[Review] Captain Marvel: โปรเจกต์ปูทางอนาคตและมือปืนรับจ้าง

By มาร์ตี้ แม็คฟราย

เป็นไปตามธรรมเนียมหลักสูตรโรงเรียนมาร์เวล กับการวางแผนการใหญ่ที่ก่อนจะไปดูมหาสงครามปิดบัญชีธานอสใน Avengers: End Game ที่จะเข้าฉายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า จะต้องมีการปูเรื่องราวของฮีโร่อีกคนที่ถูกเปิดเอาไว้เรียกน้ำย่อยผ่าน End Credit ใน Infinity War กับฉากที่ Nick Fury กดเพจเจอร์เรียก Captain Marvel ก่อนที่จะสลายไปเป็นฝุ่นผงพร้อมกับชีวิตอีกครึ่งจักรวาล

ดังนั้นก่อนจะถึงศึกใหญ่ เราจึงต้องไปรู้จักกับฮีโร่หญิงคนแรกของ MCU กันก่อน

ก่อนหน้านี้มาร์เวลประสบความสำเร็จกับการเล่าเรื่องหนังเปิดตัวฮีโร่คนอื่น ๆ มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐีเพลย์บอยอัจฉริยะที่โดนกลุ่มผู้ก่อการร้ายจับตัว จนต้องผลิตชุดหนีออกมา จนเป็น Iron Man (2008)

เจ้าชายดาวแอสการ์ดจอมเลือดร้อนที่โดนพ่อผู้เป็นกษัตริย์ขับไล่ลงมาในโลกมนุษย์ เพื่อเรียนรู้พลังที่แท้จริงใน Thor (2011)

หนุ่มขี้ก้างที่มีเลือดรักชาติและความถูกต้องอยู่เต็มเปี่ยม จนได้รับการคัดเลือกในเข้าโปรแกรมซูเปอร์โซลเยอร์ เปลี่ยนให้เป็นทหารสุดแกร่ง เพื่อเป็นผู้นำทหารไปรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน Captain America: The First Avenger (2011)

อุบัติจับพลัดจับผลูคนเพี้ยนแห่งกาแล็กซี ที่ต้องมารวมตัวกันเพื่อปกป้องจักรวาลใน Guardians of the Galaxy (2014)

และโจรจิตใจดี ที่ผ่านการคัดเลือกจากนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่อง เพื่อสวมชุดย่อส่วนเพื่อทำภารกิจกอบกู้โลกใน Ant-Man (2015)

และอื่น ๆ อีกหลายเรื่อง

โดยส่วนมากแล้ว หนังแยกเดี่ยวทุกเรื่องของมาร์เวล ประสบความสำเร็จทั้งรายได้และคำวิจารณ์ สุดแล้วแต่ว่าเรื่องไหนจะได้คำชมมากน้อยเพียงใด ซึ่งขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน

สำหรับ Captain Marvel คงพูดได้เต็มปากว่าตัวหนังก็สอบผ่านตามมาตรฐานของมาร์เวล และทำหน้าที่ของมันโดยเฉพาะในแง่ของความบันเทิงได้อย่างไม่ได้ขาดตกบกพร่อง ทั้งโทนหนังสว่างที่แฝงด้วยมุกตลกตลอดทาง ความเป็นเอกเทศในตัวเองโดยไม่ได้พยายามที่จะโยงไปถึงเรื่องราวอื่น ๆ มากนัก รวมถึงจุดพลิกผันบางอย่างของหนัง

แต่นอกจากบรรยากาศและอารมณ์ความเป็น ‘มาร์เวล’ เราก็แทบไม่ได้เห็นจุดเด่นอื่น ๆ ของตัวหนังเรื่องนี้เลย ...
ไล่ตั้งแต่ความลึกของตัวละครนำ Captain Marvel ซึ่งหากเทียบกับความลึกของตัวละครฮีโร่คนอื่น ๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้ ก็จะเห็นว่าพื้นฐานตัวละคร ปมขัดแย้ง ดูอ่อนกว่าอย่างชัดเจน ที่แม้จะได้ดีกรีออสการ์อย่าง Brie Larson มาก็ช่วยไม่ได้มาก ไม่ใช่เธอเล่นไม่ดี เธอแสดงได้เหมาะกับบทนี้ แต่ปัญหาเรื่องตัวละครที่ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น ทำให้เธอไม่สามารถช่วยอะไรได้มากกว่านี้ ยังดีที่ได้ประเด็นของหนังที่แม้จะมีเรื่องของกลุ่มคนชายขอบ สิทธิมนุษยชนอันพึงมีของสิ่งมีชีวิต ซึ่งทำให้ตัวหนังดูสนุกขึ้นมาไม่น้อย

นอกจากนั้นยังมีเรื่องของ ’พลัง’ ที่เริ่มไม่เท่ากันของธรรมะและอธรรมทั้งสองฝั่งใน End Game เพราะเมื่อดูจบแล้ว มันอดคิดไม่ได้เลยว่า แล้วพี่มันม่วงจะเอาอะไรไปสู้เจ๊ ถ้าพลังจะเวอร์วังเสมือนดราก้อนบอลขนาดนี้! แต่เชื่อว่าในเรื่องนี้ทางสตูดิโอคงได้หาวิธีการแก้ปัญหาไว้แล้ว แต่ทำอย่างไร คงต้องติดตามต่อไป

ส่วนดีของหนังเรื่องนี้ จึงตกไปดูที่บรรยากาศในช่วงยุค 90 ทั้งหลายที่มอบให้คนดู เคล้าคลอด้วยเพลงป็อปในช่วงเวลานั้น จนแฟนเพลงอาจต้องยิ้มตามเมื่อเพลงขึ้นมา รวมถึง Nick Fury (เวอร์ชั่นสองตา) นี่คงเป็นหนังที่เปิดโอกาสให้เราได้รู้จักหัวหน้าหน่วยชิลด์ได้มากที่สุด รวมถึงเห็นแง่มุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่ง Samuel L. Jackson ก็พิสูจน์ให้เห็นอีกครั้ง ว่าไม่มีเหมาะกับบทนี้มากกว่าเขา ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาหนุ่มหรือแก่ กอปรกับเคมีอันลงตัวเหลือเชื่อระหว่างเขากับ Larson ก็เป็นตัวชูรสชั้นดีที่ขาดไม่ได้จริง ๆ

อีกประเด็นที่น่ากล่าวถึง คือการเลือกผู้กำกับที่ของพ่อใหญ่แห่งมาร์เวลอย่าง Kevin Feige ที่พิสูจน์ให้เห็นว่าสายตาการเลือกผู้กำกับของเขานั้นอยู่ในระดับอ๋องของวงการ โดยเฉพาะการเลือกผู้กำกับโนเนมแต่ลายเซ็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวจนตัวหนังประสบความสำเร็จมหาศาลโดยเฉพาะคำวิจารณ์ เช่น Joss Whedon (The Avengers 1-2), James Gunn (Guardians of Galaxy 1-2), Russo Brothers (Captain America 2-3, Avengers 3-4) เป็นการเลือกผู้กำกับที่เหมาะกับโปรเจกต์จริง ๆ โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับผู้กำกับเบอร์ใหญ่อย่างเดียว

แต่กับ Captain Marvel นี่เป็นครั้งแรกที่ผู้เขียนเริ่มกังขากับการเลือกผู้กำกับของ Feige  .. เพราะกับผลงานที่ผ่านมา คนดูสามารถเห็นและรู้ได้ชัดเจนว่าทำไมถึงต้องเป็นผู้กำกับคนนี้ เพราะลายเซ็นเฉพาะตัวจะโดดเด่นออกมาในตัวหนัง (เช่น ความเพี้ยนฮากำลังดีของ James Gunn ที่แฝงอยู่ในไดอะล็อกของเหล่า Guardians อย่างเต็มที่) แต่กับ Captain Marvel เราไม่รู้ว่าลายเซ็นต์ของผู้กำกับอยู่ตรงไหนของหนัง เพราะสิ่งที่มีให้เห็นตลอดเรื่อง ก็มีเพียงแค่โทนแบบ ‘มาร์เวล’ อยู่เต็มไปหมด ซึ่งนั้นเป็นเพราะมาตรฐานและแบบแผนอันเป็นพิมพ์เขียวที่สตูดิโอยึดมั่นมากกว่า จนอดคิดไม่ได้ว่าสำหรับหนังเรื่องนี้ Anna Boden และ Ryan Fleck สองผู้กำกับอาจมีหน้าที่เป็นเพียง มือปืนรับจ้าง ที่ทำหน้าที่ตามใบสั่ง Kevin Feige อย่างเดียวเท่านั้น

ติดตามบทความจากภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆได้ที่ https://www.facebook.com/thelastseatsontheleft
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่