมสามารถตอบโต้กับช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในบทได้อย่างแตกต่างมากพอ ผมไม่คิดว่ามันจะเลือนหายไปง่ายๆ หรอก ถ้ามันอยู่บนหน้ากระดาษ มันก็มีโอกาสที่จะได้ไปปรากฏอยู่บนหน้าจอนะ – พวกการแสดงไปตามสัญชาตญาณที่ผมเล่นๆ ไปน่ะ

“ผมว่ายังไงมันก็เป็นโอกาสที่ควรหยิบฉวยไว้”

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากเกลียดบางบทที่ตัวเองเล่นแล้ว เขายังเคยเกลียดตัวเองที่โกหกว่า ‘ขี่ม้าเป็น’ เพื่อให้ได้บทรับเชิญในตอนหนึ่งของมินิซีรีส์อย่าง Elizabeth I เมื่อปี 2005 มาแล้วด้วย โดยผกก. ทอม ฮูเปอร์ ถึงกับด่าเขาออกเครื่องขยายเสียงกลางกองถ่ายระหว่างฉากที่เขาต้องขึ้นขี่ม้าจริงๆ -แต่กลับขี่ไม่ได้- ว่า “แกมันไอ้คนตอXXX เรดเมย์น!” เลยทีเดียว “ตอนนั้นผมอายจนแทบอยากตายไปเลย” เรดเมย์นกล่าว

( The Danish Girl )
( Fantastic Beasts and Where to Find Them )

แต่ก็ยังเป็นนักแสดงที่ยังมี ‘คนรัก’ และยัง ‘มุ่งมั่น’ ในสิ่งที่ตัวเองทำเสมอ

การรับบท นิวต์ สกาแมนเดอร์ -ชายผู้ดูแลเหล่าสัตว์แห่งโลกเวทมนตร์จากงานเขียนเลื่องชื่อของ เจ เค โรว์ลิง – ของเรดเมย์นใน Fantastic Beasts and Where to Find Them (2016, เดวิด เยตส์) และ Fantastic Beasts: The Crimes of Grindelwald (2018, เยตส์) -ที่โปรดิวเซอร์นึกถึงเขาเป็นตัวเลือกแรกและตัวเลือกเดียว- ทำให้เขากลายเป็นนักแสดงขวัญใจผู้ชมทั่วโลกในวงกว้างมากขึ้น ผ่านการแสดงที่ต้องใช้จินตนาการอย่างสูง เมื่อเขาต้องแสดงฉากต่างๆ กับเหล่าสัตว์ปลอมๆ ก่อนที่จะถูกนำไปใส่สเปเชียลเอฟเฟ็กต์สในภายหลัง “มันง่ายขึ้นมากในภาคสองนะครับ เพราะคุณรู้แล้วว่าคุณสามารถเล่นสนุกได้มากเท่าที่คุณต้องการ คุณแค่ต้องดึงเอาตัวตนในวัยเก้าขวบออกมา และต้องสามารถเล่นหัวไปกับตัวเองได้ คุณต้องเชื่อมั่นในฝ่ายสเปเชียลเอฟเฟ็กต์สที่เก่งที่สุดในโลกเหล่านี้ มันเป็นบทบาทที่ในภาคแรก ผมเคยรู้สึกว่ามันเป็นวิธีการแสดงที่ ‘ปลอม’ ไปหน่อย แต่ในภาคสอง ผมก็รู้จักที่จะเล่นสนุกกับมันมากขึ้นแล้ว”

แต่เมื่อมองย้อนกลับไป เรดเมย์นก็ดูจะมุ่งมั่นอยู่กับการรับบทบาทเหล่านั้นอยู่ไม่น้อย เช่น บทฮอว์กิงใน The Theory of Everything ที่เขาต้องศึกษาทั้งจากฟุตเตจสัมภาษณ์, ครอบครัวของฮอว์กิน, ผู้ป่วยโรคเดียวกับเขา และฝึกฝนท่าทางกับนักออกแบบการเคลื่อนไหวเพื่อให้การแสดงออกผ่านทางร่างกาย-ของผู้ป่วยกล้ามเนื้ออกแรงแบบฮอว์กิง-ในแต่ละช่วงเวลาออกมาสมบูรณ์และให้ความเคารพกับเจ้าตัวมากที่สุดอยู่เป็นเวลานานหลายเดือน (จนฮอว์กิงตัวจริงถึงกับออกมาชื่นชมว่ามีบางช่วงของหนังที่เขารู้สึกว่าเหมือนกำลังดูตัวเองอยู่จริงๆ!) หรือบทลิลีใน The Danish Girl ที่เขาพยายามถ่ายทอดบทนี้ให้สมจริงที่สุดด้วยการพูดคุยกับบรรดาสาวทรานส์เจนเดอร์ตัวจริงและศึกษาสิ่งต่างๆ ในชีวิตของพวกเธอโดยละเอียด

( The Aeronauts )

“ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เจ๋งที่สุดในการแสดงนะ เพราะไม่ว่าบทที่คุณเล่นจะเป็นอะไรก็ตาม สิ่งที่คุณต้องทำก็คือการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเจ๋งๆ สำหรับถ่ายทอดตัวละครนั้นๆ และพบปะกับคนที่ยอมให้คุณก้าวล่วงเข้าไปในชีวิตของพวกเขา ซึ่งคุณจะได้เรียนรู้อะไรเยอะมาก และส่วนใหญ่ สิ่งที่คุณจะได้ใช้บนจอหนังก็มักเป็นเรื่องของรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ขณะเดียวกันนั้น สิ่งที่คุณจะได้รับกลับมาเพื่อยกระดับความเป็นมนุษย์ของคุณนั้นมันกลับยิ่งใหญ่กว่ามาก – ส่วนหนึ่งของงานที่ผมรู้สึกสนุกที่สุด ก็คือช่วงเวลาแห่งการศึกษาตัวละครนี่แหละ”

ในผลงานการแสดงล่าสุดอย่าง The Aeronauts (2019, ทอม ฮาร์เปอร์) ที่เขารับบทเป็น เจมส์ เกลเชอร์ หนุ่มนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับท้องฟ้าผู้มุ่งมั่นกับการทดลองเพื่อลอยละล่องไปบนฟากฟ้าด้วยบอลลูนในช่วงยุค 1890 พร้อมประกบคู่กับนักแสดงคู่ใจคนเดิมอย่าง เฟลิซิตี โจนส์ (จาก The Theory of Everything) เขาก็ยังคงดูสนุกสนานกับการรับบทบาทที่หลากหลายเพื่อท้าทายตัวเองอยู่เช่นเคย

แต่เหนืออื่นใด, ไม่ว่าจะผ่านบทบาทยากๆ หรือเวทีรางวัลดังๆ มามากน้อยแค่ไหน เรดเมย์นก็ยังคงเป็นชายหนุ่มผู้ถ่อมตัวเหมือนที่ผ่านมา

“ผมไม่เคยถูกฝึกฝนให้เป็นนักแสดงเลย ผมแค่จำๆ เขามา ถึงสามารถมีวันนี้ได้ และผมก็ยังคงรู้สึกว่าตัวเองกำลังรอคอยให้มีใครสักคนมาค้นพบ(จากการแสดงครั้งใหม่ๆ)อยู่เสมอ”


สำหรับใครที่ชื่นชอบในฝีมือการแสดงของ เอ็ดดี เรดเมย์น ลองไปหาชมกันได้นะคะ ส่วนใครที่อยากชมอีกหนึ่งผลงานการแสดงกับบทบาทผู้วิเศษในโลกแห่งเวทมนตร์ รับชมกันได้ใน Fantastic Beasts and Where to Find Them : สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ วันเสาร์ ที่ 22 กุมภาพันธ์ เวลา 08.25 น. ทางช่อง MONO29


ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์

: https://bioscope.mthai.com/
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่