สงสัยครับทำไม ข้าราชการทำผิดทำไมต้องย้ายครับ ทำไมไม่ใล่ออก ครับ?

ตามหัวข้อเลยนะครับ
คือผมดูข่าวต่างๆถ้าข้าราชการทำผิดถึงไม่ให้ออกครับแต่โดนย้าย
เพราะอะไรหรอครับถ้าย้ายไปอาจจะทำผิดอีกครั้งก็ได้
ใครรู้มาตอบได้นะครับ 
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
การย้าย ตามหลักไม่ใช่การลงโทษ
การย้ายในกรณีที่ข้าราชการผู้นั้นถูกร้องเรียน หรือถูกพบว่ากระทำ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด
การย้ายนั้น คือ การ "กัน" ไม่ให้ข้าราชการผู้นั้น ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
หรือ กระทำการอะไรอันเป็นการรบกวนการสืบสวนสอบสวน หรือกระทำอันตรายต่อการยุติธรรม
เช่น ใช้อำนาจข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาเพื่อประโยชน์ของตน
หรือ เก็บกวาดหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด

ซึ่งเมื่อการสอบสวนแล้วเสร็จ หากพบว่ามีความผิดจริง ก็จะถูกลงโทษทางวินัยต่อไป
หรือหากมีการกระทำผิดทางอาญาร่วมด้วย ก็จะถูกดำเนินคดีอาญาตามฐานความผิดนั้น
รวมไปถึงการกระทำละเมิดทางแพ่ง หากมีเป็นการส่วนตัว
หรือ กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ​อย่างร้ายแรง
ก็ไม่พ้นที่จะต้องรับผิดชดใช้ด้วย

ส่วนการลงโทษข้าราชการ (ทั่วไป)
โทษทางวินัยมี 5 สถาน ดังต่อไปนี้
1. ภาคทัณฑ์
2. ตัดเงินเดือน
3. ลดเงินเดือน
4. ปลดออก
5. ไล่ออก

แต่ทั้งนี้ การย้าย สามารถนำมาใช้เป็นการให้คุณให้โทษข้าราชการได้เช่นกัน
เช่น การย้ายไปในถิ่นไกลปืนเที่ยง การย้ายไปไกลจากภูมิลำเนา การย้ายไปในถิ่นอันตรายหรือถิ่นทุรกันดาร ก็เป็นการให้โทษข้าราชการ
หรือ การย้ายไปในท้องที่เจริญ การย้ายไปใกล้ภูมิลำเนา การย้ายไปในหน่วยงานที่มีตำแหน่งว่างให้สามารถเลื่อนระดับได้สูงขึ้น ก็เป็นการให้คุณ

สำหรับว่าทำไมไม่ไล่ออกเลยทันทีนั้น
ก็หลักการเดียวกับกฎหมาย​บ้านเมืองทั่วไปครับ
เช่น มีคนกล่าวหาคุณ จขกท. (หรือใครที่เย้ว ๆ ว่าทำไมไม่ไล่ออกเลย ย้ายทำไม) ว่าข่มขืนเด็ก
แบบนี้ ต้องประหาร ตัดHUM หรือจำคุก คุณทันทีเลย
หรือ คุณทำงานร้านอาหาร มีคนร้องว่าคุยถ่มน้ำลายใส่อาหาร
แบบนี้ เลวมาก ต้องไล่คุณออกเลยทันที
โดยไม่ต้องสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง หรือให้โอกาสคุณนำพยานหลักฐาน​มาสู้กันเลยใช่ไหม
ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ แล้วคุณอาจจะไม่ได้ทำผิดอะไรเลยก็ได้
ฉันใดก็ฉันนั้นครับ
จึงต้องมีการสอบสวนให้สิ้นสงสัยเสียก่อนจะลงโทษใครได้

เหตุผลอีกประการหนึ่ง​ที่การลงโทษข้าราชการกระทำได้ยาก
ก็ด้วย หลักประกันความมั่นคงในการดำรงสถานภาพข้าราชการ (Security of tenure) ครับ
ซึ่งหลักที่ว่าเป็นหลักสำคัญใน ระบบคุณธรรม (Merit System) ไม่ใช่หลักในระบบอุปถัมภ์แต่อย่างใด
เพราะงานราชการเกี่ยวพันกับประโยชน์​สาธารณะ
หากผู้บังคับบัญชาสามารถลงโทษลูกน้องได้ง่าย ๆ
ก็จะส่งผลเสียต่อการปฏิบัติหน้าที่​ราชการ ผู้บังคับบัญชาจะมีอำนาจล้นพ้นเกินไป
ข้าราชการผู้น้อยก็จะไม่กล้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความตรงไปตรงมา
เพราะหากขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชา แม้ผู้บังคับบัญชาจะกระทำผิดทุจริต​ก็ตาม แต่ผู้น้อยก็จะเป็นฝ่ายโดนเล่นงานซะเอง
จึงต้องมีกฎหมายและระเบียบ คุ้มครองเอาไว้ ไม่ให้เกิดการกลั่นแกล้งได้โดยง่ายจากผู้บังคับบัญชา
ความคุ้มครองนี้จึงเป็นหลักประกันให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสุจริต ซื่อตรง
เพราะ หลักประกันความมั่นคงในการดำรงสถานภาพข้าราชการ เป็นการถ่วงดุลอำนาจกับผู้บังคับบัญชานั่นเอง

ลองคิดเล่น ๆ ถ้าเกิดมีการลงโทษได้ง่าย ๆ โดยผู้บังคับบัญชา
เราคงไม่เห็นครูผู้น้อย ออกมาร้องเรียนเรื่องอาหารกลางวันเด็กไม่ได้มาตรฐาน
เพราะคงโดน ผอ. ใส่ความไล่ออกไปก่อนนานแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่