น่าน น้าน นาน (2)

กระทู้สนทนา
จากตอนที่แล้ว

https://pantip.com/topic/39601981

วันนี้เป็นรายการทัวร์ตัวเมืองน่านแทบทั้งวันครับ 

ส่วนใหญ่จะเป็นวัดวาอารามตามประสา คน สว.โชคยังเข้าข้างอยู่บ้าง ที่บรรดาวัดต่างๆนั้น ล้วนตั้งอยู่ใกล้กัน พอเดินข้ามถนนไปมาได้สะดวก รายการยามเช้าก็มีวัดศรีพันต้น วัดช้างค้ำ วัดศรีเมือง และรายการใหญ่ก็คือวัดภูมินทร์ 

ช่วงบ่าย สองคนลุงป้าต่างมีมติร่วมกันว่า ควรนั่งรถรางชมเมือง ของเทศบาลเมืองน่านดีกว่า ก็มีวัดสวนตาล วัดอรัญอาวาส ซึ่งอยู่ห่างออกไปหน่อย ก่อนกลับมายังที่เดิม

คงได้บุญกุศลมาแจกกันคราวนี้แหละ



เวลาราวสองโมงเศษ หลังจากโรงเรียนเปิดสอน และสถานที่ราชการเปิดทำงานแล้ว สองคนลุง-ป้าก็ออกจากที่พักไปชมเมืองบ้าง

สังเกตว่าในตัวเมืองน่าน สัญญาณไฟจราจรจะเปิดแต่ละด้านโดยไม่มีสัญญาณให้เลี้ยวขวาแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้ที่ขับรถจะต้องระวังตัวกันเอาเองว่าจะเลี้ยวขวาได้ สัญญาณไฟแทบจะเปลี่ยนเป็นสีแดงแล้ว

ปกติตามที่พักจะมีจักรยานให้ผู้เข้าพักปั่นชมตัวเมืองน่าน ดังนั้น ตามถนนหนทางมักจะมีเลนสำหรับจักรยานแทบทุกสาย จะมีรถยนต์มาจอดบ้างแต่แค่ประเดี๋ยวประด๋าว ไม่จอดแช่เหมือนเมืองอื่นๆ

ขนาดมีรถน้อย ผมยังโดนพี่น้องชาวน่านกดแตรเตือนสติอยู่สองที ข้อหาเงอะงะ ไม่สังเกตระเบียบการจราจรของบ้านเขา

น้องผมสังเกตเห็นวิหารแห่งหนึ่ง สีทองสุกปลั่งทั้งหลัง ขอให้ผมเลี้ยวเข้าไปยังที่จอดรถในวัด อ่านป้ายว่า วัดศรีพันต้น



วัดศรีพันต้น สร้างโดยพญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่าน แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ.1960 - 1969 ) ชื่อวัดตรงกับนามผู้สร้าง คือพญาพันต้น บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น (คำว่า สลี หมายถึง ต้นโพธิ์) ซึ่งในอดีตมีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด ปัจจุบันถูกโค่นเพื่อตัดเป็นถนนแล้ว วัดศรีพันต้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2505

ภายในวิหารวัดศรีพันต้นมีภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้าและประวัติการกำเนิดเมืองน่าน โดยช่างชาวน่าน

วัดศรีพันต้นเคยเป็นที่พำนักของหลวงปู่ครูบาขันทะ อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีพันต้นซึ่งเป็นพระสงฆ์ผู้ปฎิบัติดี ปฎิบัติชอบ มีวิชารักษาคนป่วยด้วยการเป่าคาถาเสกน้ำมนต์และการใช้สมุนไพรพื้นบ้านรักษาได้ผลดีมากโดยเฉพาะโรคกระดูกและแผลอักเสบจากตุ่มฝีหนองตลอดชีวิตของหลวงปู่ครูบาขันทะ
ท่านได้เมตตาไปรักษาคนป่วยในโรงพยาบาลน่านเป็นประจำทุกวัน จนถึงแก่มรณภาพ
...........................
(ข้อมูลจากเพจ Museum Thailand)



ขอรูปนางแบบจำเป็นมาประดับฉากหน่อย วิหารที่สวยงามตั้งเด่นเป็นสง่ามีสีทองระยับ มีจิตรกรรมปูนปั้น "พญานาคเจ็ดเศียร" เฝ้าบันไดหน้าวิหาร



เข้านมัสการพระประธานในวิหารครับ



ทางภาคเหนือ จะมีโบสถ์สำหรับพระสงฆ์ทำพิธีทางศาสนา แยกต่างหากจากตัววิหาร ส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็ก และเป็นโบสถ์มหาอุตม์ ตือ ไม่มีช่องหน้าต่างแต่อย่างใด เพื่อให้ความศักดิ์สิทธิ์ของมนต์พิธีคงไว้ในตัวโบสถ์ จึงมีจารีตห้ามสุภาพสตรีเข้าไปในโบสถ์

สำหรับผู้ที่เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมกันทางเพศ คงไม่ถูกใจแน่ๆ



ภายในโบสถ์ ก็เรียบๆ ตามภาพที่เห็น



ภายในวัด ยังมีโรงเก็บเรือยาวประจำคุ้มอีกด้วย

ประเพณีแข่งเรือเมืองน่าน เป็นประเพณีเก่าแก่สืบเนื่องมาแต่โบราณ แต่ก่อนได้กำหนดว่าให้มีการจัดการแข่งขันขึ้นทุกครั้งที่มีงานตานก๋วยสลาก (ถวายทานสลากภัต) หมู่บ้านใด วัดใด จัดให้มีงานตานก๋วยสลาก ก็ให้มีการเชื้อเชิญหมู่บ้าน และวัดใกล้เคียงให้นำเรือมาแข่งขันกัน เพื่อความสนุกสนานสมานสามัคคีงานตานก๋วยสลากกับการแข่งเรือ เป็นประเพณีคู่กันมาแต่โบราณ ทางราชการจึงถือเอางานตานก๋วยสลาก ณ วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร ซึ่งเป็นวัดหลวงกลางเวียงของน่าน เป็นการเปิดสนามการแข่งขันเรือของน่านราวปลายเดือนกันยายนในแต่ละปี และงานตานก๋วยสลากจะไปสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ประมาณปลายเดือนตุลาคม ถึงต้นเดือนพฤศจิกายน จะเป็นการแข่งขันนัดปิดสนาม

เอกลักษณ์ของเรือเมืองน่าน มีความงดงามไม่เหมือนเรือแข่งจังหวัดใดในประเทศไทย คือ เป็นเรือที่ขุดจากไม้ตะเคียนหรือตะเคียนทองทั้งต้น ด้วยเชื่อกันว่ามีความทนทานและผีนางไม้แรง โดยเฉพาะเอกลักษณ์ตรงหัวเรือหรือโขนเรือ ที่แกะสลักเป็นหัวพญานาคแบบล้านนา กำลังแสยะเขี้ยวแสดงอำนาจ ส่วนท้ายเรือสลักเป็นหางของพญานาค มีความสวยงามเป็นอย่างยิ่ง เชื่อกันว่าพญานาคมีความศักดิ์สิทธิ์ จะดลบันดาลให้ฝนฟ้าอุดมสมบูรณ์ สามารถทำไร่ ทำนาได้ตามฤดูกาล ประเพณีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการแข่งเรืออยู่หลายอย่าง ที่สอดแทรกเป็นกุศโลบายในการสร้างความรัก ความสามัคคี ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคนเมืองน่าน เช่น การบูชาสังเวยเทพอารักษ์ที่สิงสถิตอยู่ในไม้ตะเคียนที่จะนำมาทำเรือ เรียกว่า "ผีเรือ”หรือคนภาคกลางเรียกว่า "แม่ย่านางเรือ” เป็นความเชื่อและถือปฏิบัติกันมานาน การนำเรือลงสู่แม่น้ำในรอบปี หรือเวลาแข่งขันเรือต้องหาฤกษ์ หาวัน และเวลา หรือแม้แต่หลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลแข่งเรือแล้ว จะมีพิธีบายศรีสู่ขวัญและเลี้ยงผีเรือ เพื่อเป็นสิริมงคลแม่คนในชุมชน หมู่บ้าน

การแข่งเรือเมืองน่าน ถือได้ว่าเป็นการรวมน้ำใจ รวมจิตวิญญาณ ผสมผสานของภูมิปัญญาชาวบ้าน ในชุมชนหมู่บ้านที่มีเรือ หากถึงเทศกาลแข่งเรือ ก็จะนำเรือลงน้ำ เพื่อฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน ชาวบ้านจะนำข้าวห่อ เงินทองมาช่วยกันสนับสนุนเรือของหมู่บ้านของตน จึงถือได้ว่า "การแข่งเรือเมืองน่าน ถือเป็นสมบัติ เป็นมรดกของคนน่านทั้งจังหวัด ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง”

การแข่งเรือในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทเรือสวยงาม และประเภทเรือเร็ว โดยที่เรือสวยงามนั้น จะเน้นการตกแต่งเรือให้มีรูปร่างต่างๆ อย่างสวยงาม และมีความหมายที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่าน เช่น บางหมู่บ้านจัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวก็จะมีการตกแต่งเป็นวัด และงาช้างดำ แล้วประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ในขณะที่บางลำอาจมีการแสดงศิลปะพื้นบ้านของเมืองน่าน เช่น ฟ้อนล่องน่านซอล่องน่าน หรือดนตรีพื้นบ้าน ซึ่งจะบ่งบอกความเป็นเมืองน่านในทุกตารางนิ้วของการตกแต่งเรือเลยทีเดียว

เรือประเภทสวยงามนี้ จะได้รับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี

........................................

(จากเพจ สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดน่าน)



ดูหัวเรือสิ อร้าอร่ามเพียงใด ?



ส่วนลำเรือนั้น วาดลวดลายที่สวยสดงดงามตลอดลำเรืออีกด้วย

ประเพณีแข่งเรือเมืองน่านนั้น จะเป็นการแข่งขันเฉพาะคุ้มต่างๆ และหน่วยงานในจังหวัดน่านเท่านั้น ไม่เปิดกว้างเหมือนจังหวัดอื่น



จากวัดศรีพันต้น สองคนพี่น้องก็ไปยังวัดมิ่งเมือง ซึ่งมีศาลพระเจ้าหลักเมืองน่านตั้งอยู่ด้วย



ตั้งใจจะเข้าไปสักการะพระเจ้าหลักเมืองน่าน แต่อยู่ในช่วงงานพิธีสืบชะตาเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง เลยชะงักไว้ก่อน



โดยมีปู่อาจารย์กล่าวร่ายค่าวในพิธีอันยืดยาวด้วยสิ



ทำได้แค่ถือโอกาสเก็บภาพเพียงเท่านี้ มาแก้ตัวสักการะในช่วงบ่าย ซึ่งเสร็จพิธีแล้ว



เสียดายที่ไม่ได้เก็บภาพเรือยาวของวัดซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน ดูแค่รถลากไปพลางๆ ก่อนครับ



หลังจากเก็บภาพเสร็จสรรพแล้ว ก็เสาะหาอาหารใส่ท้องที่ร้านข้างวัดนั่นแหละ

ส่วนใหญ่จะเป็นขนมจีนน้ำเงี้ยว ช้าวซอยไก่ ส่วนเครื่องดื่มนั้นจะเป็นน้ำผลไม้ หรือกาแฟสดจากเมืองน่านตามธรรมเนียม



ออกจากวัดมิ่งเมืองก็นำรถไปจอกในบริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน แต่น้องผมบอกว่า เคยเข้าไปชมข้างใน เลยสละสิทธิ์เดินข้ามถนนไปวัดช้างค้ำดีกว่า

แวะเซลฟี่กันนิดที่ซุ้มดอกลั่นทม หรือที่เปลี่ยนชื่อให้ทันสมัยเก๋ไก๋ว่า "ลีลาวดี"

ดอกเริ่มร่วงโรยแล้ว



มองดูที่ฟุตบาท มีป้ายบอกไว้ว่า ได้นำสายเคเบิลไฟฟ้าลงดินเรียบร้อยแล้ว



ข้ามถนนปั๊บ เห็นป้ายชื่อวัดโดดเด่นแต่ไกล



วัดช้างคำ เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง เจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข่ง เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ.1949

พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ รูปทรงสร้างตามสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ ลักษณะภายในโอ่โถง ด้านหน้ามีสิงห์คู่ ยืนตรงเชิงบันได ด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ประตูกลาง ทำเป็นประตูใหญ่ และประตูเล็ก อยู่ด้านซ้ายและด้านขวา มีทางขึ้นเป็นประตูเล็ก ๆ ตรงข้ามพระประธาน ด้านทิศตะวันออกและตะวันตกอีก 2 ข้าง ทำหลังคาซ้อนกัน 2 ชั้น มุขลดด้านหน้า และด้านหลัง หน้าบัน ตีด้วยแผ่นกระดานเรียงต่อกัน แล้วประดับที่ขอบเสา ด้านหน้าทุกต้น ตามลักษณะ สถาปัตยกรรมล้านนาไทย

ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลัก ลวดลายปูนปั้นนูนสูงไว้ เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลาย กนกระย้าย้อย เหมือนลวดลาย ที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์

ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์ มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65 % สูง 145 เซนติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ.1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก ใหญ่ที่สุดในประเทศ

พระธาตุเจดีย์ช้างค้ำวรวิหาร เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ภายใน นับเป็นปูชนียสถานสำคัญ เป็นเจดีย์ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อมนั่นเอง

พระธาตุเจดีย์ สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลื่ยมจัตุรัส ซ้อนกัน 3 ชั้น กว้างด้านละ 9 วา ฐานจากชั้นแรกสูงถึงชั้นสอง มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะ เหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก รวมทั้งหมด 24 เชือก

ช้างแต่ละตัว โผล่ส่วนหัว ลอยออกมาครึ่งตัว ขาหน้าทั้งคู่ ยื่นพ้นออกมาจากเหลี่ยมฐาน เหนือขึ้นไปเป็นฐานปัทม์ (ฐานบัว) ซ้อนกัน 3 ชัน และเป็นองค์ระฆังแบบลังกา ต่อจากองค์ระฆัง ทำเป็นฐานเขียง รองรับมาลัยลูกแก้ว ลดหลั่นกันไป เป็นส่วนยอด

ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้นด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์ มีความสวยงามมาก

......................................

จากเพจวิกิพีเดียไทยดอทคอม



มีแผนที่แสดงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดน่าน จัดทำโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย



ป้ายแสดงประวัติของวัดช้างค้ำวรวิหาร
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่