เรื่องเล่ามสามก๊ก EP28 ยืมดาบฆ่าคน (การตายของยีเอ๋ง กับเรื่องเศร้าของขงหยง)

EP28 ยืมดาบฆ่าคน (การตายของยีเอ๋ง กับเรื่องเศร้าของขงหยง)
เนื้อหายาวไปมีคลิปเสียงเล่าให้ฟังครับ
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
ในตอนที่แล้วพูดถึงการตายของซุนฮกที่ปรึกษาคนสำคัญของโจโฉ กับการขัดแย้งความคิดเห็นทางการเมือง และที่จริงแล้วโจโฉนั้น ก็ได้ฆ่าคนที่คันค้านและต่อต้านตนเองมาโดยตลอด แต่วิธีการก็ยังขัดแย้งกับแนวทางของโจโฉอยู่ ก็ปกติสำหรับโจโฉอยู่แล้ว เพราะว่า “ทุกอย่างที่ขัดแย้งรวบรวมไว้ได้ในโจโฉ” 
ซึ่งโจโฉเองอยากจะให้ผู้คนพูดความจริงกับตนเองให้มากที่สุด เพราะความจริงสำหรับโจโฉแล้ว มีผลดีต่อตนเองเป็นอย่างมาก และคาดหวังว่าจะความจริงใจจากลูกน้องและขุนนางในราชสำนัก เพื่อที่จะสามารถชี้ข้อบกพร่องของตนเองได้ แต่อีกด้าน โจโฉก็จำเป็นที่จะต้องหาทางป้องกันพวกที่ต่อต้านตนเองไว้ด้วยเช่นกัน ก็คือ ด้านนึงต้องแสดงให้ทุกคนที่พูดความจริงได้อย่างจริงใจ ส่วนอีกด้านนึงก็ต้องจัดการกับคนที่ต่อต้านตนเองไว้ให้ได้ด้วยเช่นกัน
ดังนั้นวิธีการของโจโฉ ก็คือ ต้องแยกแยะระหว่างคำพูดคัดต้านด้วยเจตนาดี หรือคำพูดที่โจมตีด้วยเจตนาร้าย อ.อี้จงเทียน อธิบายวิธีการของโจโฉ ในตอนนี้ไว้เป็น สามประการด้วยกันว่า
ประการแรก คือ คนๆนั้นเจตนาเสนอความคิดเห็น หรือเป็นการประกาศต่อต้าน
ประการที่สอง คือ การกระทำของคนๆนั้นทำให้อับอาย หรือมีแผนการร้ายแฝงอยู่
ประการที่สาม คือ คนๆ นั้น มีสมัครพรรคพวก หรือแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหรือไม่
อธิบายก็คือ ถ้าหากพวกต่อต้าน มีแค่คนๆ เดียว อย่างมากคนๆ นี้ ก็ทำได้แค่ให้เกิดความอับอาย แต่ไม่ได้มีแผนการอะไร การต่อต้านคัดค้าน ทำอย่างต่อหน้าต่อตา ถึงจะป่าวประกาศต่อต้านต่อคนทั่วไป การกระทำแบบนี้โจโฉก็ไม่คิดที่จะฆ่าเสมอไป อย่างเช่น “ยีเอ๋ง(หมีเหิง)”
ลักษณะบุคคลิกของ “ยีเอ๋ง” อ.อี้จงเทียนอธิบายไว้ว่า เป็นคนที่ชอบดูถูกคนอื่นไปทั่ว แต่ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนที่ชื่นชมว่าเป็นคนมีความสามารถ คนนั้นก็คือ “ขงหยง” ดังนั้น ขงหยงจึงเสนอต่อราชสำนักมาโดยตลอดว่า ยีเอ๋ง นั้นเป็นเหมือนอัจริยะแห่งยุค เก่งกาจเหนือคนอื่นๆ และอย่างที่เรารู้กันดีก็คือ โจโฉนั้นชอบคนเก่ง ซึ่งแนวทางของโจโฉ ก็คือ “ขอเพียงเก่ง ยินดีอุ้มชู” จึงไม่แปลกที่โจโฉอยากจะพบกับยีเอ๋ง
แต่ยีเอ๋งนั้น ดูถูกโจโฉไว้มาก ดูถูกโจโฉจนเข้ากระดูกดำ จึงไม่ยอมเข้าพบกับโจโฉ อ้างว่าป่วยไม่อาจไปพบโจโฉได้ แต่พอลับหลังก็ด่าโจโฉไม่มีชิ้นดี พอมากเข้าเรื่องก็ถึงหูของโจโฉ แต่ด้วยหลักการข้างต้นอย่างที่บอก เมื่อยีเอ๋งตัวคนเดียว ไม่มีพรรคพวกร่วมต่อต้าน ไม่มีกลุ่มผลประโยชน์คอยหนุนหลัง ก็ไม่จำเป็นต้องคิดฆ่ายีเอ๋ง แต่โจโฉก็ยังแสดงความเลือมใสในความสามารถของยีเอ๋ง

ว่ากันว่า ยีเอ๋งนั้นมีความสามารถในการตีกลองเป็นอย่างมาก โจโฉจึงได้แต่งตั้งให้ยีเอ๋งเป็น ตำแหน่ง “นักกลอง” ต่อมามีการจัดงานเลี้ยงใหญ่โต จึงได้เชิญให้ยีเอ๋งมาตีกลองในงาน ซึ่งยีเอ๋งก็มา เมื่อถึงเวลาเริ่มงานฉลอง ยีเอ๋งตีกลองได้อย่างงดงามมาก ทุกคนต่างถูกเสียงกลองของยีเอ๋งสะกดหมด ซึ่งระหว่างตีกลองไป ยีเอ๋ง ก็เดินไปข้างหน้าเข้าใกล้โจโฉขึ้นไปเรื่อยๆ ตอนนี้จึงได้มีเจ้าหน้าที่พิธีการขวางไว้ และเจ้าหน้าที่พิธีการจึงได้ถามยีเอ๋งว่า “เห็นใดท่านจึงไม่สวมใส่ชุดพิธีการ” ยีเอ๋งตอบว่า “ขอรับ” แล้วจึงเริ่มถอดเสื้อผ้าของตนเองจนหมด เปลีอยเปล่าต่อหน้าโจโฉ จากนั้นจึงตีกลองต่อ ทำทุกอย่างเป็นปกติ แบบไม่ยินดียินร้ายอะไร จนทำให้โจโฉมึนงงกับการกระทำของยีเอ๋ง
แต่ถึงกระนั้นด้วยความเป็นโจโฉ ก็หัวเราะออกมาแล้วพูดว่า “เดิมทีข้าคิดว่าจะทำให้ยีเอ๋งอับอาย แต่กลายเป็นข้าที่อับอายแทน” จึงสั่งเลิกงานเลี้ยงไป แต่ก็ไม่ได้สั่งลงโทษอะไรยีเอ๋ง แต่เรื่องนี้กลับเป็น ขงหยง ที่ทนไม่ได้แทน และไปต่อว่ายีเอ๋ง จนยีเอ๋งออกปากจะไปพบโจโฉใหม่อีกครั้ง
ซึ่งครั้งนี้พอยีเอ๋งพบกับโจโฉอีก กลายเป็นยีเอ๋งก็เริ่มด่าโจโฉต่อหน้า แถมใช้กระบองตีกลองเป็นจังหวะการด่า ก็คือ ด่าไป ตีกลองให้จังหวะไป ครั้งนี้โจโฉทนไม่ไหวจริงๆ จึงพูดกับ ขงหยงว่า “นี่หรือคนที่ท่านแนะนำ มันคิดว่าข้าจะฆ่ามันไม่ได้หรือ แต่การฆ่ามันก็ไม่ต่างกับฆ่านก ฆ่าหนู ช่างมันละกัน เห็นว่าเล่าเปียวอยากได้คนเก่ง ส่งมันไปอยู่กับเล่าเปียวละกัน” 
พอยีเอ๋งมาอยู่กับเล่าเปียว และฝ่ายเล่าเปียวก็ชอบคนเก่งและคนมีการศึกษา จึงได้วางตัวเกรงอกเกรงใจยีเอ๋งเป็นอย่างมาก แต่ไม่นานยีเอ๋งก็เริ่มด่าเล่าเปียวอีก เล่าเปียวทนไม่ไหวจึงส่งตัวยีเอ๋งไปอยู่กับ หองจอ ซึ่งก็ไม่ต่างจากเดิม ในช่วงแรกก็ได้การเคารพจากหองจอ แต่ไปๆมาๆ โรคเก่ากำเริบอีก ก็เริ่มด่าหองจอในงานเลี้ยง แต่ครั้งนี้ไม่เหมือนทุกครั้ง ด้วยหองจอนั้นเป็นทหาร นิสัยหยาบ ทนไม่ได้กับการกระทำของยีเอ๋ง จึงได้สั่งลากยีเอ๋งออกไปเฆี่ยน แต่ยีเอ๋งก็ไม่หยุด หนำซ้ำด่าหนักกว่าเก่า หองจอโกรษจัดจึงสั่งตัดหัว สิริอายุได้ 26 ปี
 
สำหรับการตายของ “ยีเอ๋ง” ในตอนหลังมีคนบางกลุ่มแสดงความเห็นใจยีเอ๋ง โดยให้เห็นผลไว้เป็นสามข้อก็คือ  
ข้อแรก ยีเอ๋งนั้นเป็นคนที่มีความทรนง
ข้อสอง ยีเอ๋งนั้นกล้าด่าโจโฉ
ข้อสาม ยีเอ๋งนั้นตายอย่างไร้ความเป็นธรรม
แต่สำหรับ อ.อี้จงเทียนแล้ว กลับแสดงเหตุผลต่างออกไป
ข้อแรก ยีเอ๋งเป็นคนมีความทรนงจริงหรือไม่ อาจเรียกได้ว่าเหมือนจะมี ก็คือ หากใครเป็นผู้นำเบอร์หนึ่ง ยีเอ๋งกล้าด่าหมด ไม่ว่าจะเป็นหองจอ เล่าเปียวหรือแม้แต่โจโฉก็ตาม ซึ่งการกระทำแบบนี้ การด่าเจ้านายแบบนี้จะมีสักกี่คนกันที่กล้าทำ แต่การเป็นคนทรนงมองแค่นี้ก็คงจะไม่ได้ การที่ยีเอ๋งด่าคนใหญ่คนโตนั้นก็สามารถที่จะด่ากันได้ แต่ต้องตั้งคำถามกลับว่า
หนึ่ง คนนั้นสมควรให้ยีเอ๋งด่าหรือไม่
สอง ยีเอ๋งด่าไปทำไม
สาม ยีเอ๋งด่ามาแต่แรกหรือด่ามาโดยตลอด คำตอบของคำถามก็คือ “ไม่ใช่” 
ยีเอ๋งคนนี้ อยากรับราชการมาโดยตลอด และไม่ได้เป็นคนสูงส่งอย่างที่คิด โดยยีเอ๋งรู้สึกว่าตนเองนั้นเก่งและมีความสามารถที่ปกครองเมืองได้ จนอดรนทนรอไม่ไหว จึงออกมาขอตำแหน่งขุนนาง โดยเดินทางไปที่ฮูโต๋ในช่วงที่ปีเจี้ยนอันศกที่หนึ่ง ซึ่งในเวลานั้นโจโฉนำองค์ฮ่องเต้มาอยู่ที่ฮูโต๋ ยีเอ๋งแสดงตัวกับเหล่าขุนนางหลายต่อหลายคน กับคนที่ยีเอ๋งคิดว่าน่าจะเป็นเจ้านายของตนเองได้  แต่เมื่อไปทั่วเมืองแล้ว กลับไม่มีใครสนใจและเมื่อไม่มีใครสนใจ แทนที่ยีเอ๋งจะกลับบ้านเดิม ไปดูแลไร่นาที่หนานหยางกลับไม่ทำ สิ่งที่ยีเอ๋งทำก็คือ “เริ่มด่าคนอื่น” อย่างเกรียวกราด ดังนั้นการกระทำของยีเอ๋งจึงไม่เป็นที่ต้อนรับ และเมื่อผู้คนไม่ต้อนรับ ยีเอ๋งก็ด่าผู้คนไปทั่ว เมื่อด่าคนอื่นไปทั่วก็เลยถูกปิดกั้น เมื่อถูกปิดกั้นก็ยิ่งด่าไปทั่ว เป็นอย่างนี้คนอื่นก็ยิ่งไม่ชอบ เมื่อไม่ชอบก็ยิ่งถูกปิดกั้น หมุนวนเป็นวัฏจักร
ในบันทึกจดหมายเหตุฯ บันทึกไว้ว่า ยีเอ๋งนั้น “ผู้คนชิงชัง” ซึ่งเราอาจจะมองได้ว่า ผู้คนต่างก็รังเกียจในตัวเขา ความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นไม่มี ดังนั้น ยีเอ๋ง ผู้นี้ไม่ใช่แค่ต่อต้านโจโฉ หรือเล่าเปียวและหองจอ แต่ยีเอ๋งนั้น เขาต่อต้านคนทั้งสังคม เรียกได้ว่าตัดขาดกับคนในสังคม ดังนั้นคำว่าเป็นคนมีความทรนงนั้น จึงเรียกได้ว่าไม่ผ่าน
ข้อสอง โจโฉสมควรโดนด่าหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าโจโฉนั้น มีส่วนที่ควรด่า เพราะโจโฉนั้นมีดีมีชั่ว มีความผิดที่เคยทำมา ซึ่งก็เป็นปกติสำหรับผู้คน มนุษย์ปตุชนทั่วไป มีทั้งของดีข้อเสีย แต่ใช่ว่าเมื่อยีเอ๋งด่าโจโฉแล้วจะทำให้กลายเป็นวีรบุรุษ ดังนั้นต้องดูว่าที่ยีเอ๋งนั้นด่าโจโฉเรื่องอะไร ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ ไม่มีบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ บางคนว่ายีเอ๋งด่าโจโฉชิงราชสมบัติ แต่ในตอนนั้นเป็นปีเจี้ยนอันศกที่หนึ่ง โจโฉเพิ่งเริ่มต้นรับฮ่องเต้มาฮูโต๋ ซึ่งว่าจะชิงราชสมบัติได้อย่างไร หากแต่เป็นเรื่องจริง แต่ซุนฮกก็ไม่ได้คิดชิงราชสมบัติ ยีเอ๋งก็ยังด่าซุนฮก แล้วจะด่าซุนฮกเรื่องอะไร
แล้วถ้าหากเป็นเรื่องว่าโจโฉนั้นป่าเถื่อน แล้วเล่าเปียวละ เหตุผลที่ด่าเล่าเปียวคืออะไร ซึ่งการกระทำของโจโฉต่อยีเอ๋งนั้น ให้เกียรติมาโดยตลอดทั้งต้อนรับ จัดงานเลี้ยงสุดท้าย ยีเอ๋งก็ด่าโจโฉอยู่ดี ดังนั้นโจโฉสมควรโดนด่าไหม สำหรับข้อนี้ยีเอ๋งก็ไม่ผ่าน
ข้อสาม ยีเอ๋งตายอย่างไม่เป็นธรรม อ.อี้จงเทียนอธิบายว่า การตายของยีเอ๋งนั้นเรียกได้ว่า เป็นธรรมและไม่เป็นธรรม ทำไมจึงไม่เป็นธรรม การกระทำของยีเอ๋งนั้นแม้จะผิด แต่โทษก็ไม่สมควรถึงตาย แล้วทำไมถึงเป็นธรรม เพราะเป็นยีเอ๋งเองที่หาเรื่องใส่ตัว ไม่มากก็น้อย
ในการตายของยีเอ๋งนั้น หลายคนอาจมองว่าต้นเหตุนั้นมาจากโจโฉ แต่อ.อี้จงเทียนกลับมองว่าไม่ใช่โจโฉคือต้นเหตุ โดยโจโฉนั้นส่งยีเอ๋งให้กับเล่าเปียว โดยโจโฉรู้ดีว่าเล่าเปียวนั้นเป็นคนดี ใจกว้าง มีการศึกษา เจตนาของโจโฉจึงหวังว่า หากยีเอ๋งได้ไปอยู่กับเล่าเปียวแล้วพฤติกรรมอาจเปลี่ยนแปลงไป แต่สำหรับเล่าเปียวนั้นรู้ดีว่า หองจอเป็นคนเช่นไร ซึ่งหองจอเองเป็นทหารกลำศึก นิสัยป่าเถื่อน ดังนั้นการที่เล่าเปียวส่งยีเอ๋งให้หองจอจึงเรียกได้ว่า เป็นการ “ยืมดาบฆ่าคน”

จึงสรุปการตายของยีเอ๋ง ไว้เป็นสามข้อว่า
หนึ่ง เป็นเพราะความไม่เจียมตัวของยีเอ๋งเอง
สอง เป็นเพราะเล่าเปียวยืมดาบฆ่าคน ไม่ใช่เจตนาของโจโฉ
สาม ต้นเหตุแท้จริงเป็นเพราะสังคมตกต่ำ ก็คือ ไม่ว่ายีเอ๋งจะเป็นอย่างไร โทษก็ไม่ถึงตาย แต่ด้วยสังคมตกต่ำ มีคนด่า เจ้าเมืองหองจอก็เอาแต่ตามใจชอบ สั่งฆ่าโดยไม่ไตร่สวน ไม่มีคนแก้ต่าง หากมองกันถึงรากแก่น เป็นเพราะสังคมไม่มีกฎหมาย ไม่มีกฏเกณท์ แต่มองอีกมุมนึง ต่อให้ในยุคนี้ มีกฏหมายมีสิทธิมนุษยชน คนอย่างยีเอ๋งก็ไม่เป็นที่ชื่นชอบเท่าไหร่นัก เขาพูดจาไม่เคยไว้หน้าคู่สนทนา และไม่เหลือที่ยืนให้กับตนเอง สุดท้ายคำพูดของยีเอ๋งก็จะบีบอีกฝ่ายและตัวเองไปจนมุม ทำแบบนี้ไปทำไมกัน ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า “ยีเอ๋งนั้นไม่ควรตาย แต่ก็ไม่ควรสรรเสริญเอาเป็นแบบอย่าง” 

แต่การตายของ “ขงหยง” นั้น ต้นเหตุเป็นเพราะโจโฉ ซึ่งขงหยงกับโจโฉนั้นผิดใจกันมาโดยตลอด เริ่มตั้งแต่ปีเจี้ยนอันศกที่ 2 อ้วนสุดตั้งตนเป็นฮ่องเต้ที่ไหวหนาน โจโฉอยากฉวยโอกาสนี้ฆ่า “หยางเปียว(เอียวปิว)” พ่อของ “หยางซิว(เอียวซิว)” โดยโจโฉนั้นมีความขัดแย้งกับหยางเปียว และหยางเปียวกับอ้วนสุดมีลูกเกี่ยวดองกัน และแน่นอนเรื่องนี้คือการใช้อำนาจจัดการเรื่องส่วนตัว ขงหยงจึงไปคัดค้านโจโฉ โดยทั้งสองต่างก็โต้เถียงกัน จนโจโฉนั้นหาข้อโต้แยังต่อขงหยงไม่ได้ สุดท้ายหมดหนทาง โจโฉจำใจต้องปล่อยหยางเปียวไป
ต่อมาเจี้ยนอันศกปีที่ 7 โจโฉเข้าตีเมืองเย่ได้ โจผีเอาเมียของอ้วนฮี ลูกชายอ้วนเสี้ยว ชื่อ “นางเจินซื่อ” มาเป็นเมีย ขงหยงเขียนจดหมายวิจารณ์การกระทำครั้งนี้ และก่อนการเปิดศึกกับอ้วนเสี้ยวที่กัวต๋อ ขงหยงประกาศกลางราชสำนักว่าไม่มีทางเอาชนะอ้วนเสี้ยวได้ เรื่องเหล่านี้โจโฉเก็บไว้ในใจมาโดยตลอด
และอีกเรื่องที่สำคัญ ก็คือ ขงหยงประกาศว่าในรอบพันลี้จากเมืองหลวงไม่สมควรที่จะมีตำแหน่งพระยา ซึ่งตอนนั้นโจโฉมีตำแหน่งเป็น “พระยาอู่ผิง” สำหรับเรื่องนี้แล้วโจโฉนั้นไม่พอใจอย่างมากและต่อมาเจี้ยนอันศกปีที่ 13 ก่อนเดินทัพปราบเล่าเปียว ด้วยขงหยงนั้นสนิทกับเล่าปี่ โจโฉสั่งฆ่าขงหยง โดยข้อหาของขงหยงนั้น “ไม่ใช่กบฎ” แต่เป็นข้อหา “ไม่กตัญญู” โดยคำกล่าวหาก็คือ ขงหยงได้เขียนบทความอกตัญญูไว้สองบท ก็คือ
บทแรกบอกว่า “พ่อแม่กับลูกๆไม่มีบุญคุณต่อกัน” ความหมายก็คือ จุดประสงค์เริ่มต้นของพ่อนั้น ก็คือการสร้างความสุขสมให้กับตนเอง ส่วนแม่นั้นก็เปรียบเหมือนกับไหใบนึง ลูกก็คือของที่อยู่ในไห และเมื่อเทของออกจากไหแล้ว สิ่งของนั้นกับไหจึงไม่มีความเกี่ยวข้องกัน
บทที่สอง “เวลาอดอยาก หากมีของกินอยู่บ้าง จะให้พ่อหรือให้คนอื่นดี” ขงหยงตอบว่า “หากพ่อเป็นคนไม่ดี ก็เอาของกินไปให้คนอื่นดีกว่า” 
และทั้งสองบทความนี้คือหลักฐานความ “ไม่กตัญญู” ของขงหยง สุดท้ายจึงเป็นเหตุให้ต้องข้อหาเอาขงหยงเข้าคุก แล้วจึงตัดสินประหารเสีย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่