3 เหตุผลที่เราต้องดู Good Doctor ซีรีส์ดังทางการแพทย์ที่กระแสแรงที่สุด !!


ถ้าจะพูดถึงซีรีส์ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามจนถูกนำไปรีเมกสร้างให้ผู้ชมได้ชมถึง 3 เวอร์ชั่น คงหนีไม่พ้นซีรีส์เรื่อง "Good Doctor" ที่มีต้นฉบับจากประเทศเกาหลีใต้ ที่อากาศทางช่อง KBS2 ในปี 2013 ซึ่งในช่วงที่ซีรีส์ออกอากาศนั้นซีรีส์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนกวาดรางวัลจากเทศกาลประกาศรางวัลประจำปีไปจำนวนมากทั้งนักแสดงและทีมงานเบื้องหลัง จนถูกซื้อสิทธิ์นำไปดัดแปลงอีกถึง 2 สัญชาติด้วยกันคือ อเมริกัน ( ปี 2017- ปัจจุบัน – กำลังจะมีซีซั่นที่ 3 เร็วๆ นี้ ) และญี่ปุ่น ( ปี 2018 ) ซึ่งก็ได้รับคำชมอย่างหนาหูในทุกเวอร์ชั่น ( โดยของอเมริกาเป็นเวอร์ชั่นเดียวที่มีคำว่า The นำหน้า กลายเป็น The Good Doctor )

Good Doctor เล่าเรื่องราวของศัลยแพทย์หนุ่ม แผนกกุมารเวชศาสตร์ พัคชีอน (จูวอน) ที่เป็นแพทย์แผนกกุมารเวชศาสตร์ที่เก่งมาก เรียกได้ว่าเป็นอัจฉริยะทางการแพทย์เลยจริงๆ ถึงแม้พัคชีอนจะเป็นแพทย์ที่เก่งมาก แต่ด้วยเขามีอาการออทิสติก เขาก็ต้องฟันฟ่าอุปสรรคมากมายกว่าจะถึงฝั่งฝัน ทั้งคำดูถูก การเข้าสังคม และการสื่อสารกับผู้อื่น เขาต้องทลายมันลงเพื่อให้คนรอบข้างและสังคมยอมรับว่าแท้จริงแล้วเขาก็เป็นแพทย์ที่ดีคนหนึ่งได้เช่นกัน

( Good Doctor เวอร์ชั่นเกาหลีใต้ )

เวอร์ชั่นเกาหลีและญี่ปุ่นจะมีความใกล้เคียงกัน เนื่องจากเวอร์ชั่นญี่ปุ่น ผู้กำกับ ฮิโระ คานาอิ และ ฮิเดยูกิ ไอซาวา ต้องการเคารพบทประพันธ์เดิมให้ได้มากที่สุดและเลือกนักแสดงที่บุคลิกหน้าตาคล้ายกับเวอร์ชันต้นฉบับ โดยบทประพันธ์เดิมเล่าเรื่องของอัจฉริยะออทิสติก พัคชีอน นายแพทย์หนุ่มที่เพิ่งทำงานในแผนกกุมารเวชศาสตร์ นำแสดงโดย จูวอน (Joo Won) พระเอกซีรีส์ที่รีเมคมาจากหนังชื่อเดียวกันอย่าง My Sassy Girl ส่วนเวอร์ชั่นญี่ปุ่นจะชื่อว่า มินาโตะ ชินโด นำแสดงโดย เคนโตะ ยามาซากิ (Kento Yamazaki) พระเอกหนังที่สร้างจากการ์ตูนมังงะมากมาย อาทิ No Longer Heroine (นางเอกตกกระป๋อง), Wolf Girl and Black Prince (ยัยหมาป่ากับเจ้าชายเย็นชา), Your Lie in April (เพลงรักสองหัวใจ), One Week Friends (เพื่อนกันหนึ่งสัปดาห์), The Disastrous Life of Saiki K. (ไซคิหนุ่มพลังจิตอลเวง)

( Good Doctor เวอร์ชั่นญี่ปุ่น )

ส่วนเวอร์ชันอเมริกันมีความแตกต่างออกไปมากที่สุด กล่าวคือ ใช้ชื่อเรื่องว่า The Good Doctor เขียนบทโดย เดวิด ชอร์ ผู้เขียนซีรีส์ House M.D. ซีรีส์ที่ว่าด้วยหมอสุดห่าม และเปลี่ยนจาก พัคชีอน กุมารเวชศาสตร์เป็น Shaun Murphy ศัลยแพทย์ ทำให้บอกเล่าเรื่องราวการรักษาได้หลากหลายเคสมากขึ้น จนปัจจุบันกำลังจะมีซีซั่น 3 แล้ว!! นำแสดงโดย Freddie Highmore จาก Charlie and the Chocolate Factory, Arthur and the Invisibles, The Spiderwick Chronicles

( Good Doctor เวอร์ชั่นอเมริกัน )

โดยทั้งสามเวอร์ชั่นมีจุดร่วมเดียวกันคือการเรียนรู้ถึงความหมายของการเป็นแพทย์ที่ดี วันนี้เรามี 3 เหตุผลที่เราต้องดู Good Doctor มาฝากกัน...

1) เพราะตัวละครหลัก…ที่แม้จะเป็นออทิสติก แต่ก็ใช้ชีวิตอย่างสุดความสามารถ
ดังที่กล่าวไปแล้วว่าตัวละครเอกของเรื่องคือ ศัลยแพทย์หนุ่มรุ่นใหม่ผู้มีอาการออทิสติกอย่าง พัคชีอน ในเวอร์ชั่นเกาหลีใต้, ชอน เมอร์ฟี ในเวอร์ชั่นอเมริกัน ( ที่ผู้สร้างพยายามคงการออกเสียงให้ใกล้เคียงชื่อเวอร์ชั่นต้นฉบับมากที่สุด คือ ชีอน > ชอน ) และ มินาโตะ ชินโด ในเวอร์ชั่นญี่ปุ่น ที่ ( ทั้งหมด ) ต้องพิสูจน์ตัวเองผ่านฝีมือการผ่าตัด โดยอิงจากวิธีการมองให้เห็นออกมาเป็น ‘ภาพ’ และพรสวรรค์ในการจดจำทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างแม่นยำของเขา ซึ่งเป็นผลมาจากอาการออทิสติกแบบ ซาว็องต์ ซินโดรม หรือ Savant Syndrome ( ออทิสติกที่ก่อให้เกิดความสามารถพิเศษหรือถึงขั้นเป็นอัจฉริยะ ) นี่เอง และที่สำคัญ ตัวละครนี้ยังเป็นคนที่มีน้ำจิตน้ำใจและพยายามช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่เขาจะสามารถทำได้ แม้ว่าเขาจะ ‘ไม่เหมือนคนอื่น’ และจะต้องพบเจอกับอุปสรรคที่หนักหนาแค่ไหนก็ตาม ซึ่งนี่เองที่ทำให้เขาเป็นตัวละครที่ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องหลงรัก และยังช่วยสร้างความแตกต่างหลากหลายให้กับซีรีส์ในแนวทางนี้-ที่ว่าด้วยชีวิตของผู้คนในวงการแพทย์-อย่างน่าชื่นชม


( Good Doctor เวอร์ชั่นเกาหลีใต้ )

2) เพราะนักแสดงนำ…ที่ถ่ายทอดบทบาทดังกล่าวออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

แต่ตัวละครนี้จะโดดเด่นเป็นที่จดจำไม่ได้เลย หากปราศจากการแสดงอันแข็งแรงของบรรดาชายหนุ่มในแต่ละสัญชาติผู้มารับบทนี้ ซึ่งทั้ง จูวอน ( เวอร์ชั่นเกาหลีใต้ ) - ผู้เคยรับบท อีคงโท วีรบุรุษเย็นชาในซีรีส์ Bridal Mask -, เฟร็ดดี ไฮมอร์ ( เวอร์ชั่นอเมริกัน ) - ผู้เคยรับบท นอร์แมน เบตส์ - เด็กหนุ่มที่กลายมาเป็นฆาตกรสุดซับซ้อนในซีรีส์ Bates Motel– และ เคนโตะ ยามาซากิ ( เวอร์ชั่นญี่ปุ่น ) - ผู้เคยรับบท แอล หนุ่มอัจฉริยะบุคลิกแปลกประหลาดในซีรีส์ Death Note – ต่างก็ทำหน้าที่ของตนในฐานะของนักแสดงนำได้เป็นอย่างดี ซึ่งนอกจากการแสดงออกทางอารมณ์ในมิติต่างๆ ตามแบบฉบับของมนุษย์ปุถุชนทั่วไปแล้ว พวกเขาก็ยังถ่ายทอด ‘อาการออทิสติก’ ในแบบของตัวเองออกมาได้อย่างน่าเชื่อถือและน่าเห็นอกเห็นใจ เมื่อเรื่องราวในแต่ละตอนได้นำพอตัวละครของพวกเขาไปปะทะกับปัญหาต่างๆ ทั้งการผ่าตัดที่แขวนอยู่บนความเป็นความตายของผู้ป่วย, การผูกมิตรกับผู้คนรอบข้างที่ไม่ใคร่จะไว้วางใจเขาเท่าไหร่ รวมถึงการตกหลุมรักเพื่อนเพศตรงข้าม ( ซึ่งของเกาหลีใต้ดูจะเน้นความกุ๊กกิ๊กในจุดนี้มากกว่าใครเพื่อน ) นอกจากนี้ ไฮมอร์ในเวอร์ชั่นอเมริกันยังเป็นทั้งโปรดิวเซอร์ และคนเขียนบทกับผู้กำกับในบางตอนของซีซั่น 2 อีกด้วย


( Good Doctor เวอร์ชั่นอเมริกัน )

3) เพราะเรื่องเล่า…ที่ศรัทธาในความดีงามของมนุษย์ผู้บกพร่อง แตกต่าง และหลากหลาย
ตลอดความยาว 10-20 ของซีรีส์ในแต่ละเวอร์ชั่น ผู้ชมจะได้สัมผัสกับเรื่องเล่าอันเข้มข้นของการต่อสู้เพื่อพิสูจน์ตัวเองในห้องผ่าตัดของตัวละครดังกล่าว ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ผู้คนแวดล้อม-ทั้งจากตัวคนไข้เอง, ญาติคนไข้ ไปจนถึงเพื่อนหมอ/ผู้บริหารร่วมวิชาชีพ-สามารถเชื่อใจเขาได้ในฐานะของศัลยแพทย์มืออาชีพผู้มีจิตใจมุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้คน แม้ว่าตัวเองจะมีความบกพร่องทางร่างกายก็ตาม เขาต้องใช้ทั้งฝีมือและความทุ่มเทในการเปลี่ยนแปลงความไม่เชื่อมั่นที่คนเหล่านั้นมีต่อตัวเขาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาการออทิสติกของตัวเอก และกรณีการรักษาอันสุ่มเสี่ยงและท้าทายต่างๆ ที่เขาต้องรับมือในซีรีส์นั้น ล้วนผ่านการหาข้อมูลวิจัยอย่างหนักหน่วงของทีมเขียนบทมาแล้วทั้งสิ้น โดยในเวอร์ชั่นอเมริกันถึงขั้นแสดงให้เห็นวิธีการรักษาอย่างละเอียดลออ และเอานักแสดงออทิสติกจริงๆ มาเข้าฉากด้วย ขณะที่เวอร์ชั่นญี่ปุ่นจะมีเรื่องราวที่เน้นหนักไปยังการรักษาผู้ป่วยเด็กมากกว่า
โดยนอกจากนี้ เวอร์ชั่นอเมริกันยังพยายามที่จะดัดแปลงหลายอย่างให้ใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด ( แม้จะมีจังหวะการเล่าเรื่องที่รวดเร็วกว่าก็ตาม ) ทั้งการใช้แฟลชแบ็ค ( flashback ) เพื่อพาผู้ชมไปสำรวจชีวิตวัยเด็กที่ถูกพ่อรังแกจนกลายเป็นปมในใจของเขา รวมถึงความผูกพันที่เขามีต่อพี่ชาย, การวาดภาพการผ่าตัดในจินตการ หรือโดยเฉพาะใน ‘ตอนแรก’ ที่ทั้งจังหวะการเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ไปจนถึงการพูดโน้มน้าวคณะผู้บริหารของโรงพยาบาลให้ลองให้โอกาสเขาที่จะรักษาผู้ป่วยที่เหมือนเป๊ะแบบประโยคต่อประโยคเลยทีเดียว

( Good Doctor เวอร์ชั่นญี่ปุ่น )

และเร็วๆนี้ทางช่อง MONO29 ได้นำซีรีส์กระแสแรงที่ได้รับการตอบรับมาจากหลากหลายประเทศกับซีรีส์เรื่อง " The Good Doctor คุณหมอฟ้าประทาน ปี1 " ส่งตรงให้คุณผู้ชม รับชมถึงหน้าจอโทรทัศน์ในตอนแรก วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายนนี้ เวลา 13.45 น. และสามารถรับชมซีรีส์ The Good Doctor คุณหมอฟ้าประทาน ปี1 ได้ทุกวันวันเสาร์ - อาทิตย์ เวลา 13.45 น. ทางช่อง MONO29 คอดังดี ซีรีส์ดังไม่ควรพลาด  


พาพันขอบคุณส่วนสมาชิกชาวพันทิปท่านใดที่เคยชมซีรีส์ Good Doctor ในเวอร์ชั่นต่างๆแล้ว ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเวอร์ชั่นที่คุณชื่นชอบกันได้เลยนะคะ ^^ พาพันขอบคุณ






ขอบคุณข้อมูลจาก : Bioscope Magazine


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่