มกอช.เดินหน้าพัฒนากลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม ผลิตทุเรียนมาตรฐาน GAP พร้อมตรวจสอบได้ผ่าน QR Code

สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สนองนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ เดินหน้าพัฒนากลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม ผลิตทุเรียนคุณภาพมาตรฐาน GAP พร้อมตรวจสอบย้อนผ่าน QR Code มุ่งสร้างความเชื่อมั่นสู่ผู้บริโภค ขณะที่ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม ชี้ การผลิตทุเรียน GAP ช่วยยกระดับราคาสูงขึ้น


นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้ดำเนินการโครงการพัฒนาส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนโซนภาคตะวันออกเข้าสู่มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP พืชอาหาร) ปี 2562 ตามนโยบายการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต มีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของผู้บริโภค โดยมกอช. ได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดตราด พัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในภาคตะวันออก มีความรู้ความเข้าใจในหลักการปลูกทุเรียนให้ได้ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (มกษ.9001-2556) สามารถผลิตทุเรียนได้มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ตรงตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค อีกทั้งสามารถส่งวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็งเพื่อการส่งออกตามมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง (มกษ. 9046-2560)



 

รวมทั้งส่งเสริมความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q ระบบตามสอบสินค้าเกษตรและอาหาร (QR Trace) และระบบการจับคู่ธุรกิจขยายตลาดสินค้าเกษตรผ่านระบบออนไลน์ (DGT-Farm) ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนสามารถผลิตทุเรียนได้มีคุณภาพมีความปลอดภัย ตรงตามความต้องการของตลาด และผู้บริโภค นอกจากนี้ ได้ประสานกรมวิชาการเกษตร ให้การรับรองมาตรฐาน GAP พืชอาหาร กับเกษตรกรที่ผ่านการตรวจประเมินเบื้องต้น



ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตราด ถือเป็นกลุ่มฯ ต้นแบบที่ผลิตทุเรียนคุณภาพมาตรฐาน GAP พืชอาหารของจังหวัดตราด ปัจจุบันมีสมาชิก 40 ราย พื้นที่ปลูกทุเรียน 532 ไร่ ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี และกระดุม เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่ ปี 2561 เพื่อผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามมาตรฐาน GAP ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มช่องทางการตลาด และสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปสู่แหล่งผลิตด้วย QR Code เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค



ด้าน นายเรือง ศรีนาราง ประธานกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทุเรียนท่ากุ่ม กล่าวว่า การรวมกลุ่มฯ เกิดขึ้น เพื่อต้องการลดต้นทุนการผลิต โดยมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมให้ความรู้ ทั้งด้านวิชาการ การทำบัญชี การผลิตปุ๋ยใช้เอง และได้รับความรู้การผลิตทุเรียนคุณภาพมาตรฐาน GAP รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เพื่อช่วยกันคิดช่วยกันทำจนประสบความสำเร็จ ซึ่งขณะนี้สมาชิกกลุ่มฯ 40 คน ผ่านการรับรองมาตรฐาน GAP เกือบทั้งหมดแล้ว
“การเข้าสู่กระบวนการผลิตทุนเรียนคุณภาพมาตรฐาน GAP ในช่วงแรกๆ อาจจะติดขัดบ้าง แต่ทำจนชิน และติดเป็นนิสัย ก็ไม่ใช่เรื่องยาก ทำให้ผลผลิตทุเรียนของเรามีคุณภาพ เพื่อป้อนตลาด ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก รวมทั้งช่วยยกระดับราคาที่สูงขึ้น” นายเรือง กล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่