ไขข้อข้องใจ ประเด็น “กลิ่นกาสะลอง”

ไขประเด็นกลิ่นกาสะลอง
1. นายแคว้นมั่ง ไม่ใช่แค่ทะเลาะกับภรรยา แต่ปมแค้นอยู่ในขั้นบาดหมาง เพราะอดีตรักในขุมแค้น คือ นายแคว้นพรากนางทองใบจากคนรักเก่าชาวกรุงและทองใบก็ไม่เคยรักนายแคว้นอย่างคนรักเพราะได้ตนจากการขืนใจ ดังนั้น ก็ไม่แปลก ที่นายแคว้นพยายามที่จะแยกกาสะลองออกจากนายหมอทรัพย์ เพราะกาสะลองก็เหมือนทองใบในอดีตที่นายแคว้นไม่ต้องการให้สมหวังกับคนกรุงเทพ นายแคว้นรักซ้องปีบอย่างทุ่มเท รักแบบปรนเปรอเพราะนั่นก็คือนางทองใบที่ตนคว้ามาได้เป็นเจ้าของและซ้องปีบยังสื่อสารกับตนรู้เรื่องด้วยเป็นคนพูดจาภาษาเผด็จการแบบเดียวกัน แต่รักที่มากมายจนตามใจ ทำให้ซ้องปีบไม่ได้ถูกฝึกให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนบทเลือก ให้ปมความรู้สึกพ่อเป็นจุดคลี่คลาย ทำเอางงไปครึ่งเรื่อง ว่า เหตุใด พ่อจึงร้ายต่อลูกมากผิดปกติ ซึ่งถ้าความทุกข์กลัดหนองของนายแคว้นมั่งถูกถ่ายทอดอย่างเป็นรูปธรรม คนดูก็จะให้ความเป็นธรรมกับนายแคว้นมากขึ้น ว่าทุกข์แบบคนใช้อำนาจแต่ไม่เคยได้หัวใจใครอย่างนายแคว้นเป็นเช่นไร
2. กาสะลอง น้อยใจที่พระเอก นั้นอยู่กินเป็นผัวเป็นเมียกันแล้ว พอน้องแฝงกายเป็นตน ก็ดันจำไม่ได้ ไม่ยอมมาตามตนกลับไปอยู่ด้วย ดังนั้น สัญญาจึงไม่เป็นสัญญาในแบบแค่ว่า สัญญาว่ามาต้องมา แต่สัญญาตรงนี้ กาสะลองมองว่า นายหมอควรมองออกว่านั่นไม่ใช่ตน ซึ่งนายหมอจริงๆก็รู้ว่า คนที่อยู่ด้วยไม่ใช่กาสะลอง แต่มาไม่ได้ เพราะเหตุบางประการ กาสะลองทนได้ที่น้องกลั่นแกล้ง เพราะแม่สอนว่าเป็นพี่ต้องให้อภัยน้อง แต่ช่วงเป็นผีไม่ต้องเก็บฟอร์มเลยตามมาย้ำประเด็นให้น้องเข้าใจว่าการกระทำของน้อง ตนรู้สึกอย่างไร เรื่องพระเอกเปลี่ยนใจ เป็นสิ่งที่นางเคืองและระแวง เพราะปมคือ ฉันเป็นใคร ต่างจากน้องฝาแฝดอย่างไร นั่นคือสิ่งที่กาสะลองคาดหวังจากคนที่รักเธอ จะเห็นว่า เมื่อพระเอกเรียกนางว่าซ้องปีบ ตอนที่จีบกันใหม่ๆ นางถึงขั้นจึ๊กจุกอก กับความอาภัพในโชคชะตาที่ตนมีฝาแฝดและดันชอบผู้ชายคนเดียวกัน ผีกาสะลองอยากให้พระเอกชาติที่สองตาย ไม่ใช่เพราะแก้แค้น แต่อยากให้ไปอยู่ในภพเดียวกัน ตรงนี้ คนดูต้องเข้าใจความรู้สึกผี ที่อยากมีตัวตนในสายตา อยากให้คนเห็น อยากให้คนรับรู้ อยากได้คนมาอยู่เป็นเพื่อน
3. ซ้องปีบ ด้วยพฤติกรรมที่ไม่ได้ถูกฝึก พ่อตามใจมาตลอด เป็นผลให้แม่ไม่รัก/นางไม่สามารถสื่อสารถูกใจแม่ได้จริงๆ อย่างที่กาสะลองทำได้ นายหมอไม่รัก หมอทินกฤตในชาติต่อมาไม่รัก และพ่อแม่ในชาติที่สองแยกทาง ก็คือ มนุษย์ที่หาจุดลงตัวไม่เจอ หมุนติ้วไปตามสถานการณ์ที่กระตุ้น เมื่อไม่ได้รับความรักมาแบบง่ายๆ จึงหันไปใช้วิธีการต่างๆ เพื่อเอาชนะแทน
4. คนดูหลายคนที่มองว่า นายแคว้นมั่งกับซ้องปีบ เกิดมาชาติที่สองดูธรรมดาไป แน่หล่ะ ในชีวิตจริงกรรมเวรสัมผัสได้ยาก ด้วยเหตุนี้ คนจึงปรับดุลยภาพทางจิตใจโดยดูละคร เมื่อละครขาดบาลานส์ คนเลยตั้งคำถาม ว่าเหตุใดคนสร้างกรรมจึงเกิดมาเป็นคนปกติในชาติที่สอง ด้วยความไม่ยุติธรรมดังกล่าวกาสะลองจึงต้องหาความยุติธรรมให้ตนเอง กรรมสนองกรรมโดยความเป็นไปอาจไม่ใช่ประเด็นที่เรื่องนี้จัดวาง แต่ต้องมีการกระตุ้นระบบ กลไกจึงจะเริ่มทำงาน ในที่นี้ ก็คือพลังงานที่มาจากแพชชั่นของผีกาสะลองที่ต้องการให้เกิดความยุติธรรมกับตน กลไกกฎแห่งกรรมจึงทำงาน ด้วยการตัดสินใจลงมือทำ หรือ การถูกโน้มน้าวให้เปลี่ยนไปของผู้เกี่ยวข้องด้วยกันเอง ถ้าอธิบายอย่างลึกซึ้ง คือ โลกไม่ได้ถูกสร้างมาแบบเบ็ดเสร็จ แต่มาจากปฏิกริยา ตัวอย่างเช่น ความสำเร็จอยู่ดีๆไม่ตกลงมาในมือคนที่ไม่ดิ้นรนขยันขันแข็ง ความสำเร็จจึงเกิดจากปฏิกิริยาของคนหนึ่งคน และองค์ประกอบอื่นรวมถึงคนที่เกี่ยวข้อง คล้ายๆป่าที่ไม่ได้สร้างมาจากไม้ต้นเดียว แต่เป็นธรรมชาติทุกรายละเอียดที่เกาะกุมกันกระทบถึงกันจนเป็นเหตุปัจจัยแห่งความเปลี่ยนแปลง
5.เรื่องราวนี้ให้อะไร เรื่องนี้ สอนเรื่อง ตัวตนภายใน กับ ภายนอก ซึ่งญาญ่างานหนักไม่ใช่แค่เล่นบทแฝดที่บุคลิกต้องให้คนแยกออก แม้หน้าตาเหมือนกัน แต่ตอนให้คนดูรู้ว่าแกล้งเป็นอีกคน คือ เป็นซ้องปีบที่ต้องแกล้งเป็นกาสะลองเพื่อครอบครองนายหมอ และเป็นกาสะลองที่ถูกบังคับให้สวมรอยแต่งงานแทนซ้องปีบ ซึ่งต้องเล่นให้คนดูมองออกว่านั่นคือซ้องปีบที่ซ่อนอยู่ในกาสะลอง และกาสะลองที่ซ่อนในตัวซ้องปีบ ดังนั้น เรื่องนี้ จึงชื่อกลิ่นกาสะลอง คือ เล่าถึงสิ่งที่มองไม่เห็น ตัวตนภายใน หรือ จิตที่แตกต่าง รวมถึงวิวัฒนาการจากคนเรียบร้อยเป็นผีขี้วีนของกาสะลอง และคนมั่นใจทุกอย่างอย่างพริมพี่ให้กลายเป็นคนที่รับรู้ความรู้สึกคนอื่นได้มากขึ้น การยกหมอกิตคืนให้กาสะลองอาจทำให้นางได้พบกับคนที่รักนางได้มากกว่าในที่สุด ซึ่งอาจทำให้คนที่ไม่มีใครรักได้รู้สึกมั่นใจในคุณค่าของตนเอง จากผู้ไขว่คว้ามาเป็นผู้ให้ ข้อเสียคือ ฉากรุนแรง ค่อนข้างนาน ควรจะกระชับ เพราะฉากรุนแรงจะไม่เลี้ยงคนดูไว้หน้าจอ แต่น่าจะเล่าแนวซ่อนเร้นแบบเลือดข้นคนจาง มากกว่าตบตี และเพิ่มดราม่าแบบสมจริง คือ คนเราจะไม่เลวกันแบบโต้งๆ แต่ให้จับประเด็นยากขึ้น แบบเลวบ้างดีบ้างตัวละครจะมีมิติให้น่าค้นหา คนดูจะดูได้นาน แบบแม่ย้อย ในกรงกรรม แกร้าย แต่คนดูก็เห็นด้านดีของแก ซึ่งจะเพิ่มความเข้าใจมนุษย์แก่คนดู มากกว่าโชว์ฉากเล่นใหญ่อย่างเดียว ส่วนที่ทำได้ดี คือ ฉากสัญลักษณ์ เช่น รถชนหมุนเอาพริมพี่กลับไปรู้เรื่องราว ฉากแม่ตาย ที่ได้พบลูกทั้งสองคนแต่นั่งคนละภพกัน ความรักที่กว่าจะจีบกันได้ในยุคนั้นที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่มีไลน์หรือเฟสบุค การติดต่อเดินทางทุกอย่างดูยากเย็น แต่ละมุนน่ารักดี รวมถึงการปลุกจิตวิญญาณของวัฒนธรรมบริบทประวัติศาสตร์ภาคเหนือให้ฟื้นคืนชีวิต เพราะละครไม่ใช่แค่เสื้อผ้าอาคาร แต่ละครคือสตอรี่ที่สร้างอารมณ์ร่วมอย่างมีกระบวนการ
สร้างความประทับใจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้อย่างมีนัยสำคัญ และต้องรอการพลิกหมากตัวสุดท้ายตอนจบ ว่าผีกาสะลอง คือ ผีซ้องปีบที่ปลอมตัวมาเป็นพี่สาวมาตามยึดป้อจายที่เกิดใหม่แล้วป้ายความผิดทั้งหมดให้พริมพี่(หรือกาสะลองในชาติต่อมา) จริงหรือเปล่า
ผู้เขียน:ปิยนุช รัตนานุกูล
FB:https://www.facebook.com/1907650242847169/posts/2435272660084922?s=1533797744&sfns=mo
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่