เปรียบเทียบจุดเชื่อมโยงของเจ้าหญิง Disney และนางในวรรณคดี

การ์ตูนโทรทัศน์เรื่อง Amphibia ของดิสนีย์ถูกพูดถึงกันอย่างแพร่หลายในกลุ่มแฟนดิสนีย์ในประเทศไทย เนื่องจากตัวละครเอกของเรื่องอย่าง แอนน์ บุญช่วย (Anne Boonchuay) เป็นตัวละครหญิงที่เป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกัน ทำให้เกิดความคิดเล่น ๆ ว่าหากหาจุดเชื่อมโยงของตัวละครหญิงจาก Disney Princess กับนางในวรรณคดีไทยแล้วนั้น เจ้าหญิงดิสนีย์แต่ละพระองค์จะมีจุดเชื่อมโยงกับนางในวรรณคดีคนใด
เริ่มต้นที่เจ้าหญิงพระองค์แรกของแฟรนไชส์ Disney Princess อย่าง Snow White จากเรื่อง Snow White and the Seven Dwarfs ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมภาษาเยอรมัน ในเรื่องนั้นกล่าวว่าสโนว์ไวต์เป็นเจ้าหญิงที่มีผิวกายขาวเหมือนหิมะ ซึ่งในวรรณคดีไทยมีนางเอกที่มีผิวกายขาวอยู่เป็นจำนวนมาก แต่นางในวรรณคดีที่โดดเด่นในเรื่องของผิวขาว ก็ชวนให้นึกถึง นางศกุนตลา จากเรื่อง ศกุนตลา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบทชมโฉมของนางศกุนตลาได้กล่าวว่านางมีผิวที่ขาวมาก หากเทียบกับดอกมะลิซ้อน ยังทำให้มะลิซ้อนดูดำไปเสียสิ้น หรือหากกล่าวถึงนางในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับผลไม้เช่นเดียวกับที่สโนว์ไวต์เกี่ยวข้องกับแอปเปิล ก็ชวนให้นึกถึง นางละเวงวัณฬา จากเรื่อง พระอภัยมณี ที่เป็นผู้เก็บผลดินถนันได้ เพียงแต่ดินถนันเป็นผลไม้ที่ให้ประโยชน์ต่างจากแอปเปิลอาบยาพิษ
ถัดมาคือ Cinderella จากเรื่อง Cinderella ซึ่งถูกดัดแปลงมาจากเทพนิยายปรัมปราที่ได้รับความนิยมทั่วโลกและถูกดัดแปลงในรูปแบบต่าง ๆ หากกล่าวถึงซินเดอเรลล่าในนิทานพื้นบ้านไทย คงหนีไม่พ้น นางเอื้อย จากเรื่อง ปลาบู่ทอง ที่มีความคล้ายคลึงกับซินเดอเรลล่าคือ นางถูกกลั่นแกล้งจากแม่เลี้ยงและได้ดีเพราะการได้สมรสกับเชื้อกษัตริย์
เจ้าหญิงพระองค์ที่สามของแฟรนไชส์ Disney Princess คือ Aurora จากเรื่อง Sleeping Beauty ซึ่งดัดแปลงมาจากวรรณกรรมโบราณที่ฉบับแรกเป็นภาษาฝรั่งเศส รวมถึงมีฉบับภาษาเยอรมันโดยพี่น้องตระกูลกริมม์เป็นผู้แต่ง หากกล่าวถึงนางในวรรณคดีที่กำลังนอนหลับอยู่ แล้วตื่นขึ้นมาได้พบกับชายหนุ่มผู้จะได้เป็นคนรัก เช่นเดียวกับเจ้าหญิงออโรร่าที่ตื่นจากนิทราขึ้นมาพบเจ้าชายฟิลลิปที่เธอเคยตกหลุมรักตอนที่อยู่ในป่า ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจากนางฟ้าทั้งสามฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อมาช่วยเจ้าหญิง ก็ชวนให้นึกถึงการอุ้มสมในวรรณคดีไทย โดยการอุ้มสมเป็นการที่เทวดาอุ้มตัวละครหนึ่งไปร่วมรักกับอีกตัวละครหนึ่ง การอุ้มสมปรากฏอยู่ในวรรณคดีหลายเรื่อง ซึ่งนางในวรรณคดีที่มีบทบาทเกี่ยวกับการอุ้มสม ได้แก่ นางพินทุมดี จากเรื่อง สมุทรโฆษคำฉันท์, นางอุษา จากเรื่อง อนิรุทธ์คำฉันท์/อุณรุท และนางตะแลงแกง จากเรื่อง พระมะเหลเถไถ
เจ้าหญิงเงือกน้อยอย่าง Ariel จากเรื่อง The Little Mermaid ที่ถูกดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเดนมาร์ก เป็นเจ้าหญิงที่เป็นนางเงือก หากกล่าวถึงนางในวรรณคดีไทยที่เป็นนางเงือก และมีบทบาทโดดเด่นในเรื่อง ก็ชวนให้นึกถึง พระนางจันทวดีพันปีหลวง ผู้เป็นมารดาสุดสาคร จากเรื่องพระอภัยมณี และนางสุพรรณมัจฉา ผู้เป็นภรรยาของหนุมาน ในเรื่องรามเกียรติ์ เพียงแต่พระนางจันทวดีพันปีหลวงกับนางสุพรรณมัจฉา เป็นเงือกที่มีลักษณะแตกต่างจากแอเรียลคือ นางทั้งสองมีขาเหมือนกับคน แต่มีหางเหมือนปลา ซึ่งคำประพันธ์ต้นฉบับได้ถูกวิเคราะห์ว่านางเงือกในวรรณคดีบางตัวมีขาเหมือนกับคน แต่ก็มีผู้วิเคราะห์ว่าในวรรณคดีไทยมีเงือกบางตัวที่ไม่มีขา เป็นเงือกที่ท่อนบนเป็นคน ท่อนล่างเป็นปลาเช่นเดียวกับแอเรียล เช่น เงือกบรรพบุรุษของพระนางจันทวดีพันปีหลวง เป็นต้น
เจ้าหญิง Belle จากเรื่อง Beauty and the Beast ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมภาษาฝรั่งเศส มีจุดที่ทำให้นึกถึงนางในวรรณคดีได้หลายนาง ไม่ว่าจะเป็น การกล่าวถึงดอกกุหลาบที่ทำให้นึกถึง นางมัทนา นางผู้ถูกสาปให้เป็นดอกกุหลาบ จากเรื่อง มัทนะพาธา, การที่เบลล์อาศัยอยู่กับเจ้าชายอสูรในปราสาท ทำให้นึกถึง นางสีดา ผู้ถูกทศกัณฐ์ ราชาแห่งยักษ์ลักพาตัว จากเรื่อง รามเกียรติ์ จุดที่เด่นชัดที่สุดของเบลล์คือการมีสามีที่รูปร่างหน้าตาอัปลักษณ์ แต่ท้ายที่สุดแล้วคือเจ้าชายรูปงาม ซึ่งตรงกับ นางอุษา จากวรรณคดีเรื่อง ท้าวแสนปม นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีที่คาดว่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรกรรมเรื่อง โฉมงามกับเจ้าชายอสูร ด้วย คือเรื่อง นางโสภณีกับรากษส ซึ่งนางเอกของเรื่องได้แก่ นางโสภณี
เจ้าหญิง Jasmine จากเรื่อง Aladdin ที่ถูกดัดแปลงมาจากวรรณกรรมแถบตะวันออกกลาง โดยนักเขียนชาวฝรั่งเศสได้ประมวลเข้าเป็นนิทานตอนหนึ่งในหนังสือเรื่อง อาหรับราตรี ซึ่งในวรรณคดีไทยมีนางในวรรณคดีที่เป็นสาวชาวตะวันออกกลางที่มีบทบาทโดดเด่นคือ นางนอซาตอลอัวดัด จากเรื่อง ลิลิตนิทราชาคริต พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องลิลิตนิทราชาคริตนี้ได้รับอิทธิพลมาจากอาหรับราตรี หากกล่าวถึงนิทานอาหรับราตรีซึ่งเป็นวรรณกรรมต่างชาติ ก็มีตัวละครหญิงที่โดดเด่นของเรื่องคือ นางเซเฮอร์นาเด ผู้เล่านิทานซ้อนนิทานเกี่ยวกับ อะลาดิน โดยอะลาดินในต้นฉบับ มีนางเอกผู้เป็นต้นแบบของเจ้าหญิงจัสมินคือ เจ้าหญิงบัดร์อุลบาดูร์ ธิดาของสุลต่านเมืองจีน ผู้เป็นคู่สมรสของอะลาดิน
ถัดมาได้แก่ Pocahontas จากเรื่อง Pocahontas ที่ถูกดัดแปลงมาจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ ซึ่งโพคาฮอนทัสเป็นหญิงชาวอเมริกันพื้นเมือง โดยในภาพยนตร์เล่าว่าโพคาฮอนทัสมีชายผู้ถูกหมายให้แต่งงานด้วยจากคนในครอบครัวแล้ว แต่ได้พบรักกับ จอห์น สมิธ แม้ว่าในภาคสองโพคาฮอนทัสจะได้คู่กับจอห์นรอล์ฟก็ตาม นางในวรรณคดีไทยที่เป็นสาวชนเผ่า และรักกับชายที่ไม่ใช่คู่หมั้น คือ นางลำหับ จากวรรณคดีเรื่อง เงาะป่า ซึ่งนางลำหับถูกหมายหมั้นไว้กับ ฮเนา แต่ได้พบรักกับ ซมพลา ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมจากรักสามเส้าขึ้นในตอนท้ายของเรื่อง
ถัดมาคือ Mulan จากเรื่อง Mulan ที่ถูกดัดแปลงมาจากประวัติศาสตร์ของจีน แม้ว่ามู่หลานในเรื่องจะไม่ได้มีศักดิ์เป็นเจ้าหญิง แต่ดิสนีย์ก็ได้เพิ่มให้มู่หลานเป็นตัวละครหนึ่งในแฟรนไชส์ Disney Princess หากกล่าวถึงหญิงงามในวรรณกรรมประวัติศาสตร์ของจีนที่ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย ก็ได้แก่ ไซซี หวังเจาจวิน เตียวเสี้ยน และหวังกุ้ยเฟย แต่หากจะกล่าวถึงนางในวรรณคดีไทยที่ได้รับอิทธิพลมาจากพงศาวดารจีนแล้วนั้น ทำให้นึกถึงสี่สาวงามล่มเมืองอย่าง ไซซี ขันกี หงอกี๋ และเตียวเสี้ยน ซึ่งเตียวเสี้ยนเป็นนางในวรรณคดีที่คนไทยรู้จักกันอย่างแพร่หลายคือเรื่อง สามก๊ก ทั้งนี้ นางทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนถูกสันนิษฐานว่ามีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์จีนเช่นเดียวกับมู่หลาน
เจ้าหญิง Tiana จากเรื่อง The Princess and the Frog ที่ถูกดัดแปลงมาจากนิทานเรื่อง เจ้าชายกบ หากกล่าวถึงนางในวรรณคดีไทยที่อยู่ในร่างสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกเช่นเดียวกับเทียน่าที่อยู่ในร่างกบก็คงหนีไม่พ้น นางอุทัยเทวี จากเรื่อง อุทัยเทวี ที่อยู่ในร่างคางคก รวมถึงนางในวรรณคดีที่เคยเป็นสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบกมาก่อนคือ นางมณโฑ จากเรื่องรามเกียรติ์ ที่อดีตชาติของนางเคยเป็นกบ และได้รับการชุบชีวิตจากฤๅษีให้เป็นหญิงสาว
เจ้าหญิง Rapunzel จากเรื่อง Tangled ที่ถูกดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเยอรมัน เป็นเจ้าหญิงที่โดดเด่นเรื่องเส้นผม ซึ่งนางในวรรณคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับเส้นผมคือ นางจันท์สุดา จากเรื่อง หลวิชัยคาวี/เสือโคคำฉันท์ โดยนางจันท์สุดาหรือนางผมหอมมีเส้นผมที่มีกลิ่นหอม ทำให้ชายที่เก็บเส้นผมของนางได้ อยากจะตามหานาง
ถัดมาคือ Merida จากเรื่อง Brave เจ้าหญิงในแฟรนไชส์ Disney Princess ที่มาจากการ์ตูนของสตูดิโอ Pixar มีความโดดเด่นในเรื่องการยิงธนู ทำให้นึกถึงชื่อนางในวรรณกรรมไทยอย่าง นางธนูทอง ในเรื่อง โกมินทร์ รวมถึงนางในวรรณคดีที่โดดเด่นในเรื่องของการยิงธนูคือ นางเสาวคนธ์ นางผู้เป็นภรรยาของสุดสาคร จากเรื่องพระอภัยมณี โดยมีตอนที่นางเสาวคนธ์ยิงธนูใส่แก้มของนางสุลาลีวันภรรยาอีกคนของสุดสาคร
ถัดมาคือ Elsa ผู้เป็นพี่สาวของ Anna จากเรื่อง Frozen ที่ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมเดนมาร์ก แต่เอลซ่าและอันนา ยังไม่ได้ถูกนับให้อยู่ในแฟรนไชส์ Disney Princess อย่างเป็นทางการ เนื่องจากภาพยนตร์เรื่อง Frozen ประสบความสำเร็จมากจนมีแฟรนไชส์เป็นของตัวเอง หากกล่าวถึงนางในวรรณคดีที่เป็นพี่น้องกันแล้วนั้น ชื่อของนางในวรรณคดีจำนวนมากก็ผุดขึ้นมาในความคิด ไม่ว่าจะเป็น สร้อยสุวรรณ-จันทร์สุดา จากเรื่อง พระอภัยมณี, ยุพาผกา-สุลาลีวัน จากเรื่อง พระอภัยมณี, พระเพื่อน-พระแพง จากเรื่อง ลิลิตพระลอ, สร้อยสุวรรณ-จันทร จากเรื่อง แก้วหน้าม้า, ตะเภาแก้ว-ตะเภาทอง จากเรื่อง ไกรทอง และ กฤษณา-จิรประภา จากเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ โดยตัวละครพี่สาวที่โดดเด่นกว่าน้องสาวคือ นางกฤษณา จากเรื่อง กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ได้สอนการปฏิบัติตนของการเป็นภรรยาให้นางจิรประภาผู้เป็นน้องสาว
เจ้าหญิง Anna จากเรื่อง Frozen เป็นอีกตัวละครที่ไม่ถูกนับให้อยู่ในแฟรนไชส์ Disney Princess อย่างเป็นทางการเช่นเดียวกับ Elsa นางในวรรณคดีที่เป็นน้องสาวซึ่งมีพี่สาวเพียงคนเดียว และมีบทบาทแตกต่างจากพี่สาว ทำให้นึกถึง นางตะเภาทอง จากเรื่อง ไกรทอง โดยนางถูกจระเข้ชาละวันจับตัวไปขณะเล่นน้ำอยู่กับนางตะเภาแก้ว
เจ้าหญิงในแฟรนไชส์ Disney Princess คนล่าสุดคือ Moana จากเรื่อง Moana ลูกสาวของหัวหน้าเกาะโมทูนุย เธอได้รับการคัดเลือกจากท้องทะเลให้เป็นผู้ที่จะนำหัวใจของเทพเทฟิติที่ถูกขโมยโดยมาวอิไปคืน หากกล่าวถึงนางในวรรณคดีที่เกี่ยวข้องกับทะเลและมหาสมุทร ก็ชวนให้นึกถึง นางอันโดรเมดา จากเรื่อง วิวาห์พระสมุทร พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนางอันโดรเมดาเป็นผู้ที่ถูกเลือกให้ถูกนำไปบูชายัญให้เป็นเจ้าสาวของพระสมุทรโดยการนำหญิงพรหมจรรย์ไปโยนลงมหาสมุทร แต่นางก็ได้รับการช่วยเหลือและได้แต่งงานกับคนรักในตอนท้ายเรื่อง
ทั้งนี้ดิสนีย์ยังมีตัวละครหญิงทั้งที่เป็นเจ้าหญิงและไม่ได้เป็นเจ้าหญิง ที่ไม่ได้ถูกเพิ่มเข้าไปในแฟรนไชส์ Disney Princess อีกจำนวนมาก อาทิ Eilonwy, Kida, Maid Marian เป็นต้น และนางในวรรณคดีก็ยังมีให้ศึกษาอีกจำนวนมากเช่นเดียวกัน ซึ่งเนื้อหาของการเปรียบเทียบจุดเชื่อมโยงของเจ้าหญิงดิสนีย์กับนางในวรรณคดีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นส่วนหนึ่งจากการตกตะกอนของความคิดที่ได้มาจากการรับชมภาพยนตร์และศึกษาวรรณคดีอย่างสนใจยิ่ง
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  Disney วรรณกรรม วรรณคดี ภาพยนตร์ การ์ตูน
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่