[CR] รีวิวชีวิตตลอด4ปีของเด็กสาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ที่ TNI ไทย-ญี่ปุ่น

           สวัสดีค่ะ เรากำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (IB) สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) นะคะ ปีนี้ก็เป็นการเรียนปีสุดท้ายของเราแล้ว เราอยากมาแชร์เรื่องราวและความทรงจำตลอด4ปีคร่าวๆ ว่าทำไมเราถึงเลือกทีนี่ แล้วเราเรียนยังไง มันต่างจากที่อื่นยังไง เผื่อประสบการณ์ของเราจะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจของน้องๆที่มีความสนใจในสาขานี้นะคะ
          ก่อนอื่นขอบอกก่อนว่า การเรียนการสอนของสาขา IB ก็คือตามชื่อสาขาเลยค่ะ International Business Management การจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ก็จะเรียนครอบคลุมหลายด้าน ทั้ง Marketing, Shipping Management, International Finance, Cross-Cultural Management, Import-Export Management, International Logistics เป็นต้น วิชาสาขาที่กล่าวไปข้างต้นจะเป็นตัวบังคับ ซึ่งจะเรียนเป็นภาษาอังกฤษล้วนทั้งหมด และนอกจากภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างจัดหนักจัดเต็มแล้ว ขึ้นชื่อว่าเป็นไทย-ญี่ปุ่น ก็ต้องเรียนภาษาญี่ปุ่นควบคู่ไปด้วยค่ะ ซึ่งที่เราเลือกเรียนที่นี่ เพราะที่นี่ทำให้การเรียนสามภาษาคือ ไทย-อังกฤษ-ญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย
           สำหรับการเรียนของเรา ตัวเราเองค่อนข้างชื่นชอบในภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่สาขา IB จะเน้นภาษาอังกฤษมากกว่า จึงมีตัวบังคับภาษาญี่ปุ่นแค่3เทอม ส่วนสาขาอื่นจะบังคับเรียนภาษาญี่ปุ่น5เทอม

          แล้วถามว่าทำไมเราถึงเลือกสาขา IB ?

           เราคิดว่าการมีสกิลภาษาติดตัวมันจะช่วยเปิดโอกาสให้กับเรามากขึ้นในการเลือกอาชีพในอนาคต ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากล เป็น Global Language ที่เราเรียนกันมาตั้งแต่อนุบาล ตั้งแต่ประถมแล้ว ถึงแม้เราจะชอบภาษาญี่ปุ่น แต่เราก็ไม่อยากทิ้งภาษาอังกฤษ

          แล้วทำยังไงถึงจะเรียนทั้งสองภาษาให้เก่งไปพร้อมๆกันได้?

          เราพยายามทำทุกวิถีทางที่จะเรียนสาขา IB แบบสไตล์ “ญี่ปุ่น” ตามแบบฉบับของเราให้ได้ เราก็จัดการตารางเรียนของเราเองเลยค่ะ เราลงวิชาเลือกภาษาญี่ปุ่นที่มีทั้งหมดในหลักสูตร มีเท่าไหร่ ยัดมาเท่านั้น
          ส่วนตัวแล้วเราสนใจในภาษาญี่ปุ่นก็จริง แต่เราไม่มีพื้นฐานภาษาญี่ปุ่นมาก่อนเลย ไม่เคยเรียนพิเศษภาษาญี่ปุ่นที่ไหน เพราะตอนม.ปลายเราเรียนศิลป์-จีน เลยไม่มีโอกาสได้ฝึกพูดหรือได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ใช้ภาษาญี่ปุ่น ได้แต่เปิด Google เรียนฮิรากานะ คาตากานะด้วยตัวเองแบบผ่านๆ ไอเราก็กลัวว่าพอเข้ามาแล้วจะตามเพื่อนไม่ทันรึเปล่า รู้สึกอึดอัดและกดดันบ้างว่าจะไปรอดไหม แต่ที่นี่เขาเริ่มสอนตั้งแต่ศูนย์ใหม่หมดเลยค่ะ ไม่ว่าจะมีพื้นฐานหรือไม่มีพื้นฐาน ทุกคนจะเรียนไปพร้อมๆกัน

          ตัวบังคับภาษาญี่ปุ่นสามตัวที่ทุกคนจะต้องเรียน คือ
          JPN-101 ภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ 1
          JPN-102 ภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ 2
          JPN-201 ภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ 3
          ซึ่งจะเรียนเป็นภาษาญี่ปุ่นขั้นต้น มีบทสนทนาเกี่ยวกับการทำงานในบริษัทและภาคอุตสาหกรรมบ้างเล็กน้อย ฝึกทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียน และสามารถสนทนาโต้ตอบเกี่ยวกับตัวเองอย่างง่ายๆได้
          พอจบภาษาญี่ปุ่นบังคับสามตัวแล้ว เราก็ไม่ลังเลที่จะลงวิชาเลือกภาษาญี่ปุ่นต่อ ได้แก่

          JPN-202 ภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ 4
          JPN-301 ภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ 5
          JPN-302 ภาษาญี่ปุ่นธุรกิจ 6
          ซึ่งจะเรียนไวยากรณ์ระดับกลางถึงระดับสูงที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้น มีการจับกลุ่ม Chat room กับนักศึกษาหรืออาจารย์ชาวญี่ปุ่น ฝึกการอ่านคิดวิเคราะห์ เรียนคำศัพท์ ฝึกการฟัง พูด อ่าน เขียนในระดับที่ยากขึ้น จนสามารถสนทนาโต้ตอบและสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ทั้งในชีวิตประจำวันและนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้
          นอกจากวิชาที่กล่าวไปข้างต้น ก็มีวิชาเลือกภาษาญี่ปุ่นอีกมากมายนอกหลักสูตร ที่น้องๆสามารถเก็บเป็นวิชาเลือกเสรีได้ค่ะ เช่น
          JPN-413 ภาษาญี่ปุ่นผ่านสื่อมัลติมีเดีย
          JPN-415 ฝึกทักษะการฟังและพูดภาษาญี่ปุ่น
          JPN-417 ฝึกทักษะการอ่านและเขียนภาษาญี่ปุ่น
          ซึ่งการที่เราลงภาษาญี่ปุ่นหนักๆแบบนี้ ทำให้สกิลภาษาญี่ปุ่นเราพัฒนาขึ้นมาก ไม่ต้องไปเรียนพิเศษข้างนอกที่ไหนเลย จากงูๆปลาๆ อ่านฮิรากานะ คาตากานะได้บ้างนิดหน่อย แทบจะสอบ N5 ไม่ผ่านเลยด้วยซ้ำ ตอนนี้เราผ่าน N3 และกำลังจะสอง N2 ในเร็วๆนี้แล้วค่ะ

          อะ เรามาต่อกันที่ในปีๆนึง เด็ก IB คนนี้ต้องไปเจออะไรบ้าง?

          เข้ามาปีแรกก็เจอ House Project
         นอกจากกิจกรรมของมอเช่น เข้าค่ายและรับน้องต่างๆแล้ว เด็ก IB มีความพิเศษกว่าสาขาอื่นๆคือ House Project
          เจ้า House Project คืออะไร? มันคือโปรเจคที่นักศึกษา IB ทุกชั้นปีต้องทำงานร่วมกัน โดยมีโมเดลคล้าย Hogwarts ใน Harry Potter ตอนแรกเรารู้สึกตื่นเต้นมาก พอพูดถึงบ้านที่ Hogwarts แล้วก็จะนึกถึงหมวกคัดสรร มันลุ้นมากว่าเราจะเหมาะกับบ้านไหน ซึ่งแต่ละบ้านจะเป็นบริษัทจำลอง ทุกคนที่เข้ามาในบ้านจะมีหน้าที่รับผิดชอบต่างกันออกไป มีทั้งฝ่าย Marketing, Research and Development, Finance, Product and Sales, Human Resource Management, Creative ฯลฯ แล้วแต่การจัดการการบริหารระบบภายในของแต่ละบ้าน โดยนอกจากการขายสินค้าเฉพาะของแต่ละบ้านแล้ว พวกเรายังต้องประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะจากที่เราเรียนมา เลือกทำงานในฝ่ายที่สนใจหรือฝ่ายที่ถนัดแล้วแต่ความชอบ แล้วเราเหมาะกับบ้านไหนล่ะ? การที่จะเข้าบ้านแต่ละบ้านนั้นไม่ใช่เป็นหน้าที่ของหมวกคัดสรรนะคะ ฮ่าๆ แต่เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเข้าไปสัมภาษณ์ แสดงความสามารถ โชว์ของที่เรามี เหมือนกับเราไปสัมภาษณ์งานที่บริษัทจริงเลย
          การได้ทำโปรเจคนี้ช่วยให้เราสามารถปรับตัว เตรียมรับมือพร้อมสู่การทำงานในสังคมบริษัทจริงได้ ได้รู้จักการวางแผน การทำงานเป็นทีม ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างหนึ่งตั้งแต่เข้าสถาบันนี้เลยค่ะ

อันนี้เป็นการอบรม Training ภายในบ้านของเราเองค่ะ
เป็นการอบรมให้สมาชิกในบ้านรู้จักกับผลิตภัณฑ์และสรรพคุณของผลิตภัณฑ์มากขึ้นเตรียมพร้อมสู่การขาย

อันนี้เป็นรูปภาพผลิตภัณฑ์ที่พวกเราจัดทำขึ้น ชื่อว่า Godfrey Miracle Plus Acne Deep Serum ค่ะ เป็นเซรั่มช่วยรักษาสิว อาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนักเพราะเพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดมาไม่กี่ปี แต่พวกเราก็พยาพยามทำเต็มที่ ซึ่งการทำ House Project นี้ ทำให้เราได้ทำงานเป็นมากขึ้น ทำงานอย่างมีระบบระเบียบ และได้ฝึกการทำงานร่วมกันกับผู้อื่นด้วยค่ะ
แล้วพวกเราก็ยังส่งผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ของเราออกไปที่ สปป.ลาว ที่เวียงจันทน์อีกด้วยค่ะ ซึ่งตรงนี้ทำให้เราได้ศึกษา Process ในการติดต่อหาช่องทาง หาลูกค้า และกระบวนการส่งออก เป็นการนำความรู้ที่เรียนมา มาใช้ในสถานการณ์จริง

          ปีที่สองเจอค่าย Cross-culture
          ต่อมาปีสอง เราได้มีโอกาสทำค่าย Cross-culture เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาญี่ปุ่นได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย โดยผ่านการใช้ชีวิตแบบไทยๆ กินอาหารไทย ได้ทำกิจกรรมต่างๆร่วมกับพวกเรา เป็นเวลา 2 อาทิตย์ กิจกรรมภายในค่ายก็จะมี รำไทย มวยไทย ทำอาหารไทย ทำพานดอกไม้ ร้อยมาลัย เรียนภาษาไทย ศึกษาเกี่ยวกับความต่างของวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น พาไปเที่ยวพัทยา พาไปปลูกป่าชายเลน พาไปเล่นสวนน้ำ พาไปวัดไหว้พระ และอีกเยอะแยะมากมายแล้วแต่โปรแกรมที่จัดในแต่ละปี
          เราชอบเวลาที่พวกเรากินข้าวด้วยกันมากเลย เราได้คุยกัน แลกเปลี่ยนภาษา ได้ฝึกพูดทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่น แถมยังได้เพื่อนใหม่ด้วย เราได้ทำความรู้จักกันและกันมากขึ้น ถึงเราจะพูดภาษาญี่ปุ่นได้ไม่ถูกเป๊ะๆ แต่ชอบตรงที่พวกเราใช้ body language พยายามสื่อสารกัน พยายามเข้าใจกัน คนญี่ปุ่นบางคนจะไม่ค่อยถนัดภาษาอังกฤษ เราก็พยายามจับคีย์เวิร์ดกันไป สนุกมากเลยค่ะ

          ระยะเวลา 2 อาทิตย์ผ่านไปไวเหมือนโกหก ระยะเวลาแค่นี้ทำให้พวกเรามีความสุข และรู้สึกผูกพันกันมากค่ะ พอเขากลับประเทศไปเราก็ Keep in touch อยู่ตลอด ถ้าพวกเขาได้มีโอกาสมาเที่ยวไทยอีกครั้ง พวกเราก็ยินดีพาไปเที่ยว เพราะการมาเข้าค่ายในครั้งนี้ทำให้พวกเขารู้สึกประทับใจในประเทศไทยมาก เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่แค่ค่าย แต่กลายเป็นความสัมพันธ์แบบครอบครัวเล็กๆระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ที่หาจากไหนไม่ได้อีกแล้ว

          ปีสามต้องไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น
          ต่อมาปีสาม เรามีโอกาสได้ทุน JTECS ไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 2 เดือน การสอบชิงทุนในครั้งนี้ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง? ก่อนอื่นเลยจะต้องผ่านการอบรม TNI Internship Development Program โดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น หรือ ส.ส.ท เป็นระยะเวลารวมทั้งสิ้น 9 วัน และผ่านการทดสอบ 2 รอบ คือการสอบข้อเขียน และการสอบสัมภาษณ์
          สำหรับโปรแกรมการอบรม เขาจะทบทวนภาษาญี่ปุ่นเบื้องต้นให้ อบรมเกี่ยวการทำงานเป็นทีม วัฒนธรรมในการทำงานที่ญี่ปุ่น มารยาทในการทำงานในบริษัทญี่ปุ่น มีการฝึกพรีเซนท์งาน ฝึกการแสดงความคิดเห็น และพาไปดูงานบริษัทญี่ปุ่นในไทย ซึ่งการได้ไปฝึกงานที่ญี่ปุ่นในครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งใหญ่ของเราในการพัฒนาตัวเอง ฝึกสกิลภาษาญี่ปุ่นให้เก่งขึ้นในทุกๆด้าน ได้เรียนรู้ภาษา วัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่น และการทำงานสไตล์ญี่ปุ่นมากขึ้น
          สำหรับการเตรียมตัวการสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ ข้อเขียนจะแบ่งเป็นการสอบภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่นค่ะ ภาษาอังกฤษถ้าได้ TOEIC 600 คะแนนขึ้นไป และสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น JLPT ประมาณ N4 ก็มีโอกาสลุ้นแล้วค่ะ ซึ่งถ้าใครมีหลักฐานมีผลคะแนนเหล่านี้ก็ยื่นให้กับทางโครงการได้เลย เพราะจะมีผลต่อการคิดคะแนนรวมในตอนท้าย

          ของเราใช้คะแนน TOEIC 760 กับ JLPT N3 ยื่นไป ฮ่าๆ คืออาย พาร์ท Reading เราทำไม่ค่อยได้ เราไม่ได้เก่งที่สุด คนเก่งกว่าเรามีเยอะ แต่เพื่อนเราบางคนก็ไม่ได้สมัครทุนนี้เพราะอยากฝึกงานที่ไทยในสายงานที่ตัวเองสนใจมากกว่า ส่วนสำหรับการสัมภาษณ์จะสัมภาษณ์ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาญี่ปุ่น และต้องเตรียม Portfolio ไปด้วยนะคะ
          ความยากของการสอบชิงทุนนี้ สำหรับเราคิดว่าจะมาวัดกันจริงๆคือตอนสอบข้อเขียน เรายังเสียดายแทนเพื่อนบางคนเลย เพราะเพื่อนเก่งญี่ปุ่นมากๆ แต่ภาษาอังกฤษเพื่อนไม่ค่อยถนัด ดังนั้นเราต้องเตรียมตัวดีๆทั้งสองภาษา


**อ่านต่อใน Comment#1 นะคะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่