งานเปิดตัวหนังสือ “ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง : รวมงานเขียน 75 ปี 75 นักเขียนศิลปากร”



วันนี้ผมขอพาท่านไปชมงานเปิดตัวหนังสือ “ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง : รวมงานเขียน 75 ปี 75 นักเขียนศิลปากร” ที่จัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ภายในงาน “อวดของ” : การจัดการและพัฒนาสารสนเทศด้านศิลปวัฒนธรรม จัดโดยสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สำหรับงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ “ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง : รวมงานเขียน 75 ปี 75 นักเขียนศิลปากร” มีท่านวิทยากรคือ อาจารย์สัจภูมิ ละออ นักเขียนและคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และคุณชานนท์ บุญญศิริ นักเขียนและคอลัมนิสต์เว็บไซต์สนุกดอทคอม ดำเนินรายการโดยอาจารย์สกุล บุณยทัต เลขาธิการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย



(ผมขออนุญาตคัดเอาข้อความบางส่วนจากการเสวนาในครั้งนี้มานำเสนอ ซึ่งในช่วงท้ายกระทู้ผมมีคลิปบันทึกการเสวนาในครั้งนี้ให้ท่านที่สนใจสามารถคลิกตามไปชมแบบเต็มๆ ได้ ดังนั้นถ้ามีข้อความใดที่ผมคัดลอกมาผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไปจากที่ท่านวิทยากรพูดไว้ ผมก็ต้องขออภัยด้วยครับ)




อาจารย์สกุล บุณยทัต

อาจารย์สกุล บุณยทัต พูดถึงหนังสือเล่มนี้

"ชื่อหนังสือว่า “ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง” นี้คัดมาจากส่วนหนึ่งของบทกวีของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เล่มนี้ต้องถือว่าเป็นบันทึกความนึกคิดเกี่ยวกับศิลปะที่งดงาม หนังสือรวมงานเขียน 75 ปี 75 นักเขียนศิลปากรนี้ทำให้ผู้อ่านเห็นว่าศิษย์เก่าศิลปากรทั้งหมดมีมิติในการเขียนหนังสือที่งดงามตลอดตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา เริ่มต้นจากคณะจิตรกรรมจนในวันนี้เติบโตมาเป็นคณะโบราณคดี คณะอักษรศาสตร์ และคณะต่างๆ อีกมากมาย

สำหรับงานเขียน 75 ปี “ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง” นี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องแต่ง (Fiction) หรือเรื่องสั้นแต่เพียงอย่างเดียว แต่งานเขียนในเล่มจะเป็นข้อเขียนทั้งหมด ซึ่งเขียนเป็นทั้งเรื่องแต่ง (Fiction) , งานประพันธ์ , เรื่องสั้น , เป็นคอลัมนิสต์ , เป็นบทความ ฯลฯ จากนักเขียน 75 คนที่เป็นศิษย์เก่าศิลปากร และมีงานเขียนของอาจารย์อีก 13 ท่าน ทำให้ในเล่มมีงานเขียนรวมทั้งหมดเกือบ 90 ชิ้นด้วยกัน”

“งานเขียนหลายชิ้นในหนังสือเล่มนี้สามารถสะท้อนอะไรบางอย่างได้อย่างชัดเจน งานเขียนในเล่มจะมีทั้งสั้นและยาว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเขียนยาวก็เขียนได้ เขียนสั้นก็สั้นแบบชัดเจน แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนมีแก่นสารในการนำเสนอ ถ้าใครได้อ่านทั้งเล่มนี้แล้วจะรู้สึกและสัมผัสได้ถึงความโรแมนติคและความคลาสสิคของงานเขียน อีกทั้งถ้าใครได้อ่านเล่มนี้จบแล้วจะทราบได้ว่า นักเขียนชื่อดังในเมืองไทยหลายท่านที่เป็นนักเขียนทันสมัย มีฝีมือและเต็มไปด้วยความเป็นศิลปะ นักเขียนเหล่านั้นคือศิษย์เก่าศิลปากร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นจริงๆ”


@@@@@@@@@


คุณชานนท์ บุญญศิริ



คุณชานนท์ บุญญศิริ พูดถึงหนังสือเล่มนี้

“ในฐานะที่ผมเป็นศิษย์เก่าศิลปากรผมภูมิใจว่า ศิษย์ศิลปากรทุกท่านไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพหรือต่างจังหวัดก็ตาม ผมเชื่อว่าทุกท่านยังมีความสามารถที่อยากจะบอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ กลั่นผ่านออกมาเป็นตัวอักษร ดังนั้นการรวบรวมงานเขียนของศิษย์เก่า 75 ท่านมาอยู่ในเล่มเดียวกันต้องถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากๆ

“ผมจำคำสอนของอาจารย์สกุลได้ว่า อาจารย์สอนให้มีสุนทรียะกับทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง ดังนั้นการมีหนังสือเล่มนี้อยู่ตรงหน้าแล้วได้อ่านอย่างละเมียดละไม ผมคิดว่ามันเป็นสุนทรียะอย่างหนึ่งในชีวิต สุนทรียะในโลกปัจจุบันที่อาจดูวุ่นวายและดูเหมือนว่าจะหาคำตอบอะไรบางอย่างไม่ได้เลย

“ถามว่าผมชอบเรื่องไหนในเล่มนี้ ผมตอบได้เลยว่าผมชอบเรื่องสั้น “ละครครึ่งคืน” ของคุณสัจภูมิ ละออ เพราะผมรู้สึกว่าเป็นงานเขียนที่เขียนออกมาจากความรู้สึกจริงๆ ผมคิดว่างานเขียนที่มีคุณค่ามันต้องผ่านออกมาจากความรู้สึกในการที่อยากจะส่งสาส์นอะไรบางอย่างให้แก่ผู้อ่าน สำหรับเรื่องนี้ผมอ่านแล้วเข้าใจได้ว่าคนเขียนเขาอยากจะสื่อสารหรือนำเสนอเรื่องอะไร”

“การที่ชาวศิลปากรเขียนหนังสือได้ ผมคิดว่ามันอาจจะเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัยก็เป็นได้ ขอยกตัวอย่างตัวผมที่เรียนด้านการละคร ซึ่งคนภายนอกอาจจะมองว่าเรียนเพื่อไปเป็นนักแสดงละครเวทีเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเมื่อลงลึกไปในชั่วโมงการเรียนการสอน จะมีการให้ชมภาพยนตร์ ให้อ่านบทละคร ซึ่งเรามีโอกาสได้อ่านและวิเคราะห์มันอย่างจริงจัง และมีการบ้านที่ผมจำได้ว่าทุกๆ การบ้านที่อาจารย์สั่งนั้น พวกเราต้องเขียนส่งกลับให้อาจารย์ ดังนั้นการเขียนจึงเป็นพื้นฐานสำคัญของนักศึกษาศิลปากรที่ได้ติดตัวมา”


@@@@@@@@@


อาจารย์สัจภูมิ ละออ


อาจารย์สัจภูมิ ละออ พูดถึงหนังสือเล่มนี้

“ผมรู้สึกว่าเป็นมงคลแก่ชีวิตผมมาก ที่ผมมีโอกาสเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ หนังสือ “ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง” เล่มนี้มีทั้งหมดหลายร้อยหน้า มีเรื่องสั้นมากมาย มีบทกวี มีบทความข้อเขียนต่างๆ มากมาย

"ภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ ในส่วนของรูปแบบมี 4 อย่างคือ หนึ่งเป็นบทกวี สองเป็นเรื่องสั้น ที่มีจำนานมากที่สุด สามเป็นความเรียง และสี่เป็นบทความของท่านอาจารย์ ซึ่งแต่ละประเภทนั้นเป็นเอกภาพตรงที่ผู้เขียนเขียนด้วยอารมณ์ความรู้สึก และเป็นเรื่องศาสตร์และศิลป์ที่ผู้อ่านสามารถกลั่นกรองเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ในตอนท้ายของเล่มมีบทความที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรีเขียนด้วย ซึ่งเป็นบทความที่ชี้ชวนให้พวกเราตระหนักคิดว่า โลกของเราในปัจจุบันนี้เป็นโลกของวัตถุ ที่มีกระแสวัตถุนิยมไหลบ่ารุนแรงมาก แต่สิ่งที่จะหยุดยั้งกระแสโลกวัตถุนิยมเอาไว้เพื่อไม่ให้โลกนี้แตกสลายไปนั้นมีอยู่ 2 อย่างคือ หนึ่งเรื่องของศาสนา เพราะศาสนาเป็นยาใจของสังคม ที่ช่วยขัดเกลาและกล่อมเกลาจิตใจของคน และอย่างที่สองคือด้านศิลปะ ซึ่งงานศิลปะก็มีหลากหลายศรัทธาหลายประเภทหลายแขนง แต่ในด้านหนึ่งคืองานศิลปะด้านวรรณกรรม ซึ่งคนที่จะสร้างสรรค์วรรณกรรมให้มีชีวิตชีวาและไม่ตายนั้น ก็ต้องสร้างด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง ต้องใฝ่เรียนใฝ่รู้และขวนขวายโดยตลอด

"สำหรับในเรื่อง “ด้วยดวงใจอันไม่รู้จักหยุดนิ่ง” นี้ ถ้าเรามองไปถึงภาพรวมของนักเขียนศิลปากรที่สะท้อนถึงสภาวะของจิตด้านในของความเป็นมนุษย์ ซึ่งหลายเรื่องในเล่มนี้จะสะท้อนออกมาอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนักเขียนหญิงหรือนักเขียนชายก็ตาม”



@@@@@@@@@




คลิปบันทึกการเสวนาในครั้งนี้

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ





พาพันขอบคุณพาพันชอบพาพันขยัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่