วิธีการ ๖ มาฆบูชา

วิธีการ ๖

  ๑. อะนูปะวาโท ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร

  ๒. อะนูปะฆาโต ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

  การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย แม้แต่ในความคิด แม้ว่าบางครั้งเราไม่ได้พูดออกมา แต่ความคิดของในก็ไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้ายบุคคลอื่น ต้องคอยตรวจสอบ
  นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี แปลว่า ผู้ทำร้ายคนอื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต

  นักบวชหรือบรรพชิต จะต้องมีการเปล่งวาจา ตั้งสัจจะอธิษฐาน ปณิธาน ปฏิญาณตน เช่น ถือวินัย ๑๐ ถือวินัย ๒๒๗ ข้อ ถือวินัย ๓๑๑ ข้อ เช่น ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ทำร้ายใคร ถ้าหากว่าผิดคำสัจจะสัญญา ก็ไม่ใช่นักบวชหรือบรรพชิต

  สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต แปลว่า ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

  สมณะ คือ ผู้สงบ ผู้ตั้ังจิตบำเพ็ญ แต่ถ้าไปเบียดเบียนคนอื่นแสดงว่าตนเองผิดวาจาไว้ว่าจะต้องไปช่วยเหลือคนอื่น กลับมาเบียดเบียนคนอื่น ทางพระสงฆ์ท่านจึงกินง่าย อยู่ง่าย เพื่อที่จะไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ชาวบ้าน

  ๓. ปาติโมกเข จะ สังวะโร แปลว่า สำรวมในปาติโมกข์ อันได้แก่  ปาริสุทธิศีล ๔ (ศีลคือความบริสุทธิ์, ศีลเครื่องให้บริสุทธิ์, ความประพฤติบริสุทธิ์ที่จัดเป็นศีล - morality consisting in purity; morality for purification; morality of pure conduct)

    ๑) ปาฏิโมกขสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เว้นจากข้อห้าม ทำตามข้ออนุญาต ประพฤติเคร่งครัดในสิกขาบททั้งหลาย - restraint in accordance with the monastic disciplinary code)

    ๒) อินทรียสังวรศีล (ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ ระวังไม่ให้บาปอกุศลธรรมครอบงำเมื่อรับรู้อารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๖ - restraint of the senses; sense-control) 

  ให้ระมัดระวังว่าอย่าทำอะไรให้เกิดกว่าเหตุ เกินกว่าความเหมาะสม

    ๓) อาชีวปาริสุทธิศีล (ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีวะ เลี้ยงชีวิตโดยทางที่ชอบ ไม่ประกอบอเนสนา มีหลอกลวงเขาเลี้ยงชีพเป็นต้น - purity of conduct as regards livelihood)

           ๔) ปัจจัยสันนิสิตศีล (ศีลที่เกี่ยวกับปัจจัย ๔ ได้แก่ ปัจจัยปัจจเวกขณ์ คือ พิจารณาใช้สอยปัจจัยสี่ ให้เป็นไปตามความหมายและประโยชน์ของสิ่งนั้น ไม่บริโภคด้วยตัณหา - pure conduct as regards the necessaries of life)

  ๔. มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสมิง รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
  โภชะเน มัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณในการบริโภค คือรู้จักพิจารณารับประทานอาหารเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายใช้ทำกิจให้ชีวิตผาสุก มิใช่เพื่อสนุกสนาน มัวเมา— moderation in eating)

  ทำไมพระพุทธเจ้าถึงมาเน้นในการกินอาหาร ไม่เน้นการสะสมอย่างอื่น เพราะว่า อาหารนี้เป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ชิดตัวเรามากที่สุด อยู่ในชีวิตประจำวันของเราเลย ถ้าเราสามารถทำได้กับชีวิตประจำวันเราได้ แสดงว่าสิ่งอื่นๆ อย่างอื่นๆ ก็จะสามารถทำได้ง่าย สบายมาก บางคนกินอาหารมาก เพราะถูกตัว "ชอบ" ครอบงำ ก็เลยกินมาก ถ้าตัวการกินระวังไม่ได้ ก็จะเป็นการเพิ่มกิเลสตัวอื่นๆ ด้วย เพราะตัวนี้เป็นตัวด่านแรก สำคัญมาก เพราะว่าเราจะต้องเจอทุกวัน ถ้าตัวนี้ทำไม่ได้ ตัวอื่นก็จะทำไม่ได้ นิสัยก็จะหละหลวมไปหมด

  ๕. อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม ปลีกวิเวก (seclusion) แปลว่า ความสงัด มี ๓ อย่าง ดังนี้

    ๑) กายวิเวก (bodily seclusion) ความสงัดกาย ได้แก่ การไปอยู่สถานที่ ที่ใดก็ได้ที่ทำให้ใจของเราสงบได้

    ๒) จิตตวิเวก (mental seclusion) ความสงัดใจ ได้แก่ การหลีกเลี่ยงจากการถูกครอบงำ ควบคุม บงการ ของอารมณ์ธรรมต่างๆ โดยต้องใช้ปัญญามาแก้ไข

    ๓) อุปธิวิเวก (seclusion from the essentials of existence) ได้แก่ เจริญภาวนาพระไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนเข้าสู่ภาวะแห่งพระไตรลักษณ์ เพื่อนำไปสู่ความหลุดพ้นจากภาวะอัตตา ตัวตน เพื่อไปสู่เส้นทางแห่งพระนิพพาน

  บุคลิกภาพของเราสันโดษ เช่น เราไปสถานที่หรือสิ่งแวดล้อมที่เขากำลังเต้นสนุกสนานกัน แต่เราไม่เต้นกับเขา เราหยุดนิ่ง นี่แหละบุคลิก เรามีบุคลิกของเรา พร้อมที่จะเข้าสู่ธรรม ธรรมข้อไหน ธรรมข้อที่ทำให้เราสงบ เราไม่ใช่ธรรมโลดแล่น คนนี้กำลังโกรธแล้วเราควบตัวของเราได้ เราไม่ไปบ้าจี้กับเขา ถ้าเราไปบ้าจี้กับเขาเราก็เสร็จ แต่พอเราปลีกวิเวก วิเวกจากไหน วิเวกจากโทสะ เราจะมีรูปลักษณ์ของคำว่าสันโดษ เราจะนิ่ง เราไม่ไปชี้หน้าด่าเขา ทำตัวให้เข้ากับภาวะธรรมนั้นๆ ภาวะธรรมนั้นๆ เราจะไม่โกรธ เราก็ต้องมีรูปแบบของสันโดษอย่างนั้น เราก็ไม่โลดแล่นอย่างเขา จะไปชี้หน้าด่าว่าเขา 
  ถ้าเราจะไปร้องเพลงบนเวทีเราจะสันโดษได้หรือไม่ แล้วเราจะร้องเพลงอะไร ถ้าเราจะร้องเพลง "น้ำตาลก้นแก้ว" ถ้าเราไม่สันโดษ เราก็จะตะโกน ร้องผิดคีย์ มันไม่ตรงกับภาวะธรรมนั้นๆ เราต้องมาดูว่าภาวะธรรมนั้นๆ ควรทำอะไร อย่างไร เจตนาอย่างไร เราก็ต้องทำตามภาวะธรรมนั้นๆ ถึงจะสันโดษ เราต้องมีสัมปชัญญะ คือ รู้ว่าตรงนั้นจะทำยังไงในภาวะธรรมนั้นๆ ที่ถูกต้อง พอเรารู้ว่าในภาวะธรรมนั้นๆ ควรทำเช่นใด เราก็จะสันโดษ ถ้าเราไปตะโกนร้องเพลง แล้วใครจะไปฟังเราร้องเพลง

  ๖. อธิจิตเต จะ อาโยโค คือ ให้หมั่นประกอบความเพียรในจิต หมายความว่า มองความคิดตัวเองและผู้อื่น จงเข้าใจ แล้วบริหาร 

  ข้อศึกษาปฏิบัติ ฝึกหัดทางจิตเพื่อให้จิตเกิดคุณธรรมที่ดี ไม่คล้อยตามสิ่งที่มายั่วยุให้เกิดการยึดติดในเวทนา ความรู้สึกสุขหรือทุกข์ คือ ตั้งใจก่อเกิดในขบวนการนั้น ความมีจิตใจตั้งมั่น

  ไม่ว่าเราจะไปทางจิตเวช จิตวิทยา จิตศาสตร์ หรือจิตทางอภิธรรม ก็ต้องทำเช่นนี้

  เราต้องเข้าใจตัวเอง ตัวเองก็ต้องเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจเราก็จะบริหารไม่ถูก ถ้าเรามองคนอื่นไม่ถูก เราก็บริหารไม่ถูก นี่แหละเป็นหัวใจเลย

  เกี่ยวกับสมาธิ สมมติว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราอยู่ได้ อยู่ดี เราตักน้ำมาหนึ่งแก้วมาดื่ม เรามีสมาธิไหม? ถ้าไม่มีสมาธิ เราก็จะทำน้ำนี้หกหมด ฉะนั้น สมาธิมันอยู่กับเราตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดมาก็มีสมาธิแล้ว ที่นี้ เราจะใช้สมาธิให้เกิดประโยชน์อย่างไร? นี่แหละ พระพุทธเจ้าท่านก็สอนให้แล้ว ไม่ใช่ว่าเราเป็นพระภิกษุแล้วถึงจะไปใช้สมาธิได้ เราเป็นฆราวาสก็ต้องมีสมาธิ เราขี่รถก็ต้องมีสมาธิ เราขี่รถไม่มีสมาธิตายไหม? ไม่มียกเว้นว่า เป็นพระภิกษุแล้วมีสมาธิไม่ตาย แต่ถ้าเราขาดสมาธิเป็นพระภิกษุก็ตายได้เช่นกัน

  ฉะนั้น ไม่ได้เกี่ยวว่าเป็นพระหรือไม่เป็นพระ ใครพร้อมก็มาแต่งเครื่องแบบซะ แล้วก็มาเรียน เรียนเพื่ออะไร? ก็เพื่อมาสอนคนอื่นต่อ คุณไม่พร้อม คุณก็ต้องทำมาหากิน แต่คุณต้องมีธรรมะนะครับ ไม่มีไม่รอด ไม่ว่าเป็นใคร ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ สุดท้ายถ้าขาดธรรมะก็กลายเป็นทรราชย์ไปเลย คนนี้เป็นยาจก เขามีธรรมะ กลายเป็นถูกยกขึ้นมาเป็นจักรพรรดิ นี่แหละ เพราะ ๒ คำนี้ "ไม่ดีเอาออก สิ่งดีทำเพิ่ม"
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่