ตำแหน่งวังหลัง หรือกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข เป็นตำแหน่งอะไรเหรอครับ

ตำแหน่งวังหลัง นี่เป็นตำแหน่งอะไร ทำไมในสมัยรัตนโกสินทร์
ถึงมีแค่คนเดียว คือ พระเจ้าหลานเธอ กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ เหรอครับ
แล้วทำไมถึงไม่มีการสถาปนาต่อเหมือนวังหน้า
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 3
เข้าใจว่าเป็นตำแหน่งรองพระมหาอุปราช หรือ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลอีกตำแหน่งหนึ่ง มักจะพระราชทานแก่เจ้านายที่มีความดีความชอบเป็นพิเศษ และจุดประสงค์อาจจะเพื่อสร้างฐานกำลังของเจ้านายในการค้ำจุนพระราชวงศ์และรักษาพระนครด้วย เพราะทั้งวังหน้าวังหลังต่างมีพระราชวังและข้าราชการ และไพร่พลในสังกัดของตนเอง

ตำแหน่งวังหลังจะมีตั้งแต่สมัยใดไม่แน่ชัด แต่พระราชวังหลังพบหลักฐานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ โดยพงศาวดารระบุว่าเมื่อสละราชสมบัติแล้วจึงไปประทับที่วังหลัง

นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา ทรงสร้างพระราชวังหน้าคือวังจันทร์ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันออกด้านหน้าของพระราชวัง  เป็นที่ประทับของสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นพระมหาอุปราช หรือที่ปรากฏเรียกในหลักฐานดัตช์ว่า "ฝ่ายหน้า"  ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถทรงเป็น "ฝ่ายหลัง" เข้าใจว่าเสมอกับกรมพระราชวังหลังในสมัยหลัง  

ตำแหน่งของพระราชวังหลังในสมัยอยุทธยาอยู่บริเวณวัดสวนหลวงสบสวรรค์ นอกเกาะเมืองทางตะวันตกของพระราชวังหลวง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า "ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เห็นจะสร้างเมื่อแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเหมือนกัน สร้างขึ้นให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระเอกาทศรถในเวลาทำสงครามต่อสู้พม่า วังหลวงรักษาพระนครด้านเหนือ วันหน้ารักษาพระนครด้านตะวันออก วังหลังรักษาพระนครด้านตะวันตก รักษาลงมาบรรจบกับวังหน้าข้างด้านใต้ เพราะข้างด้านใต้เป็นที่น้ำลึกข้าศึกเข้ามายาก ใช้เรือกำปั่นรบป้องกันได้ถนัด จึงเกิดมีพระราชวังหลวงวังหน้า และวังหลังแต่นั้นมา"


ในยุคต่อมามีการตั้งเจ้านายให้ไปประทับอยู่ที่พระราชวังหลังบ้าง เช่น พระศรีสุธรรมราชาในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง  พระไตรภูวนาทิตยวงศ์และเจ้าฟ้าอภัยทศในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์  


ครั้นมาถึงรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา พงศาวดารที่ชำระสมัยรัตนโกสินทร์ระบุว่าทรงสถาปนานายจบคชประสิทธิ์ นายทรงบาศในกรมช้างซึ่งมีความดีความชอบช่วยให้พระองค์ได้ราชสมบัติเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ให้รับพระบัญชา (คือเรียกคำสั่งว่า พระราชบัญชา) ประทับที่พระราชวังหลัง ถือว่ามีศักดิ์รองจากกรมพระราชวังบวรสถานมงคล (พระเจ้าเสือ) ซึ่งรับพระบัณฑูร  แต่ต่อมาเกิดเหตุถาดทองในพระราชวังหาย ไปสืบพบในวังหลังเลยใช้เป็นข้ออ้างสำเร็จโทษกรมพระราชวังหลังเสีย

แต่ในพงศาวดารฉบับเก่าๆ เช่น ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ชำระสมัยรัชกาลที่ ๑ จะขัดแย้งกับพงศาวดารสมัยหลัง โดยส่วนแรกของพงศาวดารที่เป็นความเก่าระบุว่า พระเพทราชาทรงตั้งนายบุญมาก ข้าหลวงเดิมที่มีความชอบเป็นเจ้าพระยาวิชิตภูบาล พระราชทานเครื่องสูงให้ไปอยู่วังหลัง   ส่วนหลังของพงศาวดารฉบับเดียวกันที่ชำระใหม่ระบุว่า  ให้นายช้างทรงบาศไปอยู่พระราชวังหลังเท่านั้น ได้รับเครื่องสูงเครื่องยศเสมอวังหน้า  ไม่ได้ระบุว่ามีตำแหน่ง "กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข"  

เมื่อตรวจสอบกับพระราชพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ที่เชื่อว่าชำระในสมัยปลายอยุทธยา ระบุว่า

"ธีดาพรรวะสานอยใหญ่ พระราชทารเครีองสูงแลเครีองราชาบรีโภครับพระบันชา  นายทรงบาดรหลานเธอ เปนพระอะไภยสุรีนทร กรมขุนทีพพลภักพระราชทารเครีองสูงแลเครีองราชาบรีโภครับพระบันชา เอาขุนองคเปนพญาสุระ(สง)ครามพระราชทารเครีองสูง  เอาหนายบุมากเปนเจ้าพญาวีชีตภูบาน พระราชทารเครีอนสูงไหัอยัวังหลัง"

พงศาวดารฉบับนี้ให้ข้อมูลว่ามีเจ้านายได้รับ "พระบัญชา" ถึงสององค์  คือ "ธีดาพรรวะสานอยใหญ่" ซึ่งน่าจะเขียนผิด จริงๆ ควรจะเป็น "บิดาพันวสาน้อยใหญ่" หมายถึงนายทรงบาศ (ที่พงศาวดารสมัยหลังเรียกว่า นายจบคชประสิทธิ์) ผู้เป็นบิดาของพระพันวสาใหญ่และพระพันวสาน้อย พระมเหสีของพระเจ้าบรมโกศ     ส่วนอีกองค์คือ "พระอะไภยสุรีนทร กรมขุนทีพพลภัก" (พงศาวดารสมัยหลังเรียกว่า เจ้าพระพิไชยสุรินทร์ เป็นหลานเธอของพระเพทราชา เดิมเป็นนายกรินท์คชประสิทธิ์ ทรงบาทซ้ายในกรมช้าง  แล้วแยกกรมขุนทีพพลภักเป็นอีกคนหนึ่ง ระบุว่าเป็นขุนทิพพลภักดิ์เชื้อพระวงศ์ ซึ่งได้เลื่อนเป็นเจ้าพระอินทรอภัย)  แต่ไม่ได้ระบุว่า "พระบัญชา" ทั้งสองประทับที่วังหลัง  ผู้ที่ได้อยู่วังหลังคือเจ้าพระยาวิชิตภูบาล (บุญมาก)

ซึ่งหากพิจารณาจากพงศาวดารฉบับนี้แล้ว อาจเป็นไปได้ว่าในสมัยอยุทธยาแม้จะมีการแต่งตั้ง "พระบัญชา" แต่อาจยังไม่มีตำแหน่ง "กรมพระราชวังหลัง" แบบในสมัยหลังก็ได้ครับ


หลังสมัยพระเพทราชาไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งกรมพระราชวังหลังในสมัยอยุทธยาอีก อาจเพราะพระเจ้าแผ่นดินจะทรงรังเกียจเห็นว่าตำแหน่งวังหลังเป็นการเอื้อต่อการสร้างขั้วอำนาจของเจ้านายที่อาจเป็นภัยต่อราชสมบัติได้อย่างในสมัยพระเพทราชา

ในสมัยพระเจ้าเสือไม่ได้ตั้งวังหลัง แต่โปรดให้พระโอรสคือเจ้าฟ้าเพชร (พระเจ้าท้ายสระ) เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และให้เจ้าฟ้าพร (พระเจ้าบรมโกศ) รับพระบัณฑูรเสมอกัน  แล้วโปรดให้เรียกเจ้าฟ้าพรว่า "พระบัณฑูรน้อย"  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกการตั้งยศแบบนี้ว่ามี "วังหน้าสองพระองค์"


ในสมัยรัชกาลที่ ๑  สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ทรงมีความชอบในสงครามเก้าทัพมาก จึงโปรดเกล้าฯ เลื่อนเป็นกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข รับพระบัญชาตามแบบกรมพระราชวังหลัง  สันนิษฐานว่าอาจเพราะต้องการให้มีกำลังของวังหลังเพื่อรักษาพระนครในยุคนั้นซึ่งมีศึกสงครามกับพม่าบ่อยครั้ง

แต่เมื่อกรมพระราชวังหลังสิ้นพระชนม์ก็ยุบตำแหน่งไปแบบถาวร อาจเพราะไม่มีความจำเป็นอีก และอาจเป็นด้วยเหตุผลทางการเมืองแบบเดียวกับในสมัยพระเพทราชาด้วย เพราะการมีตำแหน่งวังหลังเป็นการสร้างขั้วอำนาจทางการเมืองแข่งกับวังหน้า และอาจก่อให้เกิดปัญหาในการสืบราชสมบัติได้

ดังนั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงนาท วังหน้าสวรรคตไปอีกพระองค์หนึ่ง  รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และโปรดให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์รับพระบัณฑูรเสมอกัน ครั้งนั้นข้าราชการกราบบังคมทูลพระกรุณาออกพระนามว่า พระบัณฑูรใหญ่ พระบัณฑูรน้อย ตามแบบสมัยพระเจ้าเสือ ไม่ตั้งตำแหน่งวังหลัง


ตามธรรมเนียมโบราณและตามศักดินามีการเดินหน้าเดินหลังตามลำดับชั้นยศ ดังนี้

ที่ ๑ พระบัณฑูรใหญ่ ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้า

ที่ ๒ พระบัณฑูรน้อย ตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลฝ่ายหน้า

ที่ ๓ พระบัญชา ตำแหน่งกรมพระราชวังบวร​สถานภิมุขฝ่ายหลัง

แล้วก็ลดหลั่นไปตามลำดับครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่