ใหม่ ขอวีซ่าสหรัฐฯ ต้องถูกตรวจสอบบัญชีโซเชียลมีเดีย

คณะรัฐมนตรีของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้บังคับใช้มาตรการคัดกรองคนเข้าเมืองใหม่ โดยกำหนดให้ผู้ยื่นขอวีซ่าสหรัฐฯ แทบทุกชนิด จำเป็นต้องแจ้งชื่อบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเองซึ่งใช้งานในช่วง 5 ปีล่าสุด พร้อมอีเมล และหมายเลขโทรศัพท์

ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2019 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้อัพเดทแบบฟอร์มยื่นขอวีซ่าชั่วคราว DS-160 และแบบฟอร์มยื่นขอวีซ่าถาวร DS-260 โดยกำหนดให้ระบุชื่อบัญชีโซเชียลมีเดียที่ใช้งานในช่วง 5 ปีล่าสุด รวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ อีเมลด้วย เพื่อคัดกรองนักเดินทางและผู้อพยพ
ทั้งนี้ มีเพียงวีซ่าการทูตและวีซ่าราชการบางชนิดเท่านั้นที่จะได้รับการยกเว้นจากมาตรการใหม่นี้ และหากผู้ยื่นขอวีซ่าไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียก็สามารถระบุได้ว่าไม่ได้ใช้งาน อย่างไรก็ตามทางการระบุว่าหากผู้ยื่นขอวีซ่าให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับการใช้งานโซเชียลมีเดียอาจพบกับบทลงโทษที่รุนแรงได้

                                               หน้าจอตัวเลือกระบุโซเชียลมีเดียที่ใช้งานในแบบฟอร์มยื่นขอวีซ่า DS-160

นโยบายใหม่นี้ถูกเสนอเมื่อเดือนมีนาคม 2018 โดยคาดว่าจะมีผลกระทบกับชาวต่างชาติที่ยื่นขอวีซ่าเข้าสหรัฐฯ ปีละ 14.7 ล้านคน แบ่งเป็นผู้ยื่นขอวีซ่าชั่วคราว 14 ล้านคน และผู้ยื่นขอวีซ่าถาวร 710,000 คน
แต่เดิมการคัดกรองด้วยการตรวจสอบประวัติการใช้งานโซเชียลมีเดีย อีเมล และหมายเลขโทรศัพท์ใน เป็นมาตรการที่ใช้เฉพาะกับผู้ยื่นขอวีซ่าที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษเท่านั้น เช่น ผู้ที่เคยเดินทางไปยังประเทศที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้ก่อการร้าย ซึ่งมีการประมาณการณ์ว่ามีผู้ตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวปีละประมาณ 65,000 ราย
กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงว่า ความมั่นคงของชาติเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นดับแรกเมื่อมีการปรับแก้แบบฟอร์มการยื่นขอวีซ่าครั้งนี้ นักเดินทางและผู้อพยพที่เดินทางมายังสหรัฐฯ ในอนาคตทุกคนจะต้องได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
"เราทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อหากลไกในการพัฒนากระบวนการคัดกรองเพื่อปกป้องพลเมืองสหรัฐฯ ขณะที่ก็สนับสนุนการเดินทางมาสหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมายไปด้วย" กระทรวงระบุ
ในช่วงปีที่แล้วซึ่งมีการเสนอมาตรการนี้ สหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน ระบุว่าไม่มีหลักฐานใดๆ ปรากฎว่ามาตรการสอดส่องโซเชียลมีเดียนั้นมีประสิทธิภาพหรือความเป็นธรรม พร้อมชี้ว่ามาตรการดังกล่าวจะทำให้ผู้คนเซนเซอร์ตัวเองบนโลกออนไลน์

ที่มา https://www.voicetv.co.th/read/rojDZgboL
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่